e-Learning กับกระบวนการเรียนรู้ผสมผสาน


e-Learning และการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างผสมผสาน 
เพื่อบูรณาการประสบการณ์อันเข้มข้นหลากหลายทุกช่องทางสัมผัส
และส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงมิติการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม  

 

 

Learningartforeat3 Learningartforeat14 

ภาพซ้าย เรือนเพาะชำและลานเตรียมกลุ่มผู้เรียนใต้ร่มไม้ ด้านข้างมีห้องค้นคว้า e-Learning ให้นักเรียนเข้าไปศึกษาค้นคว้าเนื้อหาเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้ต่างๆได้ทันที ภาพขวา เป็นการนำเอาทรัพยากรเรียนรู้ซึ่งสะท้อนภูมิปัญญาชุมชน รวมทั้งเป็นวิทยาการและเทคโนโลยีการผลิตในวิถีชีวิตของชุมชน มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาเรียนรู้

       กรณีศึกษาศูนย์การเรียนรู้และห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลป์        [๑]
ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เขาชะโงก จังหวัดนครนายก

ศูนย์การเรียนรู้และห้องเรียนธรรมชาติ เกษตร-ศิลป์ ของโรงเรียนปิยชาติพัฒนา นอกจากจัดกระบวนการเรียนรู้ผสมผสานโดยมุ่งให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ระดับปฏิบัติ และได้ประสบการณ์ตรงในการจัดการเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต การบรรลุสู่จุดหมายอย่างเป็นองค์รวม ทั้งมีความรอบด้าน รอบรู้ในแนวกว้างเหมือนกับพื้นฐานจากหลักสูตรทั่วไป และมีความลึกซึ้งเหมือนกับหลักสูตรเชิงลึกเฉพาะด้านดังกล่าว ได้มีการวิเคราะห์วัตถุประสงค์ออกเป็นหน่วยประสบการณ์ย่อย ๑๔ หน่วย ครอบคลุมเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่จำเป็น ทั้งจุดหมายเชิงลึกและวัตถุประสงค์เฉพาะหลายมิติที่ทำให้เกิดความรอบด้าน รวมทั้งมีความเชื่อมโยงครบถ้วนในสาระการเรียนรู้ที่ต้องการ ทั้งจากศิลปะ ไปสู่เกษตรกรรม คณิตศาสตร์ เรขาคณิต ภูมิศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์วิชาชีพ สุขภาพพลานามัย เทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการความรู้ผสมผสาน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

จากนั้น ก็นำมาเป็นกรอบในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยจัดเนื้อหาและทรัพยากร ตลอดจนการออกแบบกิจกรรมต่างๆของผู้เรียน แล้วก็จัดวางเป็นฐานการเรียนรู้ (Learning Module) ๑๔ ฐานการเรียนรู้ กระจายไปตามอาณาบริเวณ ๓-๔ ไร่ แวดล้อมด้วยต้นไม้ สวนเกษตร แปลงเกษตร ที่สอดคล้องกับการจัดเป็นสาระการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมทั้งจัดการให้มีความเป็นสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติของชุมชนเกษตรกรรมในชนบทไทย แต่ละฐานการเรียนรู้มีคู่มือแนะนำการเรียนรู้อย่างเป็นระบบด้วยตนเองของกลุ่มผู้เรียน 

ในฐานการเรียนรู้ต่างๆ กิจกรรมผู้เรียน ทรัพยากรการเรียน สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขและความพร้อมอันหลากหลายของผู้เรียนได้มีการจัดเตรียมไว้อย่างหลากหลายและเหมาะสม บางสิ่งเป็นการมุ่งให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรง ได้ความชัดแจ้ง และเกิดการประทับความเป็นรูปธรรมของประสบการณ์เรียนรู้ เช่น การจัดฐานการเรียนรู้ให้มีของจริงได้สังเกตและทำกิจกรรม ด้วยตัวนักเรียนเอง

เรือนเพาะชำและลานเตรียมกลุ่มผู้เรียนใต้ร่มไม้ ด้านข้างมีห้องค้นคว้า e-Learning ให้นักเรียนเข้าไปศึกษาค้นคว้าเนื้อหาเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้ต่างๆได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความรู้และการจัดการความรู้เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพืชสมุนไพรและการใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ อยู่ท่ามกลางสวนสมุนไพร ทำให้ผู้เรียนได้แหล่งประสบการณ์และเกิดการจัดการความรู้อย่างผสมผสาน[๒][๓][๔] สนองตอบต่อการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ทั้งทางด้านทฤษฎี ของจริง และการปฏิบัติได้หลายมิติ

บางสิ่งมุ่งให้ประสบการณ์ที่รอบด้านและเสริมศักยภาพในการเข้าถึงวิทยาการและความรู้ทั้งของท้องถิ่นและของโลกด้วยการผสมผสานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็น e-Learning เข้าสู่ห้องเรียนธรรมชาติ ทำเป็นห้องปฏิบัติการอยู่ท่ามกลางแมกไม้สวนสมุนไพรให้นักเรียนสามารถทำการศึกษาค้นคว้าร่วมกับการศึกษาจากของจริงในห้องเรียนธรรมชาติ

กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่เกิดแก่ผู้เรียนจึงได้ความเป็นองค์รวม ทั้งทักษะและกิจกรรมทางกาย การพัฒนาจิตใจ สติปัญญา สมอง ความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นชุมชน ความสำนึกต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเกิดทักษะทางด้านเทคโนโลยีที่มีการประยุกต์ใช้อย่างพอเพียงและได้การเรียนรู้ถึงความสมเหตุสมผลในการส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้และแก้ปัญหาของมนุษย์.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงในบทความและแหล่งอ่านเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกันของผู้เขียน :

[๑] เกษตร-ศิลปะ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา : การศึกษาแนวปฏิรูปเพื่อสร้างพลเมืองอย่างเป็นองค์รวม โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน ประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา เว็บบล๊อก GotoKnow สถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม http://gotoknow.org/blog/civil-learning/337768
[๒] Process of Learning Design โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน สื่อและเทคโนโลยีการศึกษา เว็บบล๊อก GotoKnow สถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม http://gotoknow.org/blog/edtech-research/325874]
[๓] การผสมผสานและการบูรณาการการเรียนรู้ : แนวคิดและมิติชุมชน โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน สื่อและเทคโนโลยีการศึกษา เว็บบล๊อก GotoKnow สถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม http://gotoknow.org/blog/edtech-research/326350]
[๔]การผสมผสานและการบูรณาการการเรียนรู้ : ตัวอย่างในภาคปฏิบัติ โดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน สื่อและเทคโนโลยีการศึกษา เว็บบล๊อก GotoKnow สถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม http://gotoknow.org/blog/edtech-research/326575

หมายเลขบันทึก: 340359เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2010 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เทอมที่สองภาคการศึกษาเห็นเด็กนักเรียนมาทำแปลงเกษตรข้างรั้ววัดทั้งเรียนทั้งเล่นไปด้วย สนุกที่ได้เรียนรู้
  • ฐานธรรมชาติ ฐานชุมชน ฐานดังกล่าวเรียนรู้ได้มาก ทั้งไม่เครียดและเรียนรู้แบบกลุ่ม เรียนรู้เป็นทีมเกิดความสามัคคี ช่วยเหลือกันตลอดมีความสุข

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตามมาอ่าน

โรงเรียนที่มีการจัดสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียน นับว่าเป็นการปลูกป่าชุมชนที่ได้ผลหลายด้านนะคะ

ทั้งเพิ่มปริมาณพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประชากรพืชโดยกระจายไปทั่วประเทศ แล้วยังได้ประโยชน์ตามมาอีกหลายแง่

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ : ดูแล้วมีบางด้านที่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กๆด้วยครับ

 

มีการผจญภัย ได้จินตนาการ ได้แสดงความอยากรู้และสืบเสาะค้นหาที่ได้ทำกับเพื่อนๆ ได้เล่นด้วยกัน ได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย ได้กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการอย่างเป็นองค์รวม ครบทั้ง พุทธิศึกษา หัตถศึกษา พลศึกษา และจริยศึกษา หรือ 4H : Head Hand Health Heart

ที่มากไปกว่านั้นก็คือ การจัดสภาพแวดล้อม สภาพสังคมและชุมชนแห่งการเรียนรู้ ผสมผสานทั้งสิ่งที่อยู่ในชุมชน ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีชุมชน แหล่งธรรมชาติ และเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์  ทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกัน ได้ตัวตนด้านที่เป็นพฤติกรรมระดับรวมหมู่หรือการอยู่เป็นกลุ่ม รวมทั้งได้ทักษะทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ที่ผสมผสานอย่างลงตัวและมีความสมเหตุผลกับสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตชุมชน

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ : นอกจากเป็นห้องเรียนที่ดีมากแล้ว คูคลองหนองน้ำ กองทราย ยางล้อรถ ต้นไม้ที่ป่ายปีนได้ เหล่านี้ ก็เป็นของเล่นที่โดนใจเด็กเสมอครับ แต่คุณพ่อคุณแม่และพี่เลี้ยงต้องยอมเปลืองแรงซักเสื้อผ้าและต้องยอมรับความมอมแมมอยู่เสมอสักหน่อย

กราบนมัสการ พระมหาแล ขำสุข(อาสโย), สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์, และฝากสวัสดีไปยังพี่ณัฐรดา ด้วยค่ะ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ที่ไม่มีชีวิตชีวา?? : เห็นรูปแบบศูนย์การเรียนรู้และห้องเรียนธรรมชาติของโรงเรียนปิยะชาติพัฒนา ทำให้สะท้อนถึงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ในปัจจุบันเกิดขึ้นมากมาย ถึงแม้ท้องถิ่น ชุมชน หรือหลายๆ ท่านพยายามที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้ท้องถิ่น ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ แต่มองโดยภาพรวมแล้ว องค์ความรู้ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ยังออกมาในลักษณะที่ตายตัว  ติดรูปแบบมากจนเกินไป จนทำให้ข้อมูลที่อุตสาห์ค้นหาจนคิดว่าสมบูรณ์ดีแล้วนั้น ไม่เกิดความไหลลื่น ไม่มีชีวิตชีวา เด็กๆ เลยไม่ค่อยให้ความสนใจ ไปเดินห้างสรรพสินค้าสนุกกว่าเป็นไหนๆ

บัาน วัด โรงเรียน แหล่งเรียนรู้ ขั้นพื้นฐานในชีวิต : พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ จะอยู่ในบริเวณ วัด โรงเรียน หรือไม่ก็บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้พื้นฐานของชีวิตอยู่แล้ว และก็มีชุมชนหลายชุมชนเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดจากผสมผสานแหล่งเรียนรู้ทั้ง ๓ ให้เป็นเนื้อเดียวกันในเชิงท่องเที่ยว บวกด้วยโครงการของรัฐ เช่น ศูนย์ ๓ วัย นำวัยคุณปู่ คุณย่า คุณแม่ คุณพ่อ และคุณลูกมาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน .. เรียนรู้วัฒนธรรมไขว้กันไป ไขว้กันมา ดูน่าสนุก ... แต่ก็มีคำพูดของผู้ใหญ่ท่านนึงที่บอกว่า ...

"ในปัจจุบันทำนาด้วยปาก" การกลับสู่ถิ่นเดิมของครอบครัวใหม่ที่เป็นลูกหลานชาวนา แต่มิได้ซาบซึ้งกับการทำนาเท่าที่ควร ทำได้เพียงบอกเล่ากันไปอีกต่อนึง เสมือนว่าการทำนาเป็นเพียงตำนานของชุมชน ..

แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งเรียนรู้ที่สามารถทำให้เด็กๆ ได้ทั้งเรียน และรู้ แล้วยังสามารถนำไปปฏิบัติเอง ได้จริงๆ นั้น ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีศักยภาพนะค่ะ .. เพียงขอให้มีผู้ใหญ่ใจดี ให้ความสนับสนุน หรือเป็นพี่เลี้ยงให้เท่านั้นเอง ..

จะต้องไปช่วยราชการโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครปฐม..ต้องไปศึกษาสภาพที่โรงเรียนกีฬาก่อนว่าจะให้ทำอะไรบ้าง..คงต้องรบกวนปรึกษารุ่นพี่บ้างนะคะ..

  สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ 

อาจารย์จำที่คณะของเราเคยไปเก็บข้อมูลวิจัยที่ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ร้านอาหารร้านหนึ่งได้ไหม ที่เขามีจัดแสดงตัวหนังตลุงอยู่หน้าร้าน และภายในร้านนั้น สิ่งบันเทิงต้อนรับแขกของเขาก็เป็นหนังตลุง เจ้าของร้านดูเหมือนจะเป็นครูเก่าหรืออย่างไรนี่แหละ ที่ออกมาทำร้านอาหารที่อนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมไปจนถึงอาหารในร้านของเขาด้วย เวลาจัดอย่างนั้น และทำโดยปัจเจก-ชาวบ้าน มันช่างดูสนุก มีชีวิต มีลมหายใจคละเล้ากับความเป็นจริงของสังคม กลุ่มคนที่ไปก็ไปกันเป็นครอบครัว ของว่างก็เป็นข้าวเกรียบว่าวและมังคุดคัด

ผมเคยเห็นพิพิธภัณฑ์ในโตเกียว ทั้งพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ โบราณคดี และพิพธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ถึงแม้จะอยู่ไม่ค่อยได้เหมือนกัน แต่ก็มีสีสัน มีชีวิตชีวา คนไปดูเรื่องอย่างนี้ ก็ต้องไปกันเป็นครอบครัว เด็กๆถึงจะสนุก

แต่ในบ้านเรานั้น พอเอามาจัดเป็นเรื่องเป็นราว  ส่วนใหญ่แล้วก็มักเหมือนกับเป็นของศักดิ์สิทธิ์นะครับ บรรยากาศอย่างนี้หากผมเป็นเด็กๆก็คงไม่ชอบเหมือนกันละครับ 

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : จะไปช่วยราชการต่างหน่วยงานแล้วหรือเนี่ย แต่คราวนี้ไปเป็นทีมผู้บริหารแล้วสิเนาะ โรงเรียนกีฬาในยุคใหม่นี่เขาจัดการเรียนการสอนที่เน้นบูรณาการทั้งพุทธิศึกษา หัตถศึกษา พลศึกษา และจริยศึกษา หรือ 4H : Head Hand Health Heart เหมือนอย่างในอดีตหรือเปล่านะ ขอให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆมากยิ่งๆขึ้น รวมทั้งได้มีโอกาสใช้ประสบการณ์ ความสร้างสรรค์ ความรู้ ความสามารถ ไปสู่การสร้างสรรค์แก่โรงเรียน เด็กๆ และเครือข่ายชุมชน อยู่เสมอ และให้มากยิ่งๆขึ้นนะครับ

P..ไปทำงานวิชาการยังไม่เป็นผู้บริหารค่ะ...เรื่องนั้นยังอีกไกลค่ะ...แต่เรื่องใกล้ตัวที่ต้องบริหารคือเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผสานกับโรงเรียนพิเศษแบบโรงเรียนกีฬานี้ให้กลมกลืนและเท่าเทียมกับโรงเรียนหลักสูตรปกติค่ะ...

เรื่องแนวนี้น่าสนใจมากเหมือนกันนะครับ  

  • เป็นแนวจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ได้ทั้งเสริมการเรียนรู้เชิงลึกตามความถนัดของปัจเจก กับการได้ความรอบด้าน รอบรู้ เพื่อมีพื้นฐานแบบทั่วไปด้วย
  • การเรียนความรู้และการใช้เนื้อหาเป็นตัวตั้งนั้น คงสร้างคนให้เรียนรู้ไม่ทันความรู้และพัฒนาการของโลก อีกทั้งความรู้สมัยใหม่เป็นจำนวนมากก็มักมีต่างประเทศเป็นต้นเรื่องและไกลจากความเป็นตัวของตัวเอง การเน้นกระบวนการเรียนรู้และสร้างความรู้บนเงื่อนไขของตนเอง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ
  • หากมองจากการเน้นกระบวนการ การเสริมพลังการเรียนรู้เชิงลึกและการเรียนรู้ที่เสริมความพิเศษจำเพาะด้าน ก็ต้องมุ่งการพัฒนาพลังความสนใจและการปฏิบัติ ส่วนการสร้างความเท่าเทียมกลกลืนกับหลักสูตรทั่วไป ก็ต้องมุ่งพัฒนากระบวนการเรียนรู้
  • การพัฒนาพลังความสนใจและการปฏิบัติ หากเป็นการทำงานศิลปะก็ต้องมีการทำงานใช้ความรู้และค้นพบตนเองใหม่ๆที่สะท้อนลงสู่งาน จนเป็นแบบฉบับของตนเอง ต่อเนื่อง สะสม ทางกีฬาคงจะเน้นการเรียนรู้จากการฝึก การหาความชำนาญ อย่างนั้นหรือเปล่าครับ
  • การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ อย่างการเน้น สุ จิ ปุ ลิ ก็เป็นการให้พื้นฐานเพื่อได้ความสามารถเรียนรู้ไปตลอดชีวิตให้ได้ความสมดุล เท่าเทียม และกลมกลืนกับสังคมรอบข้าง 
  •  การเรียนรู้เพื่อเป็นสุตตะ : ก็เน้นพัฒนาการอ่าน การศึกษาค้นคว้า ความอยากเรียนรู้ และที่สำคัญที่สุดคือ ความรักที่จะอ่าน รักหนังสือ รักวัฒนธรรมการคิด อ่าน และแสดงออกในการอ่านและใช้ความรู้ รวมทั้งปัจจัยความเป็นมนุษย์ซึ่งผู้เรียนมีเป็นพื้นฐานทุกคนและใช้เป็นเครื่องมือ ทำชีวิตให้เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ได้ตลอดไปก็เช่น การพัฒนานิสัยและจิตใจที่เปิดกว้าง ทำให้มีความฉลาดในการเป็นกลุ่มเป็นทีม เกิดความรู้และการเรียนรู้ มีความเป็นผู้สดับตรับฟังมากไปตลอดเวลา
  •  การพัฒนาจิตตะ  : ความเป็นผู้มีกำลังทางการคิดและใช้ปัญญาเพื่อแปรไปสู่พลังการปฏิบัติ ก็ต้องพัฒนาทักษะการคิด การคำนวณ การคิดเชิงระบบ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดที่แยบคาย การเข้าถึงคุณค่าและความหมายที่ลึกซึ้ง การคิดที่ทำให้เกิดกำลังการปฏิบัติที่ดี การพัฒนาทรรศนะเชิงบวก ทักษะการแปรวิกฤติเป็นโอกาส การคิดที่เชื่อมโยง คลี่คลายความเป็นรูปธรรมกับนามธรรม
  •  การพัฒนาปุจฉา  :  การสร้างทรรศนะและตั้งคำถามเพื่อเรียนรู้ สร้างความกระจ่างแจ้ง เข้าใจ และสร้างความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความสมดุลของชีวิตในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆอยู่เสมอ การต้องเริ่มออกจากภายใน นับแต่ความตื่นตัว ความมีจิตสงสัยใคร่รู้ ความสามารถในการสื่อสาร การถาม การพูดแสดงออก รวมไปจนถึงความมีปิยวาจา อ่อนน้อม น่าเป็นมิตร น่าให้ความเมตตา ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ไปกับคนอื่นอยู่เสมอ
  •  การพัฒนาความฉลาดในการลิขิต  : หากเน้นกระบวนการที่สะท้อนความเป็นผู้ใฝ่ความรู้และเข้าถึงความจริงด้วยตนเองด้วยก็จะยิ่งดี เช่น การได้เรียนรู้วิธีศึกษาค้นคว้า จดบันทึก สังเกต วาดรูปเพื่อศึกษาทบทวน ถ่ายทอด สร้างความรู้และระบบอธิบายอย่างมีหลักเกณฑ์
  • พื้นฐานพวกนี้เป็นพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังของการเรียนรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่จะทำให้ผู้เรียนไม่ว่าตกไปอยู่ในสภพแวดล้อมอย่างไร ก็จะเป็นผู้ริเริ่มและเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ รวมทั้งเรียนรู้เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆ ให้ตนเองได้ใช้ความเป็นเลิศและความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมนั้นๆได้อย่างเหมาะสมอยู่เสมอ

แลกเปลี่ยนจุดประกายความคิด และแบ่งปันประสบการณ์กันเฉยๆนะครับ

ประกายดุจดัง..ไฟโชนแสงเลยค่ะท่านพี่อาจารย์..การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขนาดนี้ไม่เฉยหรอกค่ะท่านพี่อาจารย์ก็ต้องใช้พลังความคิดที่จะถ่ายทอดออกมา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของผู้ที่เห็นคุณค่าและนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ก็นับเป็นความกรุณาของรุ่นพี่อันหาที่เปรียบไม่ได้แล้วค่ะ..ขอขอบพระคุณอย่างสูงเลยค่ะในแนวคิดที่ถ่ายทอดสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันค่ะ

  ศิลปะ-กีฬา : จิตวิญญาณการต่อสู้และแข่งขันสู่การพัฒนาด้านในแก่ปัจเจก 

เราสามารถผสมผสานศิลปะเข้ากับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเฉพาะทางอย่างกีฬาได้ด้วยครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก เช่น การวาดรูปและทำงานความคิดเป็นกลุ่มด้วยศิลปะ ให้ทำงานที่เป็นการคิดอย่างเป็นระบบเป็นกลุ่ม แล้วนำเสนอหรือจัดแสดงผลงานเป็นกลุ่ม

จากนั้น ก็ให้ถอดบทเรียน หาความซาบซึ้ง ตกผลึกประสบการณ์ ได้สะท้อนการคิดเพื่อเกิดปฏิสัมพันธ์และได้กระบวนการตรวจสอบตนเอง ๒ ด้าน คือ การเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และการได้เห็นความเหมือนกับความแตกต่างหลากหลายของตนเองกับผู้คนในสังคมจากการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้เป็นกลุ่มขนาดต่างๆกับผู้อื่น

 

วิธีคิด ทรรศนะพื้นฐาน และกระบวนการพัฒนาตัวตนในท่ามกลางการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ทำให้ได้ความกระจ่างแจ้งในตนเอง พร้อมไปกับได้ตัวตนที่ใหญ่กว่าความเป็นตัวกูของกูอย่างนี้ เมื่อฝึกฝนและบ่มสร้างด้วยศิลปะให้เชื่อมโยงกับความเป็นทีมและการแข่งขันกีฬา การได้โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่อความร่วมมือและการแข่งขันในโลกความเป็นจริง อย่างนี้ เป็นพื้นฐานเดียวกันในความต้องการเป็นทีมและความมีวินัยแก่ตนเองของการกีฬา                        

ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้อย่างเชื่อมโยงและผสมผสานด้วยศิลปะ ก็จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาด้านในเพื่อจิตวิญญาณของการกีฬา ทำให้มีความลุ่มลึก แข่งขันภายนอก ทว่า ได้เข้าถึงและบรรลุภาวะที่สูงขึ้นทางตัวตนด้านในของตนเอง

 จำได้ค่ะอาจารย์  ตอนลงพื้นที่วิจัย นั่งรถผ่านมาหลายจังหวัด ได้ผ่านห้างสรรพสินค้าโลตัส บิ๊กc มาหลายแห่ง จนไม่ทันได้สังเกตว่าเราเข้าสู่เขตภาคใต้มาแล้วด้วยซ้ำ ร้าน "ครัวนายหนัง" เป็นร้านอาหารที่ทำให้รับรู้ได้ว่าเรามาถึงภาคใต้แล้วค่ะ และรับรู้ได้ถึงความรัก และรู้รักษ์ในศิลปวัฒนธรรม และให้ตัวหนังเหล่านี้เป็นตัวแทนคอยต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง ..

บริเวณโดยรอบของส่วนหลังคา ทางร้านได้ทำโรงละครโรงเล็กๆ แนะนำตัวหนังแต่ละตัวให้เราได้รู้จักด้วยค่ะ ถ้าอาจารย์จำได้ ..

กุศโลบายในการนำศิลปวัฒนธรรมกับการทำธุรกิจร้านอาหาร ให้มาอยู่ด้วยกันแบบผสมผสานได้น่ารักเชียว .. เจ้าของร้านอาหาร อดีตคุณครูท่านคงอยากบอกเช่นนั้น ..

                  

ทานอาหารไปก็สนุกกับการแสดงของตัวหนัง และเสียงที่ถ่ายทอดออกมา .. ถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือค่ะ เลยไม่ค่อยชัดเจน อาจารย์ทำให้คิดถึง และอยากทานมังคุดคัดเลยค่ะ .. หวังว่าลงพื้นที่เก็บข้อมูลครั้งต่อไป จะไปถูกจังหวะของหน้ามังคุดคัดพอดีนะค่ะ ^^

P..เอามังคุดมาฝากจ้าณัชพัชร์

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ : ใช่แล้ว แล้วอาจารย์สังเกตเห็นโคมไฟที่แขวนอยู่บนเพดานไหมครับ โคมไฟนั้นก็เป็นงานฝีมือ ร้านที่ทำก็เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวของเมืองนคร อยู่หน้าร้านของร้านนายหยังนั่นเอง ผมไปยืนคุยอยู่ตั้งนาน ดูเหมือนจะได้รางวัลและจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยครับ เป็นงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากจินตนาการและความสร้างสรรค์จริงๆ ผมไปเห็นแล้วก็ประทับใจมากที่เป็นการประกอบกิจการของเด็กๆ ช่วงวัยขนาดเริ่มต้นอย่างนี้เขาทำได้ขนาดนี้แล้ว อนาคตก็ไม่ต้องเป็นห่วงเลยครับว่าเขาจะสนุกกับชีวิตและทำชีวิตให้มีคุณค่ามากมายขนาดไหน

ครูนายหนังก็เช่นกันนะครับ แกมานั่งคุยเรื่องราวต่างๆของสังคมวัฒนธรรมภาคใต้ รวมทั้งนครศรีธรรมราช ที่บันทึกและถ่ายทอดไว้ในหนัง ระหว่างนั้นก็มีเทปให้ความรู้เปิดคลอไปด้วย ในร้านของแกมีทั้งคนท้องถิ่นมาขายของและมีคนทำมาหากิน ข้าราชการ และพ่อค้านักธุรกิจ มานั่งกินข้าว ปรึกษาหารือ และเข้าถึงข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆของท้องถิ่น มันเป็น Public space ใน Private Sphere ที่น่าทึ่งมากครับ

ชุมชนต่างๆสามารถมีพลเมืองและสมาชิกที่ทำหน้าที่สร้างความรู้ รวบรวมสิ่งของ สิ่งแสดงภูมิปัญญา แล้วนำมาจัดการความรู้ สร้างการเรียนรู้ สื่อสาร ขับเคลื่อนความสุขของส่วนรวมหรือสุขภาวะสาธารณะ ด้วยความสำนึกสาธารณะของตนเอง และทำในที่ทางของตนเอง ดูงดงามและทำให้สุขภาพสังคมแข็งแรกอีกเป็นกองเลยนะครับ

กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่ทำให้ปัจเจกดำเนินชีวิตเป็นอย่างนี้เยอะๆและหลากหลาย ก็จะไม่เพียงทำให้สังคมมีพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตเท่านั้นนะครับ แต่จะทำให้ความเป็นส่วนรวมและภาคสาธารณะในเรื่องต่างๆเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชนได้ในแทบจะทุกเรื่องครับ.

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : น้องคุณครูอ้อยเล็กรู้จักมังคุดคัดด้วยหรือเนี่ย ทำไม่ก่อนหน้านี้ผมถึงไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จักเลย พอมีน้องๆคนใต้เอามาฝาก ก็เลยรู้สึกเป็นของแปลก เลยชอบกินเป็นบ้าเป็นหลังถึงขนาดโทรขอให้เขาส่งขึ้นมาทางรถทัวร์ให้ พอได้ลงไปใต้ก็กวาดซื้อทั้งกินเองและขอแจกจ่ายพรรคพวก (รวมทั้งอาจารย์ณัฐพัชร์ด้วย แต่ตอนแรกๆผมก็พยายามแนะนำให้กิน พอต่างก็ได้กินกันแล้ว ตอนหลังๆนี้แย่งกันเลยครับ) เป็นการทำอาหรแปรรูปที่ฉลาดจริงๆ ผมเลยกินจนหายทึ่ง แต่ต่อมาก็พบว่า เม็ดมังคุดดิบและเนื้อที่ยังไม่สุกเต็มที่นั้น มันอร่อย ทว่า ทำให้ท้องผูกเป็นเดือนเลยครับ ตอนนี้เลยไม่ค่อยเห่ออีกแล้ว

P..ตั้งแต่อยู่เพาะช่างก็มีเพื่อนเป็นคนใต้...มาโดยตลอดซึ่งที่พบพาก็ล้วนแต่เป็นคนดีมีน้ำใจ..เหมือนกับอีสาน ตะวันออก ตะวันตก เหนือ เราเป็นคนภาคกลางจริงๆ เลยได้ทั้งหมดใช้ช่วงเวลาสั้นๆเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากเพื่อนๆก็ได้อะไรมาพอรู้และเก็บใส่Memoryประจำตัวไว้เป็นความทรงจำที่เรียกว่าเกิดมาชาติหนึ่ง ชีวิตก็มีค่าสมควรแก่การดำรงอยู่ในระดับหนึ่งค่ะพี่อาจารย์...จานนี้ก็ชอบนะคะ..

อาหารอย่างนี้ นอกจากมีคุณค่าทางอาหารอยู่ในตัวเองของวัตถุดิบที่ทำแล้ว ก็มีศิลปะและความเป็นสุนทรียภาพของคนอยู่ในนั้นด้วยเลยนะครับเนี่ย เวลาได้กินอาหารอย่างนี้ ก็มักจะได้ความอิ่มและหมดความหิว อีกทางหนึ่งก็จะได้สัมผัสและเห็นชีวิตจิตใจของผู้คนที่สะท้อนอยู่ในองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิต ผู้คน และสังคมผ่านอาหารและการกิน ต้องน้อมคารวะและรำลึกถึงไปด้วยเลยนะนี่นะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • สุ จิ ปุ ลิ แนวกระบวนการเรียนรู้ของนักปราชญ์ แม้ปัจเจกพาตัวเองไปในที่แห่งใด ก็สามารถเรียนรู้ และปรับกระบวนทัศน์ให้เข้ากับเงื่อนไขใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา และดีด้วย ...

ทำให้ผู้เรียนไม่ว่าตกไปอยู่ในสภพแวดล้อมอย่างไร ก็จะเป็นผู้ริเริ่มและเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ รวมทั้งเรียนรู้เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆ ให้ตนเองได้ใช้ความเป็นเลิศและความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมนั้นๆได้อย่างเหมาะสมอยู่เสมอ

  • และสิ่งนี้มีอยู่ในตัวอาจารย์ค่ะ ดังที่ทีมเรามักพูดอยู่เสมอๆ ว่า ถ้าอาจารย์มีลูก ลูกของอาจารย์ต้องเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่สมบูรณ์แบบแน่นอนค่ะ เพราะอาจารย์มักมีกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานในรูปแบบต่างๆ ชี้ช่องทางให้เราเห็น ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ไปด้วยเสมอๆ ก็ปราชญ์อย่างอาจารย์นี่แหละค่ะ .. ตอนนี้ก็ดูๆ ลูกศิษย์แถวๆ นี้ไปก่อนนะค่ะ แต่จะกลายพันธุ์รึไม่นี่สิ ฮ่า ฮ่า
  • ขอบคุณค่ะ ..

ขอบคุณค่ะ พี่ครูอ้อยเล็ก  สำหรับมังคุดคัดนะค่ะ เยอะเลย .. ตอนแรกที่ได้ทาน (เพิ่งจะรู้จักมังคุดคัด เมื่อต้นปีที่แล้ว'๕๒ นี่เอง) จะทานแต่เนื้อค่ะ เพราะไม่ทราบว่าเม็ดมันก็ทานได้ ชุดแรกเลยทิ้งเม็ดไปหมด พอตอนหลังทราบว่าทานได้ทั้งเนื้อ ทั้งเม็ด แต่ก็ยังแหม่งๆ แต่ได้ทานเอาจริงเอาจังแบบที่อาจารย์วิรัตน์กล่าวไว้ คือโทรฯ ฝากให้น้องเค้าส่งจากใต้ขึ้นรถทัวร์มาส่งกล่องใหญ่เลยเชียว เป็นร้อยๆ ลูก น่าจะพอๆ กับในถาด (ในภาพ)เลยค่ะ .. ไม่แปลกใจเลยใช่ไหมค่ะ ว่าแต่ละท่าน ท้องอืดกันเป็นแถวๆ อิอิ ....

อาหารใต้ ข้าวยำ อาหารที่มีแต่สมุนไพร มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งนั้นนะค่ะ .. เห็นแล้วหิวยามค่ำเลยค่ะ ...

ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ : สุ จิ ปุ ลิ เรียกว่าหัวใจนักปราชญ์ครับ ขอบคุณที่อาจารย์ช่วยนำมาทบทวนให้จำและรำลึกได้ครับ ส่วนที่อาจารย์กล่าวถึงเหมือนให้ผมเป็นปราชญ์ไปด้วยนี้ ต้องรีบสนองตอบอย่างไม่ลังเลว่าคงเป็นได้แค่ปาดก็แล้วกันนะครับ (ฮ่า) จะเขียดตะปาด หรือปาดหน้าปาดหลัง ปาดซ้ายปาดขวา หรืออย่างไรก็ได้ครับ อย่างไรก็แล้วแต่รำลึกรู้และขอคารวะในความเป็นผู้น้อมตนให้ความคารวะผู้อื่นของอาจารย์มากๆครับ จัดว่าเป็นความไม่ค่อยมีตัวตนอย่างหนึ่งและงดงามครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ : ขอมาต่อประเด็น Public Space ค่ะอาจารย์ เมื่อวาน (๒ มีนาคม) เป็นวันคล้ายวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล ทางมหาวิทยาลัยจึงมีกิจกรรมอยู่ ๓ ส่วนด้วยกันค่ะ ส่วนที่ ๑  งานวิชาการ  มีเวทีเสวนา แสดงผลงานทางวิชาการกัน ส่วนที่ ๒  นิทรรศการศิลปะ  ซึ่งจัดขึ้นตรงบริเวณหนึ่ง (ปีกซ้ายของอาคาร) ของสำนักงานอธิการบดี

                                

                       

                      

                      

                      

                      

ส่วนที่ ๓ คือ  ลานวัฒนธรรม MU Corner  โดยใช้เนื้อที่ส่วนหนึ่ง (ด้านขวา) บริเวณประตูด้านหลังของมหาวิทยาลัย .. ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเพิ่งทำการเปิดพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นลานวัฒนธรรมแห่งใหม่เพื่อเชื่อมโยงวิถีชีวิตดั้งเดิมให้เข้ากับวัฒนธรรมร่วมสมัยของชาวศาลายาค่ะ ...

                      

                      

                      

                      

                      

                      

                      

                      

                      

                      

                      

                                 

Public Space ส่วนนี้มี MU Clinic โดยจะมีแพทย์ พยาบาลจากทางศูนย์การแพทย์กาญจนาเวียนมาตรวจสุขภาพให้กับประชาชนทางฝั่งนี้บ้างค่ะ เปิด ๘ โมงเช้า ถึง ๒ ทุ่ม ทุกวันค่ะ ส่วนของร้านค้า ร้านหนังสือ ร้านขนม อาหาร และบริเวณโล่งกว้างสำหรับการทำกิจกรรมค่ะ ..

เสียดายว่า Public Space อีกส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ได้ทำการปรับปรุงครึ่งหนึ่งของถนนรอบมหาวิทยาลัยให้เป็น  ถนนคนเดิน  คืนพื้นที่ให้กับเราได้ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ จะเดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย ก็ได้ค่ะ .. ที่บอกว่าเสียดายคือภาพที่ถ่ายออกมาแล้วสื่อไม่ค่อยชัดค่ะ ติดไว้ก่อนนะค่ะ ....

ทั้งหมดเป็น Public Space ที่ในขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลพยายามเปิดพื้นที่ให้ทั้งบุคคลภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยได้ใช้เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มเปี่ยมค่ะ ..

  การบูรณาการทางสังคม  -- สร้างปฏิสัมพันธ์และเคลื่อนไหวสังคม 
ด้วยกิจกรรมศิลปะวิชาการ
และการจัดการเชิงกายภาพชุมชน-มหาวิทยาลัย

ทั้งสองกิจกรรมเปิดพื้นที่การผสมผสานและสร้างการเรียนรู้ทางสังคมที่น่าสนใจดีครับ ให้ชีวิตและลมหายใจใหม่ๆของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งชุมชนกับสังคมวิชาการและสังคมความรู้อย่างมหาวิทยาลัย

การแสดงงานศิลปะเป็นการจัด Event ที่ใช้การผสมผสานวิชาการ | พิธีการเนื่องในวันพระราชทานนามมหาวิทยาลัย | และการแสดงงานศิลปะ-วิชาการ | เข้ามาเป็นเงื่อนไขในการสร้างพื้นที่พิเศษและเฉพาะครั้งคราวขึ้นในมหาวิทยาลัย ในวันแรกนั้น นอกจากมีงานแสดงทางศิลปะแล้ว ห้องประชุมของมหาวิทยาลัยที่อยู่ติดกับบริเวณนิทรรศการก็มีการแสดงปาฐกถาพิเศษที่น่าสนใจมากอีกกิจกรรมหนึ่งด้วยครับ หากใครได้สัมผัสกับกิจกรรมหลักๆให้ทั่วก็จะได้หลายอย่างผสมผสานกันไป ทั้งชมงานศิลปะจากคนมหิดล ทั้งนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และกลุ่มจิตรกรที่เป็นเครือข่ายกับคนมหิดล ทั้งได้เพิ่มพูนทรรศนะทางวิชาการและเห็นความเคลื่อนไหวของประเด็นทางสังคมวงกว้างที่จะมีอิทธิพลต่อบทบาททางวิชาการของมหาวิทยาลัยทั้งปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งได้ทำกิจกรรมต่างๆเพื่อสะท้อนสปิริตความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลด้วยความศรัทธา

กิจกรรมบนพื้นที่เฉพาะกิจที่เกิดขึ้นนี้ มีบทบาทต่อการหลอมรวมใจและผสมผสานความเป็นมหิดล ที่หลุดออกจากกรอบความเป็นคณะ สถาบัน และสาขาวิชาการที่แยกส่วน ซึ่งมีความจำเป็นมากต่อการกระตุ้นพลังชีวิตและพลังสร้างสรรค์ทางปัญญาของสังคมมหาวิทยาลัย มากเหมือนกันครับ แต่คนมหาวิทยาลัยก็ค่อยๆพัฒนาและเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไปครับ งานเชิงขับเคลื่อนชุมชนและสังคมอย่างนี้ ค่อยๆพัฒนาไปบนฐานการสร้างประสบการณ์ให้เกิดขึ้นไปทีละนิดก็เป็นวิธีการที่ดีครับ

ส่วนตรงลานวัฒนธรรมที่อาจารย์ได้ไปร่วมและนำภาพถ่ายมาแบ่งปันกันไปด้วยนั้น เป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการจัดการทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงถาวรและมีความจำเพาะเรื่องอย่างที่ต้องการ มากกว่าการจัดโดยใช้กิจกรรมที่มีความหมายอย่างที่ต้องการมาเป็นตัวเปิดพื้นที่เหมือนกรณีแรก-การแสดงงานศิลปะวิชาการ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนท้องถิ่นและโลกภายนอก กับสังคมภายนอกที่เดินเข้ามาในโลกของมหาวิทยาลัยด้านที่เป็นชีวิตและลมหายใจแห่งความรื่นรมย์-สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม มีพลังเคลื่อนไหวสังคมและก่อเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสันทนาการ ที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ที่สร้างขึ้นอย่างเป็นสัดส่วน ก็ดีกว่าทำเป็นรั้วและแยกส่วนอยู่บนพื้นที่เดียวกันอย่างเอกเทศของสังคมมหาวิทยาลัยกับโลกภายนอกครับ

แต่แนวคิดสำคัญนี้ต้องใช้เป็นหลักกำกับการทำสิ่งต่างๆในรายละเอียด เพราะจะมีส่วนต่อการจัดกิจกรรมและการรักษาบรรยกาศของการเหมือนกับเป็นบริเวณที่แตะกันของสังคมกับมหาวิทยาลัยอย่างนี้ ให้มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ ให้มากกว่าเป็นที่ช็อปปิ้งและเรียนรู้ชีวิตที่ไกลจากความเป็นจริงของสังคม ได้อยู่เสมอ

นักศึกษาและคนมหาวิทยาลัยได้เดินออกไปสัมผัสวิถีชีวิตและสังคมโลกภายนอก และชุมชนกับสังคมนอกมหาวิทยาลัย ก็ได้เดินเข้าสู่พื้นที่ของสังคมแห่งความรู้ ได้เรียนรู้แบบครูพักลักจำ ซึ่งทำให้มีพื้นฐานที่จะเป็นสังคมที่เข้มแข็งด้วยวัฒนธรรมทางปัญญาและความรู้ ผสมผสานกันมากขึ้นไปอีก นอกจากมุมนี้แล้ว ถนนคนเดินก็จะเป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมวัฒนธรรมแบกะดินได้อีกหลายอย่าง นี่ผมเขียนเชียร์และชื่นชมมิติใหม่ๆของมหาวิทยาลัยน่ะครับ ไม่ได้ทำอะไรช่วยเขาหรอกครับ

อลังการดีนะคะ...ดูคึกคักดีตอนยามเย็น..ตะวันตกดิน...

หวัดดีจ้ะ ม่อย

ลองสมัครเข้ามาใช้ gotoknow เห็น blog ของม่อย เลยเข้ามาอ่านดู เป็นไงบ้าง

พรรคพวกที่ศาลายา สบายดีกันอยู่หรือเปล่า แล้วว่างๆจะเข้ามาคุยใหม่นะ

พี่พรเทพ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก : ดูบรรยากาศดีมากเลยนะครับ เป็น Land Mark อีกที่หนึ่งอย่างดีเลยนะครับเนี่ย ไม่ใช่เพียงสำหรับชุมชนศาลายาเท่านั้น แต่สำหรับฟากตะวันตกของกรุงเทพฯได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคนจากใจกลางเมืองกรุงเทพฯหรือจากรอบนอกอย่างนครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียง ต่อไปนี้พอแดดร่มลมตกหลังเลิกงาน น้องคุณครูอ้อยเล็กก็สามารถชวนเพื่อนๆไปเดินดูชีวิตและความเคลื่อนไหวของผู้คนในอีกอารมย์หนึ่งที่ศาลายา เพียงขับรถสวนกันก็ตะโกนว่า "๖ โมงเย็นเจอกันที่หมูคอน" แค่นี้ก็จะมีที่ไปกับเพื่อนให้ได้ความรื่นรมย์ใจแปลกออกไปจากการเข้าไปเดินในกรุงเทพฯหรือในห้างอีกนะครับ...แต่ระยะแรกๆนี่ ตะโกนบอกเขาแล้ว ต้องโทรตามไปขยายความให้เขาก่อนนะครับว่า หมูคอน นั้น หมายถึง MU-Corner

สวัสดีครับท่านพี่ ดร.พรเทพครับ : เป็นมงคลชีวิตมากเลยนะครับ แล้วผมก็ต้องโชคดีหลายชั้นมากเลยนะครับเนี่ยที่วันนี้มีพี่เป็นอาคันตุกะมาเยือน แปลกดีจริงๆ เมื่อวานก่อนก็เจอพี่ผู้อำนวยการกองของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เคารพรักท่านหนึ่ง นานเป็นค่อนปี-สองปีไม่เคยเจอ แล้วจู่ๆก็กลับไปเจอกัน ซึ่งทำให้ประหลาดใจมากกว่าปรกติ วันนี้ก็มาได้รับการทักทายจากพี่อีก

มิหนำซ้ำ นี่พี่เพิ่งเปิดบล๊อกหมาดๆในวันนี้นี่เองแล้วก็เข้ามาโพสต์ในบล๊อกของผมประเดิมเป็น movement แรกในบล๊อกพี่เลยนะครับ แม๊...อะไรจะเซอร์ไพร๊ซ์กันขนาดนั้น

คลับคล้ายคลับคราเหมือนมีใครบอกว่าพี่ขึ้นไปเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์หรือรองอธิการบดี ของ มอ.ใช่ไหม ตอนนี้คงหมดภาระที่เป็นกังวลในชีวิตเนื่องจากลูกเป็นหนุ่มและรับผิดชอบไปตามเส้นทางชีวิตของเขาแล้วสินะครับ สองตายายคงได้เป็นตัวของตัวเองขึ้นอีกมากเลยกระมังครับ

พวกเราที่ศาลายาสบายดีทุกคนครับ ได้ทำงาน ทำหน้าที่ ที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ครับทั้งสำหรับมหาวิทยาลัยและต่อสังคม แต่เจอกันอยากกว่าเมื่อก่อนมากแล้วครับ แต่ละคนมีความรับผิดชอบ ประมาณว่า หากจะนัดเจอกันสักปีใหม่ก็ต้องนัดกันตั้งแต่ตอนนี้เสียกระมัง ยิ่งถ้าจะนัดไปเจอกันในที่สบายๆที่ไหนสักแห่งตามต่างจังหวัดนี่ ผมนัดหลายรอบและสรุปบทเรียนได้แล้วครับว่าคงต้องต่างก็เขียนพินัยกรรมไว้เพื่อมอบให้ลูกหลานมันตามไปเจอกันให้ได้โน่นกระมัง !!!!! ...คือ ...ไม่ค่อยได้เจอกันโดยตรงง่ายๆหรอกครับ  

ขอให้พี่ทั้งสองและลูกมีความสุขนะครับ ขอบคุณมากครับพี่ที่เข้ามาเยือน

เรียนพี่อาจารย์..ณ วันนี้เรียนสำเร็จแล้วค่ะ...เอาบทความแปล...มาใช้หนี้วิชาการพี่อาจารย์แล้วนะคะ...

http://gotoknow.org/blog/journal-1/401288

การปรับการเรียนรู้แบบผสมผสานให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

  • ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของพี่ครูอ้อยเล็กด้วยนะคะ =)

                                        

  • ขอร่วมแสดงความยินดีครับ
  • แปลบทความวิชาการมาเผยแพร่แบ่งปัน
  • เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จที่สร้างสรรค์ดีจัง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท