ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะทำงานการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร


ร่วมผนึกกำลังเดินตามรอยเท้า "พ่อ"

       เมื่อวันที่ 4 - 5 มิถุนายน 2549 ดิฉันได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ที่เมืองทองธานี  นำโดยผอ.วิมล ทั้งคณะตกลงใจกันไปที่ห้องที่ 14 เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นที่แรก สิ่งที่รู้สึกประทับใจมากที่สุด คือภาพของเด็ก ๆ ทั้งรุ่นเล็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงอายุ จ้องมองอักษรที่บรรยายภาพพระราชประวัติ ถ้อยคำที่บรรยายถึงพระปรีชาสามารถ และบันทึกข้อความ แนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง นั่งบนพื้นเรียงเป็นแถว จนดิฉันต้องหันไปบอกคณะที่ไปว่า ถ้าเด็กรุ่นใหม่เข้าถึงแนวคิดและยึดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตแบบที่เห็นตรงหน้า ภาพที่วัยรุ่นเดินตามแฟชั่นและแสดงออกอย่างเสรีคงมีให้เห็นน้อยลง และสังคมคงไม่เป็นเหมือนที่นักการเมืองท่านหนึ่งเคยวิจารณ์สังคมไทยว่าหย่อนเป็นท้องช้าง เดินชมนิทรรศการประมาณ 3 ชั่วโมง  คณะก็กลับมาเตรียมตัว เพื่อออกอากาศรายการทางโทรทัศน์ ETV หัวข้อ การนำ Roadmap การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานตาม Roadmap กศน. ผนวกกับการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีที่งาน กศน. มีเป้าหมายการจัดกิจกรรมที่สอดรับกับวิสัยทัศน์จังหวัด "เรียนรู้ น่าอยู่ ยั่งยืน" 

วันรุ่งขึ้นกลับมาที่ ศนจ.นครศรีธรรมราช คณะ(นำโดย รองเกษร อ.บุญช่วย อ.เฉลิมลักษณ์ อ.วาสนา อ.สุจิรา) กำลังเตรียมการประชุมคณะทำงานการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร (คุณอำนวยอำเภอและคุณอำนวยกลาง) ประมาณ 70 คน  ที่จะมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกระบวนการ mindmap ณ ห้องประชุมศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ผลจากการพบปะพูดคุย ทำให้ทราบความก้าวหน้าในการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ภาพที่เห็นชัดเจนขึ้นในการร่วมกันขับเคลื่อนงานในครั้งนี้ คือ การลดบทบาทตาม Function ลง และเกิดเป้าหมายร่วมกันทำงานที่มุ่งเน้น Area มากขึ้น เครือข่ายที่เข้าร่วมวางแผนการทำงานตลอดมาและมีบทบาทในการจัดเวทีประชาคมในหมู่บ้านมากขึ้น ได้แก่ ธกส. พช. เกษตร เครือข่ายยมนา สาธารณสุข ปกครอง  โดยมี อ.ภีม จากม.วลัยลักษณ์ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ สิ่งที่ทีมงานได้เห็นตัวอย่างในการดำเนินการ เช่น การเปิดใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของทุกคน และการคิดและพูดในเชิงบวก การควบคุมอารมณ์ ถือเป็นเทคนิคการเป็นวิทยากรกระบวนการที่ทีมงานควรนำไปเป็นตัวอย่างในการลงพื้นที่จริง ซึ่งคงมีเรื่องที่ต้องทำกันอีกมากมาย ถือเป็นงานใหญ่กว่าที่คิดไว้มากจริง ๆ ภาระอันหนักหน่วงนี้ ศบอ.และเครือข่ายทุกภาคส่วน คงต้องผนึกกำลังเครือข่าย เพื่อเดินตามรอยเท้า "พ่อ" ที่อยู่ในใจของทุกคน การนำแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแกนกลางในการประสานงานสู่ความสำเร็จ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนและเพิ่มกำลังใจให้ตนเองด้วยค่ะ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 33473เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2006 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท