ระเบิดพลังจากภายในกับ 6 แขกรับเชิญในงาน Go Training Live Talk Forum # 2 : Boost from Within ตอนที่ 1


เราจะต้องให้คุณค่ากับตัวเราเอง ยอมรับตัวเอง รู้จักตัวเราเอง / เราไม่ได้หยุดเล่นเพราะเราแก่ขึ้น แต่เราแก่ขึ้นเพราะเราหยุดเล่น

จากบันทึกที่แล้วผมได้ติดค้างรายละเอียดการนำเสนอของแขกรับเชิญแต่ละท่านไว้ บันทึกนี้จึงขอเล่ารายละเอียดต่อตามนี้ครับ

 

 

แขกรับเชิญท่านแรกที่ขึ้นเวทีคือ อ. กมลลักษณ์  หงษ์หยก มาพร้อมกับ Key word คำว่า “HUG” คือ ให้ทุกคนให้ความสำคัญกับตัวเอง เคารพตัวเอง แต่คำแรกที่ผมได้รับกลับเป็นคำว่า “บังเอิญ” ครับ เพราะวันนั้นอาจารย์บอกว่าที่เรามาพบกันในวันนี้ ไม่ใช่ความบังเอิญ ทุกอย่างมีเหตุปัจจัย ที่จะต้องเกิดกับเรา และจำเป็นสำหรับชีวิต และจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตทั้งนั้น (Best Timing) ดังนั้นคำบังเอิญจึงแปลความหมายไปในทางบวกได้ด้วยคำว่า ”จำเป็น” เมื่อเชื่อมโยงกับคำว่า Boost from Within แล้ว มันก็คือ การสร้างพลังชีวิต โดยการจุดประกายเพื่อขับดันในชีวิตเดินต่อไปอย่างมีความสุขนั่นเอง แล้วจะทำอย่างไรจึงจะมีแรงขับดันล่ะ ถ้าชีวิตเปรียบเสมือนยานพาหนะ การที่จะมีแรงขับดันได้จะต้องมีเชื้อเพลิงคอยเติม เพื่อสร้างพลังงานให้ชีวิต แรงขับดันในที่นี้คือแรงที่ใช้ในการการขับเคลื่อนชีวิตให้ไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็วและปลอดภัย นั่นก็คือการที่ทุกคนอยากให้ใครสักคนยอมรับเราเพื่อให้เกิดกำลังใจ แต่การที่จะให้ใครสักคนมายอมรับเรานั้นตามธรรมชาติแล้ว เราไม่ได้บอกเขาตรงๆ ซื่อๆ ว่าช่วยยอมรับเราด้วย ส่วนใหญ่ต้องใช้กลยุทธ์ โดยการแสดงละครชีวิตเล่นบทเด็กดี เพื่อให้คนอื่นยอมรับเราก่อน แล้วเราก็จะยอมรับเราเอง แต่เราก็ไม่อยากจะทำ เพราะเราคิดว่ามันเป็นการเหมือนดูถูกตัวเอง และไม่อยากทำ ซึ่งทำให้เกิดการไม่ยอมรับตัวเองซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ชีวิตเราก็จะขึ้นอยู่กับคนอื่น ไมสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้นเราจะต้องให้คุณค่ากับตัวเราเอง ยอมรับตัวเอง รู้จักตัวเราเอง ซึ่งการรู้จักตัวเองนี้ เป็นสิ่งที่ไม่บังเอิญ ที่ต้องเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ มองโลกในแง่บวก ว่า เราคือใคร ต้องการอะไร มีจุดดี จุดด้อยอะไร โดยการหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าตั้งแต่เราเกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เราสะสมความดีอะไรไว้บ้าง เมื่อคิดได้เช่นนี้ จิตเราก็จะมีความผ่องใสและเข้าถึงความสุขสงบได้อย่างง่ายดาย  การนำเสนอของท่านอ.กมลลักษณ์ ในวันนั้นจบลงด้วยการให้ทุกคนเข้าภวังค์ด้วยการหลับตา แล้วจินตนาการว่าเราคือคนตาบอด ซึ่งเป็น คนที่โชคดีทีสุดในโลก ผมคิดว่าวิธีการนี้เป็นการฝึกจิตชนิดหนึ่งที่ให้เราเข้าถึงการเรียนรู้ด้วยการสัมผัส ซึ่งทำให้เรารับรู้และซาบซึ้งได้มากเลยทีเดียว

 

 

แขกรับเชิญท่านที่สองคือ อ. ธัญญา  ผลอนันต์ มาพร้อมกับ Key word คำว่า “PLAY” ให้เห็นความสำคัญของการเล่นว่ามีผลกระทบต่อการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้าง อ. ธัญญา เริ่มต้นการนำเสนอด้วย Music VDO ที่ให้เสียดสีการดำเนินชีวิตของหนุ่ม Office คนหนึ่งที่มีชิวิตเคร่งเครียด ห่างเหินจากความสุข เพราะจริงจังกับชีวิตมากเกินไป ซึ่งตอนท้ายของ Music VDO มีคำคมของ George Bernard Shaw แสดงไว้ให้ได้ฉุกคิดคือ “เราไม่ได้หยุดเล่นเพราะเราแก่ขึ้น แต่เราแก่ขึ้นเพราะเราหยุดเล่น” จากนั้นอาจารย์ก็ได้เล่าและนำเสนอสิ่งต่างๆ ให้พวกเราได้เห็นถึงความสำคัญของการเล่น โดยจะเห็นว่าการเล่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทั้งแบบที่มีอุปกรณ์หรือไม่มีอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นของเด็ก เช่น จ้ำจี้มะเขือเปราะ ขี่ม้าส่งเมือง รีๆ ข้าวสาร ม้าก้านกล้วย ฯลฯ หรือการละเล่นของผู้ใหญ่ เช่น การเล่นรำวงเกี้ยวสาว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว  การแข่งขัน ต่างๆ เป็นต้น

 

 

อาจารย์ได้แสดงภาพถ่ายของอาจารย์เองเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว เปรียบเทียบกับภาพถ่ายของลูกชายของอาจารย์ในยุคปัจจุบัน จะเห็นว่าเด็กที่อยู่ในรูปทั้งสองยุค เล่นได้ไม่แตกต่างกันเลย การเล่นทำได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ไม่มีอะไรก็เล่นได้ มีแค่มือแค่นิ้วก็เล่นได้แล้ว เช่น การเล่นกับเงา หนังตลุง หนังใหญ่  การทาสีทีนิ้วหัวแม่มือทำเป็นรูปนักมวยปล้ำ เป็นต้น วันนั้นอาจารย์ได้นำ Clip VDO ที่แสดงการเล่นกับเงาอย่างมืออาชีพมาให้ดูด้วย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแค่คนกับเงาเขาเหล่านั้นสามารถสร้างสรรค์ภาพเงาให้เห็นเป็นภาพต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง เช่น ภาพอริยบทของผู้คนและสัตว์ต่างๆ เช่น คนขี่ช้าง รถยนต์ วิ่ง ภาพสถานที่ต่างๆ เช่น เทพีเสรีภาพ ตึกรามบ้านช่องต่างๆ เป็นต้น

 

  

 

หลังจากนั้นอาจารย์ก็ได้ยกตัวอย่างการเล่นของลูกชาย ว่าเด็กจะเล่นกับจินตนาการได้อย่างไม่มีขอบเขต บางครั้งเด็กก็จะสร้างตัวละครในจินตนาการขึ้นมาเอง วันนั้นเราได้มีโอกาสทำกิจกรรมการเล่นคิดคำด้วย โดยผลัดกันพูดชื่อของสิ่งของที่อยู่ในพวกเดียวกันตามเวลาที่กำหนด (นับ 1 ถึง 10)

 

 

อาจารย์ได้แสดงตัวอย่างผลงานของ Dr. Stuart Brown ผู้ก่อตั้ง National Institute for Play กล่าวไว้ว่า

- ฆาตรกรโหด ฆาตรกรต่อเนื่อง หรือคนที่ไม่รับผิดชอบขับรถชนแล้วหนี เหล่านี้ ตอนเด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เล่น 

- การเล่นนั้นมีความสำคัญพอๆ กับออกซิเจนเลยทีเดียว

- การเล่นเป็นปัจจัยชีวภาพที่สำคัญ เพราะพลังที่กระตุ้นการเล่นจะมาจากก้านสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่สมองใช้ในเรื่องสัญชาติญาณ

- การเล่นเป็นพลังธรรมชาติที่ทรงพลานุภาพจะมีส่วนช่วยกำหนดชะตากรรมความอยู่รอดของมนุษยชาติ

- อารมณ์ขัน เกม การหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีและฝันเฟื่อง ไม่ใช่เพียงเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น การเล่นในวันเด็กของเรามีส่วนทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและเฉลียวฉลาด และหากเล่นต่อไปในวัยอื่น ก็จะทำให้ยังคงมีความสุขและฉลาดต่อไปได้

- คนขี้เล่นมีสุขภาพดีกว่าคนไม่เล่นอะไรเลย

- ผู้ใหญ่มักลืมไปแล้วว่า สมัยที่เป็นเด็ก เวลาเล่นอย่างอิสระ เป็นเวลาอย่างไร และที่จริงแล้วผู้ใหญ่หลายคน แทบไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างอิสระด้วยซ้ำไป

 

เราจะเห็นว่าการเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เล็กๆ เสียแล้ว อาจารย์ยังได้ตอกย้ำถึงความหมายของการเล่นไว้หลายความหมาย ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิต ปี 2542 ได้อธิบายไว้ว่า

- เพื่อสนุกหรือผ่อนอารมณ์ เช่น เล่นเรือ เล่นดนตรี

- แสดง เช่น เล่นโขน เล่นละคร

- สาละวนหรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดๆ ด้วยความเพลิดเพลิน เป็นต้น เช่น เล่นกล้วยไม้

- สะสมของเก่าพร้อมทั้งศึกษาหาความเพลิดเพลินไปด้วย เช่น เล่นเครื่องลายคราม เล่นพระเครื่อง เล่นแสตมป์

- พนัน เช่น เล่นม้า เล่นมวย

- ร่วมด้วย เอาด้วย เช่น งานนี้ขอเล่นด้วยคน เรื่องคอขาดบาดตายเขาคงไม่เล่นด้วย

- กิน เช่น หิวมากเลย เลยเล่นข้าวเสีย 3 จาน

 

 

ต่อมาอาจารย์ได้ชวนพวกเราเล่นตีมือกันด้วยกติกา ดังภาพ แล้วต่อด้วยการยกคำคมที่เกี่ยวกับการเล่นของนักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ ในยุคต่างๆ มาให้ดูดังนี้

 

 

 

หลังจากนั้นอาจารย์ได้ชวนพวกเราเล่นเป็น ด.ช. หม่อง พับเครื่องร่อนกระดาษแล้วซัดกันกระจายทั่วห้องประชุม และได้เชิญชวนพวกเราร่วมสมัครเป็นสมาชิก สมาคมความคิดสร้างสรรค์ความจำและการเล่น และสุดท้ายจบลงด้วย Animation เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตก็เท่านี้ ดังนั้นขอให้สนุกกับชีวิตครับ

 

 

 

บันทึกนี้ผมได้เล่าถึงแขกรับเชิญไปแล้ว 2 ท่าน ยังเหลืออีก 4 ท่าน ผมคิดว่าเนื้อหาอาจจะอัดแน่นเกินไป ดังนั้นผมขออนุญาตยกยอดไปยังบันทึกหน้าก็แล้วกันนะครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 344823เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาติดตาม และเรียนรู้ค่ะ

คนขี้เล่นน่ารักค่ะ แต่คน..กลับหลังหันคำขี้เล่นซะ !

ก็เป็นเรื่องมานักต่อนักแล้วนะคะ อิอิ

ขอบคุณค่ะ

ถ่ายทอดได้ชัดเจนนะคะ

สวัสดีครับ

นับว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ และสร้างสรรค์มากเลยครับ

น่าอิจฉาที่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งเหล่านั้น

ต้องขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ

ขอบคุณ คุณ P krutoiting ที่แวะมาเยี่ยมครับ ผมคิดว่าคนขี้เล่นน่าจะมีอายุยืน เพราะไม่เครียดน่ะครับ

ขอบคุณ คุณ P บินหลาดง ที่เข้ามาเยี่ยมครับ ดูบรรยากาศของงานได้ที่นี่ครับ http://gotoknow.org/blog/attawutc/342760

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท