การบวชภิกษุณี : ปัญหาเดิม ๆ ที่ยังไม่มีทางออก ?


สตรีเพศกับการทำงานเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาหากเราชื่อว่าการทำงานเพื่อศาสนา ชาย-หญิงมีสิทธิ์และความสามารถในการทำงานร่วมกันได้ “สตรี-ภิกษุณี-ชี” ก็ย่อมมีนัยยะในการทำงานส่งเสริม รักษา พระพุทธศาสนาด้วย

การบวชภิกษุณี : ปัญหาเดิม ๆ ที่ยังไม่มีทางออก  ?

-โมไนย พจน์-

การบวชภิกษุณีของพระวิสุทธิสังวรเถร (พรหมวํโส) วัดโพธิญาณ ออสเตรเลีย คงเป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทยและทั่วโลกพอสมควร เพราะเท่ากับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ต่อวงการพระพุทธศาสนา(ไทย) ประเด็นหนึ่งอาจมองว่าละเมิดพระธรรมวินัย องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย  และมีการตัดท่านออกจากคณะสงฆ์  อีกมุมหนึ่งเกิดคำถามว่าพุทธศาสนา คณะสงฆ์ ชาวพุทธ จะมีท่าทีตอบรับต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมในกรณีต่าง ๆ  ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร เช่น สตรีกับการบวชภิกษุณี  สตรีกับพื้นที่ทางศาสนา เป็นต้น  

เกณฑ์ที่จะพิจารณาตาม เพื่อทำความเข้าใจต่อประเด็นการบวชภิกษุณีของกลุ่มคัดค้าน

๑.      เกณฑ์การบวชตามวินัย  วินัยมิได้ห้ามบวชแต่มีกฎในการบวชว่าต้องบวชด้วยสงฆ์สองฝ่าย(วิ.จู ๗/๔๓๖/๓๖๖) ภิกษุณีฝ่ายเถรวาท ไม่มีประวัติต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน “สายธาร”ของภิกษุณีหมดไป การบวชจึงย่อมไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย

๒.      องค์กรปกครอง มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดเมื่อมีมติอันใดย่อมมีผลต่อการปกครองคณะสงฆ์โดยตรง การห้ามบวชโดย และมติมหาเถรสมาคมต่อการห้ามบวช อาทิ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๑ คำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๘/๒๕๒๗ และครั้งที่ ๑๘/๒๕๓๐  นัยหนึ่งเพื่อรักษาพระธรรมวินัย นัยหนึ่งเพื่อรักษาเกณฑ์รวมในฐานะองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย

๓.      วัฒนธรรมองค์กร คณะสงฆ์เถรวาทมีลักษณะที่ถือปฏิบัติตาม “จารีต” ที่เคยปฏิบัติมา “ไม่บัญญัติใหม่ ไม่ถอนบัญญัติเดิม”(วิ.จู.๗/๔๔๑/๓๘๓)ซึ่งมีผลต่อการรักษาพระธรรมวินัย และปฏิบัติสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันนับ

เกณฑ์พิจารณาตามในมุมของผู้สนับสนุน  หรือเห็นสมควรให้บวชภิกษุณี

๑.      ความเชื่อในเรื่องเพศต่อการปฏิบัติธรรม ในนัยยะที่หมายถึง “ภิกขุภาวะ” ที่สะดวกต่อการปฏิบัติธรรม เข้าถึงธรรม การบวชโดยไม่จำกัดด้วยเพศทางกายภาพ เพื่อเข้าสู่ “ภิกขุภาวะ” และเป้าหมายสูงสุดทางศาสนาจึงย่อมเป็นที่หมาย และคาดหวัง จากชาวพุทธผู้รักต่อการปฏิบัติธรรม (มิลินทปัญหา)

๒.      พื้นที่ทางศาสนาต่อกลุ่มสตรีเพศ ถ้าเราเชื่อว่าการบวชสตรีในครั้งพุทธกาลก็เพื่อยกสถานะของสตรีโดยใช้พื้นที่ทางศาสนาของพระพุทธเจ้า จะตีความได้หรือไม่ว่าพระพุทธเจ้ามองบริบทสังคม จึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริงมิได้เลือกปฏิบัติด้วยเพศ

๓.      สตรีเพศกับการทำงานเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาหากเราชื่อว่าการทำงานเพื่อศาสนา ชาย-หญิงมีสิทธิ์และความสามารถในการทำงานร่วมกันได้  “สตรี-ภิกษุณี-ชี” ก็ย่อมมีนัยยะในการทำงานส่งเสริม รักษา พระพุทธศาสนาด้วย

๔.      สิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ ที่จะเข้าถึงศาสนา หรือเลือกปฏิบัติตามหลักศาสนา ที่ตนเองนับถือ ตามกฎหมาย หรือหลักอื่นใดที่ว่าด้วยสิทธิ์ เช่น  รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ม.๓๗ เป็นต้น

ในทัศนะนี้ถ้าเรายังไม่ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ปัญหาก็จะเกิดเช่นอย่างที่เกิดต่อเนื่องมิรู้จบ ในทางกลับกันถึงเราจะไม่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี (ก) แต่ถ้าเราจัดสร้างพ.ร.บ.แม่ชี และส่งเสริมให้มีฐานะเป็นนักบวช มีพื้นที่ต่อกลุ่มสตรีเพื่อการปฏิบัติธรรม  มีสถานะในการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา เราอาจเห็นสตรีไทยในชุดขาวทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา เช่น แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และอีกหลาย ๆ ท่าน ได้ทำงานทั้งในระดับประเทศและเวทีโลก อันมีเป้าหมายเพื่อการรักษาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างนั้นจะดีกว่าไหม ? (ข) ส่งเสริม สร้างเสริม ก่อให้เกิด  รวมไปทั้งสร้าง พ.ร.บ.ทำให้องค์กรชาวพุทธที่มิใช่เฉพาะพระสงฆ์เติบโต (พุทธบริษัท ๔) ที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติธรรมและทำงานเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาได้  เพราะเท่าที่ปรากฏนับจนกระทั่งปัจจุบัน  ก็ยังไม่เห็นคณะสงฆ์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับอันใด เราปฏิเสธปัญหาด้วยการ ขับท่านพรหมวํโสออกจากคณะสงฆ์ แต่ปัญหาเรื่องการบวช หรือการให้พื้นที่ทางศาสนาก็ยังคงอยู่ และรอเวลาว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นอีก กรณี สาระ จงดี  บุตรสาวนรินทร์ กลึง ภาษิต (ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา.2536)  ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงค์ บทสรุปคือแก้ด้วยการห้าม ตัดขาดไม่ยุ่งเกี่ยว   ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้วยวัฒนธรรมอำนาจ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในฐานะที่เป็นปัญหา (ทุกข์) อย่างเข้าใจปัญหา(สมุทัย) หาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบเกิดการยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย(มรรค) จนนำไปสู่การยุติปัญหา และทำให้เกิดความผาสุกในการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง (นิโรธ) จนกระทั่งกลายเป็นการขับเคลื่อนสังคมองค์รวมในมิติทางศาสนาอย่างนั้นจะดีกว่าหรือไม่ ?

พระพุทธศาสนาส่งเสริมคำว่า “สันติภาวะ” สู้คุยกันแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเข้าใจและยอมรับต่อหลักการ และมิติทางสังคม แล้วก่อให้เกิดความ “สุข” ร่วมกันน่าจะเป็นทางออกอย่างชาวพุทธจะดีกว่าไหม ?

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://watmai.atspace.com/ordination5.htm (ทรรศนะต่อการบวชภิกษุณี)

หมายเลขบันทึก: 329872เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หากมีการแก้ไขกฎ ให้สามารถบวชภิกษุณีได้ ก็ถือว่าดี ย่อมมีส่วนช่วยให้สังคมเย็นลงกว่านี้ ประเด็น อยู่ที่ว่า "ต้องกระทำด้วยคณะสงฆ์สองฝ่าย" สามารถแก้ไขได้หรือไม่ แก้ไม่ได้เพราะอะไร หากแก้ไขแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร เราทุกฝ่ายไม่ควรปฏิเสธปัญหา เดิมมีภิกษุณี เป็นคำถามว่า ทำไม่เดิมถึงมี ปัจจุบันทำไมถึงมีไม่ได้ แรกเริ่มเดิมที ย่อมมีสงฆ์ฝ่ายเดียวมิใช่รึ หรือว่าภิกษุณี รูปแรก เกิดขึ้นได้อย่างไร บางอย่างเราชาวพุทธต้องถอยหลังกลับไปดูสิ่งที่ดีแต่ดั้งเดิม แล้วนำกลับฟื้นฟูใหม่ได้

คำตอบ "เห็นด้วยนะ" อยากให้มี "พิธีบวชภิกษุณี" ขึ้นในประเทศไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท