วันธรรมดา.....ที่ไม่ธรรมดา


การให้ความสำคัญกับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งอาจมีความเครียด วิตกกังวลและซึมเศร้าได้ ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องการกำลังใจมากกว่าปกติ

           ตอนเย็นหลังเลิกงาน  แม้มีความเหนื่อย....อ่อนเพลียอยู่บ้าง   แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้รีบเดินทางกลับ....ยังเดินทอดน่องพูดคุยเล่นกับพี่พยาบาล  ตามทางเดินไปเรื่อยๆ   เพื่อกลับที่พัก ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับโรงพยาบาล

          วันนี้อากาศค่อนข้างเย็นสบาย มีลมพัดเบาๆ เป็นระยะ  ท้องฟ้ามืดครึ้มเล็กน้อย และอีกไม่นานฝนคงตกกระหน่ำลงมา  ข้าพเจ้าภาวนาในใจ  “ขอให้วันนี้เหตุการณ์ปกติ สงบๆนะ”  คือไม่มีคนไข้ที่ต้องออกไปรับหรือคนไข้ที่ต้องส่งต่อ  เพราะวันนี้ข้าพเจ้าปฏิบัติงานเวรเช้าและเวรส่งต่อผู้ป่วยด้วย

          และแล้วคำอธิษฐาน...ที่ขอไว้.....ก็....ไม่เกิดผล

          เวลาประมาณ 20.00 น. เสียงโทรศัพท์ดัง  มีสายเรียกเข้า เป็นเบอร์ของรพ.  ให้ออกไปรับผู้ป่วย มีอาการเกร็ง  หายใจเหนื่อย  ข้าพเจ้ารีบลงจากที่พัก  เพื่อไปโรงพยาบาล  จัดเตรียมอุปกรณ์ และออกเดินทางพร้อมพี่พยาบาลและพี่คนขับรถ  พวกเราใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 10 นาที เมื่อรถจอดเทียบริมทางแล้ว  ข้าพเจ้าลงจากรถหยุดมองดูข้างหน้า(พลาง...ถอนหายใจ....)สองข้างทางมืดมาก มีเพียงแสงไฟฉายซึ่งถืออยู่ในมือพี่พยาบาลที่ส่องสว่าง  พวกเราค่อยๆเดิน.....ก้ม...มองพื้นดินที่เปียกแฉะและปกคลุมไปด้วยหญ้า  ด้วยความระมัดระวัง ระหว่างเดินทางเข้าไปก็มีต้นไม้เต็มไปหมด   ไม่ค่อยมีบ้านที่อยู่อาศัย มีเพียง 2 หลัง ที่อยู่ละแวกเดียวกัน

          เมื่อเดินทางไปถึงบ้านผู้ป่วย ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนบ้าน    พวกเราเดินขึ้นบันได หยุดอยู่หน้าประตูบ้าน ก็แปลกใจ  “ผู้ป่วยมีอาการหายใจเหนื่อย   เกร็ง  แต่ญาติยืนมองผู้ป่วยอยู่หน้าประตูบ้านด้วยความเป็นห่วง”  ญาติบอกว่าป้ามีเรื่องไม่สบายใจ ทะเลาะกับยาย(มีประวัติเป็นShcizophenia)เป็นประจำ  ยายไม่ยอมให้ใครเข้าไปในบ้าน ไฟปิดหมด  ใครมาก็โวยวายและใช้สิ่งของปา   แต่จะให้ความร่วมมือกับหมอหรือพยาบาลเท่านั้น  ขณะที่ข้าพเจ้าและพี่พยาบาลเดินเข้าไป  ญาติก็พูดเสียงดังๆบอกกับยายว่ามีพยาบาลมาเยี่ยม   ข้าพเจ้ายิ้มทักทายยายซึ่งนั่งพิงเสาอยู่ตรงกลางบ้าน  ยายยิ้ม..มองสบตาเป็นระยะๆ  ไม่มีเอะอะโวยวาย    ส่วนป้านั้นนอนนิ่งบนพื้นที่ปูด้วยเสื่อ  ข้างๆมีถังออกซิเจนเล็กๆ 1 ถัง  ป้ามีอาการหายใจหอบลึก  มือทั้งสองข้างจีบเกร็ง  ใบหน้าเปื้อนคราบน้ำตา  ซึ่งเป็นอาการที่แสดงออกจากความผิดปกติของภาวะจิตใจเรียกว่า Hyperventilation 

           หลังจากพูดคุย ให้กำลังใจเพื่อให้ป้ารู้สึกผ่อนคลาย  ก็เตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล   แต่ป้าส่ายหน้า  บอกจะดูแลยายอยู่ที่บ้าน   ทำให้พวกเราต้องวางแผนตัดสินใจให้การปฐมพยาบาล  แนะนำป้าให้ทำใจให้สบายๆหายใจเข้า-ออก  ช้าๆเบาๆ......จนกระทั่งผ่านไปกว่าสิบนาที  ป้ายังมีอาการคงเดิม  หายใจช้าลงแต่มือทั้งสองข้างจีบเกร็ง  พวกเราก็พูดคุยไปเรื่อยๆๆ   พลางจับมือและลูบไล้เบาๆอย่างปลอบโยน  และเริ่มแนะนำวิธีการหายใจอีกครั้ง

          ป้า....หายใจเข้าช้าๆๆๆๆนะ นับ 1 2 3...แล้วค่อยๆๆผ่อนลมหายใจออกนะ.....

          ป้าเริ่มทำตาม....ค่อยๆหายใจเข้าช้าๆๆ  ผ่านมาระยะหนึ่ง มือที่จีบเกร็งก็เริ่มคลาย  พวกเรายิ้มและกล่าวชื่นชมป้า   ป้าหันมาสบตาและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นว่าทะเลาะกับยายเป็นประจำ   บางครั้งยายทำร้ายร่างกาย ทำให้คิดมาก   “เมื่อมีเรื่องไม่สบายใจทำให้มีอาการแบบนี้เป็นประจำ  แต่ใช้ออกซิเจนช่วยก็ค่อยๆดีขึ้นแต่วันนี้ไม่รู้เป็นอะไร”  จากสิ่งที่ป้าบอกเล่า  แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่ให้การรักษาโรคทางกายเท่านั้นแต่ควรให้การดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจควบคู่ไปด้วย  และการให้ความสำคัญกับผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  ซึ่งอาจมีความเครียด  วิตกกังวลและซึมเศร้าได้  ผู้ดูแลผู้ป่วยต้องการกำลังใจมากกว่าปกติ  ข้าพเจ้ารู้สึกเข้าใจและเห็นใจในสิ่งที่เกิดขึ้น  และได้แนะนำวิธีการผ่อนคลายความเครียด  และให้กำลังใจป้า  เพื่อให้สามารถเผชิญปัญหาต่อไปได้  ป้าพยักหน้ากำมือข้าพเจ้า  พร้อมทั้งรอยยิ้ม  และคำพูดขอบคุณ  ก่อนเดินทางกลับข้าพเจ้าพูดหยอกล้อกับยายซึ่งนั่งสังเกตการณ์อยู่เงียบๆว่า  “ยายอย่าทะเลาะกับป้าอีกนะ  เดี๋ยวป้าไม่สบาย  ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนนะ”  ยายยิ้ม  และโบกมือลา    ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มใจ  เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก   เพราะสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติเป็นการทำงานด้วยหัวใจ.....และสิ่งที่ได้รับกลับมาคือรอยยิ้ม

          “รอยยิ้มของผู้ป่วยคือความสุขเล็กๆน้อยๆของคนทำงานบริการ”

                                                                                                 เหล็กดัด...

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 344925เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2010 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท