ตะวันคล้อยต่ำลงเรื่อย อีกไม่นานจะลาลับขอบฟ้าเช่นทุกวัน ไม่มีเด็กๆ เพราะกลับบ้านกันหมดแล้ว นักเรียนที่เล่นกีฬาเมื่อครู่เพิ่งกลับไป ทิ้งให้โรงเรียนอยู่กับความเงียบเหงาโดยลำพัง
บ้านกร่างวิทยาคมเป็นโรงเรียนเล็กๆ ตั้งอยู่นอกเมือง นักเรียนที่นี่ขาดความพร้อมเป็นส่วนมาก คนที่พร้อมกว่ามักไปเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองกัน
ความไม่พร้อมของนักเรียนมาพร้อมกับความยากจนของพ่อแม่หรือครอบครัว ยิ่งกว่านั้น ภาวะแตกแยกหย่าร้างของคู่สามีภรรยาหนุ่มสาว ซึ่งระเริงกับความสนุกสนานชั่วครู่ยาม กว่าจะตระหนักหรือค้นพบความจริงชีวิต ก็สร้างตราบาปให้กับลูกน้อยไว้เรียบร้อยแล้ว

“พราว”สาวน้อยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็หนีความจริงเหล่านี้ไม่พ้น หลังแม่แต่งงานใหม่ไปอยู่ที่อื่น เธออาศัยอยู่กับตายาย ชีวิตเธอเป็นบ่วงรัดในใจด้วยหรือเปล่า..ไม่มีใครรู้ แต่การแสดงออกในโรงเรียนของเธอ เป็นไปตามรูปแบบเด็กที่มีสภาพเช่นนี้ไม่ผิดเพี้ยน
เธอหนีเรียนตลอด ไม่ค่อยทำงานส่ง แต่งหน้าแต่งตา แอบทาปากแดงอยู่บ่อยๆ กิริยาวาจาห้วนกระด้าง เพื่อนบางคนบอกเธอติดบุหรี่ เธอจึงเป็นหนึ่งในห้าของนักเรียนที่ฝ่ายปกครองคัดไปเข้าค่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม-ต้านภัยยาเสพติด
“ครูขาหนูป่วย ไอ น้ำมูกไหล ไม่ไปเข้าค่ายได้ไหมคะ” เธอเอ่ยกับครูผู้รับผิดชอบดูแลนักเรียนในการเข้าค่ายครั้งนั้น
“ตัวไม่เห็นร้อนเลย ไปก่อนแล้วกัน ครูอยู่ด้วย ดูแลได้” ครูยืนยัน แต่สุดท้ายแค่พิธีเปิดค่ายเท่านั้น ครูก็ต้องนำเธอไปยังสถานีอนามัย พยาบาลบอกอาการอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไข้หวัด 2009 เธอจึงถูกส่งไปคัดกรองยังโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด
ตลอดเวลาเธอได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากครูซึ่งรับปากเธอไว้ ทั้งติดต่อตายายและแม่ จนถึงข้าว น้ำ และอาหาร ที่ครูเทียวไปหาซื้อมาให้ ประดุจแม่ดูแลลูกเลยทีเดียว “อย่าลืมกินยาให้ครบ แล้วไปหาหมอตามนัด” ครูกำชับขณะส่งเธอที่บ้าน มีตาและแม่คอยรอรับ

เหตุการณ์เข้าค่ายและความเจ็บไข้ได้ป่วยของพราวครั้งนั้น ดูเหมือนจะลืมเลือนกันไปแล้ว เนื่องด้วยเวลาผ่านไปเกือบปี ถ้าไม่มีปัญหาการส่งนักเรียนเข้าแข่งขันบรรยายธรรมะขึ้นมา
“ครูขา เพื่อนหนูไม่ยอมแข่ง หาใครไม่ได้เลย ยกเลิกไหมคะ” นักเรียนคนหนึ่งเล่า พร้อมเสนอแนะ
“ไม่ได้คาดหวังว่าต้องชนะ อาจแค่ไปหาประสบการณ์ หูตาพวกเราจะได้กว้างไกลขึ้น” ครูทำความเข้าใจ ขณะนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเงียบกริบ เบือนหน้าหลบ ทำเอาหน้าครูสลด
“ครูขา ครูว่าหนูทำได้ไหมคะ” เสียงนักเรียนคนหนึ่งแทรกความเงียบขึ้น..พราวนั่นเอง
ท่ามกลางความพิศวงงงงวยในกลุ่มเพื่อน เพราะปกติพราวไม่เคยรู้จักหรือสนใจกิจกรรมเหล่านี้ แม้ระยะหลังเธอจะไม่หนีเรียน เลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งตั้งใจเรียนอย่างน่าประหลาดแล้วก็ตาม
“พรุ่งนี้มาพบครูที่ห้อง เพื่อซ้อมและฝึกพูด” ครูนัดแนะทั้งที่ไม่แน่ใจ แถมงงๆไม่น้อยไปกว่าเพื่อนของเธอ
“พราวอยู่ไหน มาซ้อม จะแข่งแล้ว อีกสองวัน อีกวันเดียว ตอนบ่ายนี้แล้วนะ” ครูต้องโทรศัพท์ตามเป็นระยะๆ ธุระเธอมากจริงๆ แต่การฝึกซ้อมบรรยายธรรมมะของพราวแต่ละครั้ง แสดงถึงความมุ่งมั่นที่เธอมี ซึ่งน่าจะไม่แพ้ใครๆเลย
“ทบทวนใหม่อีกรอบ ตั้งสติให้ดี หายใจลึกๆ อย่าพูดเร็ว ช้าๆ ชัดๆ”
“ครูขาจะแข่งแล้ว หนูยังไม่ได้เลย ชอบลืม” เช้าวันแข่งเธอขออนุญาตซ้อมตลอดทั้งครึ่งวัน เพื่อให้มั่นใจว่าบ่ายนี้เธอจะทำได้
“ครูเชื่อว่าหนูทำได้” ประสบการณ์ครูเรา เข้าใจความไม่มั่นใจของพราวดี ไม่เคยทำมาก่อน ผนวกกับชีวิตเธอไม่มีอะไรให้มั่นใจอยู่แล้ว แต่ยังพยายามตั้งใจได้ขนาดนี้ ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นเช่นไร ความภาคภูมิใจศิษย์คนนี้จะไม่มีวันลดลง
ก่อนประกาศผลจริง กรรมการเชิญครูแต่ละโรงเรียนรับฟังคำชี้แจงการตัดสินและข้อบกพร่อง เด็กๆใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะพราว พอครูมา เธอจึงถามทันที “เราได้ที่เท่าไหร่คะ”
ครูแสร้งอ้ำอึ้งให้ว้าวุ่นใจเล่นอยู่ประเดี๋ยวก่อนเอ่ย “ที่สอง” เสียงเฮดังลั่นขึ้นพร้อมๆกัน ทุกคนตื่นเต้นดีใจสุดขีด พราวลืมตัวกระโดดกอดครู พร้อมหยิบโทรศัพท์เรียกสายแม่ละล่ำละลัก “แม่จ๋าๆ หนูทำได้ หนูทำได้แล้ว หนูได้ที่สอง” แม้จะผ่านเหตุการณ์ลักษณะนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ห้วงเวลานั้น ครูก็ยังไม่สามารถยับยั้งน้ำตาแห่งความปิติของตัวเองได้
หลังตะวันลับฟ้า ความมืดมิดเคลื่อนเข้ามาแทน อาคารเรียนหลังใหญ่ทะมึนท่ามกลางความเงียบเหงา ที่นี่สร้างคนดีให้สังคมมานักต่อนักแล้ว
เหลือบเห็นหมู่ดาวพราวอยู่ทั่วท้องฟ้า..พราวจะพราวในใจครูตลอดไป
("พราว"เป็นคำบอกเล่าจากพี่คนหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบงานคุณธรรมจริยธรรมของโรงเรียน)
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ธนิตย์ สุวรรณเจริญ ใน ครูธนิตย์
อ่านแล้ว...ซึ้ง..อินน์ตามค่ะเพราะที่โรงเรียนครูกระเเตก็มีเคสแบบนี้เหมือนกัน
เลยทำให้คิดถึงค่ะ...อ่านแล้วภูมิใจค่ะ...ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ
ครูกระเเต