ต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้าน (๒) : ว่าด้วยความสุขของนิสิต เจ้าหน้าที่และชาวบ้าน


ยิ่งนิสิตที่แสดงบนเวทีเป็นลูกฮักของชาวบ้าน ยิ่งพลอยให้ชีวิตของชาวบ้านถูกห่มคลุมไปด้วยความสุขล้วน ๆ และความสุขที่ว่านั้น ก็เป็นเครื่องกันหนาวได้อย่างดียิ่ง

มันเป็นเรื่องของความสุข  ความสุขที่ว่านั้น เป็นความสุขที่ถือเป็นตัวประเมินหลักที่ผมปรารถนาที่จะเห็นจากการเป็นผู้รับและผู้ให้ของนิสิต เจ้าหน้าที่และชาวบ้าน  แต่เบื้องต้นนี้  ขอสาธยายไปเรื่อยๆ ในแบบฉบับของผมเองก็แล้วกัน

 

(๑)
การหวนกลับไปเยือนหมู่บ้านตามแนวคิด “ต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้าน”  ดูเหมือนจะได้รับความสนใจไม่ใช่ย่อยจากนิสิตในมหาวิทยาลัย  สังเกตได้จากการที่เหล่าบรรดานิสิตลูกฮัก และนิสิตจิตอาสา หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ต่างก็ผนึกแรงใจ “บอกบุญ”  ในเวลาอันจำกัดต่อมิ่งมิตรในมหาวิทยาลัย  ซึ่งก็ปรากฏว่า มีคนร่วมเทใจสมทบทุนกับโครงการนี้พอสมควร  ถึงแม้เงินทองที่ได้มาจะไม่มากมายนัก  แต่ก็เพียงพอต่อการได้ใช้เป็นค่ารถค่าเดินทาง  ค่าอาหารและค่าสิ่งของเครื่องใช้เป็น “ของฝากของต้อน”  อย่างไม่เคอะเขินเลยก็ว่าได้

 

 

 

(๒)
ก่อนเที่ยงของวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๓  ชาวบ้านและนิสิตต่างเร่งรีบสู่ภารกิจการทาสีและเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อย ๆ ของ “ศาลปู่ตา” ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพราะในพิธีกรรมการเลี้ยงปู่ตา หรือการอัญเชิญท่านมาสถิต ณ ศาลปู่ตานั้น  ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยงวัน  หากพ้นห้วงเวลาเช่นนั้นไป  เฒ่าจ้ำย้ำว่าจะไม่ใช่ “ฤกษ์งามยามดี” 

 

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ในภาคเช้านั้น  พ่อของผม ได้อาสาทำหน้าที่ทวนความรู้ความทรงจำในเรื่องพิธีกรรมกับชาวบ้าน  พร้อมๆ กับการถ่ายทอดประสบการณ์เก่าๆ ไปสู่เฒ่าจ้ำอย่างเป็นกันเอง  ซึ่งก็พบว่า ทั้งเฒ่าจ้ำและชาวบ้านจำนวนมาก แทบจะลืมไปเกือบสิ้นแล้วว่า...พิธีกรรมเช่นนี้ต้องทำอะไร ?  มีสิ่งของเครื่องใช้อะไรบ้างเข้ามาเกี่ยวโยง ?  ถึงขั้นว่าเมื่อเสร็จสิ้นการทบทวนความรู้ความทรงจำดังกล่าว  ต่างคนต่างกุลีกุจอกลับไปจัดหาข้าวของและอุปกรณ์ต่างๆ มาเข้าร่วมพิธีกันอย่างยกใหญ่  เรียกได้ว่าถอดความรู้กันสดๆ เสร็จแล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติในทันทีทันใดเลยทีเดียว 

 

ส่วนนิสิตที่นั่งฟังเรื่องราวต่างๆ อยู่ตรงนั้น  ผมก็มอบการบ้านผ่านเวทีตรงนั้นสดๆ เหมือนกัน 
โดยกำหนดให้มีการตีความ หรือค้นหาความหมายของวาทกรรม หรือคำ หรือสำนวนพื้นถิ่นต่างๆ ที่ชาวบ้านพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมที่จะมีขึ้น  ด้วยหวังว่า นั่นคืออีกกระบวนการหนึ่งของการ “เรียนนอกฤดู”  ในแบบฉบับของผมเอง

 

(๓)

ก่อนพระอาทิตย์โบกมือลาขอบฟ้าเบื้องทิศตะวันตก  นิสิตและเจ้าหน้าที่เริ่มแยกย้ายกันไปเตรียมการในเนื้องานที่เหลือ  ซึ่งทั้งหมดเป็นงานในภาคกลางคืนล้วนๆ  ส่วนชาวบ้านก็ทยอยกลับไปอาบน้ำอาบท่า  หรือไม่ก็ใช้ครัวใต้ร่มไม้เป็นที่ประกอบอาหาร  โดยมีนิสิตเป็นลูกมือเรียนรู้อยู่ข้างๆ...

 

ด้วยความที่ว่าการกลับมาครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้ความผูกพันของนิสิตที่มีต่อชาวบ้าน  เรา-ซึ่งหมายถึงนิสิตและเจ้าหน้าที่  จึงไม่ได้กลับมา “มือเปล่า”  แต่พกพาเอาหัวใจมาด้วย ดังนั้น การกลับมาถามข่าวคราวชาวบ้านครั้งนี้  จึงมี “ของฝากของต้อน”  มาตามสไตล์ของเรา

 

 

-เรามีการให้บริการวาดรูปให้กับชาวบ้านโดยไม่คิดตังค์ 

-เรามีเสื้อผ้าใหม่เอี่ยม และเสื้อผ้ามือสองสภาพดีที่ผ่านการซักอบรีดมาเสร็จสรรพ  ซึ่งครั้งนี้ ไม่มีการแจกฟรี  แต่ขายให้ชาวบ้านในราคาตัวละ ๕ บาท  

-เรามีสิ่งของเครื่องใช้ใหม่ถอดด้ามและขนมนมเนยบางส่วนมาให้ชาวบ้านและนิสิตร่วมกัน “สอยดาว” ในราคาต่อชิ้น ๕ บาท

-และเงินที่ได้จากการจำหน่ายเสื้อและกิจกรรมสอยดาวทั้งหมดนั้น  เรามอบให้กับชาวบ้าน เพื่อใช้ในการพัฒนา “ตลาดสดและศาลปู่ตา”  โดยย้ำว่า...หากถึงคราวต้องทำอะไรก็เถอะ  ก็โปรดอย่าได้ลืมที่จะส่งข่าวคราวไปถึงลูกฮักในมหาวิทยาลัยด้วยก็แล้วกัน...

 

(๔)
นอกจากกิจกรรมระดมทุนเข้าชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมของชาวบ้านแล้วนั้น  เรายังมีกิจกรรมในทางดนตรีและนาฏศิลป์มาร่วมสมโภชการสร้างศาลปู่ตา พร้อมๆ กับการแสดงให้ดูให้ชม  เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านในการหยัดยืน-ต่อสู้กับลมหนาวและชะตากรรมอื่นๆ ที่พบเจอ หรือแม้แต่การยังไม่พบเจอด้วยก็เถอะ
 

ครั้งนี้  เป็นครั้งแรกที่ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) ได้แสดงศักยภาพแบบไม่ติดยึดกับลูกแบบเดิมๆ  ที่มักจะเน้นการแสดงดนตรีโปงลางกับการฟ้อนรำเหมือนทั่วๆ ไป  โดยคราวนี้มีการเตรียมเพลงลูกทุ่งมาหลายเพลง  หลายคนเป็นหมอลำอาชีพ ก็ยังอุตส่าห์มาแสดงหมอลำซิ่งด้วย  รวมถึงการคั่นเวลาด้วยการแสดงตลกของบรรดาลูกฮัก  ซึ่งสร้างความสนุกสนานได้อย่างดีเยี่ยม  เรียกได้ว่าหัวเราะกันจนลืมหนาวไปเลยทีเดียว
 

แน่นอนครับ  กิจกรรมเหล่านี้ ไม่เพียงแค่หอบหิ้วกันมาเพื่อสมโภชและสร้างความบันเทิงเท่านั้น  แต่ยังมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการเผยแพร่ศิลปะการแสดงพื้นบ้านไปในตัว  เพราะหากชาวบ้านจะได้ดูได้ชม ก็คงต้องว่าจ้างกันมาล้วนๆ  แต่คราวนี้ เรามา “ฟรี”  เพราะมันคือความรักความผูกพันของนิสิตที่มีต่อชาวบ้านนั่นเอง...และยิ่งนิสิตที่แสดงบนเวทีเป็นลูกฮักของชาวบ้าน ยิ่งพลอยให้ชีวิตของชาวบ้านถูกห่มคลุมไปด้วยความสุขล้วน ๆ  และความสุขที่ว่านั้น ก็เป็นเครื่องกันหนาวได้อย่างดียิ่ง

 

 

(๕)

สำหรับผมนั้น  งานครั้งนี้  ผมไม่ได้ยึดเอาจำนวนสิ่งของ เงินทอง หรือแม้แต่จำนวนสื่อเรียนรู้ที่มอบให้กับชาวบ้านเป็นตัวชี้วัดหลัก  เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือสิ่งที่เรามากันด้วย “ใจ”  และก็เพราะ “ใจ” นั่นแหละที่ทำให้เราไม่ได้กลับมาที่นี่แบบ “มือเปล่า” 

 

แต่โดยส่วนตัวนั้น  ผมย้ำเสมอมาตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่ผมตั้งโจทย์มาตั้งแต่ต้นก็คือ งานนี้,คงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า “ความสุข” ของการเป็นผู้ให้และผู้รับของนิสิตกับชาวบ้านแล้วกระมัง  และนั่นก็ยังหมายรวมถึงความสุขของเจ้าหน้าที่ที่ร่วมชะตากรรมในงานนี้ด้วยเหมือนกัน  ดังที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วตามแนวคิดที่ว่า พูดให้ฟัง  ทำให้ดู  อยู่เป็นเพื่อน”

 

 

 

ด้วยเหตุนี้  การเรียนนอกฤดูในครั้งนี้ผมจึงพยายามเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมความสุขกับการลงแรงในเนื้องานของนิสิตและเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด  ยิ่งในหมู่ของเจ้าหน้าที่นั้น  ผมพูดแต่เพียงสั้นๆ ว่า  ขอให้ทุกคนทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบและสันทัดให้เต็มที่  ใครถนัดอะไรก็คุยกันเอง...แจกแจง และแจกจ่ายงานกันเอง  ส่วนผมจะไม่เข้าไปกำกับอะไรมาก  พร้อมๆ กับการฝากกรายๆ ในทำนองว่า “ขอให้ทุกคนเป็นพระเอกนางเอกที่โลดแล่นในท้องเรื่องเดียวกัน...อย่าโลดแล่นราวกับอยู่คนละท้องเรื่อง  เพราะมันหมายถึงการทำงานคนละทิศคนละทาง”


  

ครับ, สิ่งที่ผมเห็นก็คือ  คุณนัวเนีย จบการแสดงมา ก็ผันตัวเองไปรับผิดชอบเรื่องสคริปงานทั้งหมด  คุณสมปอง เก่งพูดเก่งร้อง อารมณ์ขัน ก็เป็นโฆษกและตัวละครตลกร่วมกับนิสิต  คุณเจี๊ยบ รับผิดชอบสอยดาวกับเด็กๆ  คุณยะ ในฐานะหัวหน้างาน ก็ประสานภาพรวม ฯลฯ...

 

ผมเชื่อเหลือเกินว่า  นิสิตคงมีความสุขที่ได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง  ชาวบ้าน ก็คงมีความสุขไม่ต่างกัน  เพราะมีโอกาสได้โอบกอด “ลูกฮัก” ท่ามกลางลมหนาวที่ยังไม่ถอดใจบอกลาไปจากหมู่บ้าน  ขณะที่เจ้าหน้าที่ของผมนั้น  ผมก็ได้แต่หวังว่า  พวกเขาจะมีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่ตนถนัด ภายใต้บริบทแห่งท้องเรื่องเดียวกันบ้าง กระมังครับ

๑๐ มกราคม ๕๓
บ้านเหล่าหลวง,กาฬสินธุ์

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 336109เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (43)

สุขสันต์วันตรุษจีนจ้า   ซินเจียยู่อี่  ซินนี้ฮวดใช้

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้  for u  Happy  Valentine  Day

สวัสดีค่ะ

สมัยเป็นเด็กชอบไปร่วมกิจกรรมเลี้ยงตาปู่ - ปู่ตา

หลังจากเลี้ยงอาหารปู่ตา เด็กๆจะได้รับการดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหาร (ไก่ต้มเป็นตัวให้เปื่อย) ที่ยกลงมาจากหอ

หลังการรับประทานอาหารอิ่มหนำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เฒ่าจ้ำก็จะทำพิธีเสี่ยงทาย

ถามทุกเรื่องที่ชาวบ้านอยากรู้ (ขั้นตอนเยอะมาก) ภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ

ชอบค่ะ

โชคดี มั่งมี ศรสุข สุขภาพดีนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาส่งความรัก ในวันวาเลนไทน์ค่ะ
  • ขอให้มีความสุข ในทุกๆวัน

         

เมื่อได้ทำในงานที่รัก ...

และได้รักในงานที่ทำ...

ความสุขจะออกมาจากข้างใน

แสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ 

และอยู่ในความทรงจำ

ไม่ต้องปรุงแต่งใดๆค่ะ

สวัสดีครับ KRUPOM

สุขสันต์วันตรุษจีนและวันแห่งความรักด้วยเช่นกัน นะครับ...
ขอให้ประเทศไทยคึกคักด้วยการท่องเที่ยว
สงบสุข...ไม่มีเหตุร้ายใดๆ ในเทศกาลอันสำคัญนี้ด้วยเทอญ..

สวัสดีครับ พี่วิไล บุรีรัตน์

  • ด้วยความที่หมู่บ้านไม่มีดอนปู่ตา หรือศาลปู่ตา
  • ผมจึงไม่เคยได้เข้าร่วมพิธีกรรมนี้ด้วยตนเองสักครั้ง  แต่สนใจและศึกษาเรื่องนี้มาบ้าง  เวลาให้เด็กไปค่าย จึงพยายามฝากและกระตุ้นให้นิสิตได้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน
  • แน่นอนครับ สำหรับเด็กๆ แล้ว  การได้กินของเซ่นไหว้จากปู่ตานั้น  ถือว่าอร่อยเป็นพิเศษเสมอ...มิหนำซ้ำยังถือว่าเป็นเหมือนอาหารทิพย์ไปในตัวด้วย  กินแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข
  • นั่นคือสิ่งที่ผมรับรู้มาจากปากคำของคนใกล้ตัว
  • ...
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณอ้อยเล็ก

  • สุขสันต์วันแห่งความรัก นะครับ
  • ผมทำตัวไม่ถูกเหมือนกันว่าจะใช้ชีวิตกับวันเช่นนี้ยังไงดี
  • สงสัย จะพาคนใกล้ตัวไปเดินร้านหนังสือ ดูหนังสักเรื่อง กระมัง..
  • ....
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ  ♥paula .`๏'- ที่ปรึกษาตัวน้อย.`๏'-

ขอให้ความรัก
ผลิบานในหัวใจทุกๆ วัน
และเป็นที่รักของทุกคนในทุกๆ วัน นะครับ

สวัสดีครับ คุณดาวเรือง

ไปบล็อกไหนๆ ก็เห็นแต่ความรัก...
สงสัยต้องถามตัวเองชัดๆ กระมังครับว่า วันแห่งความรักปีนี้...
"ผมควรจะทำอะไรบ้าง"

...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ  NU 11

ขออนุญาตนำข้อความที่ฝากถึงผมมาเป็นบทสรุปอีกครั้ง นะครับ

เมื่อได้ทำในงานที่รัก ...

และได้รักในงานที่ทำ...

ความสุขจะออกมาจากข้างใน

แสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ 

และอยู่ในความทรงจำ

...

ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากเลยครับ

วันนี้โลกสวยงามด้วยธรรมะค่ะ

สวัสดีครับ น้องสุดสายป่าน

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
หลังจากเราต่างห่างหายการทักทายกันไประยะหนึ่ง  ซึ่งผมเองก็หายไปจากบล็อกจริงๆ

...

สุขสันต์วันตรุษจีน และวันแห่งความรัก นะครับ
ขอให้ชีวิต เต็มไปด้วยพลังแห่งความดีงามอย่างไม่รู้จบ

 

สวัสดีครับ krutoiting

เห็นด้วยครับ...
วันนี้-โลกนี้ สวยด้วยธรรมะ..

ขอให้ชีวิตถูกโอบกอดด้วยธรรมะ นะครับ

เข้าใจและชื่นชมความรักที่มีอยู่เต็มเปี่ยมและเบ่งบานในหัวใจอาจารย์ที่มอบให้แผ่นดินเกิดและมีต่อผู้คนรอบข้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • พี่ชื่นชมกับคำพูดเหล่านี้นะคะ

อีกกระบวนการหนึ่งของการ “เรียนนอกฤดู”  ในแบบฉบับของผมเอง

ใช้ครัวใต้ร่มไม้เป็นที่ประกอบอาหาร  โดยมีนิสิตเป็นลูกมือเรียนรู้อยู่ข้างๆ...

เรา-ซึ่งหมายนิสิตและเจ้าหน้าที่  จึงไม่ได้กลับมา “มือเปล่า”  แต่พกพาเอาหัวใจมาด้วย

เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือสิ่งที่เรามากันด้วย “ใจ”  และก็เพราะ “ใจ” นั่นแหละที่ทำให้เราไม่ได้กลับมาที่นี่แบบ “มือเปล่า”

  • มันทำให้เหมือนรู้สึกได้ว่า  เรามีพลังที่จะส่งต่อและปลูกฝังสิ่งดีๆ ความคิดดี ให้กับนิสิตเพื่อให้เค้าเป็นผู้ส่งต่อไปยังสังคมอีกต่อหนึ่ง
  • ชื่นชมกับกิจกรรมดีๆ ค่ะอาจารย์
  • สมกับคำพูดของท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ "ป๋าเปรม" ที่ท่านย้ำเสมอว่า
  • "เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน" .... นั่นหมายถึงว่าเด็กๆ ลูกฮักและเด็กๆ ที่มีจิตอาสากลุ่มนั้นเค้าเข้าถึง  เข้าใจ  และกำลังทำสิ่งดีๆ อยู่ซึ่งน่าชื่นชมและส่งเสริมค่ะอาจารย์
  • ฝากสวัสดีวันตรุษจีนไปยังครอบครัวอาจารย์และหลานแดนกับหลานดินด้วยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • ตั้งใจมาเก็บเกี่ยวสาระ ..สำนวนการเขียนที่ชอบอ่าน..อ่านไปยิ้มไป
  • บรรยากาศความสุขของงาน..แผ่มาถึงคนอ่านเลยค่ะ..
  • ขอให้มีความสุขมากๆ นะคะ
  • การเรียนรู้วิถีชีวิตของท้องถิ่น-ของตนเองสำคัญยิ่ง การไปและให้ด้วยหัวใจของคณะนิสิตและเจ้าหน้าที่ เป็นกลวิธีสอนให้เรียนรู้ของอาจารย์ที่เหนือชั้นมากๆครับ
  • ขอบคุณความรู้ดีๆนี้ครับ

สวัสดีครับ ครูอี๊ด

ปีที่แล้ว ทั้งผมและทีมงานโชคดีมากที่มีโอกาสเลือกจัดกิจกรรมค่ายคุณธรรมนำชีวิตพอเพียง 2 พื้นที่ ซึ่งผมและทีมงานเลือกที่กาฬสินธุ์ 1 แห่งและมหาสารคามอีก 1 แห่ง ซึ่งทั้งสองแห่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ที่มหาสารคามกำลังพัฒนาชุมชนมาเป็นระยะๆ อะไรๆ มีการรวมกลุ่มชัดเจน  มีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูปธรรม  ส่วนพื้นที่บ้านเหล่าหลวงนั้น เรามาเพื่อชวนให้ชาวบ้านได้หวนรำลึกถึงเรื่องราวอันงดงามของชุมชนในอดีต เป็นการฟื้นความทรงจำและค้นหาต้นทุนที่เหลืออยู่เพื่อบูรณาการมาสู่การพัฒนาในความเป็นปัจจุบันให้ได้มากที่สุด เพราะในอดีตนั้น หมู่บ้านแห่งนี้เคยมีชื่อเสียงด้านการพัฒนาในระดับประเทศมาเหมือนกัน...

ดังนั้น ในขณะที่นิสิตได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ชาวบ้านก็ได้ค้นหาตัวตนและศักยภาพของตัวเองไปพร้อมๆ กัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่Lioness_ann

ก็เหมือนที่บอกครับ กิจกรรมครั้งนี้ ผมมีโจทย์สำหรับผมเองตั้งแต่ต้น  และนั่นก็หมายถึงการชวนให้แต่ละคนได้ค้นหาความสุขในการงานนั้นๆ ด้วยตัวของเขาเอง อีกทั้งการเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและสันทัดให้มากที่สุดเท่าที่โอกาสตรงนั้นจะอำนวยให้

นอกจากนี้แล้ว  ผมยังย้ำถึงแนวคิดว่า จากนี้ไปเมื่อดำเนินโครงการค่ายคุณธรรมฯ ซึ่งเป็นการนำนิสิตไปใช้ชีวิตในชุมชนนานๆ แล้ว เราต้องไม่ละเลยที่จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปเป็นระยะๆ เสมือนการลงนามความร่วมมือทางใจ  ร่วมคิดร่วมแรงกายแรงทุนกันทั้งสองฝ่าย  และเมื่อชุมชนเริ่มตั้นต้นได้ ก็เริ่มถอยออกมาเพื่อก้าวไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ

ขอบคุณครับ

มีความสุขในวันวาเลนไทน์และตลอดไปน่ะค่

สวัสดีค่ะอ. แผ่นดิน

  • แวะมาชื่นชม ผู้สื่อสาร สานความสุข กับกิจกรรมดี ๆ ในชุมชนค่ะ
  • ดีใจแทนนิสิตลูกฮัก และนิสิตจิตอาสา
  • ที่มีต้นแบบดี ๆ ให้ได้เรียนรู้
  • ....................................
  • ขอให้มีความสุขทุกวัน..และทุกวันเป็นวันแห่งความรักนะคะ
  • สุขสันต์วันตรุษจีนและวันวาเลนไทน์ค่ะ...^_^

 

สวัสดีครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ อาจารย์นัฐพร จันทร์ส่งสิงห์

ดังที่บอกครับ กิจกรรมครั้งนี้  สิ่งที่ผมต้องการเห็นมากที่สุดก็คือความสุขแห่งการงานของแต่ละคน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การเห็นภาพที่นิสิตและชาวบ้านยังคงรักและผูกพันกันนั้น  ผมถือว่านั่นคือผลพวงของการเรียนรู้ในชุมชนที่ยิ่งใหญ่และมีค่าอย่างมหันต์  เพราะสิ่งเหล่านั้นยืนยันได้ว่า  ในโลกใบนี้  ถึงไม่ใช่ญาติที่คลานออกมาจากท้องเดียวกัน  คนเราก็รักและหวังดีกันได้

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ที่แจริงแล้ว  กิจกรรมทุกกิจกรรม ไม่เพียงชวนให้นิสิตได้เรียนนอกฤดูเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการชวนให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ร่วมกันไปด้วย  ซึ่งก็เป็นไปตามแนวคิด หรือกรอบแนวคิดที่ผมพูดไว้ในทำนอง "พูดให้ฟัง-ทำให้ดู-อยู่เป็นเพื่อน" นั่นแหละ  และนั่นก็ยังหมายถึงว่า ผมเองก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

แต่ที่ผมยึดมั่นเสมอมาก็คือ  การใช้หัวใจนำพา (เอาใจนำพา เอาศรัทธานำทาง)  เมื่อต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง  ผมต้องเช็คจากตัวเอง หรือแม้แต่ทีมงานว่า "มีใจ"  กับการงานนั้นกี่มากน้อย  บางที,แต่ละคนอาจมีใจในระยะเริ่มต้นไม่เท่ากัน แต่หากไม่แคลงใจต่อจุดหมายเดียวกัน  ก็ย่อมเดินไปด้วยกันได้  และในระยะของการเดินทางก็คงช่วยหลอมรวมทุกคน-หลอมรวมใจของทุกคนเขาสู่ความเป็น "ทีม" ได้ในที่สุด

นั่นคือสิ่งที่ผมคิดและเชื่อมั่นเสมอมา ครับ

สวัสดีครับ ชาย chaychaodin

ยินดีด้วยครับกับการชนะเลือกตั้งของ "ชาวดิน"  มันเป็นกระแสเปลี่ยนแปลงกันเกือบทุกที่...สิ่งน่าห่วงก็คือ ทีมซึ่งไม่ได้มาจากที่เดียวกัน จะหาเอกภาพ หรือเป้าหมายเดียวกันได้แค่ไหน  และจะกล้าพอที่จะเรียนรู้ความล้มเหลวของความเป็นทีมในลักษณะเช่นนี้หรือไม่

นั่นคือ ความน่าห่วงที่พี่กำลังมอง และคิด...

โชคดี ครับ

สวัสดีครับ New.ครูบันเทิง

  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ
  • ยังไงเสีย ก็ขอให้มีความสุขในทุกๆ วัน
  • และขอให้ทุกๆ วันเต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์เสมอไป...
  • ................ขอบคุณครับ....

สวัสดีครับ พี่สีตะวัน

  • ผมมีความเชื่ออยู่อย่างว่า ต้นแบบชีวิตที่ดี พบเจอในหมู่บ้าน
  • ดังนั้น ผมถึงพานิสิตมุ่งสู่การเรียนรู้ในหมู่บ้านเสมอมา
  • และการเรียนรู้ที่ว่านั้น ก็เป็นการเรียนรู้นอกระบบ หรือการเรียน "นอกฤดู"  นั่นเอง
  • โดยใช้กระบวนการของความเป็น "จิตอาสา" เป็นเครื่องมือ หรือกลไกในการขับเคลื่อน...
  • จนวันนี้ ก็ยังถือว่ายังต้องลงแรงอีกเยอะ...
  • การเชื่อมต่อรุ่นสู่รุ่นคือภารกิจหนักหน่วง...เราสร้างคนในแต่ละคนได้บ้าง แต่โจทย์ตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้นิสิตสามารถสร้างคนทดแทนในแต่ละรุ่นได้อย่างเป็นธรรมชาติด้วยกระบวนการ หรือวิธีการของเขาเอง  โดยไม่จำเป็นต้องให้เราเป็นแรงกระตุ้น หรือกำหนดโจทย์การเรียนรู้ให้เสมอไป
  • ...ขอบคุณครับ...

แอบมาดูความรักท่ามกลางลมหนาวค่ะ

อบอุ่นด้วยรักและสดชื่นทั้งผู้ไปเยือนและเจ้าบ้าน

มีความสุขมากๆอย่างนี้และตลอดไปนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • เมื่อวานเข้ามาอ่าน
  • แต่สารภาพว่ายังอ่านไม่จบค่ะ
  • และก็เกิดเหตุขัดข้อง น่าจะเป็นเพราะเครื่องคอมครูอิงหน่ะค่ะ
  • พอเม้นท์ "ส่งความรัก" กลับใส่ภาพไม่ได้ คือไม่สามารถเรียก "ตัวจัดการข้องความได้"
  • วันนี้ได้แล้วค่ะ  ขอบพระคุณอาจารย์นะคะ ที่แวะไปเยี่ยมเยียนครูอิง ด้วยข้อความที่ทรงคุณค่า
  • มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

คุณแผ่นดิน.. ...นักศึกษากลุ่มนี้ เขาจะจดจำประสบการณ์อันแสนประทับใจ เหล่านี้ไว้ นานเท่านาน.. ..และจะเป็น ผู้ที่มีจิตอาสาติดตัว ไปใช้เมื่อเขาทั้งหลายมีงานทำ .. ..โชคดีกับทุกๆวันนะคะ

  • สวัสดีค่ะอ.แผ่นดิน
  •  ชมภาพกิจกรรมแล้วรู้สึกอบอุ่นมากนะคะ
  • ขอให้มีความสุขในเทศกาลวันแห่งความรัก
  • และรับโชคลาภในเทศกาลวันตรุษจีนค่ะ

สวัสดีครับ พี่มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

ไม่ได้ทักทายกันนานเหมือนกันนะครับ
ตอนนี้ลมหนาวลาไปบ้างแล้ว  ยินแต่เสียงลมร้อนเป่าผ่านมาหนักขึ้นๆ...
เลยถือโอกาสเขียนบันทึกต้านลมหนาวไว้เป็นจดหมายเหตุของตัวเองและนิสิต
ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน..มีความสุขในวันแห่งความรักนะคะ..เห็นภาพแล้วมีความสุขชาวบ้านที่มีจิตใจดีงาม..ร่วมงานกับค่ายจิตอาสาคงมีความประทับใจมากนะคะ..

สวัสดีครับ ครูอิงจันทร์

  • ผมเองก็ไม่ค่อยได้มีเวลาใช้ชีวิตในบล็อกนานมากเหมือนกัน
  • สองสามวันที่ผ่านมา  เลยพยายามชวนตัวเองให้เข้าบล็อก และเปิดบล็อกทิ้งไว้  ว่างเมื่อไหร่ก็ชำเลืองเข้ามาท่องเล่น  จึงพลอยได้เขียนบันทึกเรื่องเก่าๆ ย้อนหลังไว้  เพราะขืนนานกว่านี้ คงลืมและไม่มีโอกาสได้บันทึกเป็นจดหมายเหตุเป็นแน่..
  • ...
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม นะครับ

สวัสดีค่ะ นับเป็นความโชคดีของหลายฝ่าย เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้นิสิต เห็นรากเหง้า

รักถิ่นของตัวเอง...

คิดถึง น้องสมปองจังเลย...ผู้เรียกรอยยิ้ม...

 

 

สวัสดีครับ คุณปิ่นธิดา

ผมเห็นด้วยนะครับว่า เขาจะจดจำประสบการณ์อันแสนประทับใจ เหล่านี้ไว้ นานเท่านาน.. ..และจะเป็น ผู้ที่มีจิตอาสาติดตัว ไปใช้เมื่อเขาทั้งหลายมีงานทำ

เพราะกิจกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล มันไม่เหมือนการเรียนในหลักสูตร  พอปลายภาคก็ประเมินผลเป็นเกรดได้ในทันที แต่กิจกรรม มันเป็นผลึกชีวิตที่ต้องใช้เวลาอีกนานไม่ใช่ย่อย...บางครั้ง จะเห็นผลก็ต่อเมื่อนิสิตข้ามพ้นรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่สังคมแห่งการทำงานโน่นแล้วนั่นเอง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณเอื้องแซะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
และขออภัยที่ตอบล่าช้าไปมาก...
ยังไงเสีย, ก็ขอให้มีความสุขกับชีวิต และการงาน นะครับ

สวัสดีครับ rinda

ผมเชื่อมายาวนานว่า งานค่ายอาสานั้น จะเป็นเครื่องมือที่ดีในการพัฒนาคน โดยเฉพาะการเพาะบ่มเรื่องจิตอาสานั้น งานค่ายจะมีพลังมาก ทั้งในมิติของนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชาวบ้าน...สิ่งเหล่านี้  จะทลายมายาคติที่บอกว่า "ธุระไม่ใช่" ...ได้ในที่สุด

ผมเชื่อเช่นนั้น...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.กิติยา เตชะวรรณวุฒิ

ขอให้ทุกวันเป็นวันแห่งความรัก นะครับ

ผมเป็นกำลังใจให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท