การวิจัยแบบมีส่วนร่วม : คำถามที่เกิดจากบ้านผาตูบ ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน


การที่จะทำงานแบบมีส่วนร่วมได้คือทุกฝ่ายจะต้องสะดวกกายและสะดวกใจ

ช่วงประมาณ ๒ สัปดาห์ก่อน ผมได้รับการติดต่อจากคุณเกศริน ซึ่งขณะนี้กำลังค้นคว้างานวิจัยเพื่อนำไปใช้เรียนต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งคุณเกศรินสนใจงานวิจัยที่ผมได้ทำร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เล่มหนึ่ง คือ "โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน บ้านผาตูบ หมู่ 7 ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน" และคุณเกศรินเองมีคำถามต่าง ๆ ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ผมเองจึงขออนุญาตนำคำถามและคำตอบมาบันทึกไว้เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป

 


 

สวัสดีค่ะ  ขอสอบถามอาจารย์เพิ่มเติมน่ะค่ะ
 
- ทำไมอาจารย์ถึงเลือก หมู่บ้านผาตูบ หมู่ 7 มาทำการวิจัยค่ะ
 
  (ทำไมอาจารย์ไม่เลือกผาตูบ หมู่ 1 หรือที่อื่นค่ะ) และอะไรเป็น
 
   ปัจจัยให้เลือกที่นี่ในการวิจัยค่ะ
 
- ทำไมถึงตั้งสมมุติฐานในการวิจัยในลักษณะนี้ ก็คือ
 
   "การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้นได้  โดยการจัด
    กระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง" ค่ะ


สวัสดีครับคุณเกศริน
 
ทำไมถึงเลือก หมู่บ้านผาตูบ หมู่ 7 มาทำการวิจัย...?

 
เรื่องนี้ถ้าจะว่ากันจริง ๆ ก็ค่อนข้างยาวครับ แต่ถ้าให้ตอบแบบสั้น ๆ ก็คือ "ให้นักศึกษาเลือก"


การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ต้องให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่เราต้องกำหนดเกณฑ์ไว้ในใจคร่าว ๆ ว่า อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย หรือนักศึกษาทุกคนสามารถเดินทางไป-กลับได้อย่างสะดวก


วิธีการก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตั้งคำถามว่าจะเลือกที่ไหน ต้องบอกรายละเอียดให้ชัดเจนว่า กิจกรรมคร่าว ๆ จะทำกี่ครั้ง ใช้เวลาช่วงประมาณไหน จะได้ตีสโคปพื้นที่ให้แคบลง
หลังจากนั้นก็ดูว่านักศึกษาคนใดกระตือรือร้นที่สุด แล้วก็พอจะรับเป็นแม่งานได้ดีที่สุด
ในงานครั้งนั้นผมมีนักศึกษาคนหนึ่งทำงานอยู่ใน อบต.ผาสิงห์ ดูท่าทางเอาการเอางาน เป็นที่เชื่อถือของเพื่อน ๆ ขันอาสาจะเป็นเจ้าภาพและติดต่อประสานงานให้ และ ต.ผาสิงห์ก็อยู่ไม่ไหลเมืองเท่าใดนัก ก็เลยร่วมกันลงความเห็นในห้องเรียนว่าจะไปทำกันที่ผาสิงส์
 
หลังจากได้ตำบลผาสิงห์แล้ว เราก็ต้องดูสโคปงานกับเวลาที่มีคือ 4 เดือน การวิจัยแบบตีมีส่วนร่วมจะตีวงกว้างไม่ได้ คือ ทำทั้งตำบลไม่ได้ตอนนั้นก็เลยจำเป็นจะต้องทำแค่หมู่บ้านเดียว
 
ทำไมถึงเป็นหมู่ 7...?

 


หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ผมมีโอกาสเดินทางลงพื้นที่ไปกับนักศึกษาคนนั้น แล้วก็พาไปผมลงไปหมู่ 7 เพราะว่า "ผู้ใหญ่บ้านเขาเอาด้วย"


คือ นักศึกษาคนนั้นเขารู้จักนิสัยผู้ใหญ่บ้านคนนี้ดี มีความสนิทสนมกัน แล้วเขาก็ไปคุยเกริ่นกันไว้ ดูท่าทีจะร่วมงานกันได้ เขาจึงพาผมลงไปคุยอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้เองจึงกลายเป็นหมู่ 7

การที่จะทำงานแบบมีส่วนร่วมได้คือทุกฝ่ายจะต้องสะดวกกายและสะดวกใจ

เราจะเอาแต่ตัวเองสะดวกไม่ได้ นักศึกษาเองเขาก็จะต้องสะดวก เขาสะดวกใจทำงานกับหมู่บ้านใด เราก็จะต้องทำกับหมู่บ้านนั้น และที่สำคัญเราก็ต้องดูด้วยว่าหมู่บ้านเขาสะดวกใจทำกับเราไหม ถ้าเขาไม่สะดวกเราก็อย่าไปขืนใจเขา หรือบังคับเขา การลงพื้นที่ไปพบปะพูดคุยกับชุมชน โดยเฉพาะหัวหน้าชุมชนจึงเป็นการโยนหินถามทางว่า "เขาจะร่วมกับเราไหม" นอกจากนั้นเราก็จะได้เห็นเส้นทาง เห็นพื้นที่ เห็นทุนทางชุมชนต่าง ๆ ว่า หมู่บ้านที่เราจะลงไปทำงานนี้พร้อมหรือเหมาะสมกับโครงร่างฯ ที่เราจะทำมากน้อยเพียงใด

ดังนั้นหัวหน้าโครงการฯ หรืออาจารย์ผู้ควบคุม จักต้องเข้าใจขอบข่ายงานทั้งในเรื่องของลักษณะ รายละเอียดทางด้านเศรษฐกิจ (หรือหัวข้อต่าง ๆ) อย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเข้าใจหลักการของ PAR (Participatory Action Research) อย่างท่องแท้ ไม่ควรที่จะนั่งเขียนข้อเสนอ หรือโครงร่างการวิจัยก่อนโดยที่ไม่เคยลงพื้นที่เลย โดยเป็นการเขียนที่คิดเอาเองฝ่ายเดียวว่า เขาน่าจะทำกับเรา หรือว่า "เขาต้องทำกับเรา" เป็นการข่มขืนชุมชน บังคับจิตใจเขา หรือเมื่อโครงการฯผ่านแล้วก็ไปพยายามยื่นข้อเสนอต่าง ๆ หลอกล่อเพื่อที่จะให้เขาร่วมทำงานกับเรา


คำถามที่ 2  ทำไมถึงตั้งสมมุติฐานในการวิจัยในลักษณะนี้ ก็คือ

 
   "การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้นได้  โดยการจัด
    กระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง"
 
"เพราะผมไม่ใช่เทวดาน่ะสิครับ"
อันนี้ตอบจริง ๆ นะ ไม่ได้กวน
นักวิชาการส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นเทวดา เก่งกว่าคนอื่นเขาหมด แล้วก็มักดูถูกว่าชาวบ้านโง่ ก็เลยมักคิดว่าจะลงไปแก้ปัญหาแล้วก็พัฒนาตามใจของตัวเอง
 
นักศึกษาคนหนึ่งของผมก็เคยคิดอย่างนั้น มักคิดว่าชาวบ้านโง่ ตัวเองฉลาด ถ้าจะทำวิจัยแบบมีส่วนร่วมต้องฝ่าความคิดนี้ให้ได้ เป็นสิ่งสำคัญมาก

หรือถ้าจะตอบอย่างวิชาการหน่อยก็คือ เราไม่สามารถทำงานกับเขาได้ตลอดครับ เราทำวิจัยที่ไหน เมื่อจบแล้วก็จบกันครับ ครั้งเดียวในชีวิต เราก็มีปัญหาของเรา เขาก็มีปัญหาของเขา เพียงแต่เราเข้าไปแก้ปัญหาของเรา คือ ผมเองก็ต้องสอนวิจัยนักศึกษา ผมก็หาพื้นที่จริงที่จะสอน นักศึกษาต้องการเรียนวิจัย เขาก็ต้องหากลุ่มตัวอย่างทำวิจัย ส่วนชุมชน เราก็หยิบยกปัญหาปากท้องคือด้านเศรษฐกิจขึ้นมาเรียนรู้กัน เพราะเราอยู่ในสาขาบริหารธุรกิจ ก็ต้องเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์
 
เศรษฐกิจของชุมชน ก็คือ เศรษฐกิจของชุมชนครับ ไม่ใช่เศรษฐกิจของเรา เราไม่ได้อยู่ในชุมชนนั้นตลอด คนที่อยู่ในชุมชนเท่านั้นท่าจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเขาเอง
 
ตอบแบบนี้คงจะจำยากหน่อย อาจารย์ท่านหนึ่งเคยสอนผมให้จำอย่างนี้
ปัญหามีอยู่ 3 ปัญหา คือ (ขออนุญาตใช้คำท่านอาจารย์สอนผมมานะ)
 
1. ปัญหากู กูต้องแก้ มึงแก้ให้กูไม่ได้
2. ปัญหามึง มึงต้องแก้ กูแก้ให้มึงไม่ได้
3. ปัญหามึงกับกู คือ มึงกับกูต้องแก้ร่วมกัน แก้คนเดียวไม่ได้
 
ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจชุมชน ก็เป็นเรื่องของชุมชน เราไปแก้ให้ชุมชนไม่ได้ครับ เพียงแต่เราเข้าไปเรียนรู้ แล้ว "คิดว่า (สมมติฐาน)" การทำให้ชุมชนเรียนรู้ตัวเอง (อ่านตัวเองมาก ๆ) ชุมชนจะรู้จักตัวเอง แล้วสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้

 
ผมไม่แน่ใจว่าจะตอบตรงคำถามหรือเปล่า คือเรื่องการวิจัยแบบมีส่วนร่วม Participatory action research  : PAR ต้องใช้ลูกเล่นค่อนข้างเยอะ แต่หลัก ๆ ก็คือ ต้องร่วมกันจริง ๆ


บันทึกที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยนี้…

"ผาตูบ" เรื่องเล่าเร้าพลังจากชุมชน : น่านไดอารี่

http://portal.in.th/u-research/pages/2867/

หมายเลขบันทึก: 342489เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2010 07:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ชอบบตรงนี้มากครับ

1. ปัญหากู กูต้องแก้ มึงแก้ให้กูไม่ได้

2. ปัญหามึง มึงต้องแก้ กูแก้ให้มึงไม่ได้

3. ปัญหามึงกับกู คือ มึงกับกูต้องแก้ร่วมกัน แก้คนเดียวไม่ได้

ผมทำ Action Research แบบ Appreciative Inquiry ครับ

ดูมาถูกทางครับ ขอให้สนุกและประสบความสำเร็จนะครับ

อย่างที่อาจารย์ว่า PAR มีลูกเล่นเยอะนะครับ จริงๆครับ ทำแล้วได้มุมมองอะไรใหม่ดีครับ และขออนุญาตเอาข้อความของท่านอาจารย์ ไปจุดประกายลูกศิษย์ต่อครับ

ขอลพระคุณอีกครั้งสำหรับอาหารสมองเช้านี้ครับ

ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ๆ สำหรับแนวคิดเด็ด ๆ (อีกแล้ว) 55+

1. ปัญหากู กูต้องแก้ มึงแก้ให้กูไม่ได้

2. ปัญหามึง มึงต้องแก้ กูแก้ให้มึงไม่ได้

3. ปัญหามึงกับกู คือ มึงกับกูต้องแก้ร่วมกัน แก้คนเดียวไม่ได้

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง..

เหมือนเป็นการฝึกให้ชาวบ้านมองปัญหาของตนเองให้ออก แล้วหาแนวทางแก้ ดีจังเลยนะคะ ถ้าเขาสามารถเข้าถึงได้ปัญหาก็จะถูกแก้อย่างถูกจุด อืม ถ้าใครมองในมุมนี้เห็นได้ในตนเองคงจะสุดยอดเลย ขอบพระคุณค่ะ

อยากรู้จริง ๆ ว่าใครเป็นคนบัญญัติศัพท์คำว่า "ชาวบ้าน" ขึ้นมาใช้ ถ้าเดาไม่ผิดก็คงจะเป็น "นักวิชาการ"

ไอ้ที่จริงคนที่เราไปเรียกเขาว่าชาวบ้านนั้น เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ชีวิตเขาสุขสบายกว่าเราตั้งเยอะ

แต่ไอ้เราเนี่ยมันเรียนเยอะ ร้อนวิชา หรือไม่ก็อยากจะสร้างผลงาน อยากทำวิจัย ต้องการทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาตรี โท เอก ก็เลยไปติ๊ต่างว่าเขามีปัญหา แล้วก็ทำโครงร่างการวิจัย ทำแผนต่าง ๆ ลงไปเพื่อยุ่งกับชีวิตเขา

ที่จริงแล้วชุมชนเขามีพระคุณกับพวกเราหรือนักวิชาการอย่างล้นพ้น ที่เขาไม่ไล่ตะเพิดเราออกจากบ้านของเขา เพราะตั้งแต่มีพวกเรา เขาก็วุ่นวายกันไม่รู้จักจบ

ไปเรียกเขาไปประชุมบ้าง เขาทำงานอยู่ดี ๆ ก็ไปให้เขาตั้งกลุ่มโน่น กลุ่มนี่ พาเขาไปประชุมโน่นประชุมนี่

เด็ก ๆ ลูกหลานเขาดี ๆ ก็เอาหนังสือวัยรุ่น นิตยสาร "กิเลส" เข้าไปสร้าง "ตัณหา" ให้ลูกหลานเขา

ที่จริงแล้วปัญหาทั้งหมดนี้เป็น "ปัญหากู" ทั้งนั้น กูอยากเรียน กูอยากมีผลงาน กูอยากสร้างรายได้ แล้วก็ไปบอกเขา หลอกเขาบ้าง จริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง บอกว่าจะมาสร้างโน่น สร้างนี่ พัฒนาโน่น พัฒนานี่ พอเรียนจบ ได้ผลงาน ตำแหน่งขึ้นแล้วก็หายแซ่บไป

พอเกิดปัญหาอย่างนี้ก็ยิ่งเข้าทาง เรียกงบพัฒนาได้ เสนอของบวิจัยได้ วิจัยและพัฒนา (Research & Development) กันไม่รู้จบ พา (PAR) โน่น พานี่สนุกกันไปใหญ่

เขากินอาหารอะไรอยู่ ก็เที่ยวไปบอกว่าอาหารของเขา "สกปรก" ไม่ถูกหลักอนามัย ได้โครงการพัฒนาสุขภาพและชีวอนามัยอีกแล้ว...!!!

ที่ไปทำงานครั้งนี้ (ผาตูบ) ก็ไปบอกเขาว่า ปัญหาของเราคือ นักศึกษาจะต้องเรียนวิจัย ขอเข้าไปเรียนกับเขาได้ไหม (ปัญหากูแท้ ๆ)

ชุมชนเขาก็เมตตาให้เราเข้าไปนักศึกษาเข้าไปเรียนด้วย เรียนรู้ชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขของเขา จะได้ไม่มองแต่ชีวิตเขาว่ามีแต่ปัญหา

อย่าไปคิดแต่ว่า ถ้าไม่มีเราเขาจะอดตาย เราต้องคิดเสมอว่า ถ้าไม่มีเขา เรานั่นแหละที่จะตาย (ไม่มีพื้นที่ลงไปทำงาน)

นักวิชาการชอบกดขี่ชุมชนด้วยความรู้ นึกว่าตนเองเก่ง เรียนมาก รู้มาก และก็อยากให้คนอื่นรู้มากเหมือนตนเอง ไอ้ที่ทุกวันนี้ "ทุกข์" มากก็เพราะรู้มากกันมิใช่หรือ

เขารู้อยู่ รู้กิน หาเช้ากินค่ำก็สบาย ๆ กันอยู่แล้ว

พวกเรารู้จักหลุยส์ วิคส์ตอง ก็หาเรื่องไปซื้อกระเป๋ามาหิ้ว มาห้อย ชุมชนเขาใช้ย่ามก็ใส่ของได้สบาย ไม่เห็นจะต้องไปใช้อะไรแปลก ๆ แบบเราเลย

มีแต่เรานั่นแหละที่ไปบอกเขาว่า "ด้อยพัฒนา" ด้อยเพราะกรอบ ด้อยเพราะมาตรฐานที่เราตั้งไว้

เขามีเงินน้อยก็หาว่าเขาจน เขาจนแล้วเขาน่าจะไม่มีความสุข แล้วคนที่รวย ๆ ทุกวันนี้สุขกันมากเหรอ...?

น่าจะเอาดัชนีมวลรวมความสุข (GDH : Gross domestic happiness) มาเปรียบเทียบกันระหว่างนักวิชาการกับคนในชุมชนว่าใครมีความสุขมากกว่ากัน

ทุกวันนี้เล่นเอาแต่ GDP (Groos Domestic product) มาวัดกัน ก็หาเรื่องไปปั่นราคาพืชผลทางเกษตรเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ "พ่อค้าคนกลาง"

ตอนนี้ยิ่งมีมหาวิทยาลัยวิจัย ที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นเยอะ ถ้าอาจารย์หรือนักวิจัยไม่เข้าใจยิ่งน่ากลัว เพราะชาวบ้านก็จะ "ร่วม" ทำวิจัยกันจน "โงหัว" ไม่ขึ้น

ทั้งอาจารย์ ทั้งนักศึกษา ก็จะเหละโลลงไปชุมชนกันยกใหญ่ แล้วส่วนใหญ่ก็จะเลือกแต่ชุมชนที่ดูจะเข้าท่า เข้าทาง (ชุมชนเดิม ๆ)

ชุมชนไหนใครเคยเข้าไปแล้วเขาต้อนรับก็บอกกันปากต่อปาก (Word of mouse) ชุมชนไหนมีโครงการด้านนี้แล้วเวิร์ค นักวิชาการอีกสายหนึ่งก็จะเข้าไป "ต่อยอด"

คราวนี้ชุมชนก็ไม่ต้องทำมาหากินกัน ต้องคอยเข้ามา "ร่วม" ทำวิจัยเพื่อสร้างผลงานให้กับนักวิชาการไทยอยู่นี่เอง... 

So the elegance and bold temperament the waterproof 50 meters Reverso Squadra

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท