วันเด็ก (เราทิ้งชุมชนแถวนี้ไม่ได้จริงๆ)


เมื่อเด็กยิ้ม ผมก็พลอยรู้สึกว่าโลกและชีวิตได้ยิ้มไปด้วย

เพราะชีวิตคลำหาวันหยุดไม่เจอ เลยพลอยให้หายหน้าหายตาไปจากโลกแห่งบันทึกนี้เสียนาน ขณะนี้เลยกำลังลุ้นตัวโก่งว่าเดือนนี้ทั้งเดือน จะมีวันหยุดให้ผมได้ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ บ้างหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ตั้งแต่ปีใหม่เปิดตัวมา ยังไม่มีแม้แต่วันเดียวที่จะได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน

ผมพูดทีเล่นทีจริงกับคนใกล้ตัวเสมอมาว่า ผมสามารถรู้ได้เลยว่าปีนี้ทั้งปีจะมีวันหยุดกับเขาหรือเปล่า โดยดูได้จากเดือนมกราคมนั่นแหละ หากเดือนมกราคม-ผมมีเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุดจริงๆ ก็แสดงว่า ปีนั้นทั้งปี ผมมีโอกาสได้หยุดพักกับเขาบ้างเหมือนกัน แต่หากเดือนมกราคมเต็มไปด้วยการงานและราชการ นั่นก็เป็นเสมือนสัญญาณที่สื่อมายังผมกรายๆ ว่า ปีนั้นทั้งปี ผมจะมีวันหยุดตลอดปีที่เป็นเสาร์และอาทิตย์อย่างมากรวมแล้วก็ไม่ถึง 10 วันเป็นแน่

และนี่ก็ยังต้องลุ้น เพราะผ่านมาแล้วเกือบเดือน ตารางชีวิตในวันเสาร์และอาทิตย์ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้หยุดการเดินทางในโลกแห่งการงานเลยสักวัน !

แต่ก็โชคดีหน่อยที่ผมยังพลอยรู้สึกสนุกและมีความสุขกับการงานเหล่านั้นเรื่อยมา

...



ผศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต : อธิการบดี มอบรางวัลให้กับเด็กและผู้ปกครอง


ย้อนกลับไปสู่วันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา วันนั้น, ครึ่งเช้าผมท่องสัญจรอยู่กับกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีนี้เป็นปีที่ไม่ค่อยได้ร่วมคิดร่วมสร้างกับบรรดาผู้นำนิสิตเท่าไหร่นัก แต่ก็พยายามเฝ้าสังเกตวิถีความคิดและกระบวนการทำงานของนิสิตอยู่เป็นระยะๆ พร้อมๆ กับการมอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงอย่างพอดีพองาม เพราะไม่อยากให้เกิดอาการก้าวล้ำบทบาทอาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิต

แต่อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเองได้ฝากนโยบายไปกับนายกองค์การนิสิตในทำนองว่า-ให้องค์กรนิสิต ทุกองค์กรเข้าร่วมออกซุ้มให้บริการกิจกรรมกับเด็กๆ อย่างครบครัน องค์กรใดไม่เข้าร่วม ขอให้องค์การนิสิตกำหนดมาตรการรองรับ หรือบังคับใช้ตามเห็นสมควร



ครับ,ฟังดูเป็นการบังคับโดยปริยายนั่นแหละ แต่ผมก็ยังอยากจะอธิบายว่า ระยะหลังเห็นได้ชัดว่ากิจกรรมวันเด็กแห่งชาติของมหาวิทยาลัยฯ กลายเป็นงานที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้คนในละแวกมหาวิทยาลัย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างเห็นได้ชัด




ก่อนหน้านี้ ผมเคยได้เข้าร่วมประชุมวางแผนงานวันเด็กแห่งชาติในระดับจังหวัด ซึ่งส่วนราชการได้ร้องขอให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับทางจังหวัด ซึ่งผมได้ชี้แจงไปสองประเด็น นั่นคือ (1) จะให้ผมทิ้งชุมชนในเขตเทศบาลขามเรียงและเทศบาลท่าขอนยาง รวมถึงลูกคนงานก่อสร้าง หรือแม้แต่ลูกหลานบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ มาได้อย่างไร (2) ดีที่สุดก็ได้แค่แบ่งนิสิตส่วนหนึ่งมาช่วยงานจังหวัดเท่านั้น



ด้วยเหตุนี้ ระยะหลัง ผมยืนยันแนวคิดเกี่ยวกับการปักหลักจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติในมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการพยายามสะท้อนให้เห็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ต้องให้บริการแก่ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั่นเอง ...

ด้วยเหตุเช่นนี้ ระยะหลังจำนวนเด็กๆ จากหมู่บ้านต่างๆ จึงทยอยเข้าร่วมกิจกรรมที่เราจัดขึ้นอย่างเนืองแน่น จนแต่ละปีผมต้องบันทึกข้อมูลไว้ว่าปีหน้าจะต้องปรับแต่งอะไรขึ้นมาบ้าง



ปีนี้,ก่อนเริ่มงานเพียงไม่ถึงสัปดาห์ ผมเชิญเจ้าหน้าที่และผู้นำนิสิตมานั่งจับเข่าคุยกัน ย้ำแนวคิดการนำพาองค์กรนิสิตต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนี้ โดยฝากให้องค์การนิสิต กระจายงบประมาณให้กับทุกชมรม ขณะเดียวกันก็มอบหมายเจ้าหน้าที่ทำหนังสือไปยังผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ทั้งระดับอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี เพื่อขอความอนุเคราะห์การสนับสนุนเงินรางวัล หรือแม้แต่ของรางวัลมาให้กับเด็กๆ ซึ่งปรากฏว่าได้รับความอนุเคราะห์จากทุกท่านอย่างล้นหลาม จนนำพามาสู่ของรางวัลที่เป็นชิ้นเป็นอันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นต้นว่า หม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้า รถยนต์บังคับ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าแจกกันสนั่นหวั่นไหว บางกิจกรรมก็แจกฟรีแบบไม่ต้องมีกิจกรรมเสริม แต่บางซุ้ม ก็มีกิจกรรมให้เด็กและผู้ปกครองได้ออกแรงแสดงความสามารถด้วย




เช่นเดียวกันนั้น ผมยังย้ำแนวคิดว่า “ปัญหาเก่าห้ามเกิด...ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน” โดยชวนเจ้าหน้าที่และผู้นำนิสิตถอดบทเรียนว่าปีที่แล้วมีอะไรที่บกพร่อง หรือมีอะไรที่ดีงามควรต่อการต่อยอดบ้าง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายใต้การเปิดใจคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับนิสิต พร้อมๆ กับการมอบหมายให้แต่ละคนได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มกำลัง เรียกได้ว่า ทั้งเจ้าหน้าที่และนิสิต ก็กลายเป็นเจ้าของร่วมกับกิจกรรมนี้ไปในตัว



ปีนี้ หากไม่นับเรื่องกิจกรรมนันทนาการทั่วไปๆ กิจกรรมอื่นๆ ก็ยังมีให้เด็กๆ และผู้ปกครองได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ การประกวดวาดภาพ การประกวดสุนทรพจน์ การประกวดหนูน้อยสุขภาพ การเปิดเวทีให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถของตนเองแบบไร้กรอบกติกา ใครใคร่ร้องก็ร้อง ใครใคร่เต้นก็เต้น ใคร่ใครเล่านิทาน ก็เล่า-

นอกจากนั้น ยังมีนิสิตจากชมรมต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นเวทีแสดงให้เด็กๆ ได้ดูได้ชมอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็หมายถึงการที่นิสิตได้แสดงศักยภาพของตัวเองต่อสาธารณะด้วยเหมือนกัน โดยหวังว่า บางทีมันอาจเป็นแรงจูงใจให้เด็กตัวเล็กๆ มีแรงบันดาลใจในการที่จะพัฒนาตัวเองเหมือนพี่นิสิตด้วยก็เป็นได้



อย่างไรก็ดี ในห้วงท้ายของกิจกรรม เรามีของรางวัลเหลือจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสมุด หนังสือ ปากกา ดินสอ กระเป๋า กระปุกออมสิน ดินสอสี สมุดวาดเขียน ตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนพี่นิสิตก็เหนื่อยและอ่อนเพลียเกินกว่าที่จะจัดกิจกรรมใดๆ อีก ผมเลยกระซิบให้เด็กๆ ช่วยกันเก็บขยะร่วมกับพี่นิสิต โดยให้เอาขยะที่ว่านั้น มาแลกเป็นของรางวัล ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ชั่วพริบตา ขยะในบริเวณงานที่เป็นประเภทถุงพลาสติก หรือแม้แต่เศษกระดาษต่างๆ ก็หายวับไปราวกับต้องมนต์เสก และผมก็เห็นกับตาด้วยเหมือนกันว่า เด็กๆ ยิ้มร่ากับการทำเช่นนั้นอย่างแสนสนุก และเมื่อเด็กยิ้ม ผมก็พลอยรู้สึกว่าโลกและชีวิตได้ยิ้มไปด้วย

ท้ายที่สุด เราเหนื่อยเกินกว่าที่จะมาถอดบทเรียนถึงกระบวนการต่างๆ อย่างละเอียด แต่ที่แน่ๆ ผมรู้แต่เพียงว่านิสิตที่เป็นคนจัดกิจกรรมมีความสุขกับการทำงานในครั้งนี้เป็นยิ่งนัก ถึงแม้เราจะไม่มีรถถังและเครื่องบินมาจอดโชว์ แต่กิจกรรมทั้งปวงที่เกิดจากนิสิตคิดเองนั้น ก็มีพลังพอที่จะสร้างความสุขอันง่ายงามให้กับเด็กๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน และที่สำคัญ มันก็มากพอต่อการที่จะให้บริการกับชาวบ้านที่อยู่ละแวกมหาวิทยาลัยฯ ได้อย่างไม่เขินอายเมื่อเทียบกับในตัวชุมชน หรือในตัวเมือง



เช่นเดียวกันนี้, ผมคิดว่าปีหน้า คงได้เวลาที่จะต้องเชิญชวนให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยมาเป็นส่วนหนึ่งกับการเป็น “เจ้าภาพ” ในกิจกรรมนี้ รวมถึงการเชื้อเชิญเทศบาลทั้งสองแห่งเข้ามาจัดกิจกรรมนี้ร่วมกันอย่างเป็นทางการเสียที เพราะนี่คือกระบวนการหนึ่งของการคืนทุนให้กับลูกบ้านของตัวเอง...

รวมถึง การชวนให้เด็กๆ ได้ออกมาร่วมกันเล่าเรื่องอันแสนรักในหมู่บ้านของตัวเองบ้างด้วยก็เป็นได้ ทั้งในรูปของการเล่านิทาน การเขียนรูป เขียนเรียงความ ฯลฯ โดยแทนที่จะประสานงานผ่านโรงเรียนโดยตรง ก็อาจปรับแต่งเป็นการประสานงานผ่านหมู่บ้านต่างๆ จะได้กระตุ้นให้บรรดาผู้ใหญ่ในหมู่บ้านต่างๆ ลงมาสู่การสร้างและการสอนลูกหลานด้วยวิธีของตัวเองอีกสักรอบสองรอบ

แต่สำหรับบรรดาผู้นำนิสิตนั้น ผมถือว่า พวกเขาทำเรื่องนี้ได้อย่างดีเยี่ยม...กิจกรรมถึงแม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็เต็มไปด้วยพลังอย่างน่ายกย่อง และที่สำคัญพวกเขาก็สัมผัสได้ด้วยตัวเองถึงแนวคิดที่ผมพยายามสื่อสารไปในเชิงบังคับกรายๆ ว่าให้มา “ร่วมด้วยช่วยกันทุกองค์กร” บ้างแล้วกระมัง และคงชัดเจนในคำพูดของผมที่พูดเสมอมาว่า “เราทิ้งชุมชนแถวนี้ไม่ได้จริงๆ”


อาคารพลศึกษา
วันเด็ก-มมส

หมายเลขบันทึก: 331563เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2010 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2016 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

แวะมาเยี่ยมชมกิจกรรมน่ารักครับ

ขอให้มีความสุขกับการทำงานต่อไปนะคะ..แม้จะไม่มีวันหยุด..เป็นกำลังใจให้ค่ะ

สวัสดีค่ะอ.แผ่นดิน

มาชมกิจกรรมดีๆน่ารักๆค่ะ

อยากกลับไปเป็นเด็กอีกจัง

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

มาเยี่ยม มาชม

cheer...ถือโอกาสมาทักทายด้วยค่ะ

ฝังตัว ผูกพันธ์ ซึมลึก

สายใย แน่นแฟ้น แสนห่วงหา

ถิ่นนี้ ที่ร่วม ช่วยกันมา

แม้คิด ยังยาก จากใจจริง ...

...

ชื่นชม เป็นกำลังใจ เช่นเคยค่ะ

มีความรู้สึกว่า

ชีวิตผมก็ไม่ต่างกัน

กระทั่งบุคคลไกล้ชิดถามว่า

จะได้ไปไหนมาไหน กินเที่ยวเล่นด้วยหรือไม่ อย่างไร

ผมก็พูดอย่างขึงขังแก่ทุกคน ว่า ขอให้ผ่านพ้นเดือน มกราคม ไปก่อน ค่อยว่ากัน เดือนนี้ขอตัวจากวงการอื่นๆก่อน เพราะต้องวนวเยนกับวงการกิจกรรมใน มข.

ปีใหม่ อาการก็ไม่ค่อยดี เพราะป่วยจากอากาศหนาวเย็น ตามด้วยภารกิจอันหนักหน่วง

เสาร์-อาทิตย์ ไม่รู้จัก

ชีวิตยามเย็นไม่มีให้เห็น

งานเกษตรภาคอีสาน จัดมาเกือบอาทิตย์ ยังไม่ได้เห็นเลย

แม้เมื่อคืนนี้ก็ต้องกลับถึงที่พักสักตี 1 ครึ่ง

แต่พอมาอ่านบทความนี้แล้ว อย่างน้อยๆ ก็ชื้นใจขึ้นมาว่า "ยังมีคนที่มีชีวิตใกล้เคียงกัน" ครับ

สวัสดีครับ อ.จารุวัจน์ شافعى

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ..
แวะมาบันทึกนี้อีกที ก็ล่วงมาอย่างมากมาย
เด็กๆ ยังเป็นสีสันของชีวิต
และที่สำคัญ เด็กๆ ยังเป็นอนาคตของสังคมเสมอ
สำคัญก็คือ เขาต้องเรียนรู้แบบอย่างจากผู้ใหญ่ในสังคม นั่นเอง

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่พี่add

ก็ทำงานไป พักผ่อนไป
การงาน คือการพักผ่อนในอีกบรรยากาศหนึ่งของชีวิต...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณเทียนน้อย

ตอนนี้ ผมเองก็ไม่ต่างกัน..
เฝ้าฝันถึงชีวิตในวันเด็ก..
คิดถึงเสียงหัวเราะ..และการร้องไห้ของตัวเอง..

คิดถึงจินตนาการมากมายที่เฝ้าฝัน
วันนี้เป็นจริงบ้าง..และไม่เป็นความจริงบ้าง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ภัทรานิษฐ์

พยายามทำให้ดีที่สุดเสมอมา
ปีนี้ โชคดีคือผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายท่านให้ความใส่ใจ...
และลงมาให้กำลังใจด้วยตัวเอง

นั่นคือสิ่งที่ผู้นำนิสิตพึงได้รับจากมหาวิทยาลัย

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณปูpoo

ผ่านมาบันทึกนี้ในรอบปี...แสดงว่าปีที่แล้ว ผมเขียนบันทึกน้อยมากเลยทีเดียว...

วันเด็กปีนี้ เตรียมการได้ไม่ดีเท่าปี 53 แต่ทุกอย่างก็ไม่ถึงกับล้มเหลว..หรอกนะครับ และมีการถอดบทเรียนกันไปแล้ว...คงได้ทุนที่ดีส่งต่อให้ทีมงานชุดใหม่ในเร็ววัน

สวัสดีครับ PASSAKORN TUAPRAKHON

เป็นกำลังใจให้นะครับ...และอยากให้รู้เสมอว่า "การงาน คือความเบิกบานของชีวิต"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท