“จินตกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์”


นี่เองคือ ช่วงชีวิตหนึ่งของกวีเอกแห่งแผ่นดินไทย ผู้ที่เลื่องชื่อลือนาม และยังตราตรึงอยู่ในหัวใจของคนไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน และผู้เขียนก็หวังว่า จะไม่มีใครลืมเลือนผลงานที่ท่านได้ฝากเอาไว้ รวมทั้งช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้สืบต่อกันไปตราบนานเท่านาน

                บทเพลงที่ขับขานกันอยู่ในยุคปัจจุบัน สร้างความเพลิดเพลินให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ดังเช่น คำโบราณที่ว่า “คนใดไม่มีดนตรีกาล คนนั้นเป็นคนชอบกลนัก” จึงแสดงให้เห็นว่า บทเพลงหรือท่วงทำนองต่างๆ มีมาตั้งแต่ยุคอดีตกาลนานมาแล้ว อาจจะต่างกันก็แต่เพียงเครื่องดนตรีที่มีวิวัฒนาการพัฒนากันไปเรื่อยๆ

                บทกวี กาพย์ โคลง กลอน นิราศเมืองต่างๆ ฯลฯ หลายๆ ท่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันมีแต่บทเพลงลูกกรุง, ลูกทุ่ง, สตริง, แร๊ปโย่, ร๊อค และอื่นๆ อีกมากมาย จนทำให้เราอาจจะลืมเลือนความเป็นไทยไปบ้าง …บทกวีและคำกลอนเหล่านี้ในสมัยอดีต ก็ขับกล่อมกันเหมือนกับบทเพลงในปัจจุบัน สร้างความเพลิดเพลินได้ไม่แพ้กันเลย

                คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาผู้นี้ท่านเป็นกวีเอกอยู่นานถึง 4 รัชกาล ท่านมีความสามารถในการแต่งกลอน ซึ่งกลอนที่ท่านได้แต่งไว้เป็นครั้งแรกมีชื่อว่า “นิราศเมืองแกลง” ผลงานชิ้นเอกของท่านคือการเอานิยายมาเขียนเป็นกลอนเป็นคนแรก เช่นเรื่อง โคบุตร และเรื่องพระอภัยมณี และท่านยังเป็นกวีผู้เริ่มในกลอน ทั้งสัมผัสใน และสัมผัสอักษร ทำให้กลอนมีความไพเราะ เป็นพิเศษแทบทุกเรื่อง …เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้หลายๆ ท่านคงร้องอ๋อแล้วใช้มั้ยค่ะ ท่านผู้นี้ก็คือ พระสุนทรโวหาร หรือ สุนทรภู่ นั่นเอง ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกท่านจะต้องรู้จัก ท่านสุนทรภู่ แต่อาจจะไม่รู้ถึงประวัติความเป็นมาของท่านกันสักเท่า ไหร่ ลองมาศึกษาประวัติของท่านกันดีกว่าค่ะ

                “สุนทรภู่” เป็นกวีเอกชาวเมืองแกลง จังหวัดระยอง เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 บิดาเป็นชาวเมืองแกลง ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองใดไม่ปรากฏ เมื่ออายุได้ 2 ขวบ พ่อกับแม่ก็ได้หย่าร้างกัน พ่อได้เดินทางไปบวชเป็นพระที่เมืองแกลง ส่วนตัวสุนทรภู่เองก็ได้ตามไปอยู่กับแม่ที่เข้าไปเป็นแม่นมในวังหลัง …ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม ได้ศึกษาเล่าเรียนที่วัดชีประขาว หรือวัดศรีสุดารามในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากถนนจรัลสนิทวงศ์ เมื่อโตขึ้นก็ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ จนมีชื่อเสียงในการแต่งกลอน

                  แต่ด้วยเหตุของความคึกคะนองในวัยหนุ่ม ท่านแอบไปลักลอบได้เสียกับหญิงชาววังที่มีชื่อว่า “จัน” จึงทำให้ไม่เป็นที่พอพระทัยและถูกลงโทษทั้งสองคน หลังจากพ้นโทษสุนทรภู่และนางจันจึงเดินทางไปเยี่ยมพ่อที่เมืองแกลง เนื่องจากท่านมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว จึงเริ่มแต่งกลอน เรียกว่า " นิราศเมืองแกลง " ขึ้นเป็นเรื่องแรก เมื่อปี พ.ศ. 2350 ต่อมาก็ได้แต่งงานกับนางจัน แต่กินอยู่กันได้ไม่นาน เพราะสุนทรภู่เป็นคนชอบดื่มเหล้าและเจ้าชู้ นางจันจึงทิ้งไป หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็มีเมียอีกหลายคน แต่ละคนอยู่ด้วยกันไม่นานนักก็เลิกรากันไป เมียคนที่สุนทรภู่รักมากที่สุดคือนางจัน

                เมื่อครั้งที่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปที่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ก็ได้แต่งนิราศพระบาทขึ้นอีกเรื่องนับเป็นกลอนเรื่องที่ 2 ในปลายสมัยรัชกาลที่ 1

                ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในช่วง พ.ศ. 2352 พระองค์โปรดปรานในตัวสุนทรภู่มาก จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร" อยู่ในกรมพระอาลักษณ์ จนกระทั่งสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคตในปี พ.ศ. 2367

                ชีวิตของสุนทรภู่นั้นรุ่งโรจน์มากในรัชกาลที่ 2 ครั้นเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระโอรสองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 2 ได้ขึ้นเสวยราชย์ ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือรัชกาลที่ 3 ใน พ.ศ. 2367 ก็เกิดเหตุการที่ไม่คาดคิดขึ้น เพราะสุนทรภู่ได้กระทำผิดอย่างรุนแรงไปแก้บทพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำต่อหน้าพระที่นั่ง พระองค์ทรงอับอายข้าราชบริพาร จึงรับสั่งให้ถอดยศถาบรรดาศักดิ์เสีย และให้กลับเป็นนามสุนทรภู่ตามเดิม ท่านจึงออกบวชที่วัดราชบูรณ์ในปี พ.ศ. 2367 และได้ไปธุดงค์ในหลายๆ แห่ง ในขณะที่บวชอยู่นั้นได้เดินทางไปจังหวัดอยุธยาและเมื่อไปถึงสุพรรณบุรีได้แต่งนิราศไว้อีก 3-4 เรื่อง มีนิราศภูเขาทอง โคลงนิราศ จนในที่สุดต้องสึกออกมาทำเรือขายของ

                ต่อมาพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงหนังสือเรื่อง พระอภัยมณี ที่สุนทรภู่แต่งไว้ โปรดสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อถวายอีก และพระองค์ก็ทรงเกื้อหนุนสุนทรภู่ และนับเป็นความโชคดีของท่านอีกครั้ง เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระเจ้าน้องยาเธอของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ทรงเกื้อหนุนสุนทรภู่ด้วยอีกผู้หนึ่งประมาณ พ.ศ. 2394 ครั้งเมื่อสุนทรภู่ได้ตามเสด็จพระปิ่นเกล้าไปนมัสการพระปฐมเจดีย์เมืองนครปฐมสุนทรภู่จึงได้แต่งนิราศพระปฐมขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง และต่อมาถูกรับสั่งให้ไปหาสิ่งของที่เมืองเพชรบุรี สุนทรภู่จึงแต่งนิราศเมืองเพชรบุรีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่

                "พระสุนทรโวหาร" หรือ “สุนทรภู่” ที่ ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ท่านมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์บ้างสุขบ้างคละเคล้ากันไปนานถึงเกือบ 70 ปี ก็จบชีวิตการเป็นกวี 4 รัชกาลลง เมื่อ พ.ศ.2398

                  และนี่เองคือช่วงชีวิตหนึ่งของกวีเอกแห่งแผ่นดินไทย ผู้ที่เลื่องชื่อลือนาม และยังตราตรึงอยู่ในหัวใจของคนไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน และผู้เขียนก็หวังว่า จะไม่มีใครลืมเลือนผลงานที่ท่านได้ฝากเอาไว้ รวมทั้งช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ให้ลูกหลานของเราได้เรียนรู้สืบต่อกันไปตราบนานเท่านาน

 

 

 

ข้อมูลจาก : http://www.prachuabwit.ac.th/2541/sampan/logo441.htm

หมายเลขบันทึก: 336822เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท