โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (13) ผสมพันธุ์ข้าว


๑๓ ผสมพันธุ์ข้าว

     ครั้นนักเรียนชาวนาได้เรียนรู้มาถึงเรื่องราวของขั้นตอนการปฏิบัติการผสมพันธุ์ข้าวนี้แล้ว เรื่องนี้ขึ้นชื่อว่ายากเอาการ คิดว่ายาก ก็คงกล่าวกันว่ายาก หากแต่ยังไม่รู้ นักเรียนชาวนาหลายต่อหลายคนมีความรู้สึกว่าวิชานี้ท้าทายความสามารถของคนเป็นชาวนายิ่งนัก ใครจะว่ายากอย่างไร ขอเพียงให้มีความมุ่งมั่นที่ร่ำเรียนให้ก่อน สิ่งที่ว่ายากน่าจะกลับกลายเป็นเรื่องง่ายได้ จะง่ายเพราะรู้และเข้าใจวิธีการแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลา นักเรียนชาวนาคนไหนที่อยากเรียนให้ยกมือขึ้น...

     ในขั้นตอนของการปฏิบัติการผสมพันธุ์ข้าวจะเริ่มต้นด้วยการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ข้าว เมื่อเตรียมพ่อแม่พันธุ์ข้าวพร้อมแล้ว ในลำดับถัดไปจึงจะทำการผสมพันธุ์ข้าว และจนถึงขั้นการปลูกทดสอบคัดเลือกข้าวพันธุ์ผสม รวม ๓ ขั้นตอนหลัก แล้วในแต่ละขั้นตอนหลักๆนี้ก็จะประกอบไปด้วยขั้นตอนย่อยๆอีกหลายขั้นตอน เมื่อนักเรียนชาวนาทราบขั้นตอนหลักนี้แล้ว ขอจงใจเย็นๆ ให้ค่อยเป็นค่อยไป ของอย่างนี้ต้องอาศัยเวลาพอสมควร คุณอำนวยจะค่อยๆนำทางให้คุณกิจ ตามกันไปทีละขั้นทีละตอน...ก็แล้วกัน

     ตอนนี้จะเริ่มนับหนึ่งในขั้นตอนแรก เป็นเรื่องราวของการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ข้าว อันประกอบไปด้วยขั้นตอนของการรวบรวมพันธุ์ การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการผสมพันธุ์ การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ ตลอดจนการปลูกพ่อแม่พันธุ์ ทั้งหมดมี ๔ ขั้นตอนย่อย

     นักเรียนชาวนาต้องทำการรวบรวมพันธุ์ข้าว แล้วนำมาปลูกทดสอบ มีใครทราบไหมว่าขั้นตอนนี้ทำเพื่ออะไร คำถามไม่ยากนัก จึงพอมีคนตอบถูก ซึ่งคำตอบก็คือ เพื่อศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์นั่นเอง นอกจากนี้ต้องศึกษาดูการให้ผลผลิต ความสามารถในการต้านทานโรคแมลง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักเรียนชาวนาซึ่งต้องนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ จะเลือกคู่...ให้เป็นพ่อแม่พันธุ์กันต่อไป

     พอตัดสินใจเลือกพ่อแม่พันธุ์ได้แล้ว นักเรียนชาวนาควรจะมากำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการผสมพันธุ์ อันเป็นการกำหนดความต้องการพันธุ์ข้าวในอุดมคติ ซึ่งนักเรียนชาวนาฝันกันไว้ว่าอยากจะได้ข้าวอะไรอย่างไร ขั้นตอนนี้เหมาะสำหรับนักเรียนชาวนาช่างฝัน เพราะกล่าวกันถึงข้าวในฝัน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้นักเรียนชาวนานอนรอหรอกนะ... ข้าวในฝันนี้ได้มาจากข้อมูลพื้นฐานที่ได้รวบรวมพันธุ์ข้าว นักเรียนชาวนาเป็นผู้ประมวลผลข้อมูล จนกระทั่งสร้างข้าวในฝันขึ้นมาได้ นี่แหละ...เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ ซึ่งโดยทั่วไปก็กำหนดว่า ต้องการให้ได้ข้าวที่สามารถตอบสนองต่อระบบการผลิต ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก ให้ผลผลิตดี คุณภาพเมล็ดดี คุณภาพการหุงต้มรสชาติดี มีความสามารถต้านทานโรค ต้านทานแมลง สามารถปลูกได้ไม่จำกัดฤดูกาล ทั้งนี้จึงสรุปได้ว่าขอให้ได้ดีทุกประการนั่นเอง

     คราวนี้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้มาจนถึงการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ เรื่องนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการผสมพันธุ์ข้าวแล้ว ซึ่งจะต้องทราบข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์ ข้อดีและข้อด้อยของข้าวแต่ละพันธุ์ ข้อมูลเหล่านี้เพื่อใช้ประกอบการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างให้ทราบกันสักเล็กน้อย และจะขอนำเอาข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ มากล่าวกันเป็นตัวอย่าง คิดว่าเราๆท่านๆน่าจะรู้จักมักคุ้นกันดีอยู่แล้ว ข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวชนิดข้าวเจ้า ปลูกได้ปีละครั้ง คุณภาพเมล็ดดี การหุงต้มมีกลิ่นหอมรสชาติดี ต้นสูง ล้มง่าย ผลผลิตต่ำ ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี การคัดเลือกพันธุ์ที่จะใช้เป็นคู่ผสมกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ก็ควรจะต้องเพิ่มเติมข้อด้อยของพันธุ์นี้ อย่างเช่น ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย ผลผลิตดี สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี นักเรียนชาวนาจะเลือกพันธุ์อะไรมาผสมคู่กับพันธุ์ดังกล่าวนี้ ฝากให้ไว้เป็นการบ้าน นำไปขบคิดกันต่อไป

     เมื่อผ่านการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์มาแล้ว จึงมาถึงการปลูกพ่อแม่พันธุ์ ขั้นตอนนี้นับเป็นขั้นตอนย่อยสุดท้ายของรอบแรก ให้นักเรียนชาวนานำเมล็ดที่ได้มาปลูกในแปลงนาหรือในกระถาง การปลูกแต่ละพันธุ์นั้น ควรปลูกหลายๆรุ่น แล้วให้แต่ละรุ่นทิ้งช่วงห่างสักประมาณ ๒ สัปดาห์ เป็นใช้ได้ หากตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ก็มีคำตอบตามมาให้คลายสงสัยว่า นี่เป็นวิธีการป้องกันหรือการลดความเสี่ยงในคู่ผสมที่ออกร่วงไม่พร้อมกัน และให้สามารถผสมซ้ำได้อีกหากผสมแล้วไม่ติด เมื่อเป็นไปอย่างนี้...นักเรียนชาวนาคนใดที่จะเลือกปลูกพ่อแม่พันธุ์ในแปลงนา เห็นควรจะต้องย้ายไปลงปลูกในกระถาง ก่อนข้าวออกรวง ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความสะดวกในการปฏิบัติงาน

     กาลเวลาผ่านไปได้ไม่นานนัก การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ข้าวได้สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว สติยังอยู่กับท่านทั้งหลายใช่ไหม และก็ขอแสดงความยินดีด้วยกับนักเรียนชาวนาที่สามารถผ่านขั้นตอนช่วงแรกได้ มี ๔ ขั้นตอนย่อย...อย่าหลงอย่าลืมก็แล้วกัน ช่วงแรกจบลงไป พร้อมๆกับการเริ่มต้นเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในช่วงถัดไป ซึ่งจะมากล่าวกันถึงเรื่องราวของการผสมพันธุ์ข้าว

ภาพที่ ๕๗ พันธุ์ข้าวที่รวบรวมสำหรับปลูกทดสอบพันธุ์

ภาพที่ ๕๘ พันธุ์ข้าวที่คัดสำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์

 

 

หมายเลขบันทึก: 33117เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2006 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท