บันไดร้อยกรอง ๙ คำสร้อย


     คำสร้อย คืออะไร

คำสร้อย

น. คำหรือวลีที่ใช้ลงท้ายวรรค ท้ายบาท หรือท้ายบทร้อยกรอง

 

เพื่อความไพเราะของเสียงและความหมาย หรือเพื่อแสดงว่า

 

จบตอน เช่น นาเฮย ฤๅ บารนี แก่แม่นา โสตถิ์เทอญ.

 

 

       ในบันทึกนี้ครูภาทิพจะพูดถึงคำสร้อย ของโคลงสี่สุภาพ   คำสร้อยจะอยู่ในบาทที่ ๑ และ ๓  ไม่ได้เป็นกฎบังคับว่าต้องมี   แต่มีข้อสังเกตว่า  โคลงที่มีคำสร้อยจะฟังอ่อนหวานกว่า โคลงที่ไม่มีคำสร้อย  

 

      จากแผนผังของโคลงสี่สุภาพ  ตำแหน่งของคำสร้อย คือคำ ๒ คำ ในวงเล็บนั่นเอง

                   

 

     ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพที่มีคำสร้อย

      เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
  ลิลิตพระลอ

 

        ในคำประพันธ์นี้   พี่เอย   และ ฤๅพี่ เป็นคำสร้อย

 

      ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพ ที่ไม่มีคำสร้อย

         โบสถ์ระเบียงมณฑปพื้น     ไพหาร
  ธรรมาสน์ศาลาลาน                 พระแผ้ว
  หอไตรระฆังขาน                    ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว                    ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์

                                            นิราศนรินทร์

 

 

เมื่อไรใช้  เมื่อไรไม่ใช้ คำสร้อย

         ใช้เมื่อ  แต่งคำประพันธ์ครบบาทแล้ว  คำไม่ลงตัว  คำยังขาดอีก ๑ คำ

 หรือขาดหางเสียงไป  หรืออยากจะถาม อยากจะยั่ว  อยากจะเถียง อยากจะติ

 อยากจะฝากให้คิด   ตัวอย่าง

 

         วัดหงส์เหมราชร้าง     รังถวาย   นามแฮ (ไม่จบความว่าถวายอะไร )

     เรียมนิราเรือนสาย         สวาทสร้อย

    หงส์ทรงสีพักตร์ผาย       พรหมโลก แลฤา  (โลกเป็นคำตายเสียงแข็งไป)

   จะสั่งสารนุชคล้อย           คลาดท้าวไป่ทัน

 นามแฮ (ไม่จบความว่าถวายอะไร  จึงต้องเติมอีกหนึ่งคำ ว่าถวายนาม )

แลฤๅ  (โลกเป็นคำตายเสียงแข็งไป นำแล  มาต่อเป็นการรับด้วยเสียงอักษรเดียวกันด้วย  และลงท้ายให้เป็นคำเป็น เสียงจะไพเราะ )

 

       ลักษณะของคำสร้อย  ในคำ ๒ คำให้สังเกต ว่าคำหนึ่งจะมีความหมาย ส่วนอีกคำหนึ่งไม่มีความหมาย  เป็นเพียงคำที่มาเติมเท่านั้น   แต่ก็มีบางบทที่ คำสร้อยมีความหมายทั้ง ๒ คำ

 

       และจากการสังเกตคำสร้อยในนิราศนรินทร์  พบว่า คำสร้อยในนิราศนรินทร์ จะเล่นสัมผัสอักษรต่อคำสุดท้ายของบาทนั้นๆ ดังตัวอย่าง

     

 

        จากมามาลิ้วล้ำ          ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง               พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง            เมียงม่าน มานา (ม่าน  กับ มา)
บางบ่รับคำคล้อง               คล่าวน้ำตาคลอ

 

      ปานนี้มาโนชญ์น้อย      นงพาล พี่เอย  (พาล  พี่)
เก็บเกศฤากรองมาลย์         มาศห้อย
ปรุงจันทร์จอกทองธาร        ประทิน ทาฤๅ   (ทิน  ทา)
นอนนั่งถามแถลงถ้อย         ทุกข์พร้องความใคร
   
 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 340483เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท