ใบสบู่ดำกำจัดแมลงศัตรูพืชลดต้นทุนการผลิตได้มากกำไรงาม


  

      แม้ว่าอากาศฤดูแล้งจะแรงกล้า  แต่ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเสาะหาข้อมูลที่จะนำเสนอต่อผู้อ่าน  จึงมุ่งไปข้างหน้าด้วยพาหนะ  2  ล้อ พร้อมกับทบทวนคำบอกกล่าวของ เกษตรจังหวัดชัยนาท (นายบำรุง  ศรีทองใส) ให้นำความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยยึดหลัก  3  ป. คือ ประหยัด  ปลอดภัย และ ปฏิบัติได้  ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ผลิตพืชอาหารปลอดภัยจากสารพิษ ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถนำปัจจัยในท้องถิ่นปฏิบัติได้ไม่ยากนัก  ดังนั้น ฉบับนี้ผู้เขียนจึงมุ่งหน้าสู่จุดสาธิตการเกษตรของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลบ่อแร่  มีนายประสาร  จำนงค์นารถ  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล  เพื่อนำเรื่องราวของกิจกรรมการเกษตร  ซึ่งปลูกในสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ยากแก่การจัดการให้กลายเป็นสวนไม้ผลที่อุดมสมบูรณ์ท่ามกลางสภาพแห้งในฤดูแล้ง   กอร์ปกับการใช้พืชสมุนไพรที่มีในพื้นที่ร่วมกับใบสบู่ดำที่มีจำนวนมากตลอดทั้งปีเป็นหลัก  เพื่อใช้ป้องกัน-กำจัดศัตรูพืช สามารถลดต้นทุนจากการจัดหาสารเคมีใช้ในไม้ผลได้ประมาณ  10,000  บาท/ปี  แต่ถ้าคิดถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปรารถนาดีต่อผู้บริโภค  การรักษาสุขภาพของตนเอง  เป็นจุดสาธิต เรียนรู้ของผู้สนใจทั่วไปแล้วจะมีคุณค่าเกินกว่าประมาณได้

        นายจารึก  อ่ำทิพย์  อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดบ่อแร่  วัย  50  ปี  กล่าวถึงการยึดกิจกรรมการเกษตรเป็นอาชีพเสริมว่า ด้วยความสนใจด้านการเกษตร และเพื่อการสอนวิชาการเกษตรให้เด็กนักเรียนจึงเห็นว่าจะต้องปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตนเองให้เกิดความชำนาญอย่างรู้จริง  จึงปรับสภาพพื้นที่ของตนเองเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลแบบยกร่อง ดำเนินกิจกรรมดังนี้  เลี้ยงปลาไหลในร่องสวน  มะม่วง  5  ไร่  มะกรูด (แซมด้วยกล้วยน้ำว้า)   2  ไร่  มะนาวบนต้นตอมะขวิด  1  ไร่ สระน้ำ  2  ไร่ และสบู่ดำ  300  ต้น  ผลผลิตที่ได้รับคือ มะม่วง  ใบมะกรูด  และกล้วยน้ำว้า  จำหน่ายให้กับแม่ค้าที่เข้ารับซื้อในสวน

        ผลกระทบที่ผ่านมา  เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่แห้งแล้ง สภาพดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าจะปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกรองก้นหลุมแล้วก็ตาม  ก็ไม่สามารถช่วยให้ไม้ผลเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงได้ดีเท่าที่ควร  โรค-แมลงศัตรูพืชเข้ารบกวน  โดยเฉพาะหนอนชอนใบส้ม  และเพลี้ยไฟในมะม่วง  จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชที่หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด   ในช่วงแรกใช้ไม่มากและใช้สารเคมีที่มีพิษไม่รุนแรงนัก  แต่เมื่อใช้ประจำไม่สามารถควบคุมศัตรูพืชได้ จึงต้องเพิ่มปริมาณ  ความรุนแรงของสารพิษ และความถี่ของการฉีดพ่นจึงจะสามารถควบคุมได้  แต่พบว่าต้นทุนการผลิตสูง  รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายลงไป  อีกทั้งตรวจพบสารพิษขั้นอันตรายในเลือดของต้นเอง

        วิธีแก้ไข  จากผลกระทบดังกล่าวที่เกิดจากการใช่สารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืช  จึงต้องหันมามองปัจจัยที่มีหลากหลายในท้องถิ่น  ทั้งด้านการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักจากปุ๋ยคอก  เศษหญ้า  เศษฟาง ราดพรมด้วยปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอรี่ เพื่อปรับปรุงบำรุงดินในไม้ผล  พร้อมทั้งการใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร  โดยใช้ใบสบู่ดำเป็นหลัก  พบว่าไม้ผลที่ปลูกเจริญเติบโตแข็งแรงต้านทานโรค-แมลงศัตรูพืช ได้ดี ลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อสารเคมีประมาณ  10,000  บาท/ปี  แต่ต้องเพิ่มความถี่ของการฉีดพ่นสารสมุนไพรบ่อยครั้งขึ้น ประมาณ 5  วัน/ครั้ง   อีกทั้งระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืช  และสุขภาพที่สมบูรณ์  ปัจจุบันเมื่อตรวจเลือดใหม่พบว่าปลอดภัยจากสารพิษ

        วิธีผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืชจากใบสบู่ดำ (จำนวน  50 ลิตร)  สมุนไพร  30  กก.(ใบสบู่ดำ  ตะไคร้หอม  ใบสาบเสือ  อัตราส่วนแต่ละชนิดไม่จำกัดขึ้นอยู่กับสมุนไพรที่จัดหาได้)  กากน้ำตาล  10 กก. น้ำ  30  ลิตร และ สารเร่ง พด.7  จำนวน 1  ซอง(25 กรัม) ละลายกากน้ำตาล  สารเร่ง พด.7 น้ำ  30 ลิตร ในถังหมักพลาสติก  ผสมให้เข้ากันทิ้งไว้นาน  5  นาที  ในช่วงรอนำพืชสมุนไพรสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ  ผสมลงในถังคลุกเคล้าให้เข้ากัน  ปิดฝาไม่ต้องสนิท  ทำการหมักเป็นเวลา  20  วัน หมันคนให้เข้ากันวันละครั้ง

        อัตราการใช้  สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช  1  ส่วนต่อน้ำ 200  ส่วน ฉีดพ่นที่ใบ  ลำต้น ทุก  20  วัน  หรือในช่วงที่มีแมลงศัตรูพืชระบาดฉีดพ่นทุก 3  วันติดต่อกัน  3  ครั้ง ส่วนที่เหลือหมักทิ้งไว้ใช้ได้นาน  เมื่อน้ำหมดแล้วให้ใช้กากที่เหลือบางส่วนผสมกับวัสดุเริ่มกระบวนการหมักใหม่  ส่วนที่จะทิ้งนำไปคลุมโคนต้นไม้ผลป้องกันปลวกได้อย่างดี

        นายจารึก  อ่ำทิพย์   กล่าวฝากถึงผู้อ่านว่า  การผลิตในสวนจะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อเสริมรายได้จากการรับราชการ ปัญหาส่วนหนึ่งของการทำการเกษตรคือปัญหาของโรคและแมลงศัตรูพืช  แต่คงจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปถ้าเกษตรกรได้ศึกษาหาความรู้  และกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานควบคู่กับการใช้สารสมุนไพรที่มีหลากหลายในท้องถิ่น  แม้ว่าจะไม่ต้องเลิกใช้เลยในช่วงแรกแต่ขอให้ใช้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย  คือ  ใช้เมื่อจำเป็นในกรณีที่พบปริมาณมากเกินกว่าศัตรูธรรมชาติจะควบคุมได้  ถ้าพบในปริมาณน้อยใช้สารสมุนไพรกำจัด  และอีกไม่นานความสมดุลย์ของธรรมชาติจะควบคุมกันเองและจะเลิกใช้สารเคมีไปในที่สุด  ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่บ้านเลขที่ 116  หมู่ 7  ต.บ่อแร่  อ.วัดสิงห์  จ.ชัยนาท   ยินดีต้อนรับอยู่เสมอนะครับ

       ผู้เขียน  เก็บมาฝากจากอินเตอร์เนต   สบู่ดำ มะหุ่งฮั้ว ( Physio Nut , Furging Nut ) มีถิ่นกำเนิดใน Tropical America ชาวโปรตุเกสเป็นผู้นำพืชนี้เข้ามาในเอเชียและอาฟริกา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curoas Lim . เมล็ดคล้ายเมล็ดระหุ่ง แต่ขนาดเล็กกว่าและมีสีน้ำตาลเข้ม ทุกส่วนของพืชมียาง ( latex ) ซึ่งมีส่วนประกอบเป็น resin แต่ไม่มี rubber ยางเมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลอมแดง เปราะ เปลือกให้สีย้อมสี้น้ำเงินเข้ม ในพิลิปปินส์ใช้ย้อมผ้า แห และด้าย สี นอกจากพบในเปลือกต้น แล้วยังพบในใบและต้นอ่อน  ซึ่งเมื่อนำมาทำให้เข้มข้น จะได้เป็นก้อนสีน้ำตาลปนดำ เมื่อนำมาย้อมผ้าฝ้ายให้สีน้ำตาลและสีคงทน  ในพิลิปปินส์ใช้เบื่อปลา เข้าใจว่าใบเมื่อทาแล้วทำให้ร้อนมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นและขับน้ำ มีรายงานว่าใบเป็นยาฆ่าแมลง ใน Ghana ใช้ควันจากการเผาใบรมบ้าน เพื่อฆ่า beb-bugs (แหล่งสืบค้น  http://www.geocities.com/clinic1991/herbe.htm)

คำสำคัญ (Tags): #สบู่ดำ
หมายเลขบันทึก: 347791เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2010 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นายแน่มาก จากเราเพื่อนเก่าแก่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท