แนวทางจัดการความรู้ครูวิทยาศาสตร์


แนวทางจัดการความรู้ครูวิทยาศาสตร์
วิจารณ์  พานิช


          ผมได้แนวความคิดนี้จากการไปร่วมการประชุมและจัดแสดงผลงานวิจัย “งานวิจัยยางพารา...สู่สังคม”   ได้ฟังการเสวนาและวีซีดีเรื่อง “ประสบการณ์การวิจัยท้องถิ่นและการวิจัยในโรงเรียน”   ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   วิทยาเขตหาดใหญ่   จัดโดย สกว.   เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.48

“”“”


          โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นของ สกว.   ซึ่งมีครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าร่วม   ได้ผลิตผลงานสร้างความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น   สร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน   และทำให้นักเรียนได้เรียนจากสภาพจริง   จากการทดลองปฏิบัติจริง   บางโครงการมีพ่อแม่ของเด็กนักเรียนและคนในชุมชนเข้าร่วมด้วย


          มองจากมุมของครู   ครูที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้เรียนรู้วิธีการสร้างบทเรียนให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสภาพจริง   เรียนจากการปฏิบัติ   และเรียนจากการตั้งคำถามแล้วหาคำตอบ   เป็นขั้นเป็นตอน     ประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา   ทำให้ครูที่ผ่านโครงการมีความรู้เพื่อการเป็นครูวิทยาศาสตร์ที่ดีอย่างซับซ้อนมาก   ไม่สามารถนำมาเขียนหรือเล่าทั้งหมดได้   ดังนั้น   หากประเทศไทยจะพัฒนาครูวิทยาศาสตร์   แนวทางหนึ่งคือดำเนินการเครือข่ายจัดการความรู้ครูวิทยาศาสตร์   โดยมีรูปแบบการจัดการเครือข่าย   ดังนี้
1.      มีผู้จัดการเครือข่าย   ทำงานเต็มเวลา   หรือทำงานครึ่งเวลา   เสริมด้วยผู้ช่วยระดับปริญญาโท     ทำงานเต็มเวลา   คนทั้งสองนี้ต้องเลือกอย่างพิถีพิถัน   และทำงานร่วมกับ blog manager
2.      มีหน่วยงานสนับสนุนทุนดำเนินการ    และเชื่อมโยงเครือข่ายสู่วงการศึกษาและวงการวิทยาศาสตร์ – เทคโนโลยี   วงการวิจัย
3.      เริ่มต้นด้วย “ตลาดนัดความรู้ครูวิทยาศาสตร์”   ใช้เวลา 2 – 3 วัน   ผู้เข้าร่วม 40 – 50 คน   ครึ่งหนึ่งเป็นครูที่เคยเข้าโครงการ สกว. แล้วอีกครึ่งหนึ่งรับสมัครและคัดเลือกจากครูที่ “มีใจ”   อาจใช้วิธีคัดเลือกเป็นทีม 2 – 3 คน/โรงเรียน   และผู้อำนวยการโรงเรียนแสดงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนหรือขยายเป็นกิจกรรมทั้งโรงเรียน
สคส. ยินดีให้คำปรึกษา   และช่วยจัดกระบวนการในตลาดนัด
4.      นำ “ขุมความรู้” และ “แก่นความรู้” ในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ได้จากตลาดนัดไปประยุกต์ใช้โดยผู้เข้าร่วมตลาดนัด   และนำความรู้จากประสบการณ์แลกเปลี่ยนกันผ่าน blog   โดยมีผู้จัดการบล็อกทำหน้าที่กระตุ้น   เชื่อมโยง   สังเคราะห์ขุมความรู้ที่ยกระดับขึ้น   เป็นแก่นความรู้ที่ยกระดับขึ้น
         บล็อกจะช่วยให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา   ทำหน้าที่เป็น “พื้นที่
เสมือน” (virtual space) ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
5.      จัดตลาดนัดความรู้   หรือมหกรรมความรู้ครูวิทยาศาสตร์ระดับชาติ   ปีละครั้ง   นำผลสำเร็จมานำเสนอ   แลกเปลี่ยนเรียนรู้   และเชื่อมโยงเครือข่าย   เน้นทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการ   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเนื้อหาหรือตัวความรู้ด้านวิทยาศาสตร์


         นี่คือจินตนาการครับ   เวลาจะนำมาปฏิบัติจริงจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดอีกมากมาย   หรืออาจ
ต้องปรับปรุงบางส่วน
                                                                             วิจารณ์  พานิช
                                                                                7 มิ.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 340เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2005 03:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท