การจัดการเรียนรู้ภาษาธรรมชาติ


พัฒนาการทางภาษาของมนุษย์นั้นเริ่มต้นจากการฟัง แล้วจึงพูด อ่าน และเขียนตามลำดับ ซึ่งพัฒนาการทางภาษาทั้ง 4 ด้านนี้ จะดำเนินไปภายใต้การทำงานของสมอง

การจัดการเรียนรู้

ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม

โดย ชัยวุฒิ สินธุวงศานนท์

ศึกษานิเทศก์ สพท.นม.1

          การจัดการเรียนรู้ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม ครูเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของการจัดการเรียนรู้ให้สนองตอบต่อพัฒนาการและวัยของเด็ก ดังนั้นครูจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจในพัฒนาการของเด็ก และเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อวัยนั้น ๆ พัฒนาการทางภาษาของมนุษย์นั้นเริ่มต้นจากการฟัง แล้วจึงพูด อ่าน และเขียนตามลำดับ ซึ่งพัฒนาการทางภาษาทั้ง 4 ด้านนี้ จะดำเนินไปภายใต้การทำงานของสมอง นั่นคือทักษะทางภาษาทั้ง 4 ด้านจึงต้องอาศัยกระบวนการคิดเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาภาษาอย่างธรรมชาติ และไม่สามารถพัฒนาความสามารถทางภาษาของมนุษย์ได้ทีละส่วน จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน เป็นการพัฒนาความสามารถทางภาษาเพื่อการสื่อสารและการเรียนรู้ จึงเรียกว่าการพัฒนาภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยนั้น เด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีเมื่อเด็กได้เคลื่อนไหว ได้สัมผัสจับต้องกับสิ่งแวดล้อม ลงมือปฏิบัติจริงกับสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ จนสามารถสร้างองค์ความรู้เกิดขึ้นภายในตนเอง แล้วถ่ายทอดความรู้ ความคิดของตนเองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ และใช้ภาษาในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องครูจึงต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้มีโอกาสคิด วางแผน ตัดสินใจเลือก ลงมือปฏิบัติ แล้วถ่ายทอดหรือสะท้อนความคิดของตนเองผ่านกิจกรรมและการใช้ภาษาที่หลากหลายทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนที่เหมาะสมกับวัย โดยครูจะต้องจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับความสนใจ ความต้องการของเด็ก จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการลงมือกระทำกับสื่อ วัสดุต่าง ๆ ตามธรรมชาติที่สอดคล้อง สัมพันธ์กับหน่วยการเรียนรู้ พัฒนาการตามวัย ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้เป็นสถานที่ที่พัฒนาความสามารถทางภาษาให้อุดมไปในโลกของภาษาสำหรับเด็ก ซึ่งประกอบด้วยตัวหนังสือ สัญลักษณ์ ภาพต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และมีความหมายต่อเรื่องที่กำลังเรียนรู้ โดยจัดมุมประสบการณ์ตามความสนใจในด้านต่าง ๆ ไว้ในห้องเรียน ทั้งมุมบ้าน มุมบทบาทสมมุติ มุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมหมอ มุมตลาด มุมจราจร ซึ่งภายในมุมต่าง ๆ นั้นจะต้องมีสื่อ วัสดุ ที่เกี่ยวข้องกับชื่อมุม และขอบข่ายของมุม อีกทั้งการดำเนินไปในวิถีชีวิตจริง กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน และควรมีกระดาษ ดินสอ สี วัสดุในการถ่ายทอดความคิดให้เป็นภาษาเขียน หรือการขีดเขียนที่เด็กสนใจ และต้องการ เช่น มุมหนังสือ ควรประกอบด้วยหนังสือทั้งหนังสือนิทาน หนังสืออื่น ๆ วัสดุอุปกรณ์ในการนั่งอ่านหนังสือ กิจกรรมเกี่ยวกับการยืม-คืนหนังสือ เปรียบเสมือนเป็นห้องสมุดเล็ก ๆ ในห้องเรียน และควรมีอุปกรณ์เกี่ยวกับการขีดเขียน เช่น กระดาษ ดินสอ ปากกา สีเทียน สีไม้ เป็นต้น เมื่อเด็ก ๆ ได้เข้าไปใช้มุมหนังสือ เด็กก็จะได้อ่าน เขียน ยืม และคืนหนังสือ เป็นการจำลองชีวิตไว้ในห้องเรียน และปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การศึกษา ค้นคว้า นับว่าเป็นการจัดประสบการณ์ที่ดีให้แก่เด็กปฐมวัย

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไทย : ตามแนวการเรียนรู้ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค, 2543.

หมายเลขบันทึก: 33168เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การจัดการเรียนรู้อย่างภาษาธรรมชาติแบบองค์รวม เป็นที่น่าสนใจ และอยากทราบข้อมูลและแนวทางการจัดให้มากกว่านี้ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานวิจัย ซึ่งดิฉัน กำลังศึกษา ระด้บปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงขอความอนุเคราะห์จากท่าน ศน.ชัยวุฒิ ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามแนวการสอนภาษาธรรมชาติ ตาม อีเมล. [email protected]

ขอถามข้อข้องใจมานานนะคะ

สมัยนี้ตามโรงเรียนเอกชนรุดหน้าร.ร.รัฐ เนื่องจากสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้เร็วกว่า อยากทราบว่ามีผลดีจริงๆหรือไม่ หากโตขึ้นอยู่ในระดับประถม ความรู้ความสามารถจะไล่ตามกันทันหรือไม่..ขอบคุณค่ะ

ดิฉันเป็นครูวิชาการของโรงเรียน จึงอยากทำความเข้าใจกับกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคแบบธรรมชาติทางภาษาด้านการเขียนของเด็กปฐมวัย มีแนวทางอย่างไร เพื่อจะได้อธิบายให้เพื่อนครูในโรงเรียนได้ ....ขอขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท