ประเภทของเศรษฐกิจพอเพียง


ประเภทของเศรษฐกิจพอเพียง

 

ประเภทเศรษฐกิจพอเพียง 

มีผู้ได้กำหนดประเภทของเศรษฐกิจพอเพียงออกไว้ตามลักษณะการจับต้องได้ และตามระดับพฤติกรรมแสดงออกของบุคคล  ได้แก่

1  เศรษฐกิจพอเพียงตามลักษณะการจับต้องได้  แยกออกได้เป็น  2  ลักษณะ  ได้แก่

1.1  ลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงอย่างวัตถุวิสัย  คือ  ต้องมีกินมีใช้  มีปัจจัยสี่ที่เพียงพอ  พอสมควรกับอัตภาพ  ตรงกันกับการพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ 

1.2  เศรษฐกิจพอเพียงอย่างจิตวิสัย  คือมีความรู้สึกเพียงพอ  พอในความรู้สึก บางคนมีเป็นล้านก็ไม่พอบางคนมีนิดเดียวก็พอเป็นการพอเพียงทางจิตใช้ทรัพยากรเพื่อดำรงอยู่เท่านั้น

 

2  เศรษฐกิจพอเพียงตามระดับพฤติกรรมแสดงออกของบุคคล  เป็นการจำแนกเศรษฐกิจพอเพียงตามระดับของผลที่แสดงออกจากพฤติกรรมของบุคคล  ซึ่งแยกออกได้เป็น  3  ระดับ  ได้แก่

2.1  เศรษฐกิจพอเพียงระดับจิตสำนึก  เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกชุมชนแต่ละคนตระหนักถึงความสุขและความพอใจในการใช้ชีวิตอย่างพอดี  รู้สึกถึงความพอเพียงในการดำเนินชีวิตอย่างสมถะประกอบสัมมาอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้อย่างถูกต้องไม่อดอยาก  ไม่โลภที่ต้องตักตวง  ไม่เบียดเบียนผู้อื่นจนเกินความจำเป็น  คิดเผื่อแผ่แบ่งปันยังสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชนด้วย  อย่างไรก็ตามระดับความพอเพียงของสมาชิกแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน  แต่สมาชิกทุกคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียงเห็นสอดคล้องกันในการยึดมั่นในหลักการสำคัญ  คือ  หลักการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง รู้จักพัฒนาตนเองด้านการทำจิตใจให้ผ่องใสด้วยความเจริญใจและมีความเย็นใจอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง  หลักการคิดพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันและกันในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เมื่อมีปัญหาจากการดำเนินชีวิตก็สามารถใช้สติปัญญาไตร่ตรองหาสาเหตุของปัญหาและแก้ไขไปตามเหตุและตัวชี้วัดด้วยความสามารถและศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่  ด้วยการปรึกษาหารือถ้อยทีถ้อยอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชนก่อนคิดพึ่งพาอาศัยผู้อื่น  และหลักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง รู้จักลดกิเลสความต้องการของตนเองลงเพื่อให้เหลือแรงกำลังและเวลาที่เพียงพอในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประโยชน์แก่ส่วนรวมให้มากขึ้น 

2.2  เศรษฐกิจพอเพียงระดับปฏิบัติ  เป็นการนำหลักการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับสมาชิกในชุมชนโดยยึดหลักของการพึ่งตนเองให้ได้ในระดับครอบครัวก่อน  มีการบริหารจัดการครอบครัวอย่างพอดี  ประหยัด  ไม่ฟุ่มเฟือย  โดยสมาชิกแต่ละคนต้องรู้จักตนเองโดยรู้ข้อมูลรายรับและรายจ่ายในครอบครัว  รู้จักการรักษาระดับการใช้จ่ายของตนไม่ให้เป็นหนี้หรือเป็นหนี้ให้เกิดผลในการสร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน  รู้จักนำเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด  โดยเฉพาะความสามารถพึ่งตนเองในเรื่องปัจจัยสี่  เมื่อพึ่งตนเองด้านปัจจัยสี่ได้แล้วสมาชิกทุกคนควรพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียง  คือ ดำเนินชีวิตโดยยึดหลักทางสายกลาง  ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธศาสนาให้ตนเองอยู่ได้อย่างสมดุลมีความสุขที่แท้  โดยไม่รู้สึกขาดแคลนไม่คิดเบียดเบียนตนเองเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม  ดำเนินชีวิตให้มุ่งทำการเกษตรแบบพออยู่พอกิน  ปลูกพืชไว้กินเองก่อนหากเหลือจึงขายและขยายพันธุ์  สนับสนุนให้มีกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกแทนการใช้เทคโนโลยี   อยู่รวมกันอย่างเอื้ออาทร  มีความคิดที่แจกจ่ายแบ่งปันไปให้ผู้อื่นซึ่งทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดี  ลดความเห็นแก่ตัวและสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นในจิตใจ  สามารถทำให้สมาชิกมีทรัพยากรใช้หมุนเวียนได้ตลอดทั้งปีอย่างพอเพียง  เก็บไว้เพื่อยังชีพ  มีจิตใจคำนึงถึงการแบ่งปันกันให้เกิดการรวมกลุ่มทางสังคมสร้างเป็นเครือข่ายเชื่อมโยง  ให้สมาชิกรู้จักพัฒนาตนเองโดยการเรียนรู้จากธรรมชาติและประสบการณ์ของตนหรือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ทุกคนช่วยกันพัฒนาชีวิตของตนเองและชุมชนร่วมกัน  มีการสืบทอดและเรียนรู้เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสังคมที่ใช้คุณธรรมเป็นตัวนำในระดับปฏิบัติ  มีกิจกรรมชุมชนที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กิจกรรมที่ทำให้พื้นที่ชุมชนของตนเองมีความสอดคล้องกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถแยกกิจกรรมนำไปสู่ระดับปฏิบัติได้เป็น 3  กิจกรรม  ได้แก่

2.2.1  กิจกรรมการผลิตภาคเกษตร  ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแต่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างคุ้มค่าด้วยการหมุนเวียนทุนทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่  วิธีการทำเกษตรที่เน้นปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนก่อน  ด้วยการกิจกรรมการทำปุ๋ยชีวภาพ  การปลูกผักและข้าวที่ปลอดสารพิษ  การทำสวนสมุนไพรของชุมชน  การคิดค้นสารไล่แมลงสมุนไพร  การทำถ่านชีวภาพ  การแปรรูปผลผลิต  และการทำการเกษตรแบบผสมผสาน  เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล 

2.2.2  กิจกรรมการรวมกลุ่ม  เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกชุมชนด้วยทุนทางสังคมที่มีอยู่  ชุมชนได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด  กิจกรรมนิมนต์พระให้มาช่วยสอนจริยธรรมและศีลธรรมในโรงเรียน  การเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนผ่านศูนย์การเรียนรู้หรือโรงเรียนเกษตรกรในพื้นที่  กิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีชุมชน  การจัดตั้งร้านค้าที่เป็นของชุมชน  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ  การจัดทำแผนแม่บทชุมชน  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  และกิจกรรมการผลิตของกลุ่มต่างๆ เพื่อค้าขายหรือผลิตแลกเปลี่ยนระหว่างกัน  และขยายผลการพัฒนาไปยังเครือข่ายอื่นด้วย 

2.2.3  กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจิตสำนึกท้องถิ่น  ส่งเสริมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเศรษฐกิจพอเพียง  ริเริ่มกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังจริยธรรมความดีงามและจิตสำนึกรักท้องถิ่นให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกของชุมชน  ให้ชุมชนมีความเอื้ออาทรต่อกันมากกว่าคำนึงถึงตัวเงินหรือวัตถุเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์  ส่งเสริมให้สมาชิกทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใสและสุจริต  กิจกรรมพัฒนาครูให้มีคุณภาพและมีจิตผูกพันกับท้องถิ่น  รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนพึ่งตนเองก่อนขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

2.3  เศรษฐกิจพอเพียงระดับปฏิเวธ  เป็นผลการปฏิบัติตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  จากประสบการณ์ที่แลกเปลี่ยนกันนั้นครอบคลุมถึงการวัดผลหลังการปฏิบัติ  คือ สมาชิกชุมชนได้พัฒนาชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นโดยเริ่มจากการพัฒนาจิตใจให้เกิดความพอเพียงในทุกระดับของการดำเนินชีวิต  ทั้งระดับครอบครัว  ระดับชุมชน  และระดับสังคม  ได้แก่  ปฏิเวธระดับครอบครัว  เป็นการที่สมาชิกในครอบครัวมีความเป็นอยู่ในลักษณะที่พึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข ทั้งทางกายและทางใจ  สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นรวมทั้งไม่เป็นหนี้หรือภาระผูกพันอนาคตของตนและครอบครัว  แต่สามารถหาตัวชี้วัดสี่มาเลี้ยงตนเองได้โดยมีส่วนเหลือสำหรับออมในครอบครัวด้วย  ปฏิเวธระดับชุมชน  เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกมีความพอเพียงในระดับครอบครัวก่อนและรู้จักรวมกลุ่มกันทำประโยชน์ส่วนรวมในการบริหารจัดการตัวชี้วัดทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชน  จัดการกับภูมิปัญญาหรือศักยภาพของสมาชิกในท้องถิ่นให้สามารถนำไปใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและสมดุลกับสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่พอเพียงของชุมชน  และปฏิเวธระดับสังคม  เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของชุมชนหลายแห่งที่มีผลปฏิบัติระดับชุมชนมารวมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์  สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ให้เกิดเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชนและสังคมแห่งความพอเพียง

 

ดร.สรฤทธ จันสุข

กองแผนงาน  กรมการพัฒนาชุมชน

หมายเลขบันทึก: 335645เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2010 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาอ่านความพอเพียง เพราะชอบความพอเพียง

ถือว่าแจ๋ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท