คลังยันพบความปิดปกติธุรกรรมเงินฝากธอส.


คลังยันมีความผิดปกติในธุรกรรมเงินฝากระหว่าง DEPFA กับ ธอส.

นายนริศ ชัยสูตร รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ขอให้ธอส.ชี้แจงข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐานตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพนักงานธอส.ว่ามีการกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ใน 3 เรื่องว่า ขณะนี้ ตนได้เร่งให้ผู้บริหารรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อส่งให้ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันในส่วนข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อต่างๆเกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างDEPFA Investment Bank Limited ระดมเงินฝากโดยไม่มีอำนาจ รวมถึง เรื่องอื่นๆตามที่ได้มีการร้องเรียนนั้น ตนก็จะขอหลักฐานดังกล่าวมาพิจารณาด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธอส.ออกมาระบุว่า ธุรกรรมที่ทำกับDEPFA Investment Bank Limited นั้น ถือเป็นการระดมเงินฝากตามปกติว่า หากถือเป็นธุรกรรมรับเงินปกติ เหตุใดธอส.จึงต้องมีค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย Facility Fee 0.72 % , Arrangement fee 0.5%และ Financial advisor fee 0.5% ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมรวมกันมากกว่า 10 ล้านบาท อีกทั้ง เหตุใดจึงไม่ผ่านกระบวนการเปรียบเทียบราคาเพื่อให้ได้ค่าธรรมเนียมที่ต่ำที่สุด

ทั้งนี้ ธอส.ได้มีหนังสือตอบรับให้DEPFAเป็นผู้แทนในการระดมเงิน ในวันที่ 10 มกราคม 2548 หลังจากที่ได้รับข้อเสนอเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ถือว่า เป็นระยะเวลาที่สั้นมากในการพิจารณา หากคำนึงถึงวงเงินฝากที่สูงถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐหรือเกือบ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การระดมเงินของธอส.ด้วยตราสาร Private Placement Certificates of Deposit(PPCD)โดยDEPFAครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างการระดมเงินผ่านFRCDครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ของธอส. ซึ่งทั้งสองครั้งก็ได้เสนอขอคณะกรรมการธนาคารอนุมัติ แต่การทำPPCD กับ DEPFA กับดำเนินการโดยไม่ได้มีการขออนุมัติ

"มีการเสนอขอบอร์ดการเงินให้พิจารณารับเงินฝากจากDEPFAในวงเงิน 5,000 ล้านบาทช่วงเดือนตุลาคม 2547 ต่อมาเดือนธันวาคมปีเดียวกันขอยกเลิก โดยบอกว่า DEPFAทำตามเงื่อนไขไม่ได้ แต่พอมาเดือนมกราคม 2548  แจ้งให้ทราบว่า ได้แจ้งตกลงรับเงินฝากจากDEPFAเป็นเงิน 1,000 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งวงเงินขนาดนี้ จะต้องขออนุมัติจากคลังและทำการประกวดราคาให้ได้ค่าธรรมเนียมที่ต่ำที่สุด"

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ต่อมาในเดือนมีนาคม 2548 ได้มีการนำตราสารนี้ไปทำCross Currency Swap(CCS)กับธนาคารทหารไทย ทำให้คู่สัญญา(Counter party)กับธอส.กลายเป็นธนาคารทหารไทย เป็นเหตุให้การทำธุรกรรมกับ DEPFA ไม่ปรากฏในรายงานสถานะอนุพันธ์ที่เสนอบอร์ดในเวลาต่อมา แต่กลายเป็นทำกับทหารไทยแทน

สำหรับข้อร้องเรียนของพนักงานต่อป.ป.ช.ในประเด็นอื่น คือ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างระบบคอมพิวเตอร์หลักกับบริษัทดาต้าแมท จำกัด กรณีการตรวจรับงานและจ่ายเงินไม่เป็นไปตามสัญญา และ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง กรณีจัดซื้อเครื่องแบบพนักงานธนาคารระหว่างปี 2548-2549 โดยวิธีพิเศษ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ก็ได้มีข้อร้องเรียนจากพนักงานธอส.ไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยระบุว่า ขอให้เข้าตรวจสอบกรรมการผู้จัดการธอส.และพวก ซึ่งอาจได้ประโยชน์จากกรณีการจัดซื้อจัดจ้างระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Core Banking และการทำธุรกรรมทางการเงินที่เรียกว่า FRCD ด้วย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 17 มีนาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 344934เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท