การมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว จากทฤษฎีสู่การปรับโครงสร้าง


“ไม่ชอบรายการนี้เลย พิธีกรแต่งตัวโป๊ คำพูดแสดงความก้าวร้าวตลอดเวลา แต่ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใครดี ??? ” หรือ “ดูน้องคนนี้ในรายการสิ ทำไมพูดจาไม่สุภาพเลย ทำไมผู้ผลิตปล่อยออกมาอย่างนี้นะ???” หรือ “เราไม่ส่งข้อความไปในรายการแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่เห็นปรับปรุงรายการตามที่เราขอไว้เลย ???” หรือ “ทำไมไม่ให้โอกาสพวกเราผลิตรายการเองบ้าง เราจะได้ผลิตรายการที่ตรงกับความต้องการของชุมชน” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากกลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว คิดว่าคำถามเหล่านี้ คงอยู่ในใจของใครหลายๆคน ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นคำตอบสำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัวกับรายการโทรทัศน์

 การมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว จากทฤษฎีสู่การปรับโครงสร้าง

       ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่ทรงพลังอย่างยิ่งสำหรับเด็ก เยาวชน แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่า รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ กลับไม่ได้ตอบสนองต่อทักษะการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัว อีกทั้ง รายการโทรทัศน์ก็ยังไม่อาจตอบสนองต่อความจำเป็นด้านการเรียนรู้ปัญหาในท้องถิ่นในพื้นที่ต่างได้อย่างเต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว รายการโทรทัศน์ที่มีเด็ก เยาวชนร่วมในรายการยังไม่อาจสร้างต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่นั่งชมรายการโทรทัศน์

         ไม่ชอบรายการนี้เลย พิธีกรแต่งตัวโป๊ คำพูดแสดงความก้าวร้าวตลอดเวลา แต่ไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใครดี ??? หรือ ดูน้องคนนี้ในรายการสิ ทำไมพูดจาไม่สุภาพเลย ทำไมผู้ผลิตปล่อยออกมาอย่างนี้นะ??? หรือ เราไม่ส่งข้อความไปในรายการแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่เห็นปรับปรุงรายการตามที่เราขอไว้เลย ??? หรือ ทำไมไม่ให้โอกาสพวกเราผลิตรายการเองบ้าง เราจะได้ผลิตรายการที่ตรงกับความต้องการของชุมชน เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากกลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว คิดว่าคำถามเหล่านี้ คงอยู่ในใจของใครหลายๆคน ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นคำตอบสำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัวกับรายการโทรทัศน์

        และหากย้อนหลังกลับไปเมื่อ ๒ ปีก่อน การร้องเรียนต่อสังคมถึงความไม่เหมาะสมของเนื้อาในรายการโทรทัศน์ได้เกิดภาพความชัดเจน การรวมตัวของเครือข่ายเด็ก เยาวชน ครู ผู้ปกครอง เพื่อแสดงความคิดเห็นกับรายการ พรหมลิขิตบทที่ ๑ ผ่านเวทีสาธารณะเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้รายการดังกล่าวต้องขยับเวลาให้ดึกขึ้น และในที่สุด ผู้ผลิตจึงตัดสินใจไม่ผลิตรายการนี้ต่อ

        จะเห็นได้ว่า การมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในการแสดงพลังที่จะเฝ้าระวังความไม่เหมาะสมของเนื้อหาหน้าจอโทรทัศน์ ในกรณีดังกล่าว ทำให้ภาพของการการมีส่วนร่วมในระดับหน้าจอโทรทัศน์ มีความชัดเจน และ สามารถแสดงศักยภาพที่จะเป็นผู้กำหนดคุณภาพเนื้อหาและช่วงเวลาของรายการโทรทัศน์ได้เอง

        ในหลายๆครั้ง เราจะพบอีกเช่นกันว่า รายการโทรทัศน์ที่เด็ก เยาวชน เป็นผู้ดำเนินรายการหรือร่วมในรายการ ทำให้เด็ก เยาวชน ที่นั่งชมรายการโทรทัศน์ อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับในจอโทรทัศน์ คือการเข้าไปอยู่ในรายการโทรทัศน์ในฐานะของผู้ดำเนินรายการ ผู้ร่วมรายการ เพราะนอกจากจะได้อยู่ในหน้าจอโทรทัศน์แล้ว หากเป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เข้าร่วมแข่งขัน ยังมีโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทน

       แต่กระนั้นก็ดี พบว่า ในหลายๆรายการได้ส่งเสริมค่านิยมที่ไม่ถูกต้องกับให้กับเด็ก เยาวชน ที่นั่งชมรายการ ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง กิริยา การแสดงออก ภาษา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผลที่มาจากการให้เด็ก เยาวชน มีส่วนร่วมในระดับในจอโทรทัศน์ แต่กลับไม่ได้ทำให้เกิดต้นแบบที่ดีในการดำเนินชีวิตให้กับเด็ก เยาวชน ในสังคมไทยใน

        ระดับการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน ครอบครัว กับรายการโทรทัศน์ที่เข้มข้นสุด และเป็นเป้าหมายที่สำคัญต่อการพัฒนารายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาตอบสนองต่อคนในชุมชน ก็คือ การมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัวในระดับหลังจอโทรทัศน์ ซึ่งคือ การมีส่วนร่วมในการผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งมีตั้งแต่การมีส่วนร่วมในระดับเล็กๆน้อยๆ ไปจนกระทั่งถึง การมีอำนาจในการตัดสินใจในการดำเนินการผลิต กำหนดรูปแบบ เนื้อหา ซึ่งหมายถึง ความเป็นอิสระในการคิดและในการดำเนินการโดยผู้ผลิตที่เป็นเด็ก เยาวชน และเมื่อเด็กเยาวชนในพื้นที่สามารถคิดรูปแบบและเนื้อหารายการด้วยตนเอง ก็จะทำให้รายการโทรทัศน์นั้นมีเนื้อหาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาชุมชนของตนเอง

         นอกเหนือไปจากนั้น การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายแต่จากอดีตที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีทฤษฎีความรู้ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งในระดับหน้าจอ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเฝ้าระวังคุณภาพของเนื้อหารายการโทรทัศน์ กลับเกิดขึ้นไม่ได้จริง มีเพียงการเคลื่อนไหวในกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว และองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ทว่ายังไม่มีพลังและความต่อเนื่องที่เพียงพอ 

           สำหรับการมีส่วนร่วมในระดับในจอโทรทัศน์เอง อุปสรรคที่สำคัญก็คือ การขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ผลิต รวมทั้ง การละเลยเพิกเฉย ต่อความเป็นต้นแบบที่ดีของเด็ก เยาวชน ที่ร่วมในรายการ ของผู้ผลิตที่ต้องการเรียกคะแนนระดับความนิยมเชิงปริมาณของผู้ชม และต้นเหตุที่สำคัญก็คือ การขาดสถาบันวิชาชีพที่จะช่วยวางกรอบของจริยธรรมในการผลิตรายการ และการขาดซึ่งสถาบันวิชาการเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการผลิตรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวในขณะที่ การให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวมีโอกาสในการเป็นเจ้าของผลงานในฐานะผู้ผลิตรายการ ยังขาดทั้งอุปกรณ์ ความรู้ในการผลิต แรงจูงใจที่จะผลิตอย่างต่อเนื่อง ช่องทางของการการออกอากาศรายการที่ตนเองผลิต

           ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แนวคิดเกี่ยวกับ การมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การให้เด็ก เยาวชนและครอบครัว รู้จักการเฝ้าระวังทำให้เกิดการเท่าทันต่อสื่อ อีกทั้ง การให้โอกาสเด็ก เยาวชนและครอบครัวในการผลิตยังทำให้เด็ก เยาวชน เกิดการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อีกทั้ง รายการที่ผลิตยังสามารถเป็นช่องทางในการแก้ปัญหาในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง 

         ถึงแม้ว่า ทุกคนจะรู้และเข้าใจประโยชน์ของการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัวกับรายการโทรทัศน์ แต่ทว่า วันนี้ปัญหาและอุปสรรคยังคงมีมากพอที่จะทำให้แนวคิดในเรื่องการมีส่วนร่วมของเด็ก ฯ ยังคงอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง หาก การจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างเป็นรูปธรรม

       การปรับโครงสร้างในระดับภาคประชาชน เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อในกลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นกลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ และเสริมสร้างให้กลุ่มเด็ก เยาวชนและครอบครัวที่มีศักยภาพในการผลิตรายการให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และขยายกลุ่มประเภทนี้ให้มากขึ้น

      การปรับโครงสร้างในระดับภาควิชาการ เพื่อสถาบันวิชาการในการทำหน้าที่ให้ความรู้และผลิตหลักสูตรสำหรับการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวการปรับโครงสร้างในระดับภาควิชาชีพ เพื่อสร้างสถาบันวิชาชีพในวางกรอบจริยธรรมในรูปของประมวลจริยธรรมเพื่อสร้างต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก เยาวชนผ่านหน้าจอโทรทัศน์

กาปรับโครงสร้างเชิงนโยบาย ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วยการสร้างสภาเยาวชน เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำนโยบายเสนอต่อภาคสังคม ทั้งในแง่ของพื้นที่ในการนำเสนอรายการที่เด็ก เยาวชน ผลิตขึ้นมา การให้โอกาสและพื้นที่กับเครือข่ายเฝ้าระวังในการนำเสนอสถานการณ์อันเป็นผลจากการเฝ้าระวังในทุก ๓ เดือน การสร้างกองทุนเพื่อการพัฒนารายการโทรทัศน์

 จะเห็นได้ว่า วันนี้ การปรับโครงสร้างบางประการได้จัดทำไปบ้างแล้ว เช่น การเพิ่มพื้นที่ให้กับรายการ เช่น ETV แต่ปัญหาที่หนักและยิ่งใหญ่กว่าก็คือ การสร้างความรู้ เข้าใจและเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ ให้เด็ก เยาวชนและครอบครัว เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ถึงแม้พื้นที่จะมีมากเพียงใด แต่เด็ก เยาวชน ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่อาจเข้าถึงได้ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก

หมายเลขบันทึก: 33857เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2006 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาอ่านแล้ว

เห็นด้วยที่จะต้องมีการจัดองค์กรภาคประชาชนในระดับเด็กและเยาวชนให้มีพลังมากขึ้น แต่พลังที่ว่า จะต้องมีลักษณะของ "พลังความรู้" ด้วยนะคะ แค่ "พลังอารมณ์" ไม่พอ สิ่งหลังนั้น ไม่มี ก็ไม่ได้ เพราะการเกาะกลุ่มจะทำไม่ได้ดี หรือไม่ได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท