ความอยากแห่งการพัฒนา


ถ้าเราไม่หยุดนำกรอบของเราไปครอบลงบนหลังคาของชาวบ้านเขา เราเองก็จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “ความอยากแห่งการพัฒนา” อย่างไม่รู้จักจบ

ที่จริงแล้วในชุมชนต่าง ๆ ที่เราชาวเมืองทั้งหลายสมมติเรียกพวกเขาว่า “ชาวชนบท” นั้น ชุมชนเขามีความเป็นอยู่ที่พอดีและ “พอเพียง” กันอยู่แล้ว

เมื่อเราผู้ที่สมมติเรียกตนเองว่า “ปัญญาชน” ที่ได้ไปรู้ ไปเห็น หรือได้อยู่ในสังคมที่ “ศิวิไลซ์” ได้สร้างกรอบมาตรฐานคุณภาพชีวิตใหม่ ๆ จากประเทศ จากสังคมต่าง ๆ ที่เจริญก้าวหน้าไป จึงกลายเป็นว่าเราไปว่า “ชาวชนบท” ของเรา “ไม่พอเพียง”

ดังนั้น เราทั้งหลายจึงมองว่าชาวชนบทนั้นมีปัญหา เขามีปัญหาก็เพราะว่าเรานำกรอบมาตรฐานของเราไปครอบลงในวิถีชีวิตของเขา

เรานำกรอบมาตรฐานทางด้านรายได้ การศึกษา และเศรษฐกิจไปครอบลงในวิถีชีวิตของชุมชน เมื่อกรอบนี้ถูกนำไปประเมินจึงทำให้เรามองว่าชุมชนนั้นอยู่ “ต่ำกว่าเกณฑ์” แต่ในทางกลับกัน ถ้าชุมชนเขายกเอาเกณฑ์ทางด้านคุณธรรม จริยธรรมมาครอบหรือมาวัดกลุ่มคนที่สมมติตนเองว่าเป็นคนชั้นปัญญาชนอย่างเรานั้น ก็แน่นอนว่าพวกเรานั้น “ตกเกณฑ์จริยธรรม” เช่นเดียวกัน

การนำมาตรฐานของตนเองไปเป็นกรอบเพื่อวัดมาตรฐานของคนอื่นนั้น สิ่งนี้คือต้นเหตุของปัญหา

โดยปกติแล้วคนทุกคน ทุกชุมชน เขามีการปรับเนื้อ ปรับตัวให้กับสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพ ภูมิอากาศ สังคม สิ่งแวดล้อม ขนมธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้นี่เองเป็นความ “พอเพียง” ที่เป็น “ธรรมชาติ”

การนำกรอบมาตรฐานทางด้านรายได้ลงไปวัดรายได้ขั้นต่ำของชุมชนจึงเป็นตัวการสำคัญที่เรามักมองว่าชุมชนนั้นมีปัญหา รายได้ต่ำ รายได้น้อย ไม่พออยู่ พอกิน
ดังนั้นเราจึงต้องอัดฉีดเม็ดเงิน อัดฉีดโครงการทั้งทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการทางด้านวิชาการให้เข้าไปเพื่อสร้างรายได้หรือเม็ดเงินตามมาตรฐานที่เราสร้างกรอบแล้วครอบลงไป

ถ้าเราไม่หยุดนำกรอบของเราไปครอบลงบนหลังคาของชาวบ้านเขา เราเองก็จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “ความอยากแห่งการพัฒนา” อย่างไม่รู้จักจบ

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราจะต้องกลับมานั่งย้อนคิดทฤษฎีที่เรามักคิดว่า “เขาโง่ เราฉลาด” เราจะได้ไม่พลาดที่จะไปพัฒนาเขาแต่หลงลืมพัฒนาตัวของเราเอง...

หมายเลขบันทึก: 342492เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2010 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เราทุกคนควรจะกวาดหน้าบ้านของตนเอง

แวะมาเยี่ยมครับ

  • จริงครับ..ส่วนใหญ่ชาว"ปัญญาชน"ทั้งหลายชอบนำกรอบไปครอบให้คนในชุมชน
  •  การพัฒนาที่บรรลุผลต้องเกิดจาก"ความต้องการของชุมชน"เขาจริงๆ ซึ่งก็มีให้เห็นหลายชุมชน
  •  ชอบบันทึกนี้...จะติดตามต่อไปนะครับ

       ฝากรูปฝีมือของชุมชนที่คิดเอง ทำเอง ใช้วัสดุจากชุมชน "ไม่สนงบประมาณ"

ขอยืมประโยคนี้ไปบอกคนแถวที่ทำงานหน่อนะค่ะ....ถ้าเราไม่หยุดนำกรอบของเราไปครอบลงบนหลังคาของชาวบ้านเขา

เราเองก็จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “ความอยากแห่งการพัฒนา” อย่างไม่รู้จักจบ....555+ ถูกใจจริง ๆ

ทำให้หนูย้อนคิดว่า หนูเอามาตรฐานของคนอื่น หรือ กรอบของคนอื่น มาครอบตนเองไว้อยูหรือเปล่านะ

โอ้ มันเป็นเช่นนี้จริง ๆด้วยค่ะ พอหนูหันไปเห็นว่า คน ๆ นั้นทำได้ดี ก็เหมือนกับว่า หนูเองนี่แหละที่ไปเอากรอบของคนอื่นมาครอบตนเอง แล้วก็รู้สึกว่า ท่าทางจะดี เหมือนเอาเสื้อผ้าของคนอื่นที่ไม่เหมาะกับตนเองมาใช้ แทบไม่รู้ตัวเลย

แล้วทำยังไงคะ หนูจึงจะพ้นการกระทำแบบนี้ หนูคงต้องฝึกตั้งสติให้มั่น หาตนเองให้เจอ กราบขอบพระคุณค่ะ

เมื่อคนเราทำอะไรตามความอยาก เหตุและผลก็มิต้องพูดถึง เพราะเมื่อความอยากครอบคลุมหัวใจของเราอยู่ เราจะหน้ามืดและตามัว

การพัฒนาใจของตนเองให้สะอาดทุก ๆ เมื่อต้องวางแผนที่จะต้องลงไปทำอะไรกับใครจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ตอนนี้นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าชุมชนมีปัญหา จึงเหละโงลงไปแก้ปัญหากันยกใหญ่ บางคนก็ทำตามความอยาก อยากเพราะ "ร้อนวิชา" เห็นบ้าน เห็นเมืองอื่นเขาพัฒนาก็อยากให้บ้านเราพัฒนาบ้าง

แต่ก็อย่างที่ว่า ถ้าหากมีความอยากครอบงำ ก็จะหน้ามืด ตามัว อยากให้ทุ่งนาเปลี่ยนไปเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เปลี่ยนคนให้เป็น "เครื่องจักร"

ไอ้เราเนี่ยแหละตัวปัญหา เพราะว่าเราคิดว่าเขามีปัญหา เขาก็อยู่ของเขาสบาย ๆ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ก็ยังไปว่าเขาเร่า ๆ ว่า "ด้อยพัฒนา" ต้องเปลี่ยนปลามาเป็น "แฮมเบอร์เกอร์"

ต้องลองย้อนถามตัวเองว่า ตอนกินแฮมเบอร์เกอร์นั้นแซบเท่าน้ำพริกหรือส้มตำปลาร้าหรือไม่

เดี๋ยวนี้เราอยากให้ทุกคนในประเทศหันไปกินแฮมเบอร์เกอร์ ก็มองว่าคนที่กินข้าวกับน้ำพริกผักต้มอยู่เป็นคนประหลาดกันไปหมด

 

การนำกรอบของคนอื่นมาครอบตนเอง อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาให้ดี

ถ้ากรอบนั้นเป็นกรอบของ "พระอริยะ" หรืออริยะบุคคล ก็ควรที่จะครอบ ไม่ใช่ไปปฏิเสธ เพราะขี้เกียจ ขี้คร้าน ไม่อยากที่จะพัฒนาตนเอง

แต่ถ้าเป็นกรอบของคนเลว คนชั่ว คนที่ชอบทำตัวมั่ว ๆ ไปกับสังคม อันนี้เป็นกรอบของคนพาลที่จะนำทางเราไปในทางที่ผิด

รักษาศีลให้ดี ศีลจะทำให้เราเจอกรอบของคนดี ๆ...

หลาย ๆ คนมักจะอ้างว่า "เราก็เป็นแค่ปุถุชน" จะเอาอะไรกันมาก คนที่อ้างแบบนี้ไม่สมควรเกิดมาเป็นคน เพราะการได้เกิดมาเป็นคนนั้นเป็นโอกาสแห่งการ "พัฒนา"

ปุถุชน ถ้ามีความเพียร ความพยายาม ได้เจอบัณฑิตก็จะมีกรอบที่ดี สามารถพัฒนาตนให้เป็น "อริยะบุคคล" ได้

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท