ผมนึกขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง ในการประชุม ทีมอำนวยกลาง KM แก้จนเมืองนคร เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ณ ห้องประชุม กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช หลาย ๆ ครั้งที่ ที่ผมสังเกต ทางทีมงาน กศน. ซึ่งเป็นกองเลขา ของโครงการ ฯ ได้นำเสนอ ท่านได้พูดเหมือนกับน้อยใจว่า จริง ๆ งานที่ทำอยู่เป็นงานแบบบูรณาการไม่ใช่งานของ กศน. หน่วยงานเดียว ผมเองเข้าใจความหมายในความรู้สึกของท่านที่มาจากหลายอำเภอพูด ก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับ จะต้องเป็นแบบนี้ระยะหนึ่ง กว่าจะปรับจูนกันได้ ก็อดทนอีกนิดหน่อยก็คงจะเข้าที่เข้าทางครับ
ผมเขียนบันทึกนี้อีกครั้งก็เพื่อบอกท่านให้ทราบว่า ผมเองเคยเจอมาแล้วในลักษณะเดียวกันนี้ เมื่อ ปี 2546 ถ้าหลายท่านยังไม่ลืม ครั้งนั้นเราหน่วยงานภาคีได้ร่วมกันจัดทำแผนชุมชน ภายใต้
"โครงการบูรณาการแผนชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและเอาชนะความยากจน" ซึ่งมีหน่วยงานภาคี คือ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมการศึกษานอกโรงเรียน
กรมการพัฒนาชุมชน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
กรมกิจการพลเรือนทหารกองบัญชาการทหารสูงสุด
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้นำชุมชนที่มีประสบการณ์
โดยแต่ละจังหวัด ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบกองเลขา ฯ ที่แตกต่างกันแต่ละจังหวัด จังหวัดนครศรี ฯ เป็นกรมส่งเสริมการเกษตร (เกษตร) ทำหน้าที่กองเลขา ฯ สิ่งที่ท่าน กศน. เจออยู่ขณะนี้ผมเข้าใจท่านดี ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยในการทำหน้าที่กองเลขา ฯ แต่ถ้าจะเปรียบกับ เมื่อ 46 นั้น ครั้งนั้นประสานงานยากมาก ๆ เพราะบางหน่วยงานไม่รู้มาก่อนเลย เพราะเบื้องบนระดับกรมสั่งการ(และอาจไม่สั่ง)ลงมาในระดับล่างไม่รู้เลยว่าบทบาทให้มาทำอะไร และจะเปลี่ยนคนมาทุกครั้งทุกเวทีในระยะแรก ๆ (แล้วหายไปในที่สุด) เพราะเข้าใจว่ามาประชุมซึ่งมาแทนกันได้ เลขา ฯ อธิบายพอเขาเข้าใจ วันหลังเปลี่ยนมาใหม่อีกคน(สรุปคือไม่ได้แต่งตั้งคนรับผิดชอบเรื่องเอาไว้) ผมคิดว่าในครั้งนี้ทีมงานเราโชคดีที่มีระดับ ท่านผู้ว่าวิชม ท่านมองเห็นการทำงานพวกเราอยู่ตลอดเวลา และเป็นท่านเอื้อที่วิเศษสุด
ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อเป็นกำลังใจและเอาใจช่วย ให้ทางกองเลขา ฯ กศน. ท่านได้รู้ว่าท่านโชคดีกว่าทีมเกษตรเมื่อปี 46 เยอะมาก ๆ ที่ครั้งนี้ทีมงานมีแกนหลักอยู่ที่จังหวัด และมีคำสั่งที่ชัดเจน การประสานงานก็ดูสะดวกกว่ามาก แต่เมื่อ ปี 46 นั้นล่องลอยมาก ๆ ประสานไปที่ หน.หน่วยงานจะเปลี่ยนคนมาทุกครั้งเหมือนที่กล่าวมาแล้ว จัดทัพลงตำบลนั้นทำได้ยากมาก ๆ แต่งานก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย หนักใจแค่ไหนบรรยายไม่ถูกเลยในช่วงนั้น
ถ้ามองเปรียบเทียบกับที่ทีมงาน(เรา) ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ถือว่าก้าวหน้าไปพอสมควร ทีมงานเข้าใจบทบาทก็ถือได้ว่าสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว
ขอให้กำลังใจคุณชาญวิทย์และทีมงานที่นำเอาหลักการKM ไปแก้จนครับ เรารู้กันอยู่ว่าในระบบราชการ คำว่าบูรณาการบางทีแปลว่า กองสุมๆเข้าไว้ หรือต้องมีเจ้าภาพ ทุกงานเจ้าภาพก็ต้องเหนื่อยกว่าเพื่อนไม่ว่าจะเป็นงานบวชงานแต่งงาน งานอาสาต้องยอมเหนื่อยเป็นธรรมดาครับ ตอบตัวเองให้ได้ก็พอ
ขอให้สู้ต่อครับ
ขอบพระคุณทั้ง 3 ท่านมากนะครับ ที่ให้เกียรติเข้ามาทักทายพูดคุย ก็ยินดีรับคำเชิญนะครับ และขอบคุณที่ให้เกียรติ เห็นภาพท่านในงาน 1 ปี Gotoknow แล้ว อิจฉาท่านจังที่ได้มีโอกาสอันดีนี้