วิจารณ์ซอฟต์แวร์เพื่องานวิจัยเชิงคุณภาพ (review computer-assisted qualitative data analyses software หรือ CAQDAS)


ตอนนี้เริ่มวิจัยนำร่องเพื่อตรวจสอบเครื่องมือวิจัย หรือเรียกภาษาฝรั่งสั้นๆ ว่า pilot study ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ไม่ขอลงรายละเอียดงานวิจัยนะครับเพราะอยากจะเล่าถึงแค่เรื่องซอฟต์แวร์ เรื่องของเรื่องก็คือการทำวิจัยเชิงคุณภาพหรือ qualitative methods นั้น บ้านเราไม่ค่อยจะคุ้นเท่าไหร่เพราะเน้นกันเรื่องงานวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative methods) เมื่อพูดถึงการทำวิจัยเราก็จะนึกถึง SPSS หรือ SAS ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่อิงกับงานวิจัยเชิงปริมาณ
แต่งานวิจัยผมดันไปคาบเกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพเรียกว่าเป็นลูกผสมหรือ mixed methods ด้วย เลยเกิดความสงสัยว่ามันมีซอฟต์แวร์เพื่อช่วยงานวิจัยเชิงคุณภาพไหม? ในวงนักวิชาการด้านการศึกษาเท่าที่ผมเคยได้ยินชื่อก็คือ Nvivo ($240) และ Hyper Research ($370) แค่สองตัว พอเริ่มจะต้องทำการจัดข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ก็เลยลองมาศึกษาด้วยตัวเองว่ามันมีตัวอื่นไหมเพราะสองตัวนี้มันแพงเหลือเกิน ของ Nvivo นั้นเป็นราคานักเรียนต่อปีนะครับ ส่วนของ Hyper Research ผมคิดว่าเป็นราคาแบบจ่ายหนเดียว
ก่อนที่จะเริ่มหาซอฟต์แวร์ตัวอื่น ผมก็ทดลอง trial versions ของทั้งสองโปรแกรมนี้ก่อนเพื่อทำความเข้าใจกับคำสั่งและการทำงานของซอฟต์แวร์เพื่องานวิจัยเชิงคุณภาพทั่วไปที่ชาวบ้านเขาใช้กัน ต้องบอกก่อนว่าการจัดข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เนื้อหาหรือ content analysis นั้น ไม่เหมือนงานวิจัยเชิงคุณภาพทั่วไปเพราะการวิจัยเชิงคุณภาพทั่วไปนั้นนักวิจัยจะตีความและหาความหมายจากข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ บันทึกเทปหรือวิดีโอ พูดอีกอย่างก็คือความหมายหรือผลลัพธ์จะปรากฎขึ้นมาด้วยการถอดระหัสจากข้อมูล แต่งานแบบวิเคราะห์เนื้อหานั้นเอาโครงร่าง (framework) ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้ามาใช้ในการตีความ หรือเอาระหัสที่มีอยู่แล้วเข้าไปจัดระเบียบข้อมูลนั่นละครับ
อย่างไรก็ดี ทั้งสองเทคนิคนี้คล้ายกับตรงที่มีการใส่ระหัสเนื้อหาหรือที่เรียกว่า code (v.) ซอฟต์แวร์ที่ผมต้องการต้องสามารถ code ได้ และสามารถหาความถี่ของ code ได้ ก็เท่านั้น จะหรูหราแบบมีกราฟหรือแบบเป็นตารางธรรมดาก็ไม่เกี่ยง ลองมาดูทีละโปรแกรมนะครับ

Nvivo นั้นจะว่าไปแล้วเป็นโปรแกรมที่น่าจะดังที่สุดในวงการนะครับ และมีชุดคำสั่งครบถ้วนที่สุด ซับซ้อนที่สุด อันนี้ผมเดาเอาเพราะว่าโปรแกรมมันใหญ่เหลือเกิน (391MB) แถมพ่วง Microsoft SQL Server และ Crystal Report เข้ามาด้วย Nvivo มีทุกอย่างที่ผมต้องการครับ ลองดูรูปที่หนึ่งที่แสดงหน้าการใส่ระหัสเนื้อหานะครับ จะเห็นว่า Nvivo มีแถบระหัสให้ดูที่กรอบด้านขวาล่าง เข้าใจง่าย ชัดเจนดีมีเน้นข้อความให้เสร็จ แต่ประเด็นที่ผมไม่ค่อยจะถูกใจคือถ้าจะใส่ระหัสสักตัว ต้องเลือกข้อความ กดเลือกระหัสซึ่งจะต้องเปิดหน้าต่างใหม่ขึ้นมา และก็เลือกระหัส เรียกว่าต้องกดสามต่อ เสียเวลาทำมาหากิน ถึงแม้จะใช้คีย์ลัดก็ยังเสียเวลาครับ ส่วนเรื่องรายงานความถี่นั้นผมไม่ได้ดูเพราะดันไปเจอว่า Hyper Research นั้นมี Free Limited Edition ก็เลยเปลี่ยนใจไปทดลอง (ฮา)


(รูปที่หนึ่ง)

Hyper Research (free limited edition)
Hyper Research นั้นใช้ง่ายและเลือกใส่ระหัสได้เร็วกว่า (รูปที่สอง) แค่ดับเบิลคลิกที่หน้าต่างระหัส ซึ่งเป็นหน้าต่างเล็กๆ อยู่ข้างขวา (code list editor) ทำให้จัดการข้อมูลได้เร็วกว่าเยอะ นอกจากนั้นรายงานความถี่ก็ตรงความต้องการของผมเป๊ะ มีแค่ตัวเลขและกราฟแท่งก็เหลือกิน (รูปที่สาม)
แต่ปัญหาที่ผมเจอคือ free limited edition นั้นอนุญาติให้ผู้ใช้งานกำหนดระหัสได้แค่ห้าสิบตัวเท่านั้น ถ้าเอาไว้ใช้สอนในห้องเรียนให้นักเรียนทดลองนั้นก็พอไหว แต่จะใช้ในงานวิจัยจริงๆ นั้นไม่ไหวล่ะครับ ผมใส่ระหัสในเอกสารแค่ไม่กี่หน้าก็เต็มพิกัดแล้ว ถึงแม้ผมจะถูกใจกับ Hyper Research จริงๆ แต่เธอมีข้อแม้เยอะไปหน่อย ก็เลยต้องบ๊ายบาย


(รูปที่สอง)


(รูปที่สาม)

หลังจากอกหักจากสองซอฟต์แวร์ชื่อดังผมเดินหน้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สหรือประเภททดลองฟรี ก็เจอของดีอีกหลายตัวครับ Weft QDA, Ethnograph และ TAMS

Weft QDA นั้นเป็นฟรีแวร์ ขนาดเล็กกระทัดรัด ที่เล็กเสียจนทำอะไรไม่ค่อยจะได้ หนึ่งคือไม่สามารถดูระหัสแบบภาพรวมได้ (แสดงได้ทีละระหัสเท่านั้น, รูป) ส่วนข้อสองคือไม่สามารถทำรายงานสรุปภาพรวมความถี่ได้ (แสดงผลทีละระหัสได้แค่นั้น, รูป) เจอแบบนี้ถึงจะเป็นของฟรีก็ต้องถอยครับ เพราะแทนที่จะช่วยงานกลับทำให้งานช้าลงกว่าเดิม

Ethnograph นั้นคุยว่าเป็นซอฟต์แวร์เก่าแก่มาตั้งแต่ปี 1984 ผมก็ทดลองใช้แบบทดลองฟรี ลองอยู่สักพักก็ต้องถอดใจครับ เพราะถึงแม้จะมีคำสั่งครบถ้วน แต่ผมรับสีสันและดีไซน์ไม่ได้จริงๆ (รูป) สงสัยตั้งแต่ 1984 นี่เขาไม่เคยเปลี่ยนสีเลย (ฮา) แถมซอฟต์แวร์ก็ใช้งานลำบากเพราะมีหน้าต่างเปิดหลายบานกระโดดไปกระโดดมา สับสนไปหมด

TAMS ตัวสุดท้ายนี้เป็นโอเพ่นซอร์สเฉพาะสำหรับ Macintosh OS X และ Linux เท่านั้น ซึ่งมีชุดคำสั่งง่ายๆ แบบที่ผมต้องการ การใส่ระหัสก็รวดเร็วไม่แพ้ Hyper Research รายงานความถี่ก็เป็นแบบตารางและมีแบบกราฟ ซึ่งใช้โปรแกรม Graphviz (โอเพ่นซอร์สเหมียนกัล) แบบนี้เทใจให้เต็มร้อยเลย เรื่องเศร้าเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ TAMS คือต้องใช้งานบน Mac เท่านั้นแหละครับ ผมมี Mac Mini ราคาประมาณสองหมื่นบาท ($600) ซึ่งพูดตรงๆ ว่าถึงจะแพงกว่าซื้อซอฟต์แวร์ แต่เอามาใช้เป็น Entertainment Center และเป็น Backup แถมโอเพ่นซอร์สหลายตัวก็มีเฉพาะ Mac ก็น่าจะคุ้มในระยะยาว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเปรียบเทียบซอฟต์แวร์ CAQDAS ได้ที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 331356เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2010 04:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท