แปรรูปองค์การเภสัชกรรม


ถ้าคิดให้องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรธุรกิจที่เน้นการแข่งขันการทำกำไรแล้ว เมื่อนั้นผลเสียหายต่อสังคมจะตามมาอย่างแน่นอน !
วงการยาและวงการเภสัชกรรมบ้านเรา ณ เวลานี้อยู่ระหว่างการเผชิญหน้าครั้งสำคัญกับลัทธิทุนนิยมเสรีใหม่ (Neo-Liberalism) ที่เป็นแรงกดดันเข้ามาหลายประดับ

ระดับนานาชาติ....

เรากำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันของโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งกุมสิทธิบัตรยาเกือบ 80 % ของตลาดยาทั้งหมด โดยผ่านการเจรจา WTO และ FTA กดดันเพื่อให้เราเปิดตลาดยา และยอมรับเรื่องสิทธิบัตรยา

ระดับในประเทศ....

เรากำลังเผชิญหน้ากับฝ่ายบริหารผู้มีอำนาจตัดสินใจ ที่จะเอาประเทศไปผูกพันกับการเปิดตลาดยา ผ่านข้อตกลง FTA

บังเอิญที่ผู้บริหารประเทศบ้านเราส่วนใหญ่มีความเชื่อ ชนิดหลงใหลได้ปลื้มกับกับแนวทางของลัทธิทุนนิยมเสรีใหม่แบบไม่ลืมหูลืมตา แถมบางคนหวังที่จะจ้องหาประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของรัฐผสมกันเข้าไปอีก

ฝ่ายบริหารจึงสนับสนุนแนวทาง FTA กำหนดให้เป็นนโยบายของรัฐบาล

เช่นเดียวกันกับการเน้นให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกระดับ อันเป็นหนึ่งในแนวทางหลักของแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ที่ปรากฏออกมาในรูปฉันทมติวอชิงตัน

การที่คนชั้นนำประเภทสวมสูทผูกไท โดยเฉพาะคนที่อยู่อำนาจรัฐส่วนใหญ่ เชื่อตามแนวทางนี้ ก็เพราะส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังสั่งสอนกันมาเป็นกระบวนการ โดยเครื่องมือและกลไกทุกอย่างของตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น แนวทางขององค์กรโลกบาลต่าง ๆ ภาพยนตร์ฮอลีวู้ด มาจนถึงหลักสูตรการศึกษา ล้วนแต่มุ่งให้เราเชื่อและเดินไปตามแนวทางนั้นอย่างเป็นระบบ

MBA ที่เป็นหลักสูตรยอดฮิตที่ติดอันดับในไทยมาร่วม 20 ปีแล้ว คนที่เรียนจะต้องมาศึกษาศาสตร์ว่าด้วยการจัดองค์กร พฤติกรรมองค์กร วัฒนธรรมองค์กร ภาวะผู้นำ กลยุทธ์ธุรกิจ เครื่องมือทางธุรกิจ ฯลฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทุนนิยมเสรีใหม่

มี Key Word อยู่ไม่กี่คำ ที่เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตของคนกลุ่มนี้ ก็คือ ...

แข่งขัน – ปรับตัว – อยู่รอด – ได้เปรียบ – ประสิทธิภาพ - กำไร – ร่ำรวย

ท่านผู้นำประเทศซึ่งเติบโตมาจากภาคธุรกิจก่อนจะมาบริหารองค์กรรัฐ ก็ใช้คาถาเดียวกันนี้มาบริหารประเทศ

ในทางวิชาการแล้ว ศาสตร์แห่งการบริหารจัดการยุคก่อนระบุว่าจะมีเส้นแบ่งกั้นระหว่างการบริหารงานภาครัฐ กับการบริหารงานภาคเอกชน แต่เดี๋ยวนี้ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน ก็ยึดเอาคาถานี้มาใช้เหมือนกัน และบังเอิญที่ท่านผู้นำของเราเป็นผู้ที่หลงใหลศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการอย่างหัวปักหัวปำ ชนิดแทบไม่มีตำราใหม่ ๆ ของโลกตะวันตกเล่มใดไม่ผ่านสายตาของท่าน

ก็เลยเชื่อของท่านอย่างนี้

เชื่อว่า...

การบริหารประเทศ กับการบริหารชินคอร์ป เหมือนกัน และใช้วิธีการจัดการแบบเดียวกันได้

รากวิธีคิดที่นำมาสู่ปรัชญาการบริหารบ้านเมืองของท่านก็เลยเหมือนกับบริหารชินคอร์ป


ซึ่งก็มี Key Word ไม่กี่คำ

แข่งขัน – ปรับตัว – อยู่รอด – ได้เปรียบ – ประสิทธิภาพ - กำไร – ร่ำรวย

นี่เป็นที่มาของการพยายามยึดเอาเป้า GDP เป็นหลัก, ยึดเอาเศรษฐกิจเป็นธงนำในการบริหารชาติบ้านเมือง ปล่อยปละละเลยภาคสังคม-วัฒนธรรมให้ตามมาข้างหลังห่าง ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถือว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นพันธะอย่างหนึ่งที่จะสร้างความมั่งคั่ง (ทางตัวเลขบัญชี) ให้กับประเทศ โดยไม่ใส่ใจปัจจัยอื่น ๆ เลย

ทำไมต้องแปรรูปองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นกิจการที่มีกำไรสุทธิแค่ปีละไม่ถึงพันล้านบาท

คำตอบมีอยู่ไม่กี่ประเด็น

1. แรงบีบจากมหาอำนาจให้เปิดตลาดยาเสรี ให้ยอมรับเรื่องสิทธิบัตรยา ยังมีทางเลี่ยง หรือทู่ซี้ได้ ไปอีกระยะใหญ่

2. องค์การเภสัชกรรม ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาล มีอภิสิทธิ์ผูกขาดยาให้กับโรงพยาบาลรัฐ ...

หมายความว่าการันตีกำไรอย่างแน่นอน ผู้จะมาถือหุ้นก็จะได้กำไรเช่นเดียวกัน

3. ตลาดในอนาคต ก็คือปัญหาโรคระบาดที่เป็นภัยพิบัติระดับโลก ซึ่งอย่างไรรัฐก็ต้องผลิตยาดังกล่าวออกมารองรับให้มากพอ

4. เพิ่มมูลค่าให้กับตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็คือเล่นกลกับตัวเลขบัญชี

และก็มีคำถามต่อเนื่องไม่กี่ประเด็น

1. จะคิดแปรรูปไปทำไม ในเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองยังจำเป็นต้องการให้องค์การเภสัชกรรมเป็นกลไกหลักด้านการสาธารณสุขของประเทศอยู่

หากให้เอกชนมาถือแค่ 30 % เหมือนกับที่เคยประกาศตอนแปรรูป ปตท. หรือ กฟผ. ก็เท่ากับว่า ให้เอกชนร่วมใช้อภิสิทธิ์ผูกขาดตลาดยาไปโดยปริยาย

เอากำไรดังกล่าวนั้นกลับคืนให้กับประชาชนอื่น ๆ ไม่ดีกว่าหรือ

2. ประสิทธิภาพขององค์การเภสัชกรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแปรรูป แต่อยู่ที่การบริหาร

อย่าลืมว่า องค์การเภสัชฯเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ จะมีเงินมากขึ้นเพื่อสั่งเครื่องจักรใหม่มากี่ตัว แต่ที่สุดก็ผลิตได้แค่ยาพื้นฐานทั่วไป เพื่อให้บริการประชาชนให้ทั่วถึง และมีต้นทุนถูก แนวคิดเรื่องของการแข่งขัน Competitive advantage เอามาใช้กับองค์การเภสัชกรรมไม่ได้ เพราะยังไงก็สู้บรรษัทยาต่างชาติที่เป็นเจ้าของงานวิจัยยาไม่ได้


ปัญหาของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะโลกที่มหาอำนาจกำลังแผ่ขยายอำนาจทางด้านสิทธิบัตรยามาสู่โลกที่สาม มีแนวโน้มทำให้ประชาชนต้องใช้ยาแพงขึ้น ขณะที่มีภยันตรายจากโรคระบาดใหม่ ๆ มากขึ้นอย่างชัดเจนนั้น

ประเทศไทยจะต้องกำหนดท่าทีในเรื่องการบริการด้านสาธารณสุขให้ชัดเจน

จะต้องมีกลไกของตัวเองที่เป็นอิสระอย่างเต็มที่ เพื่อ ทำให้เกิดการถ่วงดุล ดึงราคายาพื้นฐานไม่ให้แพงเกินไป

และที่สุดแล้ว จะต้องเป็นโรงงานผลิตยาแบบฉุกเฉิน หากว่าบังเอิญว่าเราประสบภัยโรคระบาดอย่างรุนแรง จะได้ผลิตยาสูตรดังกล่าวเองโดยไม่ต้องแยแสเจ้าของสิทธิบัตร


มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมีกลไกของตัวเองในการผลิตยารักษาโรคให้กับคนในประเทศอย่างทันท่วงที และมากเพียงพอ

การที่จะต้องมีกลไกผลิตยาของตัวเองให้ทันและเพียงพอ เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในนโยบายสาธารณะว่าด้วยระบบสาธารณสุข

เสถียรภาพเรื่องยา ไม่ควรเอาหลักคิดทางเศรษฐกิจท่องจำประเภท “แข่งขัน – ปรับตัว – อยู่รอด – ได้เปรียบ – ประสิทธิภาพ - กำไร – ร่ำรวย” มาใช้เพียงด้านเดียว

แต่ต้องยึดแนวทางการบริการประชาชนให้ทั่วถึง เท่าเทียม ราคาพอประมาณ เป็นหลัก


องค์การเภสัชกรรมของประเทศที่ยังพัฒนาไม่ได้เป็นเจ้าเทคโนโลยีการวิจัยพัฒนา จะเป็นองค์กรที่เน้นการทำกำไรเพียงด้านเดียวไม่ได้

หัวใจจริง ๆ ก็คือ การบริการสาธารณสุขพื้นฐาน ให้กับประชาชนในประเทศ !

คนขององค์การเภสัชกรรมต้องชัดเจนเรื่องหลักคิดพื้นฐานขององค์กรของพวกท่าน

องค์การเภสัชกรรมคือรัฐวิสาหกิจเพื่อบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Public Utilities) ที่จำเป็น

เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบริการ หรือสวัสดิการ เพื่อความอยู่ดีมีสุขและสะดวกสบายของประชาชน

เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือให้คนไทยเข้าถึงยารักษาโรค และถ่วงดุลราคายาจากต่างชาติ

ถ้าคิดให้องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรธุรกิจที่เน้นการแข่งขันการทำกำไรแล้ว เมื่อนั้นผลเสียหายต่อสังคมจะตามมาอย่างแน่นอน !
หมายเลขบันทึก: 33156เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2006 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท