หน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการอุทธรณ์หรือร้องทุกข์


          เมื่อวันที่ ๒๖ ก.พ. ๕๓ มีการเสวนา ลปรร. ในหลักสูตรธรรมาภิบาลเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา รุ่น ๐   ถือเป็นวันสุดท้ายของรุ่นนี้   โดยมีกรณีศึกษา ๓ กรณีเป็นโจทย์ให้กลุ่มผู้เข้าเรียนไปหารือถกถียงกันมาก่อน   ผู้เข้าร่วมเรียนบางท่านบอกผมว่า กรณีศึกษาช่วยให้ได้เห็นประเด็นการทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยชัดเจนขึ้นมาก

 

           กรณีศึกษาเหล่านี้ ก็มาจากเรื่องจริงทั้งนั้น   ผู้เขียนเรื่องกรณีศึกษาเอามาบิดหรือเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อปกปิดสถาบัน   เพราะไม่ต้องการสร้างความเสื่อมเสียให้สถาบันนั้นๆ    และเพื่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้กว้างขวางขึ้น


          กรณีศึกษาหนึ่ง เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งลงโทษอาจารย์ที่ขอตำแหน่งวิชาการโดยลอกเลียนผลงานวิชาการของผู้อื่น   เมื่อทางมหาวิทยาลัยลงโทษ อาจารย์ท่านนั้นก็โต้แย้งว่าดำเนินการแบบไม่เป็นไปตามขั้นตอน ไม่รอบคอบ ไม่เป็นธรรม


          เรื่องนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเอกชน   ซึ่งนักศึกษาในหลักสูตรกลุ่มที่พิจารณากรณีศึกษานี้ แจ้งว่าผู้บริหารจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ   ทำให้ผมสงสัยว่า สภามหาวิทยาลัยจะไม่ได้กำหนดข้อบังคับเรื่องการลงโทษผู้ทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณอันเกี่ยวข้องกับผลงานทางวิชาการ   ตามระเบียบคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่าด้วยมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๔๗    ไว้ให้ชัดเจน   เป็นความบกพร่องของสภามหาวิทยาลัยด้านการออกกฎระเบียบ   ปล่อยให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป 


          นอกจากนั้น ยังน่าสงสัยว่า สภาฯ จะไม่ได้กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการอุทธรณ์และร้องทุกข์และสร้างกลไกรับการอุทธรณ์และร้องทุกข์ไว้ให้ชัดเจนและประกาศให้ทราบกันอย่างกว้างขวาง


          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะเป็นความบกพร่องของสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือไม่ได้กำหนดจรรยาบรรณของอาจารย์ไว้อย่างชัดเจน  


          ผมถามนักกฎหมายว่า ถ้าอาจารย์ผู้นั้นไปฟ้องศาลปกครองผลจะเป็นอย่างไร    ได้รับคำตอบว่า อาจารย์ผู้นั้นสามารถไปฟ้องศาลปกครองได้  

 

          ผมมีความเห็นว่า ต่อไปนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยต้องมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทำหน้าที่จัดการการขอตำแหน่งวิชาการ คอยทำหน้าที่ตรวจสอบการลอกเลียนผลงาน   โดยใช้ software ตรวจหาหลักฐานให้สงสัย plagiarism   การตรวจสอบนี้ทำไม่ยาก มี software ให้ download มาใช้ฟรี 


          นอกจากนั้น วารสารวิชาการคุณภาพสูง ก็ต้องมีการตรวจสอบ plagiarism ด้วย

 

 

         บันทึกนี้มี ๓ เรื่องปนๆ กันอยู่   คือระบบการอุทธรณ์และร้องทุกข์   ระบบการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ   และระบบป้องกันการลอกเลียนผลงาน (plagiarism)

 

 

 

 วิจารณ์ พานิช
๕ มี.ค. ๕๓
                                    
          

 

หมายเลขบันทึก: 343458เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2010 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท