กะเทาะเปลือกวัฒนธรรม : การปรับเปลี่ยนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์


          สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “กะเทาะเปลือกวัฒนธรรม : การปรับเปลี่ยนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์” ระหว่างวันที่ ๑๕ – ๑๖ ม.ค. ๕๓   โดยมีหลักการของการประชุมดังนี้   และมีกำหนดการสัมมนาดังนี้

          ผมได้รับเชิญจากท่านประธานสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา ศ. ปรีชา ช้างขวัญยืน ไปบรรยายนำเรื่อง “สังสารวัฏแห่งวัฒนธรรมไทย” จึงนำ narrated ppt มาให้แก่ผู้สนใจที่นี่

          การประชุมนี้ท่านองคมนตรี ฯพณฯ กำธน สินธวานนท์ กรุณามาเป็นประธานปิดการประชุม   ท่านให้ความเห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมเปิด เราจึงต้องมีความสามารถในการคัดกรองกระแสวัฒนธรรมที่ไหลบ่ามาตามกระแสโลกาภิวัตน์   

          น่าเสียดายที่หลังการบรรยาย ผมต้องไปงานของหลักสูตรธรรมาภิบาลเพื่อพัฒนาอุดมศึกษา จึงไม่ได้ร่วมประชุมในวันที่ ๑๕

          แต่วันที่ ๑๖ ม.ค. ๕๓ เป็นวันเสาร์ ผมจึงได้เข้าร่วมสัมมนานี้ตลอดทั้งวัน   ผมจึงได้ความรู้ใหม่จากการนำเสนอของ ศ. ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เรื่อง “วรรณกรรมออนไลน์ : วัฒนธรรมการสร้าง-เสพวรรณศิลป์ในบริบทสังคมที่เปลี่ยบแปลง”   ที่แม้ผมจะเป็น netizen คนหนึ่ง ก็ยังนึกไม่ถึงว่าวรรณกรรมออนไลน์จะช่วยเปิดโอกาสใช้จินตนาการสร้างสรรค์ ในการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนรุ่นใหม่ถึงขนาดนี้   โดยแชมป์ด้านนี้คือ ดร. ป๊อบ (ฐาวรา สิริพิพัฒน์) ผู้แต่งเรื่อง เดอะ ไวท์โรด 

          การบรรยายของพระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมมฺจิตฺโต) มีสาระล้ำลึก เชื่อมโยง น่าประทับใจมาก   ท่านได้เสนอแก่นวัฒนธรรมไทย ๓ ข้อ ที่นิพนธ์โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อปี ๒๔๗๐ ได้แก่  (๑) ความจงรักอิสระของชาติ (Love of national independence)  (๒) ความปราศจากวิหิงสา (Toleration)  และ (๓) ความฉลาดในการประสานประโยชน์ (Power of Assimilation)

          นอกจากนั้น ท่านยังชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นได้ใช้หลักการ Wakon Yosai ในการสืบสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยเมจิ   โดยยึดการผสมผสาน Japanese Spirit เข้ากับ Western Technology

          ศ. ดร. ปราณี กุลละวณิชย์ เสนอว่าแก่นวัฒนธรรมไทยเป็นด้านจิตใจได้แก่ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การรู้จักถ่อมตน ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ การอยู่อย่างมีสุขภาพดี หลักการผสมคำ เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ  และท่าโขน   ส่วนเปลือกวัฒนธรรมเป็นด้านการปฏิบัติ ได้แก่ การไหว้ การใส่บาตร การรดน้ำผู้ใหญ่ รูปอักษร การหันหัวนอนไปทางทิศตะวันตก คำไทย+คำเทศ หางเครื่อง/บทตลก  

          ผมประทับใจวิธีคิดเรื่องเปลือกและแก่นวัฒนธรรม   และได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า สำหรับต้นไม้ ส่วนที่เป็นเปลือกทำหน้าที่เลี้ยงแก่น   แต่ผมคิดกับตนเองว่า วิธีการสร้างสรรค์แก่นวัฒนธรรมที่ดีที่สุดคือการส่งเสริมกิจกรรมเยาวชน ตามแนวที่มูลนิธิสยามกัมมาจลกำลังทำอยู่    ไม่ทราบว่าผมคิดเข้าข้างตนเองหรือเปล่า

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ม.ค. ๕๓
                 
 


 

หมายเลขบันทึก: 334110เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2010 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท