AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

มนุษย์กับการทำงานในวัยเกษียณ


มนุษย์เราล้วน “ทำงานอยู่ตลอดเวลา” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ....การทำงานอย่างแท้จริงที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด หมายถึง การทำงานที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ การใช้วิชาความรู้เพื่อส่งเสริมให้ชีวิตเกิดความสมบูรณ์ นั่นย่อมหมายถึง การทำงานภายหลังที่สำเร็จการศึกษา ....ถ้าหากการที่ท่านต้องการทำงานต่อไปหลังจากเกษียณอายุราชการ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เคยมีตำแหน่ง เคยมีอำนาจ” ก็เลยไม่อยากจะสละสิ่งเหล่านี้ทิ้งไปโดยง่าย ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า “ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ที่ท่านมีและผ่านมามากมาย ไม่ได้ทำให้ท่านเข้าใจในสารัถถะธรรมแห่งพระพุทธศาสนาหรือศาสนาใด ๆ ในโลกเลยแม้แต่น้อย” เพราะท่านยังคงลุ่มหลง มัวเมาในโลกย์ และที่สำคัญ ท่านลืมนึกถึง “การให้โอกาสแก่ผู้ที่กำลังก้าวตามมาข้างหลังของท่าน”...

มนุษย์เราล้วน “ทำงานอยู่ตลอดเวลา” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย คำกล่าวเช่นนี้ ย่อมไม่ผิดแต่ประการใด

แต่ในทางสังคมแท้จริงแล้ว การทำงานอย่างแท้จริงที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด หมายถึง การทำงานที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ การใช้วิชาความรู้เพื่อส่งเสริมให้ชีวิตเกิดความสมบูรณ์ นั่นย่อมหมายถึง การทำงานภายหลังที่สำเร็จการศึกษา (ไม่ว่าระดับใดก็ตาม การทำงานต้องมีวุฒิการศึกษาจากสถานศึกษาตามระบบการศึกษาของรัฐ) ที่เชื่อและยึดถือเป็นค่านิยมในสังคมไทยกันว่า ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นช่วงที่มีอายุอยู่ระหว่าง 22 – 25 ปี ในการเริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานด้วยวุฒิทางการศึกษาที่สูงไปกว่านี้ ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีกเท่าตัว

ในช่วงชีวิตของการเป็นคนทำงาน ตลอดระยะเวลาผู้ที่ทำงานต่างได้รับการฝึกฝน พัฒนาศักยภาพของตนด้วยตนเองและด้วยผู้อื่น นี่คือ กระบวนการพัฒนาตนเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์

แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ เรามีเวลาทำงานกันกี่ปี ???

คำตอบก็คือ ถ้าเราจะยึดระบบการจ้างงานที่สัมพันธ์กับอายุ ก็คงตอบได้ว่า เราสามารถทำงานได้ไปจนถึงอายุ 60-65 ปี เท่านั้น นั่นหมายความว่า เรามีระยะเวลาของการทำงานอย่างแท้จริงประมาณ 40-45 ปี ซึ่งการที่สรุประยะเวลาแห่งการทำงานไว้เพียงเท่านี้ ย่อมเป็นการขัดแย้งกับประโยคที่เขียนไว้ว่า -- มนุษย์เราล้วน “ทำงานอยู่ตลอดเวลา” ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย -- ในตอนต้นของบันทึกนี้ ใช่หรือไม่???

ขอตอบว่า “ใช่” แต่การทำงานหลังจากการพ้นเลยระยะเวลาการจ้างงานตามระบบจ้างแล้วนั้น มันต่างไปจาก การทำงานในช่วงการจ้างงานตามระบบ เพราะว่า การทำงานในช่วงเวลา 40-45 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษานั้น เป็นการทำงานที่มุ่งความก้าวหน้า ทุ่มเท พัฒนา เรียนรู้ และสร้างฐานะความเป็นอยู่และทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ชีวิตของบุคคลและครอบครัวที่เขารักที่เขาต้องรับผิดชอบ ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามากที่สุดในชีวิตของมนุษย์ที่ได้เกิดมา

อ้าว...แล้ว ช่วงเวลาหลังจากนั้นล่ะ ไม่ได้เป็นการทำงานที่มีจุดมุ่งหวังอย่างเดียวกันดอกรึ???

ขอตอบว่า “ก็ใช่ อีกเหมือนกัน” แต่ทว่า การทำงานหลังจากพ้นเลยระยะเวลาการจ้างงานตามระบบแล้วนั้นหรือที่เรียกกันว่า “เกษียณอายุการทำงาน” [สำหรับแรงงานทั่วไป] หรือ “เกษียณอายุราชการ” [สำหรับข้าราชการ] ซึ่งระบบราชการไทย ยังให้โอกาสข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ สามารถทำงานต่อไปอีกได้คราวละ 5 ปี (นั่นหมายความว่า ท่านยังสามารถทำงานได้จนถึงอายุ 65 ปี และถ้าหากต่อยังมีแรงทำงาน และต้องการต่ออายุราชการไปอีก ได้อีก 5 ปี สรุป ท่านอาจจะเลิกทำงานเมื่อมีอายุ 70 ปี)

สำหรับท่านที่ยังมีความต้องการทำงานต่อหลังจากเกษียณอายุราชการ ท่านคงต้องใคร่ครวญบ้างว่า “ท่านต้องการทำงานด้วยแรงจูงใจแบบเดิมที่เป็นช่วงการทำงานหลังจากจบการศึกษา (อายุประมาณ 22-25 ปี) หรือไม่” หรือ “ท่านเพียงต้องการจัดการกับความรู้สึกที่ท่านกำลังรู้สึกว่า “ตนเองกำลังหมดค่า” เท่านั้น หากเป็นดังนี้ การต่ออายุการทำงานออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ก็นับว่าเป็นคำตอบและทางออกสำหรับความรู้สึกนี้ได้ดีไม่น้อย (หากไม่ยังไม่คิดจะใช้เวลาเกษียณกับครอบครัว บุตร หลาน)

แต่ถ้าหากการที่ท่านต้องการทำงานต่อไปหลังจากเกษียณอายุราชการ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เคยมีตำแหน่ง เคยมีอำนาจ” ก็เลยไม่อยากจะสละสิ่งเหล่านี้ทิ้งไปโดยง่าย ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า “ด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ที่ท่านมีและผ่านมามากมาย ไม่ได้ทำให้ท่านเข้าใจในสารัถถะธรรมแห่งพระพุทธศาสนาหรือศาสนาใด ๆ ในโลกเลยแม้แต่น้อย” เพราะท่านยังคงลุ่มหลง มัวเมาในโลกย์ และที่สำคัญ ท่านลืมนึกถึง “การให้โอกาสแก่ผู้ที่กำลังก้าวตามมาข้างหลังของท่าน” เพราะ พวกเขาเหล่านั้น ยังคงต้องการการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งอาชีพ และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังกายพลังใจ แรงขับดันภายในอย่างท่วมท้น ซี่งต่างไปจากท่าน ที่นอกจาก ความโรยราแห่งวัยตามวัฏฎะแล้ว โลกทัศน์การรับรู้ของท่านก็อาจจะสู้ไม่ได้กับโลกทัศน์ที่คนรุ่นหลังมี (แต่ก็ยอมรับความจริงตรงที่ว่า ประสบการณ์ที่ท่านมี ย่อมมากกว่า ผู้เยาว์มี แต่ในกรณีข้อโต้แย้งเช่นนี้ ก็ขอเสนอให้ท่าน เลือกทำงานในลักษณะของการเป็นที่ปรึกษา จะเป็นการดีที่สุด เพราะท่านยังสามารถรับฟัง เสนอแนะ ผสมผสานความเก่าความใหม่ได้โดยไม่เป็นการกีดกัดที่กลายเป็นอัตตามากนัก)

ไม่ใช่เพียงการยึดในตำแหน่ง ยึดในอำนาจ อาจจะมีบางคนที่ยึดเอา “การทำงานหลังเกษียณอายุราชการ” เป็น การทำงานเพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ เพียงแค่ขอให้มีงานทำเช่นเดิมเมื่อครั้งยังไม่เกษียณ”

ในกรณีนี้ ถือเป็น “ระบบคิด” ที่แย่มากที่สุดในกระบวนการพัฒนาตนของมนุษย์ เพราะ ท่านกำลังเข้าไปเป็นคนปิดกั้น ขัดขวาง โอกาสแห่งชีวิตของผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งท่านอาจจะสร้างเหตุผลขึ้นสำหรับตัวท่านเองว่า “ก็ฉันทำได้ ก็ฉันเคยทำ ไม่มีใครทำได้เหมือนอย่างที่ฉันทำ ดังนั้น ฉันจึงทำ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น ท่านไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย ท่านทำเพื่อตัวท่านเองมาตั้งแต่ต้น เพราะท่านต้องการทำงานเพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ เพียงแค่ขอให้มีงานทำเช่นเดิม หากจะกล่าวไป ก็เพียงเพื่อ รอวันตามวัฏฏะสังสารของสัตว์โลก เท่านั้นเอง

ด้วยเหตุผล 2 ประการหลังนี้ จึงเป็นข้อเสนอต่อท่านว่า ได้โปรดคิดสักนิดเถิดว่า ท่านควรจะทำงานต่อไปอีกหรือไม่ หรือว่า ท่านควรจะใช้สิทธิที่คนจำนวนไม่มากนักในประเทศไทยได้รับจากรัฐ ที่รองรับการใช้ชีวิตอย่างสุข สงบ พักผ่อน และมุ่งแสวงหาความรุ่งโรจน์แก่ชีวิตด้วยหนทางอื่นในช่วงวัยเกษียณของท่าน อาจจะด้วยการทำงานเป็นที่ปรึกษาตามที่เสนอไว้ตอนต้น หรือ การใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความจริงของชีวิตในรูปแบบอื่นมากกว่าการทำงานแบบเสมือนว่าตนเองยังไม่เกษียณ หรืออย่างเช่นในพระไตรปิฎกเอง ก็พบได้ว่า การออกบวชหลังการครองเรือนของบรรดากษัตริย์ คหบดี สามัญชน มีอย่างมากมาย ย่อมแสดงให้เห็นถึง ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงแห่งการเตรียมความพร้อมให้แก่ชีวิห้วงสุดท้ายให้เต็มพร้อมบริบูรณ์ไปด้วย “ความจริงแห่งชีวิต” (ธรรมะ) ก็เป็นการดีไม่น้อย

ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าท่านจะไปทำงานอะไร ด้านไหน หรือจัดการกับชีวิตของท่านในวัยเกษียณอย่างไร สิ่งที่ท่านต้องคำนึงอยู่เสมอว่า “คนอื่นที่ยังทำงาน ยังเยาวัย ยังมุ่งมั่น ยังแสวงหา ยังต้องการความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคง” ดังนั้น ท่านจงช่วยส่งเสริม ผลักดันเขาเหล่านั้น ด้วยการให้โอกาสแก่พวกเขาได้ปลดปล่อยพลัง แสดงศักยภาพ อย่าได้กระทำการใด ๆ เพื่อกดทับ และอย่าคิดว่า “ถ้าขาดฉัน แล้วเธอจะรู้สึก” เพราะถึงแม้ท่านจะจากไป แต่ทุกสิ่งทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปตามสัจธรรมแห่งโลกอยู่นั่นเอง...สาธุ...อาเมน

หมายเลขบันทึก: 344555เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2010 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

  • ดิฉันยังไม่ถึงวัยเกษียณ  แต่มีความประสงค์จะลาออกก่อนเกษียณค่ะ
  • เดิมขอลาออกปกติเมื่อ ๑ เมษายน ๒๕๕๒  แต่ทางโรงเรียนขอร้องให้อยู่ก่อน
  • หลังจากนั้นได้ฝึกตนเองให้สมมุติว่ามีเงินเดือนเพียง...บำนาญ.. เท่านั้น
  • ดิฉันผ่านบททดสอบค่ะ  สุขภาพกายและสุขภาพจิตดี
  • จึงรอลาออกรอบนี้ค่ะ

ขอบพระคุณครับที่ เข้ามาเยี่ยมชน และร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นท่านแรก

ด้วยความยินดีครับ

แล้ว คุณครูคิม จะผันตนเองไปทำงานด้านใดต่อจากนี้ครับ

ด้วยความเคารพ

สวัสดีค่ะ

  • มาแลกเปลี่ยนค่ะ
  • จะไปทำงานที่เราอยากทำค่ะ ช่วยเหลือสังคมเล็กน้อย
  • และพักผ่อนทำงานบ้าน อ่านหนังสือ เรียนรู้ตัวเองและเรื่องที่ยังไม่ทราบค่ะ
  • ขอขอบคุณค่ะ

อ่าน แล้ว..

ไม่รู้ จะถอน หาย ใจ ท่าไหนดี

อย่างน้อย เราก็ได้รู้ว่า เมื่อเรา เห็นด้านลบ มันก็มักจะมีด้านบอกด้วยเสมอ

ขอบคุณครับ

เป็นบทความที่โดนใจมาก ขออนุญาตเอาไป เผยแพร่ หน่อยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท