เก็บตกจากงาน Baht & Brain เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์


อย่ามัวคิดผลิตแต่สินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นปริมาณมากๆ แต่เหลียวมามองสินค้าที่เน้นดีไซน์ในปริมาณจำกัดบ้าง

เมื่อช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมได้มีโอกาสแวะเวียนไปชมนิทรรศการ Baht & Brains ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พ.ย. 52 - 31 ม.ค. 53 ณ โถงทางเข้า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรี่ยม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ ทำให้รู้จักและเข้าใจในแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ได้ดีขึ้น ถึงแม้พื้นที่แสดงนิทรรศการจะมีขนาดย่อมไม่ยิ่งใหญ่อลังการใดๆ แต่ก็จัดแสดงได้น่าสนใจอีกทั้งข้อมูลก็ดีมีประโยชน์ ที่สำคัญรูปแบบการนำเสนอสมกับชื่อหน่วยงานผู้จัดจริงๆ

นิทรรศการส่วนแรก จะว่าด้วยเรื่องความหมายและความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สะท้อนให้เห็นผ่านมูลค่าสินค้าและบริการในประเทศนั้นๆ ที่เกิดขึ้นจากทุนทางวัฒนธรรมและการออกแบบ เมื่อพิจารณาจาก 20 อันดับแรกของโลก จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 มีมูลค่าสูงถึง 4 พันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว ขณะที่ 3 อันดับแรกตกเป็นของ จีนซึ่งนำมาเป็นอันดับ 1 มูลค่า 6.1 หมื่นล้านเหรียญฯ อิตาลี อันดับ 2 มูลค่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญฯ และฮ่องกง อันดับ 3 มูลค่า 2.7 หมื่นล้านเหรียญฯ

นิทรรศการส่วนที่สอง แสดงถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจในยุคต่างๆ ได้แก่ ยุคกสิกรรม ยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลข่าวสาร และยุคแห่งความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนแรงขับเคลื่อน (Engine) ที่สำคัญในยุคนั้นๆ จนปรากฏออกมาให้เห็นในชีวิตประจำวัน (Daily life)

ซึ่งผลิตภัณฑ์ 15 กลุ่มที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยได้แก่ (1) งานออกแบบ (2) หัตถกรรม (3) ทัศนศิลป์ (4) ภาพวาด (5) ประติมากรรม (6) เครื่องแก้ว (7) สินค้าตกแต่งเทศกาล (8) หนังสือ (9) สื่อใหม่ และ (10) เครื่องจักสาน (11) วีดิโอเกม (12) วิทยุโทรทัศน์ (13) ภาพยนตร์ (14) ดนตรีดิจิทัล และ (15) กระดาษ

นิทรรศการส่วนที่สาม นำเสนอในรูปแบบ Interactive ผ่านหน้าจอสัมผัส โดยให้ผู้ชมลองผสมผสานจุดแกร่งของไทย กับโอกาสบนโลก เมื่อจับคู่องค์ประกอบทั้งสองเข้าด้วยกัน จะแสดงตัวอย่างของธุรกิจที่เกิดขึ้นจริงให้เห็น

นิทรรศการส่วนที่สี่ แสดงแผนผังตัวอย่างการก่อร่างสร้างธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ในหลายๆ รูปแบบ ตลอดจนบทสัมภาษณ์เจ้าของผู้ก่อตั้งธุรกิจนั้นๆ อาทิ บริษัท พรทวีโสภณ จำกัด ผู้คิดผลิตภัณฑ์ส้มตำพร้อมรับประทาน บรรจุมาในกล่องสำเร็จรูปที่เพียงแต่นำมาปรุงเล็กน้อยก็ทานได้ทันที และข้าวเหนียวทุเรียน ที่สามารถวางขายได้ทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ

เพราะฉะนั้นอย่ามัวคิดผลิตแต่สินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นปริมาณมากๆ แต่เหลียวมามองสินค้าที่เน้นดีไซน์ในปริมาณจำกัดบ้าง เพราะมันสามารถสร้างมูลค่าได้ไม่น้อยทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 339965เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2010 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท