เงินตราอาณาจักรล้านช้าง


เงินตราอาณาจักรล้านช้าง

 

         ดินแดนแห่งอาณาจักรล้านช้าง  หรือที่เรียกกันว่า  “กรุงศรีสัตนาคนหุต”  เป็นดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง  ตั้งอยู่ระหว่างดินแดนล้านนากับแคว้นอันนัม ( ประเทศเวียตนามในปัจจุบัน )  ในยุคที่อาณาจักรล้านช้างยังคงรุ่งเรืองอยู่นั้น  ได้ขยายอาณาเขตทางทิศเหนือไปจนถึงสิบสองปันนาในยูนนาน  รวมบริเวณแม่น้ำโขงยาวลงไปถึงกัมพูชา  การติดต่อค้าขายกับอาณาจักรที่อยู่ใกล้เคียงจึงใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางหนึ่งในการเดินทาง  ผลจากความสัมพันธ์อันดีที่เกิดจากการผูกสันถวไมตรีระหว่างอาณาจักรหรือดินแดนใกล้เคียง  ทำให้สันนิษฐานว่า  เงินตราที่พบในอาณาจักรล้านช้าง  ส่วนหนี่งได้รับอิทธิพลการผลิตเงินตราของเวียตนามและจีน  ทั้งในด้านรูปแบบและระบบอัตราเงินที่ไม่ตายตัว  กล่าวคือแต่ละชุมชนสามารถผลิตเงินที่มีรูปแบบและน้ำหนักตามมาตรฐานของตน  ในขณะเดียวกัน  ได้รับเงินตราจากต่างแดนเข้ามาใช้ด้วย  เช่น  เงินพดด้วงและเบี้ยของสุโขทัย  เงินอีแปะของจีน  เงินรูปีของพม่า  เงินหริ่งหรือติ่งและเงินแท่งของญวน  และเงินขาคีมของล้านนา  ดังนั้น  การใช้เงินของอาณาจักรจึงมีทั้งเงินของตนเองและเงินที่รับมาจากอาณาจักรอื่นๆ ปะปนกันไป

         เงินตราของอาณาจักรล้านช้างที่พบ  ได้แก่

         เงินฮาง  ทำด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๘  ขึ้นไป  มีน้ำหนักหกตำลึงหกสลึง  ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขอบโดยรอบ  ที่เรียกว่า  “เงินฮาง”  เพราะลักษณะคล้ายรางหญ้าม้าหรือรางข้าวหมู  คำว่า  “ฮาง”  มีความหมายว่า  “ราง”  ในภาษาไทย

           เงินตู้ หรือ เงินฮางน้อย  ทำด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ประมาณร้อยละ ๘๘-๙๐  มีน้ำหนักต่างกันหลายขนาด  ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายเงินฮาง  แต่ไม่มีขอบสูง  และท้องไม่เป็นร่องลึก  ด้านหน้ามีรอยบุ๋มคล้ายนิ้วมือกด  คำว่า “ตู้”  เป็นภาษาลาว  มีความหมายว่าไม่มีขอบและริม

          เงินฮ้อย  ทำด้วยเนื้อเงินผสมทองและทองเหลือง  มีรูปร่างคล้ายเรือชะล่าหรือกระสวยทอหูก  หัวท้ายเรียวเล็กน้อย  ด้านบนมีตุ่มทั่วไปคล้ายตัวบุ้ง  มีราคาต่างกันตามเนื้อเงิน  เงินฮ้อยที่พบบางแท่งมีอักษรไทยประทับไว้ ๓ จุด  บริเวณปลายทั้ง ๒ ข้าง  และตรงกลาง  เช่น  “กก”  หมายถึง  จังหวัดเชียงราย  “หม”  หมายถึง  จังหวัดเชียงใหม่  อันเป็นหลักฐานได้ประการหนึ่งว่า  มีการติดต่อค้าขายกันระหว่างอาณาจักรล้านช้างและล้านนา

         คำว่า “ฮ้อย”  มาจากมาตราชั่งของชาวศรีสัตนาคนหุต  ซึ่งกำหนดเรียกน้ำหนักสิบบาทว่า “ ฮ้อยหนึ่ง”  ในระยะแรก  เงินฮ้อยมีน้ำหนักสิบบาททั้งสิ้น  โดยเงินฮ้อยแต่ละแท่งมีมูลค่าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเนื้อเงินที่เจือปนอยู่  ได้แก่  ฮ้อยน้ำสาม  หมายถึง  มีเนื้อเงินสามส่วน  ทองลงหินเจ็ดส่วน  ใช้เป็นราคาสามบาท  ฮ้อยน้ำหก  มีเนื้อเงินหกส่วน  ทองลงหินสี่ส่วน  ใช้เป็นราคาหกบาท  และฮ้อยน้ำแปด  มีเนื้อเงินแปดส่วน  ทองลงหินสองส่วนใช้เป็นราคาแปดบาท  แต่ในระยะหลัง  มิการทำเงินฮ้อยที่มีน้ำหนักและเนื้อเงินต่างๆ กัน

          เงินลาดหรือทองลาด  มีลักษณะคล้ายเงินฮ้อยแต่เรียวเล็กกว่า  หล่อด้วยทองแดงผสมทองเหลือง  มีขนาดแตกต่างกัน  มีตราประทับอย่างน้อย ๓ ตรา  เช่น  ตราช้าง  เต่า  จักร  ปลา  ดอกจัน  ฯลฯ  นอกจากนี้  ยังพบเงินลาดลักษณะเป็นรูปกระสวยและมีร่องตรงกลาง  แต่ไม่มีตราประทับ

         เนื่องจากคำว่า “ลาด”  หมายถึง  “ตลาด”  ซึ่งชาวลาวมักพูดว่า  “ไปตลาดลาดรี”  หรือ  “ตลาดลาดรี”  จึงสันนิษฐานว่า  เงินลาดใช้เป็นเงินปลีกสำหรับใช้สอยเบ็ดเตล็ด

          มีเงินอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า  “เงินลาดฮ้อย”  หล่อด้วยทองลงหิน  ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย เพื่อนนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 341848เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2010 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท