กรมบัญชีกลาง ทำเรื่องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 264/2549) เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) หลายประเด็นคือ 1. กรณีกลับเข้ารับราชการใหม่ 2. โอนจากข้าราชการประเภทอื่นมาเป็นข้าราชการพลเรือน 3. การเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ และ 4. การนับเวลาราชการเป็นทวีคูณ ประเด็นที่หนึ่ง ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ผู้ซึ่งได้รับบำนาญ พร้อมทั้งได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวไปแล้วในตอนออกจากราชการครั้งแรก และเมื่อกลับเข้ารับราชการใหม่ ได้งดรับบำนาญเพื่อนับเวลาราชการต่อเนื่องได้ ต่อมา หากสมาชิกผู้นั้น เลือกรับบำเหน็จเมื่อออกจากราชการหรือเสียชีวิตระหว่างรับราชการในครั้งหลัง จะต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวซึ่งได้รับไปขณะออกจากราชการครั้งแรกให้แก่ทางราชการหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาบทนิยามคำว่า "เงินประเดิม" และ "เงินชดเชย" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.กบข. 2539 ที่บัญญัติไว้ว่า เงินประเดิม หมายถึงเงินที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเพิ่มให้แก่สมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ก่อนวันที่บทบัญญัติ หมวด 3 แห่ง พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับและเลือกรับบำนาญ เงินชดเชย หมายถึงเงินที่รัฐบาลนำส่งเข้ากองทุนเพื่อจ่ายเพิ่มให้แก่สมาชิกซึ่งรับบำนาญ จะเห็นได้ว่า เมื่อสมาชิกซึ่งเป็นข้าราชการอยู่ก่อนวันที่บทบัญญัติหมวด 3 ใช้บังคับ ออกจากราชการและเลือกรับบำนาญก็ย่อมมีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว แต่ถ้าข้าราชการผู้นั้นกลับเข้ารับราชการใหม่ ก็สามารถนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตอนก่อนออกจากราชการต่อเนื่องได้ โดยกรณีที่รับบำเหน็จก็ให้คืนบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคาร ออมสิน และกรณีที่รับบำนาญให้งดจ่ายบำนาญ เมื่อกฎหมายได้บัญญัติหลักเกณฑ์ให้คืนเงินที่ได้รับไปแล้วในขณะออกจากราชการครั้งแรกไว้โดยเฉพาะว่า ได้แก่เงินประเภทใดบ้าง ผู้กลับเข้ารับราชการใหม่ จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินนั้น ส่วนเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทน ไม่มีบทบัญญัติใดให้คืนเมื่อกลับเข้ารับราชการใหม่ ดังนั้น ข้าราชการซึ่งได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนไปแล้วเมื่อออกจากราชการในครั้งแรก หากกลับเข้ารับราชการใหม่และเลือกรับบำเหน็จเมื่อออกจากราชการหรือเสียชีวิตระหว่างรับราชการ ในครั้งหลัง จึงไม่ต้องคืนเงินประประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินนั้นที่ได้รับไปโดยชอบ ด้วยกฎหมายแล้ว
มติชน (คอลัมน์ ข้าราษฎร) 7 มิ.ย. 49