TQF : รายงานที่ต้องได้มาตรฐาน


เมื่อ ISO (Internation Organization for Standardization) ว่าด้วยการสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้นในกระบวนการทำงาน (Process) เพื่อมุ่งหวังว่าสินค้า (Outputs) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่ได้มาตรฐานนั้นจะออกมามีคุณภาพ (Quality) กระบวนการสร้างกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศ (TQF : HED = Thai Qualification Framework for Higher Education) นั้นมุ่งหวังในหลักการเช่นเดียวกับ ISO หรือไม่...?

หรือว่า TQF มีความมุ่งหวังมากเกินกว่าการสร้างมาตรฐานในกระบวนการผลิต แล้วเพียง "หวัง" ว่าสินค้าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพนั้น

การควบคุมคุณภาพ (Quality Control)  ได้ถูกนำมาใช้กับระบบการศึกษาในรูปแบบของ SAR/CAR (Self/Check Assesment Report) แต่กลับใช้คำแปลที่ดีกว่าว่าเป็น "การประกันคุณภาพ (Quality Assurance)"

การควบคุมกันรังแต่จะทำเกิดความเบื่อ ความเหนื่อย และความหน่าย เพราะพื้นฐานของการควบคุมนั้นเกิดจาก "การเพ่งโทษ" ซึ่งกันและกัน

การเพ่งโทษ คือ การนำจิตไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ผิดพลาด หรือคาดว่าจะผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็น "ระบบ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คน" เมื่อคนต้องคอยจับผิดคน ก็ต้องมีคนหนึ่งเป็นผู้สอบ และอีกคนหนึ่งเป็นผู้ถูกสอบ แต่แนวคิดการประกันคุณภาพ (Quality Assurance) ก็ถูกนำมาใช้จริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันคุณภาพของ "อาจารย์"

อาจารย์ถูกประกันคุณภาพด้วย "คุณวุฒิ"

ใบประกาศหรือกระดาษที่ถูกสมมติเรียกว่า "ปริญญา" ที่ออกโดยสถานศึกษาหลากเกรด หลายทวีป ถูกคัดกรอง แบ่งระดับ เพื่อประกันว่า "เครื่องจักร (Machine)" ที่จะถูกเลือกเข้ามาผลิต "บัณฑิต" ต้องมีคุณภาพ

ปริญญาประกันคุณภาพ "ความเก่ง" ได้ตามเกรดหรือระดับผลคะแนนที่บ่งไว้ในกระดาษแผ่นนั้น เมื่อผู้บริหารการศึกษามีสมมติฐานว่า "คนเก่งย่อมผลิตคนเก่ง" คนเก่งจึงถูกคัดและกรองเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่มีชื่อเรียกว่า "อาจารย์"

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) มีสมมติฐานการประกันคุณภาพของอาจารย์มากกว่าความเก่งหรือไม่? ถ้ามี มีอะไร? มีแล้วจะสามารถ "แทนค่า" ออกมาทางหน้ากระดาษที่สามารถให้ทุกคนที่อ่านตีความและใช้อย่างเป็นมาตรฐานได้อย่างไร...?

จุดอ่อนของการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพคือ "รายงาน (Report)" เมื่อต้องมีรายงาน ทุกอย่างที่เกิด ที่คิด จะต้องตีความและแทนค่าออกมาในหน้ากระดาษได้ จุดอ่อนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การร่างกรอบ วางแผน (Plaining) เพราะคนที่วางแผนก็ต้องตระหนักเสมอว่า TQF นี้จะต้องใช้กระดาษเป็นสื่อกลาง

เมื่อคนคิดถูกตีกรอบด้วย "รายงาน (Report)" แนวคิดใดที่เป็น "นามธรรม" รู้สึกได้ว่าดี เข้าใจได้ว่าดี หรือรู้แน่ ๆ ว่า "ดี" ก็จะถูกกัน ถูกตีออกให้อยู่นอกกรอบ สิ่งที่อยู่ในกรอบต้องวัดได้ เห็นได้ และจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นทางภาษาหรือสถิติ (Statistics) TQF ที่สร้างออกมาในรอบนี้ได้เดินออกนอกกรอบนี้แล้วหรือไม่...?

ถ้ายังอยู่ในกรอบของรายงานทางภาษาและสถิติ TQF ก็คือ "เจ้านาย" ที่ชวนให้ลูกน้องเบื่อหน่ายทุกครั้งที่รายงาน

แต่ถ้า TQF ครอบคลุมถึงกรอบแห่งความรู้สึกในระดับ "จิตสัมผัส" กรอบมาตรฐานนี้ก็คือเพื่อน คือมิตรที่มอบความสุข ความสนุกในทุก ๆ ครั้งที่ทำงาน...

 

 

หมายเลขบันทึก: 334943เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียนท่านอาจารย์ TQF หาก สร้างความเข้าใจ น่าจะใช้เชิงบวก เพื่อพัฒนา อาจารย์ ที่เน้นการ พัฒนา สมรรถนะ นิสิตนักศึกษา ที่พึงประสงค์ ตามที่ควรจะเป็นจริงได้ เพื่อสังคมจะได้ เป็นสุขครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับท่านอาจารย์หมอ JJ สิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวมาเป็นความหวังสูงสุดที่ผมปรารถนาให้เกิดขึ้นและเกิดมีไม่เฉพาะแต่บุคลากรทางด้านการศึกษา แต่รวมถึงทุก ๆ คนในสังคม

 

การสร้างความเข้าใจให้กับอาจารย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง เพราะเราเชื่อว่าอาจารย์ทุก ๆ คนที่ทำหน้าที่อยู่ในทุก ๆ มหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมี "จิตสำนึก" ในการทำหน้าที่ของอาจารย์

แต่ทว่า คนเรียนจบสูง ทิฏฐิมานะก็สูงตาม คนเรียนจบปริญญาเอก อัตตาตัวตนก็จบปริญญาเอกด้วย ดังนั้น ถ้าหากเข้าใจกันคลาดเคลื่อน กลายเป็นการบังคับ ปกติคนเรานั้นถือหลักว่า "มีกฎไว้แหก" คนที่ทำดีอยู่แล้วก็จะเลิกทำเพราะกลัวเสียหน้าว่าต้องทำตามแบบของเขา คนที่ไม่ทำก็ไปกันใหญ่ สบาย กรอกตัวเลขตามเอกสารกันสบาย

การสร้างการยอมรับ และทำให้ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าภาพได้นั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความพยายามสร้างคุณภาพและมาตรฐานของระบบการศึกษาไทยในรอบนี้

เพราะถ้าหากจุดเริ่มต้นเป็นแบบเดิมคือ กลายเป็นการสั่งการตามสายอำนาจการบังคับบัญชา เราก็จะได้เอกสารและสถิติที่มีคุณภาพ แทนที่จะได้อาจารย์ที่มาตรฐานซึ่งหวังว่าจะผลิตบัณฑิตที่มี "คุณภาพ"

 

ขอโอกาสแลกเปลี่ยนเจ้าค่ะ หนูรู้สึกว่าชีวิตการทำงาน ณ ปัจจุบันนี้ ถูกใช้ไปกับการสร้างมาตรฐาน อืมอาจจะเป็นการเรียนรู้ มาตรฐานที่คนอื่น ๆ (ที่มีอำนาจหรือเห็นว่าเจ๋งสร้างขึ้นมา) มากกว่าการทำงานอย่างจริงจัง สารพัดเกณฑ์ สารพัดแบบฟอร์มที่คนหน้างานต้องมาทำความรู้จัก นั่งกรอกนั่งเติม นั่งประชุมทำความเข้าใจ นั่งประชุมตัดสิน ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบว่าทำไปแล้วมีประโยชน์อะไร 

ไม่มีเวลานั่งพัฒนางาน หรือให้เวลากับการลุยหน้างานอย่างเต็มที่ เหมือนแปดสิบเปอร์เซ็นของการทำงานถูกใช้ไปกับการประชุมและทำความเข้าใจแบบฟอร์ม กรอก เติม ประเมินตัดสิน ในสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่งสร้างขึ้นมา 

อีกยี่สิบเปอร์เซนต์ของเวลาถูกเจียดมาให้ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างแท้จริง

 

แต่ถ้ามองในมุมกลับหากมาตรฐานของงาน หรือการทำงานเกิดจากคนที่ลุยหน้างานจริง ๆ มาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้น น่าจะเป็นสิ่งเสริมกำลังใจ เป็นเพื่อนคู่คิด ที่น่าจะปรับแก้กันได้ เข้าใจว่าคนที่สร้างโมเดลว่าคงหวังจะเห็นภาพนี้ แต่ทำไมถึงเวลาเอามาปรับใช้กลับหักหาญน้ำใจคนหน้างานได้นะเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ทุกวันนี้เราเน้นการ "ทำเอกสาร" ให้ได้มาตรฐาน มากกว่าที่จะ "ทำงาน" กันให้ได้มาตรฐาน

แต่ปัญหาหรือต้นเหตุไม่ได้อยู่ที่ตัวเอกสารหรือผู้ร่างแนวทางแห่งตัวเอกสารนั้น แต่ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงกับอยู่ที่คนที่ตีความและนำแนวทางจากเอกสารเหล่านั้นไปปฏิบัติ

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดใด ทฤษฎีใดจะดี เลิศ หรือประเสริฐสักแค่ไหน ถ้าหากผู้ทำทำไปเพียงสักว่า สักว่า แนวคิดหรือทฤษฎีนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ขึ้นมาแม้นเพียงเสี้ยวหนึ่งแห่งความปรารถนาของผู้ที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการสร้างแนวคิดหรือทฤษฎีเหล่านั้นได้

TQF ในรองนี้ก็เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะร่างออกมาเลิศหรือหรูสักเท่าใด แต่ถ้า "คน" หรือบุคลากรทางการศึกษาที่จะต้องนำไปใช้งานจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อาจารย์" ไม่ทำด้วยใจที่ทุ่มเทและเสียสละซึ่งจะต้องมุ่งมั่นให้ตรงไปที่ "ลูกศิษย์" แล้ว TQF ก็จะกลายเป็นภาระงานอันใหม่ที่น่าเบื่อหน่ายของบุคลากรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง และมิหนำซ้ำก็ยังจะกลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่จะมาลดมาตรฐานของมหาวิทยาลัยด้วยกรอบภาระงานในตัวของมันเองซึ่งจะต้องให้บุคลากรทั้งหมด "เจียดเวลา" ออกมาทำรายงานที่ต้องได้ "มาตรฐาน"

ดังนั้น TQF ทฤษฎี หรือมาตรฐานทางด้านคุณภาพใด ๆ จุดสำคัญที่จะบ่งบอกถึงความสำเร็จได้นั้นจึงอยู่ใน "ใจ" ของคนทำ

ถ้าใจคนทำดี คือ ตั้งมั่นอุทิศชีวิตในการทำงานทางการศึกษาเพื่อ "ศิษย์" ไม่ว่าแนวคิดทฤษฎีใด หรือแม้นเพียง 5 ส ก็สามารถพัฒนาวงการการศึกษาไทยได้อย่างก้าวไกล

แต่ถ้าคนทำใจร้าย คือ มุ่งหวังเพียงแต่ประโยชน์ส่วนตัวมีแนวคิดเพียงแต่ทำงานแบบสักว่า สักว่า ไม่ว่าแนวคิดใดที่ถึงแม้จะเกิดมี และเกิดขึ้นในที่สวยงามหรือสวยหรูสักแค่ไหนก็ย่อมต้องมาตายในน้ำมือของนักการศึกษาใดเหมือนเช่นเคย

การทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการ "วัดใจ" บุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อาจารย์" ว่าคราวนี้อาจารย์จะเป็นคนร้ายหรือ "ใจดี..."

รายงานมาตรฐานเปรียบเสมือน "ดาบสองคม" ที่คมหนึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้จาก "ข้อมูลจริง" ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดเผยออกมาเพื่อให้รู้ระดับมาตรฐานของตนเอง เป็นเหมือนการยอมรับเพื่อ "พัฒนา"

แต่อีกในทางหนึ่ง การเปรียบเทียบนั้นจะยิ่งทำให้มหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ซุกซ่อน ปกปิดจุดดับ ปมด้อยของตนเอง โดยสร้างตัวเลข Make กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีคะแนนสูงตามตัวชี้วัดต่าง ๆ ซึ่งถ้าเป็นด้านนี้ก็จะยิ่งทำให้คุณภาพของบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยนั้นต่ำลง เพราะปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข อาจารย์และบุคลากรต่าง ๆ เองก็จะต้องทุ่มเทเวลาในการสร้างรายงานให้ได้มาตรฐาน

การปั้นน้ำเป็นตัวนั้นทำได้โดยใช้ไฟฟ้าและเครื่องทำความเย็นมากเพียงใด การที่จะให้มหาวิทยาลัย Make รายงานให้ได้คุณภาพก็ย่อมจะต้องใช้ทรัพยากรและบุคลากรมากเพียงนั้น...!

ปัญหาข้อนี้จะต้องแก้ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคนภายในเท่านั้น ซึ่งจะมุ่งไปที่ความซื่อสัตย์เป็นหลัก หรือจะให้ได้ประสิทธิผลจริง ๆ ต้องสร้างความตระหนักว่านักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เราทำงานอยู่นั้นคือ "ลูกของเรา"

เพราะถ้าหากใครใจร้ายทำลายลูกตัวเองโดยการหวังแต่จะสร้างมาตรฐานแต่เพียงรายงานได้นั้น ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะส่งเขาไปอบรมจริยธรรม หรือจัดคอร์สคุณธรรมที่ไหน...!

ผลประโยชน์ทั้งทางด้านตัวเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยซึ่งจะประกันถึงความมั่นคงในตำแหน่งของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอันเป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงความเท็จหรือความจริงที่บ่งบอกออกมาในรายงาน

ถ้าหากรายงานจริงว่ามหาวิทยาลัยของเราไม่ได้มาตรฐาน มีจุดบกพร่องตรงโน้น ตรงนี้ ลำดับในการจัดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศก็จะต่ำลง ซึ่งนั่นก็หมายถึงฝีมือในการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งนั่นก็จะส่งผลตามมาเมื่อมีการเลือกตั้งชุดผู้บริหารในครั้งต่อไป

ปัจจุบันการเมืองในมหาวิทยาลัยนั้นรุนแรงไม่แพ้กับการเมืองใหญ่ทีเดียว ก็เนื่องด้วยผลประโยชน์ที่เมื่อใครก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารได้ก็จะสามารถทำงาน 4 ปี แล้วได้รับค่าตอบแทนเท่ากับอาจารย์ทั่ว ๆ ไปที่ทุ่มเททำงานทั้งชีวิตเลยทีเดียว และถ้าหากได้รับเลือกตั้ง 2 สมัยก็เท่ากับได้ผลตอบแทนถึงชาติหน้าเลยนะ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ได้แน่ แต่ก็คงจะได้ไปรับในภพภูมิที่ต่ำกว่า "มนุษย์..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท