บันทึกนักอ่าน(๒๐) ปลุกความเป็นเด็กในตัวคุณเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์


ความเป็นเด็ก

บันทึกนักอ่าน(๒๐) ปลุกความเป็นเด็กในตัวคุณเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

            ....โบดแลร์ นักเขียนชาวฝรั่งเศส เปรียบเทียบความอัจฉริยะว่า คือความสามารถในการนำความเป็นเด็กกลับมาทุกเมื่อตามที่ใจปรารถนา

            สิ่งที่เขาหมายความถึงก็คือ ถ้าหากคุณสามารถย้อนกลับไปหาสิ่งที่น่าอัศจรรย์ในวัยเด็กได้  คุณก็จะได้รับรู้ความเป็นอัจฉริยะในตัวคุณ

            เขาพูดถูกครับ เพราะความเป็นเด็กในตัวคุณต่างหากที่มีความคิดสร้างสรรค์...ไม่ใช่ความเป็นผู้ใหญ่

            ความเป็นผู้ใหญ่ในตัวคุณจะรอบคอบสุดชีวิต และมองซ้ายมองขวาก่อนจะข้ามถนน  แต่ความเป็นเด็กในตัวคุณ จะวิ่งเล่นกลางถนนด้วยเท้าเปล่า

            ...ผู้ใหญ่จะคิดมากและมีแผลเป็นในอดีตมากเกินไป อีกทั้งยังถูกจองจำด้วยความรู้ท่วมหัว ข้อจำกัด  กฏเกณฑ์ ข้อสรุปและอคติมากมาย

            หรือสรุปง่าย ๆ ได้ว่า  ผู้ใหญ่คือคนโง่ คนโง่ที่ถูกใส่กุญแจมือ

            เด็กจะมีความบริสุทธิ์และเป็นอิสระ ไม่รู้ว่าสิ่งใดที่ตัวเองทำไม่ได้หรือไม่ควรทำ  เด็กมองโลกอย่างที่เห็น ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่ถูกสอนให้เชื่อว่าโลกเป็นอย่างที่ควรจะเป็น

            “ศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์ก็ไม่ต่างกัน” แกรี  ซูคาฟ เขียนไว้ในหนังสือ The Dancing Wu Li Master ว่า “คนที่ได้สัมผัสถึงความน่าตื่นเต้นของกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์อยู่บ่อยครั้ง คือคนที่สามารถปลดปล่อยโซ่ตรวนของสิ่งที่รู้และท่องไปในดินแดนที่ไม่เคยมีใครย่างกรายมาก่อน..ซึ่งอยู่เบื้องหลังกำแพงของสิ่งที่รู้อย่างชัดแจ้งแล้ว  คนประเภทนี้จะมีจุดเด่นสองอย่าง  อย่างแรก คือความสามารถแบบเดียวกับเด็กที่สามารถมองโลกอย่างที่เห็น ไม่ใช่อย่างที่เคยรู้มา”

   ซูคาฟ ยังกล่าวอีกด้วยว่า “ความเป็นเด็กในตัวเรามีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ในมุมมองที่เรียบง่ายอยู่เสมอ” 

    “ถ้าหากคุณอยากมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น” ฌอง เพียเจท์  นักจิตวิทยาชื่อดังเขียนเอาไว้ว่า “จงรักษาความเป็นเด็กเอาไว้  เราทุกคนเคยเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ในวัยเด็ก  ซึ่งเกือบทั้งหมดถูกทำลายลงเมื่อเข้าสู่สังคมของผู้ใหญ่”

            เช่นเดียวกับ วิล  ดูรานท์ “...เด็กรู้ความจริงเกี่ยวกับจักรวาลมากพอ ๆ กับตอนที่ไอน์สไตน์คิดสูตรขั้นสุดท้ายได้สำเร็จ”

            คำกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับคำพูดของไอน์สไตน์  “บางครั้งผมก็ถามตัวเองว่า มันเป็นไปได้อย่างไรที่ผมกลายเป็นคนคิดทฤษฎีสัมพันธภาพขึ้นมา  ผมคิดว่าเหตุผลก็คือ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใหญ่ไม่เคยนึกถึงเวลาและระยะทางเลย  พวกเขานึกถึงสิ่งเหล่านี้ตอนที่ยังเป็นเด็กเท่านั้น  แต่เนื่องจากผมเป็นคนหัวช้า  ผมจึงเริ่มสงสัยเรื่องเวลาและระยะทางเมื่อผมโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว”

            ผู้ใหญ่มักจะทำในสิ่งที่ตัวเองหรือคนอื่นเคยทำมาก่อน

            แต่สำหรับเด็ก ๆ มันไม่มีครั้งก่อนหน้า ทุก ๆ ครั้ง คือครั้งแรกสำหรับพวกเขา  เพราะฉะนั้น เมื่อพวกเขาออกค้นหาไอเดียใหม่ ๆ  พวกเขาจึงออกไปในดินแดนที่ยังไม่มีใครเคยเข้าไปถึง  ดินแดนที่ปราศจากกฏเกณฑ์  ดินแดนที่ปราศจากพรมแดน รั้ว กำแพง หรือขอบเขต ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหวังและโอกาส

...เด็ก ๆ ไม่เคยมีความคิดที่ปิดกั้น  เพราะพวกเขาไม่เคยรู้เรื่องในอดีต  พวกเขารู้แต่เพียงเรื่องในปัจจุบัน  เพราะฉะนั้น เมื่อต้องหาทางแก้ปัญหา พวกเขาจึงมองเห็นสิ่งแปลกใหม่ทุกครั้งไป

            พวกเขาฝืนกฎ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ามีกฎอยู่  พวกเขาทำเรื่องแปลก ๆ ที่ทำให้พ่อแม่ปวดหัว  ไม่ว่าจะเป็นลุกขึ้นยืนบนเรือพายแล้วเขย่าเรือไปมา  ตะโกนเสียงดังในโบสถ์ จุดไม้ขีดไฟเล่น  หรือทุบเปียโนด้วยกำปั้น

            พวกเขามักจะมองเห็นความเกี่ยวพันของสิ่งต่าง ๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวกันได้เลย  พวกเขาระบายสีต้นไม้เป็นสีส้ม  ต้นหญ้าเป็นสีม่วง แล้วก็วาดรถดับเพลิงห้อยลงมาจากก้อนเมฆ

            พวกเขาศึกษาสิ่งของธรรมดา ๆ ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นใบหญ้า  ช้อน  ใบหน้า และรู้สึกสงสัยในสิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่แทบไม่เคยให้ความสนใจเลย

            พวกเขาชอบถาม  ถาม  แล้วก็ถาม

            “เด็กเกิดมาเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์” คาร์ล  เชแกน กล่าว “ อย่างแรกเลยก็คือ พวกเขาถามคำถามทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง  ทำไมพระจันทร์ถึงกลม?  ทำไมท้องฟ้าจึงเป็นสีฟ้า? ทำไมเราต้องมีนิ้วเท้าด้วย?  วันเกิดของโลกคือวันที่เท่าไหร่?  แต่พอเข้าเรียนชั้นมัธยม  พวกเขาก็แทบไม่เคยถามคำถามแบบนั้นอีกเลย”

            “เด็ก ๆ เข้าโรงเรียนด้วยเครื่องหมายคำถามมากมาย  แต่กลับจบออกไปด้วยเครื่องหมายมหัพภาค(.)“  นีล  โพสท์แมน ก็เห็นตรงกัน

            ลองทำตัวเป็นเครื่องหมายคำถามอีกสักครั้งสิครับ

    เวลามองเห็นอะไรก็ตาม ลองถามตัวเองว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าหากคุณไม่ได้คำตอบที่ฟังดูสมเหตุสมผล  มันอาจเป็นโอกาสในการพัฒนาต่อไปได้...

                   จาก  หนังสือคู่มือกระตุ้นความคิดให้ผลิตไอเดีย  How  To Get Ideas โดย JACK FOSTER

หมายเลขบันทึก: 336824เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 20:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับครู กานต์ ที่กล่าวมายังไม่ได้อ่านสักเล่มครับ

ขอบคุณที่นำความรู้ในวรรณกรรมมาให้อ่านครับ

ขอบคุณ ท่านผู้เฒ่าครับ ที่แวะมาอ่าน

แต่ขออภัยนะ ครับ

วอญ่า หมายถึงอะไรหรือครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท