อ่านลิลิตตะเลงพ่าย ฉบับร้อยแก้ว


ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นบทประพันธ์ประเภทลิลิต ประพันธ์ขึ้นโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสและ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ เพื่อสดุดีวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวาระงานพระราชพิธีฉลองตึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามในรัชกาลที่ 3 โดยตะเลงในที่นี้หมายถึง มอญ

เนื้อหา  

ตอนที่ ๑ เริ่มต้นบทกวี

ตอนที่ ๒ เหตุการณ์ทางเมืองมอญ

ตอนที่ ๓ พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี

ตอนที่ ๔ สมเด็จพระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร

ตอนที่ ๕ สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ

ตอนที่ ๖ พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ

ตอนที่ ๗ พระมหาอุปราชทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าประทะทัพหน้าของไทย

ตอนที่ ๘ พระนเรศวรทรงปรึกษายุทธวิธีเอาชนะศึก

ตอนที่ ๙ ทัพหลวงเคลื่อนพล ช้างทรงพระนเรศวรและพระเอกาทศรถฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก

ตอนที่ ๑๐ ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย

ตอนที่ ๑๑ พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร

ตอนที่ ๑๒ สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

 

ตอนที่ ๑ เริ่มต้นบทกวี

                ด้วยพระเดชานุภาพแห่งกษัตริย์ไทยอันสะดวก และสง่าผ่าเผยเอาชนะเหล่าศัตรูผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พระเกียรติยศเป็นที่โจษจันเลื่องลือเหมือนพลิกแผ่นฟ้า โลกสู้ไม่ได้ จึงเลื่องลือถึงชัยชนะอันสำเร็จด้วยพระปรีชาสามารถ ต่างหวั่นเกรงในพระเกียรติยศ ต่างท้อใจจนไม่กล้าคิดฮึกเหิม จิตใจคิดแพ้จนไม่คิดจะกล้าสู้อีก ไม่กล้าแม้แต่ปรากฏตัวออกรบ ไม่กล้าสู้หน้าและสำแดงฤทธิ์อำนาจ พระเจ้าแผ่นดิน ทุกหนทุกแห่งกษัตริย์ ทุกเขตทุกแคว้นน้อมมงกุฎ (หมายถึง ศีรษะ) มานบนอบ นำบ้านเมืองมาน้อมถวาย เป็นเมืองขึ้นแด่กษัตริย์ไทยผู้มีดอกบัวสวยงามรองรับเท้า ผู้มีอานุภาพหาผู้ใดเสมอมิได้ ผู้ปราบข้าศึกจนเป็นที่เกรงกลัวศพถูกบั่นหัวเกลื่อนกลาดมากมายเต็มทุ่ง เต็มเนินพม่ามอญพ่ายแพ้หนีไป กรุงศรีอยุธยางดงามน่าพึงพอใจมีความสุขบันเทิงใจเป็นพิเศษ สบายใจทั้งในพระราชฐาน เย้ฯใจทั้งในพระราชวังที่ประทับประกอบไปด้วย เครื่องสอยต่างๆ เจริญด้วยทรัพย์อันอุดมสมบูรณ์ ทำแผ่นดิน ให้พ้นความลำบากทำบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขทุกเขตแดนเพลิดเพลินใจ เหล่าทหารช้างทหารม้าเหล่าทหารปืนไฟ พระเกียรติยศกึกก้องทั่วฟ้าเป็นที่ลือเลื่องทั่วแผ่นดินและทั่วโลกต่างสดุดี

                  เป็นบุญของพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ศัตรูได้ยินพระเกียรติยศเข้าก็เกรงกลัว ฤทธานุภาพ ( ของกษัตริย์ไทย ) นั้นเทียบเท่าฤทธิ์ของพระรามผู้ปราบทศกัณฐ์ ผู้ซึ่งสามารถรบข้าศึกให้พ่ายแพ้ได้ทุกเวลา

                  ข้าศึกพินาศไปดุจกำลังพลแห่งเทพบุตรมาร กษัตริย์สยามเหมือนพระนารายณ์ลงมาเกิดเมื่อครั้งก่อน ข้าศึกนับแสนไม่กล้าสู้รบกับฤทธิ์ของพระองค์ ต่างตกใจในเดชานุภาพ ต้องหลีกลี้หนีไปทุกแห่งหนของโลก

                 ครั้นเสวยราชสมบัติดุจสมบัติสวรรค์แล้ว ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ร่มเย็นดังแสงจันทร์ซึ่งลอยเด่นบนฟ้า ส่องความสุขอันสบายใจเป็นที่ชื่นบานแก่มนุษย์โลก ความทุกข์ผ่อนคลายไป กษัตริย์จากทุกแห่งต่างพร้อมใจสรรเสริญ

 

ตอนที่ ๒ เหตุการณ์ทางเมืองมอญ

                 ทางมอญ (พม่า) ทราบข่าวว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต โอรสของพระองค์คือ สมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์ เมื่อทราบเช่นนั้นพระเจ้านันทบุเรง กษัตริย์พม่า ได้คาดการว่า อาจจะมีการทะเลาะวิวาทเพื่อชิงราชสมบัติระหว่างพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถ พม่าจึงกองทัพมาคอยท่า ดูว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ถ้าเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยก็เป็นโอกาสดีที่จะตีเอากรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาเตรียมทัพ ร่วมกับพระมหาราชเจ้านครเชียงใหม่ ยกไปเป็นทัพใหญ่ ๕ แสน

                    เมื่อพระมหาอุปราชาทราบ จึงตอบกลับว่า โหรได้ทำนายว่า กำลังมีเคราะห์ถึงตาย นันทบุเรงได้ฟังจึงตรัสตอบ เชิงประชดแดกดันว่า เจ้ากรุงศรีอยุธยามีโอรส ล้วนเชี่ยวชาญการรบ กล้าหาญในการศึกไม่ย่อท้อ ต่อสู้ข้าศึกไม่ต้องให้พระราชบิดาใช้เลย มีแต่จะต้องห้ามปราม ถึงเจ้าหวาดกลัวเคราะห์ร้าย ก็อย่าไปรบเลยให้เอาผ้านุ่งสตรีมานุ่งเสีย จะได้บรรเทาเคราะห์

                    เมื่อพระมหาอุปราชาได้ยินเช่นนั้น ก็รู้สึกอับอายขุนนางทั้งหลายเป็นอันมาก จึงกราบแทบพระบาท ทูลลาพระเจ้าหงสาวดี แล้วออกมาป่าวประกาศเกณฑ์รี้พลทหาร เสร็จแล้วก็เสด็จเข้าที่ประทับ ด้วยพระทัยโศกเศร้า จนหมดสง่าราศี

                    พระมหาอุปราชาสั่งลาพระสนมเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปยังที่สรง ชำระพระองค์ในเวลาไม่นาน ทรงน้ำหอมกลิ่นฟุ้ง อบอวลกระจายไปทั่ว แล้วทรงเครื่องแต่งพระองค์ มีสนับเพลา ชายไหวชายแครงลายเถาวัลย์ รัดผ้าคาด สวมภูษาทรงสวยงาม สวมกำไลประดับแก้วลายมังกรผ้าตาบประดับแก้วไพฑูรย์ส่องประกาย สายสะอิ้งทำด้วยพลอย สายสังวาลย์พาดเฉียงบ่า บนพระเศียรทรงมงกุฎเทริด ตามแบบอย่างกษัตริย์มอญ ประดิษฐ์เป็นรูปพญานาคหัวแผ่พังพานเต็มที่ แสงเพชรสว่างโชติช่วง พระธำมรงค์เปล่งประกายสีรุ้ง เรียงรายด้วยแก้ว ๙ ประการ โอ่อ่าด้วยเครื่องแต่งตัวอันสวยตระการตา งามสง่าสมความเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงดำเนินอย่างผู้ทรงอำนาจ กรายพระหัตถ์กุมอาวุธ เสด็จเยื้องย่างอย่างพญาราชสีห์ ทูลลาพระเจ้าแผ่นดินไปสู้รบศัตรูแห่งสยาม

                    พระเจ้าหงสาวดีฟังราชโอรสทูลลาไปทำศึก และพระราชทานพรให้กรุงศรีอยุธยาอยู่ในเงื้อมมือของพระมหาอุปราชา ขอให้เจริญด้วยเดชานุภาพ ชาวอยุธยาอย่าต้านทานได้ ให้มีชัยชนะสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงพระราชทานโอวาทในการทำสงคราม ๘ ประการ คือ

                     ๑. อย่าเป็นคนหูเบา (จงพ่อย่ายินยล แต่ตื้น) ๒. อย่าทำอะไรตามใจตนเอง ไม่นึกถึงใจผู้อื่น (อย่าลองคะนองตน ตามชอบ ทำนา) ๓. รู้จักเอาใจทหารให้ฮึกเหิมอยู่เสมอ (เอาใจทหารหาญ เริงรื่น อยู่นา) ๔. อย่าไว้ใจคนขี้ขลาดและคนโง่ (อย่าระคนปนใกล้ เกลือกกลั้วขลาดเขลา) ๕. ควรรอบรู้ในการจัดกระบวนทัพทุกรูปแบบ (หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้ สบสถาน) ๖. รู้หลักพิชัยสงคราม การตั้งค่าย (รู้เชิงพิชัยชาญ ชุมค่าย ควรนา) ๗. รู้จักให้บำเหน็จความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองที่เก่งกล้า (หนึ่งรู้บำเหน็จให้ ขุนพล อันสมรรถมือผจญ จืดเสี้ยน) ๘. อย่าลดความเพียรหรืออย่าเกียจคร้าน (อย่าหย่อนวิริยะยล อย่างเกียจ)

                   เสร็จจากพระราชทานโอวาทแล้ว พระมหาอุปราชากราบบังคมรับพร แล้วอำลาราชบิดา เสด็จมายังเกยชัย เหล่าทหารเตรียมกำลังไว้พร้อมทั้งหมด ๕๐ หมื่น นายช้างรื่นเริงแกล้วกล้า ขับช้างทรงพันธกอมารับพระมหาอุปราชา เสร็จแล้วขับช้างออกเดินทัพ

 

ตอนที่ ๓ พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี

                  ระหว่างการเดินทาง พระมหาอุปราชาทรงรำพันถึงพระสนมว่า ออกเดินทางมาคนเดียว รู้สึกเปลี่ยวใจยิ่งนัก ทอดพระเนตรเห็นพันธุ์ไม้สวยงาม ก็อดรำลึกถึงนางที่รักไม่ได้

                  ทางเมืองกาญจนบุรี เหล่ากองระวังด่านได้ไปสอดแนมหาข่าวในเขตแดนมอญ ต่างเห็นหมู่กองทัพมอญ เดินมาแน่นขนัดเต็มป่า หวังมารบกับกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่ และเห็นที่กั้นเศวตฉัตรห้าชั้นปักบนหลังช้าง จึงรู้ได้ว่าพระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพยกมา และนำข่าวไปแจ้งแก่เจ้าเมือง

                  เมื่อได้ยินข่าวศึก ชาวเมืองกาญฯ ก็กลัวเพราะรู้ว่าไม่สามารถต้านทานกำลังพม่าไว้ได้ จึงพากันทิ้งบ้านเมือง ทำให้กาญจนบุรีเป็นเมืองร้าง แล้วพากันไปซุกซ่อนในป่า เพื่อดูอุบายพม่า และส่งรายงานไปให้กรุงศรีอยุธยาทราบ พระมหาอุปราชาทรงเร่งให้รีบเดินทัพ เมื่อถึงแม่น้ำกระเพิน พระยาจิดตองเป็นแม่กองการทำสะพานเชือกข้ามแม่น้ำ จนถึงเมืองกาญจนบุรี ซึ่งว่างเปล่าไร้ผู้คน กองทหารสอดแนมพม่าพยายามจับตัวคนไทยเพื่อมาสอบถาม แต่ไม่พบใครเลยพระมหาอุปราชาจึงกรีธาทัพเข้าค้างแรมในเมือง

                  เมื่อเดินทัพถึงตำบลพนมทวน ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ลางร้ายก็ปรากฏขึ้น มีลมชื่อเวรัมภา พัดเอาเศวตฉัตรบนหลังช้างหักขาดลงมา พระมหาอุปราชาเมื่อได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ก็เสียวใจเหมือนถูกภูเขาใหญ่มาทับอก พระทัยสั่น พระพักตร์ซีด จนต้องเรียกโหรมาทำนาย

                โหรทั้งหลายต่างรู้ว่าเป็นเหตุร้าย แต่ไม่กล้าทูลตามตรง เพราะกลัวอาญา จึงทูลแต่สิ่งดีๆ เพื่อกลบเกลื่อนว่า เรื่องฉัตรหักนี้ ถ้าเกิดในเวลาเช้าย่อมชั่วร้าย แต่ถ้าเกิดในช่วงเย็นย่อมดี ขอพระองค์อย่าขุ่นเคืองโทมนัสทุกข์ใจไปเลย จะทรงมีลาภปราบศัตรูข้าศึกไทยได้แน่นอน

                   พระมหาอุปราชาไม่เชื่อคำทำนาย ทรงนึกหวั่นวิตกว่าจะแพ้กองทัพไทย ทรงระลึกถึงพระบิดา หากเสียพระโอรสไปแล้ว คงเหมือนกับแขนขาดกลิ้งไป คงไม่มีใครเป็นคู่ทุกข์คู่ปรึกษา พระคุณของบิดาเท่าพื้นแผ่นดิน ตลอดตั้งแต่ฟ้าจรดดิน พระองค์ให้กำเนิดก่อชีวิต กลัวว่าลูกจะกลับไปตอบแทนพระคุณไม่ทันเสียแล้ว

 

ตอนที่ ๔ สมเด็จพระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร

                 ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงประทับอยู่ที่ท้องพระโรง ทรงไต่ถามทุกข์สุขของมวลพสกนิกร ขุนนางทั้งหลาย ต่างถวายความเห็นแด่สมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงตัดสินคดีความให้ลุล่วงไปตามแบบอย่างยุติธรรม เสร็จแล้วทรงปรึกษาขุนนาง เพื่อเตรียมทัพไปปราบเขมรว่าควรยกไปเมื่อไรดี โดยให้เกณฑ์กำลังพลมาจากทางใต้

                 พระองค์ทรงห่วงแต่ศึกมอญพม่า เกรงว่าจะยกมาตีกรุงศรีอยุธยา จึงมอบหมายให้ พระยาจักรี เป็นผู้ดูแลกรุงศรีอยุธยาในระหว่างที่ทำศึกกับเขมร ให้ตั้งใจรักษาเมืองไว้ พระองค์จะรีบกลับมาปกป้องแผ่นดินสยามโดยไว

                 พระองค์ทรงปลอบพระองค์ว่า พม่าเพิ่งแพ้ไทยกลับไปเมื่อต้นปี คงไม่ยกกลับมาภายในปีนี้หรอก เหล่าขุนนางยังไม่ได้ตอบพระราชบรรหาร ทันใดนั้นทูตจากเมืองกาญจนบุรีก็มาถึง

 

ตอนที่ ๕ สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ

                 สมเด็จพระนเรศวรตรัสว่า เราจะไปตีเมืองกัมพูชา แต่มอญชิงส่งทัพเข้ามารบเสียก่อน ทำให้เราไม่ได้ไปรบกับเขมร ทรงสั่งให้ไปรบกับมอญแทน อันเป็นมหรสพอันยิ่งใหญ่ ว่าแล้ว ทรงประกาศให้เมืองกาญจนบุรี เกณฑ์กำลังพล ๕๐๐ ไปสอดแนมซุ่มดูกำลังของข้าศึก ที่เดินทางผ่านลำน้ำกระเพิน โดยตัดสะพานให้ขาดเป็นท่อน ทำลายเชือกสะพานให้ขาดลอยเป็นทุ่น ก่อไปทำลายเสียอย่าให้มอญจับได้

                    ทันใดนั้นทูตจากเมืองต่างๆ ก็ส่งรายงานศึกมาให้พระองค์ทราบ เป็นการสนับสนุนข่าวนั้นว่าเป็นจริง พระนเรศวรทรงยินดีที่จะได้ปราบศัตรูบ้านเมือง ทรงปรึกษากับเหล่าเสนาอำมาตย์ว่า การศึกครั้งนี้ ควรจะสู้นอกเมือง หรือตั้งรับในเมือง เหล่าขุนนางทั้งหลายก็กราบทูลว่า พระองค์ควรเสด็จไปทำศึกนอกเมืองจะดีกว่า ซึ่งก็ตรงกับพระทัยของสมเด็จพระนเรศวร

                   แล้วมีพระบรมราชโองการ เรียกเกณฑ์พลจากหัวเมือง ตรี จัตวา กับหัวเมืองทางใต้ ให้พระยาศรีไสยณรงค์ เป็นทัพหน้า มีพระราชฤทธานนท์ เป็นปลัดทัพ มีกำลังพล ๕ หมื่น ทรงสั่งอีกว่าให้รีบรบโดยเร็ว หากต้านทานไม่ไหว พระองค์จะเสด็จมาช่วยภายหลัง

                    แม่ทัพทั้งสองกราบบังคมลา แล้วยกทัพไปจนถึงตำบลหนองสาหร่าย เขตจังหวัดสุพรรณบุรี แล้วตั้งค่ายลงตรงชัยภูมิชื่อ สีหนาม เพื่อรอรบ และหลอกล่อข้าศึกให้เข้าสู่สถานการณ์ที่ต่อสู้ได้ยากลำบาก ...

 

ตอนที่ ๖ พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ

                   สมเด็จพระนเรศวร ให้โหรหาฤกษ์ยามดีเพื่อเคลื่อนพลไปรบ หลวงญาณโยคโลกทีป ถวายคำพยากรณ์ทูลว่า พระองค์ได้จตุรงคโชค อาจปราบประเทศต่างๆให้แพ้สงครามได้ เชิญเสด็จเคลื่อนทัพในยามเช้า วันอาทิตย์ขึ้น ๑๑ ค่ำ ย่ำรุ่ง ๘ นาฬิกา ๓๐ นาที ในเดือนยี่ นับเป็นฤกษ์สิริมงคล ทรงสดับแล้ว ให้ตรวจทัพเตรียมเคลื่อนพลทางน้ำ มุ่งสู่ตำบลปากโมก จังหวัดอ่างทอง

                   สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถ สรงน้ำอบหอม แต่งพระองค์ด้วยภูษาทรงอันสวยงาม นับแต่ผ้ารัดบั้นพระองค์ มีชายไหวชายแครงสนับเพลา ทับทรวง สะอิ้ง ล้วนสวยงาม สวมข้อพระกรด้วยกำไลอ่อน พระธำมรงค์ที่สวมนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๘ ประดับเพชรพลอยแพรวพราวเป็นสีรุ้ง ทรงมงกุฎทองประดับเพชร ถือคันธนูเสด็จมาช้าๆ กษัตริย์ ๒ พระองค์ดุจดังพระลักษณ์พระรามปราบทศกัณฐ์ และปราบศัตรูทั่วทิศ

                     เมื่อได้ฤกษ์ออกศึก โหรตีฆ้องดังกึกก้อง บรรดาสมณชีพราหมณ์ก็ร่ายมนตร์ตามคัมภีร์ พร้อมเป่าสังข์เป่าแตรถวาย เสียประสานกันเซ็งแซ่ จากนั้นเคลื่อนพลผ่านโขลนทวาร พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาให้มีชัย และเคลื่อนทัพจนถึงตำบลปากโมก ทรงปรึกษาเหล่าขุนนางเรื่องการศึก จนล่วงเข้ายามสามก็เสด็จเข้าที่บรรทมครั้นถึงเวลา ๔ นาฬิกา พระองค์ทรงสุบิน เป็นศุภนิมิต ว่า

                     ทรงทอดพระเนตรเห็นน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูง มาทางทิศตะวันตก เป็นแนวยาวสุดสายพระเนตร ขณะพระองค์ลุยกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากนั้น มีจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งมาโถมปะทะ และจะกัดพระองค์ พระองค์ใช้แสงดาบที่ถือในพระหัตถ์ต่อสู้กับจระเข้ พระองค์ฟันเข้าถูกจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำที่ท่วมป่าอยู่ก็เหือดแห้ง เมื่อตื่นบรรทม สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนิมิตทันที เหล่าโหรพยากรณ์ว่า พระสุบินครั้งนี้ เกิดเพราะเทวดาสังหรณ์ให้ทราบเป็นนัยว่า

                    น้ำซึ่งไหลท่วมป่าทางทิศตะวันตกนั้นคือกองทัพพม่า

                    ส่วนจระเข้นั้นคือพระมหาอุปราชา การสงครามนี้ยิ่งใหญ่ ถึงขนาดต้องกระทำยุทธหัตถี

                    การลุยกระแสน้ำนั้นหมายความว่าพระองค์จะทรงตะลุยไล่บุกเข้าไปในหมู่ข้าศึก จนข้าศึกแตกพ่าย

                    เมื่อพระองค์สดับฟังคำพยากรณ์ ก็มีความผ่องแผ้วเป็นสุขใจ และเสด็จมายังเกยช้างที่ประทับ ณ พลับพลาในค่ายหลวง ในระหว่างที่คอยพิชัยฤกษ์อยู่ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุ ส่องแสงเรืองรอง มีขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยง ลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้ ลอยวนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วลอยเวียนฉวัดเฉวียนกลางฟ้า ผ่านไปทางทิศเหนือ

                  สมเด็จพระพี่น้อง ทรงกราบนมัสการด้วยความปลาบปลื้มปิติยินดียิ่ง ทรงพระช้างชื่อ ไชยานุภาพ ส่วนพระเอกาทศรถทรงช้าง พลายปราบไตรจักร โดยเสด็จนำหน้าขบวนสมเด็จพระนเรศวร

 

ตอนที่ ๗ พระมหาอุปราชทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าประทะทัพหน้าของไทย

                 ฝ่ายนายกองลาดตระเวน ซึ่งพระมหาอุปราชาใช้ให้ขี่ม้าตรวจดูทัพไทย มีสมิงอะคร้าน สมิงเป่อ สมิงซายม่วน พร้อมทหารม้า ๕๐๐ และกราบทูลพระมหาอุปราชาว่า กองทัพไทยตั้งค่ายอยู่ที่หนองสาหร่าย สมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นผู้ยกทัพมาเอง มีรี้พลประมาณ ๑๗-๑๘ หมื่น พระมหาอุปราชาจึงตัดสินใจใช้วิธีจู่โจม หักเอาชัยชนะเสียแต่แรก เพื่อเบาแรง แล้วล้อมกรุงศรีอยุธยา แล้วชิงราชสมบัติในภายหลัง จึงรับสั่งให้เตรียมพลให้เสร็จตั้งแต่ ๓ นาฬิกา(ตีสาม) พอ ๕ นาฬิกา(ตีห้า) ก็ยกทัพกะให้ไปสว่างกลางทาง รุ่งเช้าจะได้เข้าตีทันที พระองค์ขึ้นประทับพลับพลาที่มีเกยสำหรับขึ้นช้าง เพื่อประทับช้างพระที่นั่งชื่อ พลายพันธกอ

                  ฝ่ายไทย พระยาศรีไสยณรงค์ กับพระราชฤทธานนท์ ได้รับพระราชโองการจากสมเด็จพระนเรศวร จึงยกพลเข้าโจมตีทัพพม่าตั้งแต่กลางดึก มีกำลังพลทั้งหมด ๕ หมื่น โดยจัดทัพดังนี้

                  ทัพหน้า มีพระสุพรรณเป็นแม่ทัพ เจ้าเมืองธนบุรีเป็นปีกซ้าย เจ้าเมืองนนทบุรีเป็นปีกขวา

                  ทัพหลวง พระยาศรีไสยณรงค์เป็นแม่ทัพ ขี่ช้างชื่อพลายสุรงคเดชะ เจ้าเมืองสรรค์บุรีเป็นปีกซ้าย เจ้าเมืองสิงห์บุรีเป็นปีกขวา

                 ทัพหลัง พระราชฤทธานนท์เป็นแม่ทัพ ขี่ช้างชื่อชนะจำบัง เจ้าเมืองชัยนาทเป็นปีกซ้าย พระยาวิเศษชัยชาญเป็นปีกขวา

                 สามทัพจัดเก้ากอง มีเหล่าทหารสมัครรบเป็นกองหนุน เดินทัพจนถึงโคกเผาข้าว ในเวลาเช้า ๗ นาฬิกา ได้ปะทะกับทัพพม่า ทั้งสองผ่ายต่างต่อสู้กันอย่างกล้าหาญ พร่าผลาญชีวิตตากกันเกลื่อนกราด บ้างแขนขาด บ้างขาขาด หัวขาด กำลังพม่ามีมากกว่าจึงโอบล้อม กระหนาบไทยทั้งด้านหน้าด้านหลัง ฝ่ายไทยมีอยู่น้อย ไม่สามารถต้านทานไว้ได้ จึงรบไปถอยไป เสียงอาวุธที่ปะทะกันดังสั่นกึกก้อง เหมือนเสียงฟ้าผ่า ผืนแผ่นดินทลาย เสียงดังสั่นโลกจนไม่รู้ว่าฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ สองฝ่ายต่างเก่งกล้ามาก เหมือนราชสีห์สู้กับราชสีห์

 

ตอนที่ ๘ พระนเรศวรทรงปรึกษายุทธวิธีเอาชนะศึก

                      สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้พราหมณ์ทำพิธีเบิกโขลนทวาร เซ่นสรวงเทวดา แลพิธีพลีกรรมแก่ผีสาง ทรงส่งพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ให้หลวงมหาวิชัยทำพิธีตัดไม้ข่มนาม ขณะนั้นทรงได้ยินเสียงปืนดังมาแต่ไกล จึงโปรดให้หมื่นทิพย์เสนาควบม้าอย่างรวดเร็วเพื่อไปสืบข่าว หมื่นทิพย์เสนาควบม้าไปเห็นกองทัพไทยถอยมาตามท้องนาไม่เป็นขบวน จึงจับเอาหมื่นคนหนึ่งกลับมาเฝ้าพระนเรศวร

                      พระองค์ตรัสถามว่า เหตุใดจึงแพ้ เขาจึงเล่าว่า รี้พลทั้งหมดเดิมทัพมาถึงโคกเผาข้าวเวลา ๑ นาฬิกา ได้ปะทะกับกองทัพมอญซึ่งมีกำลังมากกว่า ไม่สามารถต้านทานไว้ได้ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทราบ จึงปรึกษากับเหล่าแม่ทัพนายกองว่า จะทำอย่างไรให้ชนะข้าศึก เหล่าแม่ทัพกราบทูลให้พระองค์จัดทัพไปหน่วงข้าศึกไว้ แล้วให้พระองค์ไปตั้งมั่นที่กรุงศรีอยุธยา ให้ข้าศึกอ่อนกำลังก่อนจึงค่อยเสด็จยกทัพหลวงออกมาสู้

                     สมเด็จพระนเรศวรตรัสแย้งว่า ฝ่ายไทยกำลังแตกพ่ายมา หากส่งกองทัพไปต้านทาน ก็ต้องพลอยแตกซ้ำกลับมาเป็นครั้งที่สอง จึงรับสั่งให้ถอยร่นลงมา โดยไม่หยุดยั้งเพื่อลวงข้าศึก พม่าจะได้ประมาทไล่ติดตามมาไม่เป็นขบวน แล้วค่อยยกกำลังส่วนใหญ่ออกไปตี เห็นจะได้ชัยชนะโดยง่าย เหล่าแม่ทัพนายกองเห็นชอบด้วย สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้หมื่นทิพย์เสนา กับหมื่นราชามาตย์ไปแจ้งข่าวให้ทัพหน้าทราบ

                     ทัพหน้าไทยเมื่อได้รับคำสั่ง จึงหนีถอยร่นมาอย่ารวดเร็ว พวกพม่าเห็นเช่นนั้นก็ไล่ตามติดกองทัพไทยมาอย่างไม่เป็นขบวน โดยไม่รู้เล่ห์กลไทย เพราะคิดว่าไทยแพ้จริงๆ บุกไล่ตามกองทัพไทยด้วยความคึกคะนอง

 

ตอนที่ ๙ ทัพหลวงเคลื่อนพล ช้างทรงพระนเรศวรและพระเอกาทศรถฝ่าเข้าไปในกองทัพข้าศึก

                      สมเด็จพระนเรศวรทรงเคลื่อนทัพตามเกล็ดนาค ตามตำราพิชัยสงคราม ในไม่ช้าก็ปะทะกับข้าศึก ช้างพระที่นั่งทั้งสองเชือก ได้ยินเสียงฆ้อง กลอง และปืนก็เริ่มคึกคะนองด้วยกำลังตกมัน ส่งเสียงด้วยกิริยาร่าเริง ควาญไม่สามารถคัดท้ายไว้ได้ จึงวิ่งฝ่าเข้าไปในหมู่ข้าศึก แซงทั้งปีกซ้าย ปีกขวา กองหน้า แม่ทัพนายกลองและไพร่พลไม่สามารถตามเสด็จได้ จะมีก็แต่กลางช้างกับควาญช้าง ๔ คนเท่านั้นที่ตามเสด็จได้

                       เมื่อวิ่งเข้าใกล้กองหน้า สมเด้จพระพี่น้องทอดพระเนตรเห็นข้าศึกมีจำนวนมากมายเหมือนคลื่นในมหาสมุทร กำลังไล่ตามทหารไทยมา จึงไสยช้างพระที่นั่งทั้งคู่ด้วยแรงที่เกิดจากการตกมัน ทั้งถีบทั้งเตะตะลุมบอนทหารพม่ามอญตายเกลื่อนกลาด บางส่วนก็ยิงปืนเข้าใส่ บ้างก็ยิงธนูเข้าใส่ เกิดควันกลบท้องฟ้าให้มืดมิด

                       สมเด็จพระนเรศวร ทรงมีพระบรมราชโองการแก่เทพทั้งหลาย ตั้งแต่ชั้นฉกามาพจรตลอดจนพระพรหมที่อยู่ในพรหมโลกสิบหกชั้นว่า การที่พระองค์ประสูติมาในตระกูลกษัตริย์นั้น ก็เพื่อผดุงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน และทะนุบำรุงก่อเกื้อพระศาสนา เหตุใดจึงไม่ช่วยทำให้ท้องฟ้าใสสว่างปราศจากหมอกควัน จะได้มองเห็นข้าศึกในสนามรบให้ชัดกับตาด้วยเถิด พอตรัสจบ ก็เกิดลมครั่นครื้นขึ้นในท้องฟ้า พัดปั่นป่วน หมอกควันที่มืดก็หายไป สว่างไสวจนเห็นสนามรบ

                        สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นข้าศึกขี่ช้างมีฉัตรกั้นทั้ง ๑๖ เชือก แต่ไม่ทันเห็นพระมหาอุปราชา จึงเร่งขับช้างพระที่นั่งตามหาพระมหาอุปราชา

                       ณ เบื้องขวาของพระองค์ ทรงเห็นพญาช้างเชือกหนึ่งกั้นฉัตร มีพลทหารสี่เหล่าเรียงรายอยู่คับคั่ง อยู่ใต้ต้นข่อย ทรงมีพระราชดำริว่าน่าจะเป็นขุนศึกของพม่า เพราะแวดล้อมด้วยรี้พลทหาร และเครื่องอุปโภคพรั่งพร้อมไปหมด

                      พระนเรศวร และพระเอกาทศรถ ขับช้างบ่ายหน้าเข้าพบพระมหาอุปราชาผู้เป็นแขกมาเยือน ข้าศึกยิงปืนกราด กระหน่ำเข้าไป แต่ไม่ระคายถูกต้องพระองค์ กลับแตกตื่นพล่านไปเสียเอง

 

ตอนที่ ๑๐ ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย

                       สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชดำรัสด้วยถ้อยคำที่ไพเราะว่า สมเด็จพระมหาอุปราชาผู้ยิ่งใหญ่ในพม่า มีพระยศแผ่ไปทั่ว ใครได้ยินก็ครั่นคร้ามในความเก่งกาจของพระองค์ ฤทธิ์เดชก็ลือสนั่นไปทั้งสิบทิศ ไม่มีใครกล้าต่อสู้ด้วย เจ้าพี่หยุดพักอยู่ใต้ร่มไม้เช่นนั้นเป็นการไม่ชอบไม่ควร เชิญเจ้าพี่มารบกันด้วยช้างเถิด เพื่อเผยแผ่เกียรติยศไว้ นับแต่นี้เป็นต้นไป การชนช้างเช่นเราทั้งสองคงสิ้นสุดลงจะไม่มีอีกแล้ว การชนช้างคงถึงที่สุดคราวนี้ นับแต่นี้ไปเบื้องหน้า ก็คงไม่พบอีก เรื่องการยุทธหัตถีของเราพี่น้องทั้งสอง เขาคงบันทึกได้ด้วย ตราบฟ้าดินสิ้นไป

                       การชนช้างมีไว้เป็นมหรสพ เพิ่มความสุข ความสงบ เป็นเครื่องสำราญพระทัยของกษัตริย์นักรบมาแต่โบราณ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของมนุษย์ทั้งแผ่นดิน ตลอดจนสวรรค์ชั้นฟ้า ขออัญเชิญเทพยดาในพรหมโลก มาประชุม ณ สถานที่นี้ เพื่อชมการชนช้างที่เราจะกระทำกัน ใครเชียวชาญก็ช่วยอวยชัยส่งเสริมให้ หรือให้เกียรติยศที่เกิดขึ้นกลางสนามรบยืนยงคู่โลก ใครรู้เรื่องของสองกษัตริย์ที่รบกัน ก็คงสรรเสริญทั้งนั้น

                       คำพรรณนาของสมเด็จพระนเรศวร ทำให้พระมหาอุปราชาเกิดขัตติยะมานะขึ้น จึงขับช้างเข้ารบประทะด้วยทันที ช้างทรงของกษัตริย์ทั้งสองเปรียบเหมือนช้างเอราวัณของพระอินทร์ (เปรียบกับช้างของพระนเรศวร) กับช้างคิริเมขล์ของพระยาสวัสดีมาร ที่ขี่มาประจญพระพุทธเจ้า (เปรียบช้างของพระมหาอุปราชา) ต่างเสยงา โถมแทงกันจ้าละหวั่น

                      ช้างทั้งสองฝ่ายต่างเอางามาปะทะกัน สองกษัตริย์ต่างชูด้ามง้าวกลอกกลับไปมาอย่างว่องไวรวดเร็ว ควาญนั้นขับช้างเข้าต่อสู้กันอย่างแข็งขัน สองกษัตริย์แห่งวงศ์อำมายต์อันสูงสุดต่อสู้กันแลดูสง่างาม

                      สมเด็จพระนเรศวรสามารถต้านทานพระมหาอุปราชาไว้ได้ สองพระองค์สู้รบกันอย่างไม่เกรงกัน ยกหัตถ์กวัดแกว่งของ้าวตามทำนองพิชัยยุทธ เป็นภาพที่ช่างงดงามยิ่ง ช้างของพระนเรศวรโถมปะทะไม่ทันตั้งตัว ช้างพระมหาอุปราชาได้ท่าอยู่ด้านล่าง จึงเอางาเสยดันงาช้างพระนเรศวรขึ้นไปจนคางหงาย เป็นโอกาสของพระมหาอุปราชาที่ได้ล่าง จึงฟาดพระแสงง้าวลงมา สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระมาลาหลบ อาวุธจึงไม่ถูกพระองค์

                      ทันในนั้น ช้างทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพ ก็เบี่ยงหัวสะบัดหลุดจากการถูกค้ำ และกลับเป็นฝ่ายได้ล่างบ้าง เข้าเอางางัดคอช้างพลายพัทธกอ ทำให้ต้องเบนหัวหงายแหงนขึ้นจนเสียท่า พระนเรศวรจึงเงื้อพระแสงของ้าวแสนพลพ่ายฟันลงไป ถูกพระอังสาขาดสะพายแล่งค่อนไปทางขวา พระอุระของพระมหาอุปราชาถูกฟันขาดเป็นรอยแยกจากกัน พระวรกายเอนฟุบลงบนคอช้าง เป็นที่น่าสลดสังเวชใจยิ่งนัก พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว ได้เสด็จสถิต ณ แดนสวรรค์ ควาญท้ายช้างพระที่นั่งของพระนเรศวรเสียทีถูกข้าศึกยิงปืนกราดเข้าไปต้องกายเสียชีวิต

                     ฝ่ายพระเอกาทศรถ ก็ทรงชนช้างเข้าต่อสู้กับมางจาชโร ช้างพระเอกาทศรถได้ล่าง งัดงาทั้งสองจนช้างพัชเนียงของมางจางชโรซวนเซหันข้างให้จนเสียที ถูกพระเอกาทศรถฟันคอขาดสิ้นชีวิต ทันใดนั้นกลางช้างของพระองค์ก็สิ้นชีวิตล้มลง เพราะถูกเหล่าข้าศึกยิงปืนใส่ ลูกปืนต้องถูกอกเสียชีวิต

                     หลังจากนั้นไม่นาน กองทัพไทยทั้งหมดก็ตามเสด็จมาทัน ไล่ล้างข้าศึกตายกลาดเกลื่อน ข้าศึกต่างขวัญหนีดีฝ่อด้วยความหวาดกลัวแตกหนีไปหมด

 

ตอนที่ ๑๑ พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร

                      สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระราชโองการให้สร้างสถูปสวมพระศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ สถานที่กระทำยุทธหัตถี ตำบลตระพังตรุ ไว้เป็นอนุสรณ์แผ่นดินสืบไป และโปรดให้เจ้าเมืองมล่วน ควาญช้างของพระมหาอุปราชากลับไปแจ้งข่าวการแพ้สงคราม และการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาแก่พระเจ้าหงสาวดี จากนั้นพระองค์จึงยกทัพกลับคืนกรุงศรีอยุธยา

                      สมเด็จพระนเรศวรทรงปูนบำเหน็จนายทหารที่ตามเสด็จคือ เจ้ารามราฆพ กลางช้างพระนเรศวร และขุนศรีคชคง ควาญช้างพระเอกาทศรถ ทั้งสองได้รับบำเหน็จตอบแทนด้วยเครื่องอุปโภค เครื่องใช้ เงิน ทอง ทาส และเชลยไว้รับใช้ และพระราชทานบำนาญให้แก่ นายมหานุภาพ และหมื่นภักดีศวร ซึ่งเสียชีวิตในการรบ และโปรดพระราชทานยศและทรัพย์สิ่งของ ผ้าสำรดแก่บุตรภรรยา เป็นการตอบแทนความชอบ

                      เมื่อการปูนบำเหน็จแก่ผู้ที่มีความชอบแล้ว ทรงรับสั่งปรึกษาโทษแม่ทัพนายกองตามกฎอัยการศึก ที่ปล่อยให้พระองค์ทรงช้างพระที่นั่งฝ่าเข้าไปอยู่ท่ามกลางข้าศึกตามลำพัง การกระทำเช่นนี้ควรได้รับโทษประการใดจึงจะถูกต้องตามโบราณจารีตประเพณี ลูกขุนเชิญกฎพระอัยการศึกดู เห็นพ้องว่าต้องได้รับโทษถึงขั้นประหารชีวิต แต่เนื่องจากใกล้วันแรม ๑๕ ค่ำ (วันปัณรสี) จึงทรงกราบทูลงดโทษไว้ก่อน โดยกำหนดวันประหารเป็นวันพรุ่งนี้แทน ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ พ้นวันอุโบสถไปแล้ว (ปาฎิบท) ให้เร่งประหารเสีย อย่าบิดพลิ้วเคลื่อนเขตคำดำเนินบทพระอัยการไป

ตอนที่ ๑๒ สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

                    พอถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เวลา ๘ นาฬิกาตรง สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว กับพระสงฆ์ชั้นราชาคณะรวม ๒๕ รูป พากันเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง พระนเรศวรรับสั่งให้นิมนต์เข้าท้องพระโรง สมเด็จพระวันรัตถวายพระพรขึ้นว่า พระมหาบพิตรทรงได้ชัยชนะศัตรู เหตุใดเหล่าราชบริพารจึงต้องโทษด้วย ได้ยินแล้วสงสัยยิ่งนักสมเด็จพระนเรศวรตอบกลับว่า แม่ทัพนายกองทั้งปวงเมื่อเห็นข้าศึกแล้วตกใจหวาดกลัวยิ่งกว่ากลัวพระองค์ ปล่อยให้พระองค์สองพี่น้องสู้รบเดียวดายท่ามกลางข้าศึก เมื่อได้กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะรอดพ้นจากความตายแล้ว จึงทอดพระเนตรเห็นแม่ทัพนายกองเหล่านี้ ถ้าไม่ได้ความดีจากปางก่อนแล้ว ประเทศไทยคงสิ้นอำนาจในคราวนี้ การลงโทษแม่ทัพนายกอง...

หมายเลขบันทึก: 338277เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
นาสาวนูรอีดายู ยามา

เนื้อหาดีแล้วค่ะ

แต่อยากทราบเกี่ยวกับ

การวิจารณ์ทางสังคม

ของเหตุการณ์ทางเมืองมอญค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท