ข้าวกล้อง.....คล้องใจ


คัด..ด้วยใจ

อากาศครึ้มฟ้า ครึ้มฝนในเช้านี้ ทำให้ฉันขี่รถมอเตอร์ไซด์คู่ชีพเข้าหมู่บ้านด้วยความสบายใจ  ด้วยความตั้งใจว่า วันนี้ทั้งวัน ฉันจะทุ่มเทสายตาให้กับข้าวกล้องของกลุ่ม
สิงหาคม ปีนี้ ชาวบ้านหนองแจง โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มของฉัน หมายมั่นปั้นมือไว้ว่า ปีนี้ เราจะได้ทำนากันชุ่มปอดแน่ เพราะแนวโน้มว่าฝนจะมาให้พวกเราได้ชื่นใจ และก็จริงซะด้วย นี่เป็นอาทิตย์แล้วนะ ที่ฝนตกที่หนองแจงแทบทุกวัน ดินดำน้ำชุ่ม จนชาวบ้านเอง ก็กลัวใจฟ้าเหลือเกิน เค้ากลัวกันว่า พอถึงวันที่ต้องลงมือทำนากันจริงๆ ฟ้าจะหอบฝนหนีหายไปจากหนองแจงซะก่อน ดังนั้น ที่พึ่งของชาวบ้านตอนนี้ คือ บ่อน้ำบาดาล ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้จัดทีมลงมาเตรียมขุดเจาะให้ แต่เจ้ากรรม ฝนฟ้าที่ตกลงมาในรอบอาทิตย์นี้ ก็เป็นอุปสรรค ทำให้รถขุดเจาะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เลย ใจหายใจคว่ำกันไปเป็นแถว ชาวบ้านบอกว่า คล้ายบุญจะมี แต่กรรมมาบัง   แต่ฉันว่า นาทีนี้ เราทำอะไรได้ก็ต้องทำกันไปก่อน ไปหวังพึ่งสิ่งใดที่ไม่ใช่ตัวเรา ยากเหลือเกิน ดังนั้น กระบวนการในการจัดการคัดพันธุ์ข้าวกล้องจึงเกิดขึ้น ด้วยคิดว่า ยังเป็นความหวังของชาวบ้าน อย่างน้อย เรายังมีพันธุ์ข้าวดีๆที่คัดเองจากสายตา ไม่ต้องรอให้ใครสรรหามาให้ ประมาณว่า ต้องคัด...กันด้วยใจ
ฉันเข้าถึงหมู่บ้าน ก็พบ คุณกิจ นั่งคัดพันธุ์ข้าวกันอยู่อย่างขมักเขม้น วันนี้ พวกเราจะคัด พันธุ์ข้าวเหลืองเลาขวัญ เป็นข้าวที่ชาวบ้านกินกัน และไม่ได้ถูกคัดพันธุ์มานานแล้ว ดังนั้น สภาพที่ฉันเห็นคือ ข้าวกล้องสีเหลือง ที่มีสภาพหาดีเหลืออยู่แบบเต็ม 100 ยากมาก เสียงบ่น เซ็งแซ่ จากคุณกิจของฉัน ว่า ข้าวที่ได้มาไม่ดีเลย ทั้งแตก ร้าว เบี้ยว ลีบ ท้องไข่ก็เยอะ จนไม่รู้ว่า จะได้ดีๆ แบบเต็ม 100 สักกี่เม็ด พอลองได้นั่งคัดดูจึงได้รู้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ที่เราจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวดีเต็ม 100 อย่างที่เราต้องการ จึงบอกชาวบ้านในเชิงให้กำลังใจว่า พันธุ์ข้าวคัดรอบนี้ อาจไม่ต้องให้ถึง 100% ก็ได้ เพราะถึงอย่างไร พวกเราก็ต้องมานั่งคัดกันแบบนี้ทุกปี นี่ไม่ใช่การคัดแบบลวกๆ เพียงแต่คำว่า คัดพันธุ์ที่ดีที่สุด ในความหมาย คือ มีตำหนิน้อยที่สุด ชาวบ้านของฉันที่นั่งคัดพันธุ์ในวันนี้ แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก กลุ่มสาวๆ สามพันปี  ที่ก็มีอายุโดยเฉลี่ย 60 ขึ้น  นั่งคัดหลังโค้งงอ โดยใช้เพียงสายตาเปล่าที่มองเพ่งไปยังเมล็ดข้าวในถาด ทีละเม็ดๆ บางคน สายตาก็ยังพอเห็นชัดอยู่บ้าง บางคนถึงสายตาจะฝ้าฟางแต่ใจก็ยังเอากับเพื่อนอยู่  และอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มผู้ชายวัยกลางคน ที่คิดว่าสายตาแหลมคมพอที่จะมองเห็นเนื้อในเมล็ดข้าวได้ชัด โดยไม่ต้องใช้แว่นขยาย  คุณกิจของฉันบอกว่า ที่ไม่ใช้แว่นขยายในการคัดรอบแรก เป็นเพราะว่า เราต้องการคัดเมล็ด เล็ก ลีบ และไม่สมบูรณ์ออก การใช้แว่นขยายในรอบแรก จะทำให้มองเห็นเมล็ดข้าวทุกเมล็ด ใหญ่ และดูแข็งแรง  ดังนั้น เครื่องมือที่เตรียมมา ไม่ว่าจะเป็นแว่นขยาย หรือกล้องส่องพระ คุณกิจ เค้าเอาไว้ใช้คัด ในรอบที่สาม ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายเท่านั้น
เป้าหมายของการคัดพันธุ์ข้าว
 1.ได้ข้าวพันธุ์ดี 100 % ให้กับสมาชิกและชาวนาในชุมชมเก็บและขยายต่อไป
 2.ลดปริมาณการใช้ข้าวพันธุ์ในการเพาะปลูก ประหยัดค่าใช้จ่าย
 3.ชาวบ้าน มีพันธุ์ข้าวที่ชอบเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนโดยไม่ต้องซื้อพ่อค้าคนกลาง
 4.ส่งเสริมความสามัคคี และการช่วยเหลือแบ่งปันกันภายในกลุ่ม
วิธีการคัด
 1.ข้าวเหลืองเลาขวัญ นำไปสีเป็นข้าวกล้อง 50 กิโลกรัม ถูกแบ่งไปอยู่ในมือสมาชิก เพื่อทำการคัดคนละไม้คนละมือ โดยมีเป้าหมายว่า เราจะต้องคัดพันธุ์ดี ให้ได้ประมาณ 10 กิโลกรัม ในการทำข้าวพันธุ์หลักปีนี้
 2.คัดรอบที่ 1 แยกเมล็ดข้าวเปลือกที่ยังหลงเหลือ หรือเมล็ดปลอมปน เช่นข้าวแดง  ข้าวขาวเมล็ดหัก ลีบ เบี้ยว  ออกมา ( โดยใช้สายตาเปล่าหรือแว่นขยายช่วย )
 3.คัดรอบที่สอง จัดการคัดเมล็ดที่เป็นท้องไข่ หรือท้องปลาซิวออกมา
 4.คัดรอบที่สาม ใช้แว่นขยาย พิจารณา รอยร้าวภายในเมล็ด
 5.จัดเก็บในขวดโหล แช่ไว้ในตู้เย็น จนกว่าจะถึงช่วงเพาะปลูก
มาจนถึงวันนี้ เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ ที่ชาวบ้านได้ใช้ความพยายาม นั่งหลังขดหลังแข็ง คัดข้าวด้วยหัวใจ จนกระทั่งได้ปริมาณพันธุ์ข้าวดี จำนวน 3 กิโลกรัม เราจะต้องใช้เวลาอีกนานโข กว่าจะได้พันธุ์ข้าวถึง 10 กิโลกรัมต่อสายพันธุ์ ซึ่งก็ไม่แน่ว่า ข้าวทั้งหมดจะได้ตามเป้าที่วางไว้หรือไม่  แต่ฉันก็พยายามให้กำลังใจทุกคน ด้วยคิดว่า บางครั้ง ความสำเร็จหรือการทำให้ได้ดั่งเป้าหมายที่วาง มันก็ยังไม่สำคัญเท่ากับระหว่างที่เราทำกิจกรรมร่วมกัน มันมีคุณค่าและความหมายใดเกิดขึ้นกับคุณกิจของฉันบ้าง  นี่ต่างหากที่ฉันคิดว่า มันสำคัญที่ควรหยิบยกมาเล่าถึง
สิ่งที่ค้นพบ   ระหว่างที่เรานั่งคัดพันธุ์ข้าวอยู่นั้น คุณกิจของฉัน ต่างก็นำเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ในชีวิตของตนเอง  แม้กระทั่งเรื่องของครอบครัวมาเล่าสู่กันฟัง อย่างเปิดเผย สนุกบ้าง เศร้าบ้าง และฉันคิดว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การถ่ายเทความรู้สึกมันออกมาได้ นั่นเป็นเพราะว่า มันเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในกันและกัน ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มันทำให้เกิดความรัก ความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน ได้จริง  นอกจากนี้ ฉันยังพบว่า วิถีชีวิตในการสังเกตุว่าพันธุ์ข้าวเริ่มไม่มีคุณภาพ มันมาจากวัฒนธรรมการกินข้าว  แม่ศรี คำผาย เล่าให้ฟังว่า "ข้าวจะดีไม่ดี สมัยก่อน จะดูได้ง่าย คือ

1.ให้ดูว่า  ก่อนหุงให้ดูน้ำซาวข้าว ถ้าเป็นสีใส ไม่ขาวขุ่น นั่นน่ะ ไม่มีคุณภาพแล้ว

2.เวลาเราหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ( หุงจากเตาถ่าน ) ถ้าไฟแรงๆ หม้อข้าวเดือด เมล็ดข้าวในหม้อจะกระเด็นออก เค้าจะเรียกกันว่า “ ข้าวไม่มียาง” เวลาสุก เมื่อกินจะแข็ง ไม่อร่อย ไม่หวาน รสชาติไม่ดี เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า พันธุ์ข้าวที่มีอยู่ในยุ้งฉาง จะใช้ทำพันธุ์อีกไม่ได้แล้ว แต่สมัยนี้ ไม่มีใครหุงข้าวแบบเตาถ่าน ข้าวจะน่ากิน ไม่น่ากิน คนจะมองดูแค่สีของข้าว ต้องขาว สวย  คนชอบที่ภาพลักษณ์ภายนอก หารู้ไม่ว่า ข้าวที่ถูกขัดจนสีขาวสวยนั้น ไม่มีคุณค่าทางอาหารเหลืออยู่เลย สู้ข้าวกล้องไม่ได้เลย"

และข้อค้นพบข้อสุดท้าย ฉันค้นพบว่าคุณกิจสูงวัยของฉันรู้สึกว่าตนมีคุณค่าต่อกลุ่ม ช่วยในสิ่งที่ช่วยได้  พกพันธุ์ข้าวเหน็บติดตระกล้าหมากไปทุกๆที่ มีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็นั่งคัดพันธุ์กัน กินหมากไปด้วย คัดไปด้วย  ไม่เว้นแม้กระทั่งตกดึก ที่เค้าต้องไปถือศิลกันที่วัด เสร็จจากการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ก็ยังชวนมิตรสหายวัยเดียวกันที่มาถือศิล ช่วยกันคัดอย่างเป็นจริงเป็นจัง และบอกว่า ที่ทำ เพราะคิดว่า สามารถช่วยทำได้ รู้สึกมีคุณค่า ไม่ไร้ประโยชน์จนใครผ่านไปผ่านมา เมื่อเห็นก็หยุดมองแล้วถามว่า ทำไปทำไมเสียเวลา คุณกิจก็ตอบได้ชื่นใจเหลือเกินว่า เพราะการคัดพันธุ์ข้าว ทำให้รู้สึกว่า ข้าวแต่ละเม็ด มีคุณค่าควรที่จะบอกต่อลูกหลานให้สืบสานกันต่อไป

ตกเย็น เด็กๆเลิกเรียนมา ก็ไม่ลืมที่จะมามะรุมมะตุ้มกับกองข้าวกล้อง ช่วยกันคัดเท่าที่จะทำได้ ถูกบ้าง ผิดบ้าง เสียงยายบ่นหลาน "ก็สอนกี่ครั้ง มันก็ยังไม่เข้าใจ นี่ต้องอย่างนี้ ....อย่างนี้ " เสียงหลานตัดพ้อตามประสาเด็ก ที่ยังไม่เข้าใจและสมาธิอาจไม่นิ่งพอ" มันก็ข้าวเหมือนกันนี่"   

ฉันมองคนสามวัย ด้วยหัวใจอิ่มเอม ฉันไม่คาดหวังอะไรมากหรอก ไม่คาดหวังว่าเราจะได้ข้าวที่สมบูรณ์เต็ม 100 ตามปริมาณที่ตั้งไว้ ฉันรู้แค่ว่า คุณค่าที่มันเกิดขึ้นมันอยู่ตรงสายใยความอบอุ่นที่ยังคงครุกรุ่น ระหว่างถาดข้าวกล้องเหล่านั้น...

เป็นข้าวกล้อง.....ที่คล้องใจ คนสามวัยได้ดีจริงๆ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 330เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2005 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

..ไม่รู้จะเอาคำอะไรมาบอกว่า..บรรยากาศที่คุณเห็นตอนที่คุณคัดข้าว..กับตอนที่ผมช่วยญาติทำนา...ก็เป็นบรรยากาศที่ผมลืมไม่ลงจิงๆ...ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยความร้ก..ซึ่งมันชนะทุกสิ่งทุกอย่าง..อย่างที่ใครๆเชื่อ..และผมกเช่นเดียวกันที่เชื่อในสิ่งนี้..ผมเคยถามตัวเองนะว่า..ตอนแรกทำไมไม่เรียนเกษตร..เพราะที่ทางที่บ้านก็พอมีให้..ห้องทดลองวิทยากร อาจารย์ ในคณะต่างๆก็มีพร้อม..ไม่ว่าจะเป็นด้านคัดเลือก เพาะปลูก เก็บเกี่ยว..เรามีครบตั้งแต่เกิดมาจำความได้...ท่านเหล่านั้นถึงไม่ได้จบมาด้านเกษตร หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวง...แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็สามารถที่จะสอนให้เด็กอย่างเราได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่จะต้องทำ.......ความรักความงดงามที่ยิ่งใหญ่จึงอยู่ในใจผมมาถึงวันนี้...

ทุกวันที่ผมกลับบ้านผมจะออกไปทุ่งนาไปสูดกลิ่นอายเหล่านั้นทุกครั้งไป...

นานๆ จะเห็น บทความเกี่ยวกับข้าวกล้องจึงอยากร่วมคิดด้วยคน

1ปีผ่านไปจากบทความข้างต้น ข้าวกล้องก็ยังไม่แพร่หลายเพราะหาทานข้าวอร่อยยาก ช่วยบอกหน่อยว่าจะหาข้าวกล้องนิมๆทานที่ไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท