ศิลปท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านต้องสูญหายไปเพราะอะไรกันแน่ ตอนที่ 4 ลงทุนไม่ถูกทาง


ถ้าอย่างนี้ก็เจอกันเพียงครั้งเดียว น่าที่จะเกินพอแล้ว

ศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้าน

สูญหาย เพราะเหตุใดกันแน่

ตอนที่ 4 การส่งเสริมสนับสนุนลงทุนไม่ถูกทาง

ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

          การทำงานแทบทุกอย่างต้องมีเงินลงทุน ผมหมายถึงจะต้องมีงบประมาณรองรับ ให้การดูแลช่วยเหลือบ้าง บางหน่วยงานสามารถเสนอโครงการของบประมาณในการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นตัวเงินลงมาเลย  บางหน่วยงานมีงบประมาณส่งลงมาให้จากหน่วยงานที่สูงกว่าอย่างชัดเจน  จากการที่ได้ร่วมงานกับสำนักงานบางแห่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นึกแล้วก็อดที่จะเสียดายไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่สิทธิของเรา  ได้แต่มองเห็นได้รับรู้ ได้แต่เสียคิดว่า ถ้าเป็นเราคงทำให้เห็นได้ชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งในเรื่องของการจัดอบรม การจัดกิจกรรมการแสดงพื้นบ้าน เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา 20 กว่าปี คนทำงานเพลงพื้นบ้านตัวจริงไม่เคยมีงบประมาณรองรับ ก็ยังทำมาได้อย่างต่อเนื่อง แล้วทำไมในขณะที่มีงบประมาณสนับสนุน แต่หน่วยงานนั้น ๆ จึงยังไม่มีผลงานที่เป็นผลผลิตโดดเด่นขึ้นมาแทนที่คนรุ่นเก่าได้สักที

         

        

          การแสดงในแต่ละงาน ในแต่ละสถานที่ ทีมงานการแสดงมีต้นทุนที่จะต้องใช้จ่ายและสูญเสียไปกับการนำเสนอผลงานในแต่ละครั้งมิใช่น้อย เพราะเราทำงานระดับอาชีพที่ยาวนานแต่ตรงจุดนี้กลับไม่มีใครมองเห็นหรือหยิบยกเอามาคิดกันบ้าง หากมีงบประมาณน้อยมักจะให้ความสำคัญมายังพวกเรา แต่ถ้ามีงบประมาณมาก ๆ มักจะลืมเราไปเลย  ลืมไปเสียด้วยว่า จังหวัดนี้มีศิลปะท้องถิ่นอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง ผมย้อนกลับไปที่ค่าใช้จ่าย ต้องเสียอะไรกันบ้างในการแสดง 1 ครั้งหรือ 1 งาน (ใครต้องแบกพาระนี้ทั้งที่งานนั้น ๆ มีผู้รับผิดชอบ)

  1. ค่าพาหนะในการเดินทางไปแสดง (งานช่วยเหลือใช้รถยนต์ส่วนตัวของครู)
  2. ค่าวัสดุแต่งหน้านักแสดงทุกคน เลิกเล่นแล้วล้างหน้าทิ้งไปเก็บไว้ได้บ้างก็ส่วนน้อย
  3. ค่าเครื่องประดับที่จะต้องสึกหรอหมดอายุไป บางชิ้นใช้ครั้งเดียวก็ชำรุดต้องซื้อใหม่
  4. ค่าอาหารในวันแสดง (เล่นเพลงจนเสร็จแล้วยังไม่มีอาหารในท้องเลย)
  5. ค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมเฉพาะงานหนึ่งที่จะต้องแสดงให้ตรงกับหัวข้องานนั้น ๆ
  6. ค่าเช่าเครื่องไฟฟ้าขยายเสียง (ถ้าสถานที่จัดงานไม่มีให้)
  7. ค่าเช่าเวทีการแสดง (ถ้าต้องมีคิดเป็นงาน)
  8. ค่าเบี้ยเลี้ยงนักแสดง (หากเป็นงานหาจ้างวาน เด็ก ๆ ได้รับเต็มที่คุ้นค่าเหนื่อย)

          ที่ว่าให้การส่งเสริมสนับสนุนลงทุนไม่ถูกทาง งบประมาณที่ลงมา กว่าที่จะถึงผู้ควบคุมทีมการแสดง ต้องผ่านกระบวนการผ่านขั้นตอนและหน่วยงานหลายระดับ ในบางครั้งไม่มีผู้รับผิดชอบเมื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายทั้งที่น่าจะมีงบประมาณรองรับอยู่แล้ว สังเกตได้จากผู้ประสานงานมีความสุขกับการดำเนินงานมาก แต่เวลาขอเบิกค่าใช้จ่ายกลับเงียบ ๆ (เหตุการณ์สงบนิ่ง) ถ้าเป็นคนทำงานก็ต้องเก็บเอามาคิดบ้างว่า เกิดอะไรขึ้น ที่หนักไปกว่านั้นคือ ในที่ประชุมตกลงกันว่า งานนี้มีงบให้จัดทำจำนวนหนึ่งชัดเจน แต่พอส่งหลักฐานการเบิกเงินไปกลับแจ้งมาว่า ไม่มีเงินจ่าย ตกค้างนับหมื่นบาท (แล้วใครรับผิดชอบ) เหมือนถูกซ้ำเติม

          มีหลายครั้งที่ทีมงานการแสดงเพลงพื้นบ้านของผมได้ร่วมงานกับองค์กรเอกชน (ที่มีความมั่นคง) ท่านมาติดต่อเพลงอีแซวไปแสดง ดูเหมือนว่าจะให้ไปช่วยเหลือ (พวกเราเต็มใจ)วันที่มาติดต่อมีของติดมือมาฝากเด็ก ๆ (ของขบเคี้ยว) ท่านยังติดตามมาชมการฝึกซ้อม นำเอาหัวข้อที่ท่านจัดงานมาให้เขียนเนื้อเพลงใช้แสดงบอกหัวเรื่องและรายละเอียด ท่านช่วยให้ข้อเสนอแนะ ในวันงานมีรถยนต์รับ-ส่ง (รถตู้ 2 คัน) มีอาหารกล่องเป็นอาหารมื้อกลางวัน ท่านให้การดูแลเด็ก ๆ ด้วยความเมตตาและอบอุ่นจนเราไม่อยากรบกวนอะไรอีกเลย แต่ก็ยังมอบน้ำใจให้กับวงเพลงอีแซวอีกจำนวนหนึ่ง (มากพอดู)

         

           

          ในลักษณะเดียวกันนี้เพียงแต่ว่า ได้ทำงานกับผู้รับผิดชอบในระดับผู้ใหญ่ ระดับสูงมาก ท่านนั่งรถตู้ไปดูผลงานของผมโดยติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยตัวท่านเอง ไปเฝ้าติดตามดูการฝึกซ้อม ให้กำลังใจจนถึงหน้าเวทีการแสดงในวัยจริง แถมยังหาโอกาสมาทักทายพูดคุยให้กำลังใจก่อนที่จะเดินทางกลับอีก (โอ๊ย หาไม่ได้อีกแล้ว) เมื่องานเสร็จเรียบร้อยผ่านไปไม่นานท่านมีหนังสือขอบคุณและเช็คเงินสดเป็นค่าใช้จ่ายในงานนั้น ๆ ส่งมาให้ด้วย (มีความเหมาะสมเป็นไปได้มาก)

          ถ้าผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างผู้จัดงานกับมหรสพการแสดงพื้นบ้านมีความจริงใจ มีความชัดเจน ตรงไปตรงมา คนทำงานก็มีกำลังใจอยากไปร่วมงานด้วยทุกครั้ง แต่ถ้าหน่วยงานใด มีผู้ประสางานที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนอาน พูดง่าย ๆ ว่า มีการเบียดบังผลประโยชน์บางส่วน กันงบประมาณออกไปใช้อย่างอื่น นำเอาเพียงส่วนหนึ่งมาให้นักแสดง ถ้าอย่างนี้ก็เจอกันเพียงครั้งเดียวน่าที่จะเกินพอแล้ว

(ติดตาม สาเหตุ ที่ทำให้ศิลปะท้องถิ่นต้องสูญหายไป ในตอนที่ 5)

 

หมายเลขบันทึก: 341323เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2010 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท