สิทธิกับความรัก : ความรักเป็นรากฐานของระบบคุ้มครองสิทธิ


“ความรักนำมาซึ่งการเสียสละ แต่สิทธินำมาซึ่งการเรียกร้อง......ความรักที่มากพอ ย่อมนำมาซึ่งการเสียสละได้อย่างง่ายๆ แม้ ณ เวลานั้น ตนเองจะมีสิทธิอย่างเต็มขนาดก็ตาม”

หลายวันก่อน ผมไปอ่านเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “คู่รัก ไม่ใช่คู่กัด : สูตรถนอมรักสามีภรรยาตลอดกาล” แต่งโดย ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ มีอยู่ตอนหนึ่งในหน้า 80-81 ที่กล่าวถึงเรื่องสิทธิระหว่างสามีภรรยา ก็เลยนำมาเล่าสู่

 “ สามีภรรยาควรคำนึงถึงความรู้สึกของกันและกัน พร้อมๆกับคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

พึงระลึกเสมอว่า ความเท่าเทียมกันนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน ยอมรับในบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน ให้เกียรติและไม่ละเมิดเสรีภาพที่ทั้งสองฝ่ายสมควรจะได้รับ ที่สำคัญ ทั้งสองคนควรใช้ชีวิตร่วมกันเสมือนหนึ่งเป็นคนๆเดียวกัน โดยมีความรักความผูกพันเป็นศูนย์กลาง” 

 “หากต่างฝ่ายต่างดึงดันในสิทธิของตน และภูมิใจในเพศของตนมากกว่าภูมิใจในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันย่อมนำซึ่งปัญหาครอบครัว และความแตกแยกระหว่างกันได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใด เพราะเป้าหมายของครอบครัวคือความเป็นเอกภาพระหว่างหญิงกับชาย

การอ้างว่าใครควรมีสิทธิอำนาจมากกว่าใครในเรื่องใดๆจึงเป็นเรื่องของการเรียกร้อง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความรัก เพราะการที่ทั้งสองฝ่ายตกลงมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันไม่ได้มีความคิดเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ตัวเองพึงได้พึงมีเป็นที่ตั้ง หากแต่มาจากความรักเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์”

ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า แม้สิทธิจะเป็นเรื่องประเด็นร้อนที่ถกเถียงกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ให้คนอยู่ด้วยกันอย่างสันติและยั่งยืนมากกว่า คือ ความรัก ซึ่งผมเห็นว่า แม้แต่ในงานพัฒนาชุมชน เรื่องการคุ้มครองสิทธิในรูปแบบต่างๆ ก็มิอาจมองข้าม “การสร้างความรัก”

ซึ่ง “ความรัก” ในที่นี้ มิเพียงแต่การรู้จักให้และรับรักคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา แต่ยังรู้จักให้-รับ ความรักจากศัตรูผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเราได้อีกด้วย .

“ความรัก” จึงมิใช่เพียงแต่เรื่องสัญชาติญาณ หากแต่มันเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม (social construction) ที่มีเรื่องวัน เวลา สถานที่ที่เหมาะสม เอื้อที่จะบ่มเพาะความรัก ซึ่งตรงนี้นักพัฒนาเรื่องสิทธิต้องคิดหาทางอันแยบยลหนุนเสริมให้เกิดควบคู่ไปด้วย

ไม่ต้องไปมองคนไกลตัวที่ไหน สามารถเริ่มได้ที่ตัวเราเสียก่อน ตั้งแต่วันนี้

 ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า การรู้จักรักโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เพศ ผิวสี ศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือแม้กระทั่งจะเคยทำร้ายเรามาก่อนหรือไม่จึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ปูทางไปสู่การสร้างและส่งเสริมสิทธิในทุกรูปแบบ

แต่การสร้างให้คนมีศักยภาพที่จะรักนี่มันยากครับ ต้องใช้เวลานาน มีเงื่อนไขปัจจัยซับซ้อน ผู้คนองค์กรก็เลยไปจับเอาเรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องปลายทางมาส่งเสริมซึ่งน่าจะง่ายกว่า

แต่ที่ผมเป็นห่วงคือ ทั้งๆที่ความรักกับสิทธิมันเชื่อมโยงกันเช่นนี้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จะพุ่งเป้าไปแต่เรื่องสิทธิล้วนๆ จนผมชักเป็นห่วง ว่าถ้าทุกคนเข้าใจสิทธิ ตระหนักในสิทธิ เรียกร้องในสิทธิของตนเอง แต่หัวใจไร้ซึ่งความรักแล้ว สังคมจะสันติสุขได้อย่างไร

 ผมชอบใจประโยคที่อาจารย์เกรียงศักดิ์ให้ไว้ในหนังสือเล่มนี้ ก็เลยอยากจะนำมากล่าวปิดท้าย

“ความรักนำมาซึ่งการเสียสละ แต่สิทธินำมาซึ่งการเรียกร้อง......ความรักที่มากพอ ย่อมนำมาซึ่งการเสียสละได้อย่างง่ายๆ แม้ ณ เวลานั้น ตนเองจะมีสิทธิอย่างเต็มขนาดก็ตาม”

หมายเลขบันทึก: 33161เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท