เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓


 

๒๐  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๑๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓ เช้าวันนี้คณะตรวจติดตามผลการปฏิบัติราชการจาก สพฐ.มาตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการไทยเข้มแข็ง sp2 และผลการปฏิบัติราชการตามตัวชี้วัด  ได้จัดแฟ้มเอกสารและการนำเสนอข้อมูลไว้ที่ห้องประชุมชั้น ๓ เชิญท่านรองฯ ผู้อำนวยการกลุ่ม และผู้เกี่ยวข้องช่วยตอบคำถาม  การนำเสนอได้มอบหมายท่านรองฯ มานะ  พุ่มบัว ในส่วนของ SP2  ผมเองต้องขอตัวไปประชุมคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา มีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายพันธ์เทพ  ศรีวนิชย์ เป็นประธานกรรการ  ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการ  กรรมการที่เหลือเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งหรือแต่งตั้งมาใหม่ทั้งสิ้น ตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนครู ทั้งสายประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ผู้แทนคุรุสภาและ ก.ค.ศ.  ที่ประชุมใช้เวลาตีความกฎหมายให้ถูกต้องตรงกันจากนั้นจัดลำดับผู้สมัครทั้ง ๖ ราย ตามประสบการณ์และคุณสมบัติ เสนอเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ  เลิกประชุมกลับขึ้นไปทำงานเอกสารที่ห้องจนเที่ยง ลงไปทานข้าวกับคณะผู้ตรวจฯจาก สพฐ. ที่สโมสร แล้วเดินทางไปโรงแรมริเวอร์ไซด์พลาซ่า เชิงสะพานกรุงธน  เพื่อประชุมคณะทำงานจัดทำหลักสูตรพัฒนาเครือข่ายส่งเสริมการรักษาวินัยและนิติการ ที่ สพฐ. แต่งตั้ง  หัวเรือใหญ่ของโครงการนี้คือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต ๑ คุณทวีพล  แพเรือง ท่านได้แบ่งภารกิจที่รับผิดชอบในการพัฒนาบุคลากรด้านบริหารงานบุคคลของ สพฐ. ออกเป็น ๔ ทีม ให้ผมรับผิดชอบทำโครงการจัดตั้งเครือข่ายและพัฒนานักกฎหมายทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือ สพฐ.  สพท. และโรงเรียน ในการส่งเสริมวินัยและงานกฎหมายทั้งหลาย  ถึงห้องประชุมภาคบ่ายคณะทำงานได้แจ้งให้ทราบว่า ในภาคเช้าได้หารือกันได้ข้อยุติในเรื่องเนื้อหาของคู่มือที่จะใช้ในการอบรม ให้ผมดูอีกครั้งก็เห็นว่าครอบคลุมภารกิจแล้ว  จึงแบ่งงานกันไปเขียน ไม่สามารถนั่งเขียนในห้องประชุมได้ เพราะต้องมีสมาธิและตำราศึกษาค้นคว้า  รวมทั้งพรุ่งนี้อีกวันก็แยกกันเขียนเช่นกัน 

วันอังคารที่  ๑๖  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓ เช้าเข้าไปโรงแรมริเวอร์ไซด์แล้วเลยไปร้านหนังสือของสำนักอบรมกฎหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภา  ทางไปบางแค หาซื้อหนังสือเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีทางปกครอง อาญา แพ่ง และวินัยข้าราชการ  กลับไปสำนักงานเขตนั่งเขียนคู่มือตามหัวข้อที่แบ่งมาคือคำนำและบทสรุป  การเขียนบทนำเป็นเรื่องสำคัญและยาก ผู้สันทัดกรณีได้แนะนำไว้ว่า การเขียนบทนำ   คือ ส่วนแนะนำและปูพื้นเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่า  เรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องใด สำคัญอย่างไร  ตอบคำถามว่าเราทำเรื่องนี้ทำไม    เริ่มต้น   ภายใน 5 ประโยคแรกให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของปัญหา แล้วชี้แจงให้เห็นว่า หากเราแก้ปัญหานี้ได้มันจะทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆ อย่างไร ตรงนี้เรียกว่าโผล่หัวเข้าประตูมาก็ถูกยัดด้วยข้อมูลที่มี impact สูง หากสามารถทำให้เหมือนเปิดสวิทซ์ไฟแล้วเข้าไปวาบสว่างภายในความคิดได้ยิ่งดี มันเป็นการใช้ "ความสำคัญ" ของเรื่องไปกระตุ้นต่อมความสนใจของคนอ่าน  ตอนต่อไปก็เป็น literature review มันต่างกับใน proposal   ใช้ literature review แสดงให้เห็นว่าเรา "ไม่มีวิธีหาความสำเร็จด้วยวิธีอื่นอีกแล้วนอกจากทำคู่มือเล่มนี้"  สรุปให้ได้ความทำนองว่า ดังนั้นเราจึงจัดทำคู่มือเรื่องนี้ ซึ่งผู้อ่านจะได้อ่านต่อไป ตรงนี้ไม่เกิน ๒ ประโยค เมื่อได้ทำการค้นคว้าทดลองแล้วได้ประโยชน์  เป็นหลักการที่ดูง่าย แต่การสังเคราะห์ข้อความออกมาค่อนข้างยาก   ความคิดรวบยอดของตัวบทกฎหมาย กระบวนการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคดีทางปกครอง  ทางอาญา หรือทางแพ่ง  สิ่งที่มุ่งหวังให้เกิดคือ  “ความยุติธรรม”  เมื่อค้นพบหัวใจของงาน จึงสามารถเขียนร้อยเรียงตัวอักษรได้ตามใจปรารถนา  อยู่ที่ห้องทำงานจนเย็นจึงได้กลับไปทำงานต่อที่บ้าน  นอนเที่ยงคืน ตื่นตี ๔ เพื่อเร่งงาน แต่ก็ไม่สำเร็จลงไปได้ เพราะบทสรุปต้องรอสมาชิกว่าเขาเขียนอย่างไร จะสรุปไปล่วงหน้าเป็นการเสียธรรมเนียม

วันพุธที่ ๑๗  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓  เช้าไปโรงแรมริเวอร์ไซด์พลาซ่า เข้าห้องประชุมมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของกลุ่มย่อย ให้สมาชิกวิพากษ์วิจารณ์กัน มี ผอ.สพร. ดร.พิษณุ  ตุลสุข มานั่งฟังด้วยในฐานะเจ้าของงบประมาณ กำหนดเดิมจะให้เสร็จก่อนเที่ยง พอนำเสนอจริงต้องต่อภาคบ่ายไปจนเย็น จึงนัดหมายพบกันนอกรอบที่ สพฐ. ในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง  ท่านรองฯอนุพงษ์  หมวดเมือง จาก สพท.ร้อยเอ็ด เขต ๒ มาหาเพื่อปรับทุกข์เกี่ยวกับคดีความครั้งรักษาราชการ ผอ.สพท. ที่จังหวัดกาฬสินธุ์  ในฐานะคนคุ้นเคยและอยู่สายงานศึกษาธิการมาก่อน  เติมกำลังใจให้ไปเสาะแสวงหาความจริงและความดีเข้าสู้กับปัญหาอุปสรรคทั้งหลาย  เพชรย่อมเป็นเพชร เกลือย่อมเป็นเกลือ  ดูสบายใจขึ้นก่อนแยกย้ายกันกลับที่พัก

 
 
 

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓ เช้ามีประชุมผู้บริหารโรงเรียนประจำเดือนกุมภาพันธ์ที่ห้องประชุมชั้น ๓  มีเรื่องแจ้งเพื่อทราบ  จากกลุ่มงานต่าง ๆ หลายเรื่อง ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน  เน้นย้ำเรื่องการพิจารณาความดีความชอบ ต้องทำให้ถูกขั้นตอนและเป็นธรรม  ความดีความชอบเป็นเครื่องมือการบริหารที่มุ่งสร้างกำลังใจให้บุคลากร อย่าทำให้เป็นตัวบั่นทอนกำลังใจ  เรื่องการข่าวก็สำคัญนักเรียนทะเลาะกันต้องรายงานทันทีทางโทรศัพท์  บ่ายเดินทางเข้า สพฐ. พร้อม ผอ.สำเริง  ทองมอญ  โรงเรียนคลองบ้านพร้าว เพื่อประชุมแก้ปัญหาการรับนักเรียน ที่ห้องประชุม สพฐ. ๕ ชั้น ๙  มี ดร.ชินภัทร  ภูมิรัตนเลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานการประชุม  เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาสใน สพท. ปทุมธานี เขต ๑ ได้ยืนหนังสือผ่านคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาให้ สพฐ. ทบทวนนโยบายการรับนักเรียนชั้น ม.๔  ปีการศึกษา ๒๕๕๓ จนทำให้นักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาสหมดโอกาสเข้าสอบคัดเลือกในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่นักเรียน ม.ต้นมากกว่า ม.ปลาย เพราะนโยบายกำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียนชั้น ม.๓ ของตัวเองก่อน  ที่ประชุมประกอบประกอบด้วย ผอ.สพท. กทม. ๓ เขต และปทุมธานี ๑  นอกนั้นเป็นผู้บริหารโรงเรียนยอดนิยมอีก ประมาณ ๑๐ คน  ท่านเลขาธิการ กพฐ. จะใช้ช่องทางให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษากำหนดให้โรงเรียนเปิดรับนักเรียนทั่วไปในส่วนที่เกินจาก ๔๐ คนต่อห้อง  รายละเอียดต้องรอหนังสือสั่งการอีกครั้งหนึ่ง  ได้นำปัญหาของพื้นที่สู่ผู้มีอำนาจตัดสินใจแล้วก็ต้องทำใจอุเบกขา สั่งการอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น เพราะเราเป็นข้าราชการ มีกฎปฏิบัติ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งผู้บังคับบัญชาถูกเสมอ ข้อสอง ถ้าสงสัยให้ดูข้อหนึ่ง  กลับเข้าสำนักงานเขตไม่ได้ขึ้นทำงานเอกสาร  เรื่องด่วนทั้งหลายเขายกแฟ้มมาให้ลงชื่อกันที่สโมสร  เวลา ๑๗.๐๐ น. เดินทางไปเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพบิดาของคุณนิตย์รดี อิศรางกูร ณ อยุธยา ข้าราชการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ห้วยขวาง มีเพื่อนข้าราชการในเขตไปร่วมงานประมาณ ๓๐ คน ประมาณ ๓ ทุ่มเดินทางกลับ ถึงที่พักเกือบ ๕ ทุ่ม  

วันศุกร์ที่  ๑๙  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓ เช้าไปเปิดตลาดนัดทางวิชาการของโรงเรียนวัดบางนางบุญ  เลยแยกบางคูวัดไปประมาณ ๑ กิโลเมตร  เป็นการแสดงผลงานและกิจกรรมประจำปีของนักเรียนให้ผู้ปกครองและสาธารณชนได้ชื่นชมผลงาน   นายกฤษฎา  กูรมะสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนเล่าให้ฟังว่าทั้งวัดและชุมชนให้ความร่วมมือกับโรงเรียนดีมาก   โรงเรียนก็ให้บริการด้านสนามกีฬาแก่เยาวชน มีไฟฟ้าส่องสนามยามค่ำคืน หลังพิธีเปิดชมการแสดง ๒ ชุด  เดินชมนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ แบบรีบ ๆ ก็ต้องลากลับ  ถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเข้าห้องประชุมเล็ก ชั้น ๒ เพื่อประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา อาจจะเป็นนัดสุดท้ายของชุดนี้  เป็นเรื่องการอนุมัติ/ไม่อนุมัติการตรวจผลงานทางวิชาการ เพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครู  การอนุมัติให้ครูย้ายไปต่างเขตพื้นที่ตามคำร้องขอย้ายงวดวันที่ ๑-๑๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  นอกนั้นเป็นเรื่องเก็บตกเล็ก ๆ น้อยด้านบริหารงานบุคคล  เที่ยงไปทานข้าวที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี ในฐานะที่ปรึกษา ได้ชวนประธาน อ.ก.ค.ศ. เขต คุณเนาวรัตน์ สวัสดี และ ดร.สุรชาติ  สังข์รุ่ง ไปด้วย  บ่ายกลับมาทำงานแฟ้มเอกสารซึ่งสะสมไว้จนล้นโต๊ะกว่าจะเสร็จหมดเวลาทำการพอดี เดิมตั้งใจจะไปร่วมงานของโรงเรียนประถมธรรมศาสตร์ ของท่าน ผอ.ดร.นารี  คูหาเรืองรอง แต่มีงานสำคัญเข้ามาแทรกที่ต้องติดต่อกับ ผู้ใหญ่ในสพฐ. เรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ จึงงดงานโรงเรียนเพราะเห็นไม่เสียหายเนื่องจากไม่ได้มีส่วนในพิธีการของงานนี้ เขาเชิญไปเป็นเกียรติ  หัวค่ำได้ขอคำแนะนำจากท่านรองเลขาธิการ กพฐ.  ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์  ในการเดินทางไปต่างประเทศจนเกิดความสว่างไสวในหนทางขึ้นมาก วันจันทร์คงดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ   

                นิทานสอนใจจากอินเดีย นายรามซิงค์ เป็นเด็กหนุ่มที่เกิดในเมืองเดลลีแต่ย้ายไปอยู่ในชนบท วันหนึ่งไปซื้อแพะจากชาวนาในราคา 1000 รูปี(๑ รูปีราคาประมาณ ๘๐ สตางค์) ซึ่งชาวนายินดีที่จะส่งมอบแพะในวันรุ่งขึ้นพอวันรุ่งขึ้น ชาวนาก็ไปหานายรามซิงค์แล้วบอกว่า  'มีข่าวร้ายครับเพราะแพะเพิ่งตายไปเมื่อคืนที่แล้วเอง'   รามซิงค์ ก็บอกว่า 'ไม่เป็นไร ถ้าเช่นนั้นคืนเงินให้ผมก็แล้วกัน'  ชาวนาบอกว่า 'โอ เสียใจด้วยจริงๆ แต่ฉันใช้เงินนั่นหมดไปแล้ว' พร้อมทำสีหน้าเศร้าๆ   รามซิงค์บอกว่า 'ไม่เป็นไร ถ้างั้นเอาแพะตัวนั้นมาให้ฉัน'   ชาวนาถามว่า 'คุณจะเอาแพะตายไปทำอะไร' ด้วยความฉงนรามซิงค์บอกว่า  'ฉันจะเอาไปจับฉลากขาย'   ชาวนาแย้งว่า 'จะไปจับฉลากแพะที่ตายได้อย่างไร ใครจะไปซื้อ'   รามซิงค์บอกว่า  'ได้ซิ คอยดูกัน'   จากนั้นชาวนาก็มอบแพะที่ตายให้ นายรามซิงค์ไป   หนึ่งเดือนผ่านไป......ชาวนาพบกับรามซิงค์จึงถามว่าตกลงเอาแพะที่ตายไปทำอะไร รามซิงค์เล่าว่า  'ฉันก็ทำฉลาก 500 ใบ ขายใบละ 10 รูปี แล้วบอกว่าใครดวงดีจับฉลากได้ก็ได้แพะไปเลย 1 ตัว  ฉันได้เงินมา 5000 รูปี ได้กำไรหลังจากหักที่จ่ายให้ลุงชาวนาไปแล้ว 3990 รูปี' ชาวนาถามว่า  'แล้วไม่มีคนโวยวายหรือ(เพราะแพะตายแล้ว)'   รามซิงค์ตอบว่า  'ก็มี มีคนเดียวคือคนที่จับฉลากได้ และฉันก็แค่คืนเงินค่าฉลากจำนวน 10 รูปีให้คนๆนั้นไป' ในเรื่องบอกว่า นายรามซิงค์ต่อมาเติบโตและเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมาก.....เรื่องราวแบบนี้เป็นสิ่งที่คนอินเดียสอนกัน........ที่สำคัญก็คือการแก้ไขปัญหาและแก้ไขสถานการณ์ที่เผชิญหน้าหรือคิดคำตอบโจทย์ที่ยากๆ ซึ่งคนอินเดียจะเก่งในเรื่องแบบนี้มาก

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 338272เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ความดีความชอบเป็นเครื่องมือการบริหารที่มุ่งสร้างกำลังใจให้บุคลากร อย่าทำให้เป็นตัวบั่นทอนกำลังใจ

"เราเป็นข้าราชการ มีกฎปฏิบัติ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งผู้บังคับบัญชาถูกเสมอ ข้อสอง ถ้าสงสัยให้ดูข้อหนึ่ง"

จะพยายามทำใจเป็นอุเบกขาเหมือนท่าน

ติดตามอ่านข่าวสารของผอ.เขตมาตลอด มีบ้างที่ขาดหาย

ขอชื่นชมที่มีบันทึกเล็กๆให้พวกเราครูตัวเล็กได้รับรู้ในการทำงานของท่าน

เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยPromoteการทำงาน ด้วยการลงทุนที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก

ฝากดูแลโรงเรียนเล็กๆด้วย

ขวัญกำลังใจจากท่านจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าไม่ถูกมองข้าม

ขอแทรกค่ะ คห5 คิดว่า การจินตนาการมันจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของงานหรือคะ

ความซาบซึ้งจะเกิดกับงานได้ น่าจะเกิดจากการยอมรับของคนในสังคมมากกว่ามังคะ

ความสุขของครู ณ ขณะนี้ คิดว่าน่าจะเกิดจากผลการสอบ o net ของนักเรียนค่ะ

ตอนที่ ผอ.โรงเรียนนำผลจากเขต มาบอกว่า กลุ่มสาระใดคะแนนอัพ หรือ ดาว์น

มันแย่มาก หากมันดาว์นลงกว่าเดิม และมีการtest คุณครูผ้สอน เว๋ยสุดๆๆๆ

อัจฉริยะมากค่ะนายรามซิงค์..นิทราสนุกมากมาย...ด้วยความเคารพ

เรียนท่านผอ.เขต

เดือนมีนาคม53 มีเรียกบรรจุไหมครับ

"สิ่งที่จะทำให้เราซาบซึ้งงานที่เราทำอยู่ได้ดีที่สุดก็คือการจินตนาการว่า
จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีงานนั้นทำ"

 

ผู้รอคอยที่ขึ้นบัญชีไว้

นิทานของท่านสนุกมากค่ะ ถ้ามีเวลาก็จะมาอ่านเป็นประจำ อยากให้ท่านเรียกบรรจุเอกประถมศึกษาเยอะเหมือนเอกอื่นจังเลยค่ะ

เผื่อจะได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านบ้าง

ขอบพระคุณท่านผอ.เขตที่ให้เขตอื่นมาใช้บัญชีมากขนาดนี้

บัญชีที่มาขอใช้ คงเป็นความสามารถของท่าน กำจัดแน่ ๆ ดิฉันนับถือในการทำงานท่านจริง ที่อยากให้ครูในบัญชีเขตของท่านได้ทำงานเป็นครูน้อยกับเขาที่ตั้งตารอคอย พ่อแม่ก็จะได้ชิ่นใจซะที ท่านเป็นผู้ที่มีไฟจริง ดูจากเรื่องเล่าของท่านอ่านแล้วทำให้เรานี้ทำงานน้อยมากเลย สระแก้ว ปราจีนบุรี ด้านโน้นเขาบรรจุเอกประถมเยอะมาก แต่ก็แล้วแต่พื้นที่ใหนจะขอมานะท่าน น้องที่บรรจุเอกประถมได้ลำดับที่ 103 ยังดีใจกับน้องเขาเลยนะเนี่ย พูดมากไปหน่อยขอโทษด้วย เรื่องของเรื่องอยากให้พิจารณาเอกประถมหน่อยนะท่านครับ ขอยคุณล่วงหน้า...

คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ
สุขสันต์วันหยุดน่ะค่ะท่าน ผอ. สบายดีมั้ยค่ะ..เมื่อไหร่จะย้ายกลับปักษ์ใต้บ้านเราค่ะ..

คห.6 อยู่โรงเรียนไหน โรงเรียนนั้น ดาวน์แน่ ๆ เพราะครูยังอ่านภาษาไทยไม่แตกเลย..ฮ่า ๆๆๆ

ค่ะ เห็นด้วยกับท่านที่แขกเขาเก่งค่ะ

55555++++ คบเด็กสร้างบ้านไงล่ะท่าน ตอบ คห.14

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท