หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เยียวยาด้วย “หัวใจ” (๓)


เมื่อต้องมีการตัดสินใจ เราก็จะให้ข้อมูลอย่างรอบด้านที่สุด บางรายที่เห็นว่าไปต่อไปไม่ไหวจริง ๆ ก็จะบอกอย่างตรงไปตรงมา แต่ในที่สุดแล้วก็ให้เขาเป็นคนตัดสินใจการรักษา การให้ข้อมูลอย่างรอบด้านที่สุด จะช่วยทำให้เขาตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

   “มันไม่ใช่เรื่องที่คุณจะต้องรู้...”

   “คุณเป็นแค่พยาบาล เป็นแค่พยาบาลต่างจังหวัด...”

   เป็นคำตอบที่ “สุกานดา เมฆทรงกรด” ได้รับ หลังจากที่เธอร้องขอข้อมูลและแนวทางรักษา เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษาบิดาของเธอ และบอกกับอาจารย์แพทย์ท่านนั้นเมื่อบอกว่าตนเองเป็นพยาบาล ซึ่งพอจะมีพื้นฐานความรู้ในทางการแพทย์บ้าง...

   หลังจากเรียนจบพยาบาล สุกานดา เมฆทรงกลด เข้าทำงานที่โรงพยาบาลพิจิตร ในขณะที่บิดาซึ่งเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมากถึงคราวต้องล้มหมอนนอนเสื่อ และได้นำเข้าไปรักษาในเมืองกรุง กับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนวิชาแพทย์

   แนวทางการรักษาของโรงพยาบาลถูกกำหนดโดยอาจารย์แพทย์ผู้เป็นเจ้าของคนไข้ สุกานดาและญาติ รับทราบจากการชี้แจงและขอคำยินยอมจากพยาบาลว่าจะทำการฟอกไตทางช่องท้อง และเพราะเป็นเพียงคนเดียวที่เล่าเรียนมาทางด้านนี้ เป็นคนที่รู้ดีที่สุดในบรรดาญาติพี่น้อง จึงถูกมอบหมายให้เป็นผู้ตัดสินใจในการรักษาบิดา

   แม้เธอจะเป็นพยาบาล แต่ก็เป็นพยาบาลในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ความรู้และเทคโนโลยีของโรงพยาบาลซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ในเมืองกรุงย่อมไปไกลกว่าสิ่งที่เธอรับรู้และเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็เป็นหน้าที่ของเธอที่จะต้องสอบถามแนวทางการรักษา โดยขอพยาบาลผู้ดูแลไข้เพื่อขอพบกับแพทย์ผู้ที่จะทำการรักษา

   หลังจากที่ไม่ได้รับคำชี้แจงให้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากปรึกษากันในครอบครัวแล้ว สุกานดาตัดสินใจไม่รักษาตามแนวทางที่อาจารย์แพทย์ท่านนั้นกำหนด

   “พี่จดจำวันนั้นมาตลอดเลยว่า เราจะไม่ทำแบบนี้กับคนไข้โดยเด็ดขาด เราจะต้องข้อมูลทั้งหมดเท่าที่เรารู้ สิ่งใดที่เกินเลยจากที่เรารู้หากคนไข้ร้องขอก็จะปรึกษาแพทย์ ถามแพทย์แทนคนไข้ให้ แต่จะไม่ทำกับคนไข้เหมือนกับพี่เคยได้รับจากอาจารย์แพทย์ท่านนั้น...”

   สุกานดา กล่าวถึงบทเรียนที่ตนเองได้รับ ซึ่งทำให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของญาติผู้ป่วยที่ต้องทำการตัดสินใจรักษา และเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้คนไข้รับรู้รับทราบพอ ๆ กับที่เธอรับรู้ ทั้งนี้มิใช่เป็นประโยชน์เพียงแค่การตัดสินใจรักษาต่อไปเท่านั้น แต่ด้านหนึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาจิตใจของญาติผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย

   ในห้องไอซียู เมื่อคนไข้ถูกส่งเข้ามา ในด้านการรักษาพยาบาลก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน แต่ในส่วนญาติคนไข้ซึ่งมีความทุกข์ใจไม่น้อย ซึ่งต้องได้รับการรักษาเยียวยาเช่นเดียวกับคนไข้ เพียงแต่การเยียวยานั้นเป็นการเยียวยาจิตใจ สุกานดาและทีมงาน จึงมีหน้าที่คอยปลอบโยนควบคู่กับการให้ข้อมูลและแนวทางการรักษา รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลคนไข้อย่างดีที่สุดและขอให้ญาติคนไข้วางใจในส่วนนี้ได้

   เนื่องจากคนไข้ในห้องไอซียูนั้น เป็นคนไข้ที่มีอาการวิกฤติ ในกรณีที่คนไข้มีความเปลี่ยนแปลงและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ทีมงานก็จะติดต่อไปที่ญาติโดยทันที นอกจากการให้ข้อมูลตามสภาพที่เป็นจริงด้วยท่าทีที่ไม่ทำให้ญาติตระหนกตกใจจนเกินไปแล้ว ยังค่อย ๆ ปรับลดความคาดหวังของญาติคนไข้ลงด้วย

   ในกรณีทั่วไปนั้น หลังจากการเยี่ยมไข้ของญาติผู้ป่วยในแต่ละครั้ง ทีมงานห้องไอซียูจะทำการพูดคุยให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ญาติผู้ป่วยทุกครั้งไป

   “เราต้องพูดคุยสื่อสารกันตลอดเวลา ญาติกับเราจะรู้เรื่องคนไข้เท่า ๆ กัน มันก็เลยทำให้การดำเนินงานเราไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีการบอกมาเป็นระยะ ไม่ใช้ว่าปิดประตูสามวัน เปิดออกมาแล้วบอกว่าแม่คุณตายแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องให้เขารู้เป็นระยะ รู้ทุกขณะที่เกิดความเปลี่ยนแปลง...

   ...และเมื่อต้องมีการตัดสินใจ เราก็จะให้ข้อมูลอย่างรอบด้านที่สุด บางรายที่เห็นว่าไปต่อไปไม่ไหวจริง ๆ ก็จะบอกอย่างตรงไปตรงมา แต่ในที่สุดแล้วก็ให้เขาเป็นคนตัดสินใจการรักษา การให้ข้อมูลอย่างรอบด้านที่สุด จะช่วยทำให้เขาตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น...”

 

   บนเส้นทางวิชาชีพพยาบาลของ สุกานดา เมฆทรงกลด ก่อนจะอยู่ในฐานะหัวหน้างานห้องผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลพิจิตร เธอพบพานประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านบวกและลบ

   ประสบการณ์ด้านลบที่เธอได้รับ เธอจะจดจำไม่นำไปปฏิบัติกับใคร ดังเหตุการณ์ที่ถูกปฏิเสธการให้ข้อมูลจากอาจารย์แพทย์ที่เล่าไว้ข้างต้น และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เธอจดจำเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เป็นเช่นนั้นคือ การเคร่งครัดกับกฏระเบียบจนลืมใส่ใจกับความเป็นมนุษย์ ที่มิใช่มีเพียงแต่ร่างกายเลือดเนื้อ แต่ยังมีหัวใจ มีจิตวิญญาณ

   เมื่อคราวเธอไปฝึกงานกับห้องไอซียูในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เธอพบว่ากฏเกณฑ์ในห้องไอซียูนั้นเคร่งครัดมาก ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและคนไข้โดยรวม แต่ก็แข็งตัวเกินไป เธอเห็นด้วยว่าในภาวะปกติกฏระเบียบมีความจำเป็น แต่ในความเป็นจริงนั้นมีเหตุการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมาย อยู่นอกเหนือเงื่อนไขแวดล้อม ที่กฏระเบียบที่ตั้งไว้อาจต้องได้รับการยกเว้น ยืดหยุ่น ผ่อนผัน

   “...ตอนที่พี่ไปแทรนวิกฤต เราเป็นเด็กไปเทรนเราก็ต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดของเขา ยึดตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด ออกนอกเหนือจากกฏไม่ได้เลย ทำให้เราเรียนรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ...

   โดยปกติแล้วห้องไอซียูจะมีกฏระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเวลาเยี่ยมและการปฏิบัติตนในการเยี่ยมคนไข้

   ในเรื่องการเยี่ยมคนไข้ สุกานดา กล่าวว่า

   “...พยายามให้มีความยืดหยุ่น กฎมีไว้เพื่อเป็นระเบียบ แต่เวลาชีวิตเขาเหลือน้อย เวลาเยี่ยมก็อลุ่มอล่วยให้เขาได้ บ้างครั้งญาติมาถึงตีสามเราก็อนุญาติให้เยี่ยมได้...”

   การละเว้นและยืดหยุ่นกฏเกณฑ์ มิใช่กระทำได้โดยง่ายและสักแต่ว่าทำ ๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อมิให้กระทบต่อระบบที่ดำเนินการไป ต้องมีการจัดการบางสิ่งบางอย่างเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งประการนี้เองจึงไม่ค่อยมีใครที่จะยอมยืดหยุ่นต่อกฏระเบียบ

   ในกรณีที่เยี่ยมคนไข้นอกเวลาเยี่ยม ทีมงานจะต้องพูดจาทำความเข้าใจกับญาติผู้ป่วยเสียก่อน ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไร โดยเฉพาะในเวลาที่นอกเหนือเวลาเยี่ยมซึ่งจะต้องระมัดระวังต่อเป็นพิเศษที่จะไม่ไปรบกวนเวลาพักผ่อนของคนไข้ที่อยู่ในนั้น

   “...ทุกครั้งที่ญาติมาเยี่ยม ก่อนเข้าไปก็ต้องบอกก่อนว่าขณะนี้เป็นเวลาพักของคนไข้ เราให้เข้าเยี่ยมได้แต่ต้องระมัดระวัง อย่าส่งเสียงดัง เห็นภาพอะไรอย่าตกใจ ถ้าจะร้องไห้ก็พยายามสะกดกลั้นไม่ให้มีเสียง ถ้าเราเห็นว่าจะมีเสียงก็จะพาเขาออกไปร้องไห้ข้างนอก ทุกปัญหามีทางออกเสมอ...”

 

   สุกานดา เป็นหัวหน้างานที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้อง ๆ พยาบาลในทีมงานในแง่การทำงานด้วย “หัวใจ” ที่เธอมีความรักเมตตาให้กับผู้เข้ามารักษาเยียวยาทุกผู้ทุกคน ทั้งผู้ป่วยและญาติเธอนำบทเรียนด้านลบมาเป็นอุทาหรณ์ว่าจะไม่ทำเยี่ยงนั้นกับใคร เธอให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่ากฏเกณฑ์ที่เขียนขึ้นมาสำหรับใช้ในภาวะการณ์ปกติ เธอยอมทำงานมากขึ้น เหนื่อยขึ้น เพื่อให้ทั้งคนป่วยและญาติได้รับการเยียวยาที่ดี เท่าที่ขีดความสามารถของเธอและทีมงานจะทำให้ได้

   นี่คือเรื่องราวของ “สุกานดา เมฆทรงกลด” พยาบาลผู้ใช้ “หัวใจ” ในการเยียวยา

 

หมายเลขบันทึก: 330046เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2010 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดี ครับ

เข้ามาอ่านเพราะอดอ่านไม่ได้ กับการใช้คำพูด "เยียวยาด้วยหัวใจ"

ขอบพระคุณ ครับ

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณกับเรื่องเล่าเร้าพลังของคุณกานดา
  • ประสบการณ์คือบทเรียนอันล้ำค่านะคะ

ในเวลาที่เรามีประสบการณ์แม้ไม่ดี แต่หากเรานำประสบการณ์นั้นมาเป็นบทเรียนต่อๆไป มันคือคุณค่า ที่ตำราไม่มี มันกลั่นมาจากอารณ์ จิตใจภายใน เป็นความเข้าใจ...เหมือนกับคนไม่เคยหิวจะไม่รู้เลยว่ามันทรมานขนาดไหน และอาจไม่เข้าใจ เมื่อมีคนหนึ่งบอกว่าหิว...แต่คนที่เคยประสบจะเข้าใจ และเห็นใจในทันที

การเยียวยาด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นยาขนานเอกที่จะยืดชีวิตของผู้คนในยุคสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ขอบคุณสำหรังข้อคิดดี ดี ค่ะ

การให้ข้อมูลรอบด้านดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ

แต่ก็ยังเป็นประเด็นปัญหาสำหรับบุคลากรที่ต้องพัฒนาอย่างมาก

P สวัสดีครับ คุณแสงแห่งความดี

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนนะครับ

 

P สวัสดีครับ พี่ครูคิม

เรื่องเล่านี้ประทับใจผมมากครับพี่
เป็นเรื่องที่มีพลังมาก ๆ เลยครับ

สวัสดีครับ พี่หนาน

ตามอ่านมาทุกตอนเลยครับ

ชื่นชมคนทำงานด้วยหัวใจครับ

ขอบคุณพี่หนานที่ถ่ายทอดเรื่องราวได้เยี่ยมยอดจริงๆ

P สวัสดีครับ ป้าเหมียว

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและต่อยอดความคิดครับ

 

30สวัสดีครับ คุณNokatare

ใช่ครับ "การเยียวยาด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นยาขนานเอก"
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

 

P สวัสดีครับ พี่ นาง...มณีวรรณ ตั้งขจรศักดิ์

ผมคิดว่าการให้ข้อมูลรอบด้านที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่จริง ๆ ก็ไม่ง่าย
พี่ด้าเจ้าที่มาของเรื่องเล่า บอกผมว่าสามารถฝึกกันได้
และเมื่อทำไปเรื่อย ๆ ก็จะสะสมประสบการณ์ขึ้นไป
ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

ชื่นชมในความเป็นหัวใจของคนไข้ ฝากกราบอาจารย์อุดมด้วยจ๊ะ

สุชาดา (แว๊ด) ร.ร.บางมูลนากภูมิวิทยาคม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท