ประสบการณ์การประเมินโรงเรียนในฝัน


โรงเรียนในฝัน

 

ประสบการณ์การประเมินโรงเรียนในฝัน

                                  ชัด บุญญา

สามปีที่ผ่านมาผมได้คลุกคลีอยู่กับการประเมินโรงเรียนเพื่อรับรองเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝันอยู่ประมาณ 30 ครั้งทั้งการซักซ้อมทำความเข้าใจกับคุณครู และ การประเมิน และก็เป็นยกองเชียร์ให้กับแนวความคิดของโรงเรียนในฝันมาโดยตลอด การได้คลุกคลีกับโรงเรียนในเรื่องนี้ทำให้เรียนรู้อะไรต่ออะไรที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน การเรียนการสอนและการสนับสนับ ส่งเสริมการจัดการศึกษาของหน่วยเหนือของโรงเรียนมากมาย

ก่อนพูดถึงการประเมิน ขอย้อนกลับไปยังแนวความคิดโรงเรียนในฝัน ที่เป็นความคิดชนิดที่ไม่ต้องเปิดเอกสารมาพูดของสักนิด

โครงการโรงเรียนในฝัน เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้เรียนโดยผ่านกระบวนการเรียนการสอน หรือ การจัดการเรียนรู้ ที่มีการบริหารการเรียนรู้ของโรงเรียนมาเป็นตัวช่วยครู และช่วยนักเรียนโดยตรงให้เกิดความเข้มแข็ง

ความเข้มแข็งที่เป็นจุดสุดยอดของโรงเรียนในฝันก็คือ การที่นักเรียน รู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง เชื่องโยงองค์ความรู้ที่เรียนมาจากกระบวนการของโรงเรียน และประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาทั้งปวง จนสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ ผลงาน ชิ้นงานได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถอธิบาย นำเสนอ ตอบข้อซักถามได้อย่างมั่นใจ อ่อนน้อม สง่างามได้ทุกสถานการณ์

การที่จะผลผลิต หรือนักเรียนที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ โรงเรียนในฝันจึงเน้นที่ ปัจจัยหลักๆ เช่น

  1. โรงเรียนต้องมีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งในและนอกห้องเรียน Green Clean and Safety ก็ยังเป็นหลักคิดได้ แต่ต้องลึกกว่าเดิม เช่น ห้องน้ำห้องส้วมในโรงเรียน ก็ต้องเป็นชนิดที่แทบนอนได้ทุกส่วนที่ปรับปรุงแล้วหลังจากการประเมินเพื่อรับรองเป็นโรงเรียนในฝันแล้วก็ต้องรักษาสภาพความสวยสด งดงาม เอาไว้ได้ เป็นต้น

2. ครูทุกคนมีสื่อการเรียนการสอนตามมาตรฐานการเรียนรู้ ในวิชาที่สอนที่หลากหลาย เหมาะกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน หรือ แต่ละกลุ่มความสามารถ ซึ่งครูจะมีความรู้ความสามารถตามความคาดหวังนี้ได้ โรงเรียนจึงต้องมีการพัฒนาครูในเรื่องการใช้ ICT เพื่อการสอน และมี ICT เพื่อการจัดการเรียนรู้สำหรับครูทุกคนไว้ให้พร้อม

3.โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในภายนอกโรงเรียน ที่ครูทุกลุ่มสาระสามารถนำไปใช้เป็นสำหรับออกแบบการจัดกาเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรง แปลงเนื้อหาสาระในบทเรียนที่เป็นนามธรรม ให้เป็นรูปธรรม เพื่อเชื่อมให้เข้าจริง จำได้ไม่รู้ลืม และพร้อมที่จะนำสู่ความเข้มแข็งดังกล่าวข้างต้น

4.นักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ในระดับโรงเรียน ซึ่งได้แก่ บริการห้องสมุด ที่มีทั้งการบริการที่รวดเร็วประทับใจ และมีกิจกรรมสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนใฝ่เรียน ใฝ่รู้ จากการฟัง พูด อ่านเขียน ถามตอบคิดวิเคราะห์ และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ระดับโลก ผ่านเครือข่าย Internet เพื่อสืบค้นความรู้ ที่ตนสนใจหรือได้รับมอบหมายจากกระบวนการเรียนรู้ที่ครูมอบหมายได้อย่างสะดวก

5.โรงเรียนมีกระบวนการบริหารการเรียนรู้ ที่อาศัยปัจจัยภายใน ภายนอก และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ครูมีการพัฒนาตนเองเพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และมีการดูแลช่วยเหลือครู และอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เกาะติดอยู่กับการจัดการเรียนรู้

6.ครูสร้างสรรค์กระบวนการจัดการเรียนรู้ ในระดับโรงเรียน กลุ่มสาระ และวิชา ที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของผู้เรียน ที่รองรับด้วย หลักการ แนวคิด ทฤษฎี และข้อค้นพบของตนเอง ที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้มแข็ง สามารถอธิบาย ตอบข้อซักถามถึงความเข้มแข็งของผู้เรียนที่มาจากกระบวนการจัดกาเรียนรู้ของตนเอง กลุ่มสาระ และโรงเรียนได้

การประเมินโรงเรียนในฝันคืออะไร

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พอสรุปพฤติกรรมการประเมินของคณะกรรมในภาพรวมได้ว่า การประเมินโรงเรียนในฝัน คือ การตรวจสอบความเข้มแข็งของนักเรียน ที่มาจากกระบวนการจัดการเรียนรู้ และ การบริหารการเรียนรู้ของโรงเรียนว่า กรณีตัวอย่างของความเข้มแข็งของผู้เรียนที่นำมาเสนอในวันประเมิน เข้มแข็งพอ ที่จะเป็นกรณีตัวอย่างให้โรงเรียนและคณะครูนำไปใช้เป็นภาพในฝัน สำหรับสร้างคุณภาพผู้เรียน ที่ต้องอาศัยกระบวนการของโงเรียน ทั้งกระบวนการจัดการเรียนรู้ และการบริหารการเรียนรู้ ก่อนการ

 รับรองให้เป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน หรือไม่ การประเมินโรงเรียนในฝันที่เป็นอยู่ จึงเป็นการประเมินด้านผลผลิต หรือ ตัวผู้เรียน ที่โรงเรียนนำมาเป็นกรณีตัวอย่างให้ประเมิน หรือ ตรวจสอบทั้งตัวผู้เรียน และกระบวนการของโรงเรียน

 

กระบวนการประเมินที่ปฏิบัติกันมาเป็นอย่างไร

ที่ปฏิบัติกันมา โดยผู้เขียนมีส่วนร่วมด้วย ปฏิบัติกันในลักษณะอย่างนี้

08.30 . นักเรียน ครู ผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้แทนชุมชน

รอต้อนรับกรรมการ

09.00 . กรรมการจะไปถึงโรงเรียน

(กรรมการจะประกอบด้วยผู้แทน จาก สพฐ. ผู้อำนวยการการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษานิเทศก์ ที่ สพฐ. แต่งตั้งไว้จำนวนหนึ่ง และให้โรงเรียนพิจารณาเชิญไปเป็น กรรมการ จำนวน 3 - 10 คน)

1)นักเรียนแกนนำที่จัดไว้จำนวนเท่ากับจำนวนกรรมการ หัวหน้าคณะนักเรียน

แกนนำกล่าว ต้อนรับ แนะนำนักเรียนแกนนำ แนะนำผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะที่มาให้การต้อนรับ และกลัดช่อดอกไม้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นกรรมการ

2) คณะนักเรียนนำกรรมการไปสักการะพระพุทธรูป หรือ อนุสาวรีย์ หรือ สิ่งที่เป็นที่เคารพนับถือของครู ขณะนักเรียนแกนนำคณะกรรมการประเมินจากจุดนี้เป็นต้นไป นักเรียนจะประกบกรรมการเป็นรายบุคคล เพื่อทำหน้าที่มัคคุเทศก์ ไปทุกจุดการประเมินที่โรงเรียนจัดไว้ เมื่อผ่านแต่ละจุดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละกลุ่มสาระ นักเรียนแกนนำจะเชิญกรรมการประเมิน ให้พบกับนักเรียนประจำจุดการประเมิน ที่มีนักเรียนผู้นำเสนอผลงานนักเรียนในภาพรวมของจุด และนักเรียนผู้นำเสนอผลงานในจุดย่อยๆ ซึ่งมีประมาณ 4 - 7 ผลงาน

3) ระหว่างเส้นทางการประเมิน อาจมีการนำผลงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม และการแสดงออกถึงความสามารถการเรียนรู้จาก 8 กลุ่มสาระและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมาสอดสอดแทรกไว้อย่างเหมาะสม เช่น

การฟ้อนเล็บ การแสดงกลองสะบัดชัย การแสดงดนตรี การสาธิตท่ามวยไทย การแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า ฯลฯ

ตลอดเส้นทาง ทุกจุดการประเมิน กรรมการจะสัมภาษณ์ สอบถามนักเรียนประจำจุดเพื่อตรวจสอบความเข้มแข็งของนักเรียน พร้อมๆ กับการสาวไปยังต้นตอของความเข้มแข็งมากน้อยที่เป็นสืบเนื่องมาจากกระบวนการจัดการเรียนรู้ และการบริหารการเรียนรู้ของโรงเรียน เพื่อที่คณะกรรมการจะลงสรุปว่าสมควรผ่านการประเมินหรือ

กรณีตัวอย่างจุดประเมิน และคำถามของคณะกรรมที่จะค้นหา ตรวจสอบ

ความเข้มแข็งของนักเรียน

จุดประเมินการงานอาชีพ/ศิลปะ : การต้อนรับของนักเรียน ณ จุดต้อนรับ

แนวคำถาม

- ดอกไม้ของหนูทำได้สวยมาก ทำไมจึงมีการกลัดดอกไม้ให้กรรมการ ทราไหมค่ะ

- ช่อดอกไม้นี้มีกี่ดอก มีดอกอะไรบ้าง

- ในช่อดอกไม้นี้ มีการกำหนดไหมว่าจะต้องมีดอกอะไรบ้าง

- จากจุดประสงค์ของการกลัดดอกไม้ที่กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้สิ่งอื่นแทนได้ไหม เพราะเหตุใด

 

จุดประเมินศิลปะ : การฟ้อนเล็บ

แนวคำถาม

  • การฟ้อนเล็บทำได้สวยงามมาก พร้อมได้อย่างพร้อมเพรียงดีมากๆ ทราบไหมค่ะว่า สมาชิก ที่มาฟ้อนวันนี้มีกี่คน

- การฟ้อนเล็บโดยทั่วไปๆ มีการกำหนดไหมว่า แต่ละครั้งจะต้องมีกี่คน มีวิธีการกำหนดอย่างไร

- การฟ้อนเล็บมีกี่ท่า ท่าอะไรบ้าง หนูลองรำท่า…….ให้ครูดูหน่อยซิ........ความงามของท่านนี้อยู่

ตรงไหน

- ได้ถ่ายทำไว้เป็นวีดิทัศน์ แล้วหรืองยัง โพสต์ขึ้น UTUBE แล้วหรือยัง

ฯลฯ

จุดประเมินการงานอาชีพ : น้ำผลไม้สมุนไพรสูตร 1

แนวคำถาม

- สูตรนี้มีผลไม้หรือสมุนไพรอะไรบ้าง (คำถามเชิงวิเคราะห์)

- แต่ละอย่างมีสรรพคุณอย่างไร

- รวมๆ แล้วมีสรรพคุณสำคัญอย่างไร (คำถามเชิงสังเคราะห์)

- ควรจะตั้งชื่อใหม่อย่างไรดี

- ใครเป็นคิดสูตร

  • คิดสูตรใหม่ได้ไหม จากสูตร 1 และสูตร 2 ลองคิดสูตรใหม่ให้ครูดูเดี๋ยวนี้ซิว่าควรจะประกอบด้วยอะไรบ้าง สูตรใหม่นี้ อย่างน้อยต้องมีผลไม้ 1 2 ชนิด และสมุนไพร 2 ชนิด

(คำถามเชิงการนำไปประยุกต์ใช้ สะท้อนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ตรวจสอบความเข้าใจจริง ในสิ่งที่นำเสนอ)

- ขายแก้วละเท่าไร มีเงินกำไรมีแล้วเท่าไหร่ มีการคิดต้นทุนกำไรอย่างไร มีบัญชีรับจ่ายไหม ขอดูด้วย

      - ดีมากที่ใช้โปรแกรมเอ็กเซลล์ ในการทำบัญชีรับจ่าย แสดงว่าเก่ง      

        คอมพิวเตอร์ด้วย ประชาสัมพันธ์นำผลไม้สูตรต่างในเว็บไซต์ของ

         โรงเรียนแล้วหรือยัง

 

จุดประเมินศิลปะ : ภาพวาด

แนวคำถาม

- ภาพวาดนี้ควรจะชื่อว่าไร ทำไมจึงตั้งชื่ออย่างนี้

- ถ้าตั้งชื่อ .........ภาพนี้ควรจะเพิ่มองค์ประกอบอะไรได้อีก

- ภาพวาดที่นำมาแสดงมีกี่ภาพ

- ถ้าจะจัดเป็นประเภท มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

- ถ้าจะจัดประเภทตามสีที่ใช้ จัดได้กี่ประเภท อะไรบ้าง ภาพนี้ (ชี้ที่ภาพ)

เป็นประเภทไหน

- เธอวาดภาพไหน มีแรงบันดาลใจอย่างไร จึงวาดภาพนี้

- ใครคือจิตรกรในดวงใจ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับโลก

       - ถ้าจะขาย จะขายเท่าไร เพราะเหตุใด

       - มีการประชามสัมพันธ์ขายภาพบนเว็บไซต์แล้วหรือยัง

จุดประเมินพละ : เดาะบอล

แนวคำถาม

- เดาะได้นาทีละกี่ครั้ง

- การเดาะบอลมี กฎ กติกา อย่างไร

- มีเทคนิควิธีการอย่างไรให้เดาะบอลดได้นานที่สุด

       - การเดาะบอล จะใช้ในสถานการณ์ การแข่งขันฟุตบอลอย่างไร

    - จะใช้ประโยชน์จากการเดาะบอลในสถานการณ์อื่นๆ ได้ในโอกาสใด อย่างไร

- เรียกนักเรียนคนหนึ่งที่ไม่เก่งเดาะบอลมา ให้นักเรียนที่สาธิต สอนวิธีการเดาะบอล และคอยตรวจสอบ ความรู้ความเข้าใจของเขา

- เคยถ่ายวีดิโอการเดาะบอลของตัวเอง ไว้เพื่อดูจุดอ่อนจุดแข็งของตัวหรือไม่

       - เคยเล่นเกมแข่งขันบอลหรือไม่ มีความเหมือนหรือจากการเล่นบอล 

         จริงๆ อย่างไร

- การเล่นเกม กับการเล่นบอลจริง มีความเป็นคุณ เป็นโทษอย่างไร

 

หมายเหตุ นักเรียนที่นำมาสาธิต หรือ แสดงในโอกาสการประเมิน โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสาระใด จะมีทักษะอยู่แล้ว การตรวจสอบจึงตรวจสอบ ความรู้ การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชิงการประยุกต์ใช้ และ เจตคติ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่นำสาธิต หรือมาแสดง

 

จุดประเมินภาษาไทย : เพลงกล่อมลูก

แนวคำถาม

- ใช้ภาษาเมืองได้ไพเราะมาก ลองกล่อมเป็นภาษาไทยกลางดูซิ

- แปลความทั้งหมดให้ครูฟังซิ

- เพลงกล่อมลูกนิยมใช้กันเมื่อไร

- ปัจจุบันมักใช้วิธีการกล่อมลูกอย่างไร

- ถ้าจะกล่อมลูกในสมัยนี้ ควรมีเนื้อหาสาระอย่างไร

   - ลองแต่งเพลงกล่อมลูกแนวใหม่ แล้วลองกล่อมให้ครูฟัง สั้นๆ ซิ

 

จุดประเมินภาษาไทย : หนังสือเล่มเล็ก

แนวคำถาม

- สรุปความให้ครูฟังซิ เรื่องนี้มีตัวละครกี่ตัว ใครเป็นคนดี เพราะเหตุใด ใครเป็นคนไม่ดีเพราะเหตุไร

- จะดีไหม ถ้าจัดเรื่องนี้เป็น e-book ทำแล้วหรือยัง ถ้าจัดทำเป็น e-book จะดีอย่างไร

- ครูจะให้เธอแต่งเรื่องใหม่โดยมีตัวละครต่อไปนี้ แมว 1 ตัว ปลา 1 ตัว เด็กผู้ชาย 1 คน

ให้เธอแต่งเป็นเรื่องราว ประมาณ 5 บรรทัด เริ่มได้

จุดประเมินสังคมศึกษา : Google Earth

แนวคำถาม

- ขั้วโลกเหนืออยู่ที่ไหน ไปเดี๋ยวนี้

- ประเทศฝรั่งเศส หอไอเฟล อยู่ที่ไหน ไปเดี๋ยวนี้

- Google คืออะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

- มีอะไรอีกไหม ที่ทำหน้าที่เหมือน Gooogle

- ได้นำ Google Earth ไปใช้ประโยชน์อะไรแล้วบ้าง

- กรณีที่นำมาใช้ในการเรียนภูมิศาสตร์ ช่วยให้มีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ในเรื่องอะไร ยกตัวอย่างแล้วอธิบายให้ฟัง จะใช้ Google earth ประกอบด้วยก็ได้

 

จุดประเมินสังคมศึกษา : ชนเผ่ากะเหรี่ยง

แนวคำถาม

- สังคมศึกษา แปลว่าอะไร อธิบายความหมายให้ฟังซิครับ

- วิถีชีวิตชนเผ่ากะหรี่ยง ครอบคลุมความหมายของสังคมศึกษาในแง่มุมใด

- นักเรียนในโรงเรียนของเธอมีกี่ชนเผ่า การนำเสนอเรื่องชนเผ่ากะเหรี่ยง

เป็นความลำเอียง หรือไม่ เพราะเหตุใด

- วิถีชีวิตชนเผ่ากะเหรี่ยงกับชนเผ่าอื่น ๆ มีอะไรที่แตกที่เหมือนกัน และมีอะไรที่แตกต่างกัน

จุดประเมินภาษาอังกฤษ : ละครเรื่อง แม่ไก่กับลูกไก่เจ็ดตัว

แนวคำถาม

    - Can you summarize the story for me in one minute? please.

    - Can you translate each dialogue into Thai? Please.

- Why was the hen killed?

- If you were the farmer who killed the hen you would kill the hen or found something else for the monk? Why?  

   - Who were the most stupid in this story? Why?

   - If they were clever, what would they do?

 

จุดประเมินวิทยาศาสตร์ : การศึกษารูปแบบการเดินของปูนา

แนวคำถาม

- คิดได้อย่างไร ถึงมาทำโครงงานนี้

- นอกจากวีดิโอที่ใช้บันทึกแล้ว ยังมีอุปกรณ์อื่นอีกบ้างไหม นำมาใช้ทำอะไร

- รวมแล้วปูมีรูปแบบการเดินกี่แบบ อะไรบ้าง โชว์วีดิโอไห้ครูดูอีกครั้ง

- นอกจากจะนำไปเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้สำหรับล้อรถถานาแล้ว คิดว่าจะนำไปใช้ทำอะไรได้อีก

- จากการทำโครงงานเรื่องนี้ เกิดข้อคิด และบทเรียนอะไรบ้าง

- ถ้าจะศึกษา ในทำนองเดียวกันนี้ต่อไปอยากศึกษา เรื่องอะไรอีก เพราะเหตุใด

 

จุดประเมินคณิตศาสตร์

แนวคำถาม / ตรวจสอบ

- การหาพื้นที่สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม และปริมาตรด้วยโปรแกรม GSPทำได้อย่างคล่องแคล่ว ยอดเยี่ยมมาก ขอให้คนที่ 2 ไป ออกมาสาธิตการหาปริมาตรของ รูปทรงปิรามิตร นี้ โดยใช้โปรกแกรม GSP คนที่ 3 และ 4 ออกไปคำนวณพื้นที่ของห้องนี้ ทั้งพื้น เพดาน และฝาผนังห้อง

- คนที่ 5 – 6 แต่งโจทย์ เกี่ยวกับปริมาตรของทรงกลมนี้ แล้วผลัดเปลี่ยนกันแก้โจทย์ที่กำหนด โดยใช้โปรแกรม และไม่ใช้

- จะประยุกต์ใช้เรื่อง การหาพื้นที่ ปริมาตร ในชีวิตประจำวันในกรณีใดได้บ้าง อย่างไร

จุดประเมินเทคโนโลยี : ผลงานการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ออกแบบผลิตภัณฑ์, ตัดต่อวิดีโอ, animation, Photo shop

 แนวคำถาม

- ผลงานชิ้นนี้ ส่วนไหนที่เธอคิดเอง

 - จุดเด่นของผลงานชิ้นนี้คืออะไร มีจุดอ่อนหรือไม่ คืออะไร

 - มีขั้นตอนการทำอย่างไร

- ประโยชน์ ของผลงานนี้คืออะไร

- ถ้าจะปรับปรุงใหม่ จะปรับปรุงส่วนใด อย่างไร

 

กระบวนการ และวิธีการประเมินที่ผ่านมา ก็เพื่อพิสูจน์ทราบ ความเข้มแข็งของนักเรียน ที่รู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง เชื่องโยงองค์ความรู้ที่เรียนมาจากกระบวนการของโรงเรียน และประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาทั้งปวง จนสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ ผลงาน ชิ้นงานได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถอธิบาย นำเสนอ ตอบข้อซักถามได้อย่างมั่นใจ อ่อนน้อม สง่างามได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งโดยปกติในโรงเรียนทั่วไปจะยืนยันความเข้มแข็งของนักเรียนด้วย ผลการการทดสอบ ผลการสอบภายประจำประจำภาค ผลการสอบระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่ และที่ผ่านมากก็ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจกันทุกฝ่าย การประเมินโรงเรียนในฝันอีกมิติหนึ่งของการประเมินก็เพื่อตรวจสอบความเข้มแข็งจากสภาพจริง ให้เห็นกันด้วยสายตา อย่างไรก็ดีการตรวจสอบก็ยังจำกัดการตรวจสอบนักเรียนจำนวนหนึ่ง ที่โรงเรียนนำมาเป็นกรณีตัวอย่างให้ตรวจสอบหรือรับการประเมินเพื่อแสดงความพร้อมของความเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน และเมื่อผ่านการประเมินรับรองเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝันไปแล้ว ก็จะได้เกิดความมั่นใจในกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นที่มาของผลงานนักเรียนที่นำมาเสนอให้กรรมการประเมิน และนำกระบวนการนั้นไปพัฒนาการจัดการเรียนรู้ต่อไป

 

กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังจากความเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน ในโอกาสต่อไป ขอเสนอแนะ ดังนี้

  1. คุณครูทำความเข้าใจมาตรฐาน ตัวชี้วัด ที่ต้องการให้นักเรียนบรรลุ

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียนในฝัน
หมายเลขบันทึก: 329792เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

(ต่อ)

การเรียนรู้ที่คาดหวังจากความเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน ในโอกาสต่อไป ขอเสนอแนะ ดังนี้

1.คุณครูทำความเข้าใจมาตรฐาน ตัวชี้วัด ที่ต้องการให้นักเรียนบรรลุ

2.คุณครูกำหนดแนวทางของผลงาน ชิ้นงาน องค์ความรู้ ที่จะสะท้อนความรู้ เจตคติ ทักษะ ที่แท้จริง ที่เรียกว่ารู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง ซึ่งเป็นที่มาของผลงาน

3.คุณครูศึกษาค้นคว้า องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อง 1 และข้อ 2

4.คุณครูศึกษากระบวนการ เทคนิควิธีการสอน สื่อการสอนโดยทั่วไป โปรแกรมคอมพิวเตอร์

เพื่อการสอนที่เกี่ยวข้อง

5.คุณครูจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ให้นักเรียนคิดหาคำตอบที่หลากหลาย อะไร ใคร ทำไม ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร (ปัจจุบัน อดีต อนาคต) ครอบคลุมคำถามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมา วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กระบวนการ ผลผลิต ผลกระทบ ข้อมูลย้อนกลับ บริบทที่เกี่ยวข้อง มีการค้นหาข้อมูล จัดกระทำข้อมูล ประยุกต์ใช้ ไปจนถึงนักเรียนคิดทำเองได้โดยไม่รอการสอนจากครู จนกระทั่งสามารถนำเสนอองค์ความรู้ ผลงาน ชิ้นงาน ที่สะท้อนความรู้ความเข้าใจจริง ได้ทุกสถานการณ์ รวมทั้งผลงานที่จะนำเสนอเพื่อการรับการประเมินเพื่อรับรองเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน

ุ6. ครูบูรณาการจัดการเรียนรู้ ด้วยการวางแผนการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงกลุ่มสาระอื่นๆ พร้อมกันไป เช่น เมื่อสอนคณิตศาสตร์ ก็ควรคำนึงถึง วิทยาศาสตร์ เช่น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และศิลปะ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี หรือ เมื่อสอนศิลปะ ก็ควรคำนึง วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และ คณิตศาสตร์ เพื่อเชื่อมต่อองค์ความรู้ที่นักเรียนมีอยู่แล้วให้เกิดการเรียนรู้ตาม จุดหมาย หรือ วิสัยทัศน์ของหลักสูตร

7. คุณครูประเมินจากการสังเกต สัมภาษณ์ สอบถาม เสมือนการซักถามของคณะกรรมการประเมินโรงเรียนในฝันในวันซ้อม และวันประเมินจริงขณะจัดการเรียนรู้ ที่ได้รับคำตอบด้วยคำพูด และข้อเขียน เพื่อดูแลช่วยเหลือให้เกิดความเข้าใจ ปฏิบัติได้ตามมาตรฐานตัวชี้วัด เป็นรายกลุ่มความสามารถ เก่ง/ กลาง / อ่อน หรือ เป็นรายบุคคล แล้วประเมินด้วยการทดสอบ

ประสบการณ์ และแนวคิดที่นำเสนอมานี้ เป็นส่วนหนึ่ง ขององค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการคลุกคลีกับโรงเรียนในฝันมาตั้งแต่โรงเรียนในฝันรุ่นที่หนึ่ง และรุ่นที่สอง เท่าที่พอจะจำมาบอกเล่ากันได้ หากมีคำถาม หรือความคิดเห็นต่อยอดจากที่นำเสนอมานี้ ก็ขอเชิญเข้ามาไปพูดคุยกันนะครับ

ดีมากมาย พูดจริงๆ

เป้าหมายการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนในฝัน ที่ได้กล่าวมาบ้างแล้ว ก็คือ

"ในทุกมาตรฐานการเรียนรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 นักเรียนจะต้องรู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง เชื่อมโยงได้ สร้างองค์ความรู้ ชิ้นงาน ผลงานได้อย่างสร้างสรรค์ นำเสนอ ตอบสนองทุกสถานการณ์ ทั้งในระดับห้องเรียน โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด ตลอดจนระดับชาติ และนานาชาติได้อย่างมั่นใจ นำไปใช้ประโยชน์ตน-ส่วนรวมได้ ตามศักยภาพพื้นฐานของแต่ละคน"

และเป้าหมายนี้ก็น่าจะเป็นเป้าหมายของทุกๆ โรงเรียน

เมื่อคุณครูอยู่กับนักเรียน สอนไป สังเกตไป ทดสอบ และสอบไป ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีผลการเรียนรู้ตามเป้าหมายหรือไม หรือถ้าจะให้ดีก็ควรให้นักเรียนประเมินตนเอง ปรับปรุงตนเอง ช่วยกันปรับปรุงตนเองร่มกับเพื่อนๆ ว่าที่เรียนแต่ละเรื่อง ผ่านไปนั้น ตนเองมีความรู้ตามหมายนี้หหรือไม่ แน่นอนว่านักเรียนส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่จะทำได้ ถ้าหากปลูกฝังไปนานๆ ห้าปีสิบปีข้างหน้าก็อาจจะทำได้เพิ่มขึ้น

เมื่อฝ่ายบริหารโรงเรียนจะตรวจสอบคุณภาพโรงเรียน ก็สามารถทำได้หลายทาง ทางที่ทำกันอยู่แล้วก็คือ ทดสอบ และสอบ ที่สามารถรู้ว่านักเรียนมีคุณภาพอย่าไรส่วนหนึ่ง ถ้าใช้วิธีสัมภาณ์ สอบถาม พูดคุยตามแนวการประเมินโรงเรียนในฝัน แล้วหาทางซ้อมเสริม หรือให้นักเรียนซ่อมเสริมตนเอง ก็จะช่วยเติมเต็มคุณภาพการศึกษาอีกทางหนึ่ง

เขตพื้นที่ก็เช่นกัน นับตั้งแต่ ผอ. เขต และศึกษานิเทศก์ เมื่อเข้าไปโรงเรียนก็ควรจะหาโอกาสตรวจสอบ

คุณภาพนักเรียนตามเป้าหมายนี้ ถ้าตรวจสอบแล้วพึงพอใจ ก็ยกย่องชมเชย ประกาศเกียรติคุณทั้งอย่าเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ถ้าไม่น่าพึงพอใจก็ได้โปรดหันกลับมาพิจาณาตนเอง ว่าได้ทำหน้าที่ที่ดีเลิศ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนที่เพิ่วตรวจสอบมาอย่างไรบ้าง อาจจะต้องตั้งคำถามๆ ตัวเองว่า

1. ข้าพเจ้านี้ได้ทำอะไรที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนบ้าง ในรอบ 3 ปี หรือ 2 ปี หรือ 1 ปีที่ผ่านมา ได้ทำอะไร เมื่อไร อย่างไร

2. ในเวลาการทำงานทั้งหมดตลอดปี ทำงานเพื่อคุณภาพผู้เรียนกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาในการทำงาน ในหลายลักษณะงาน

3. แผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติ ได้ปฏิบัติจริงหรือไม่ มีผลด้านปริมาณ คุณภาพ ที่ส่งผลต่อคุณภาพนักเรียน ตามเป้าหมายที่กล่าวถึงหรือไม่ อย่างไร

คิดได้สามข้อ ช่วยตั้งคำถามเองบ้างนะครับ

สวัสดีครับ

ชัด บุญญา

มีการติดตามประเมินครูอย่างเป็นระบบหรือไม่

ขอบคุณครับที่กรุณามาถามว่า มีการติดตามประเมินครูอย่างเป็นระบบหรือไม่

ผมเองไม่ได้ควรจะได้ทำ แต่ก็ยังทำไม่ได้ ในระบบของการนิเทศการศึกษาทุกวันนี้อ่อนแอครับ ศึกษานิเทศก์ของประเทศ ขาดองค์กรที่ดูแล และเข้าใจในระดับชาติ ท่านไปอ่านที่ผมเขียนไว้ในเรื่องง การนิเทศในศตวรรษที่ 21 นะครับ

อย่างไรก็ดีการติดตามประเมินครูอย่างเป็นระบบก็ไม่ได้ถูกละเลย เพราะเป็นภาระหน้าที่ของผู้บริหารการเรียนรู้ หรือ ผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่แล้ว

จะขอพูดถึงความยั่งยืนของความเป็นโรงเรียนในฝัน

หากจะถามว่าอะไรคือความยั่งยืนของความเป็นโรงเรียนในฝัน ในความคิดเห็นของผมก็คือองค์ความรู้ว่าด้วยแนวคิดของโรงเรียนในฝัน ซึ่งได้แก่ การตั้งเป้าหมายในการจัดการศึกษาของโรงเรียน การบริหารการเรียนรู้ และการจัดการเรียนรู้ที่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

เป้าหมายก็คือ "ในทุกมาตรฐานการเรียนรู้ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 นักเรียนจะต้องรู้จริง รู้ลึก รู้กว้าง เชื่อมโยงได้ สร้างองค์ความรู้ ชิ้นงาน ผลงานได้อย่างสร้างสรรค์ นำเสนอ ตอบสนองทุกสถานการณ์ ทั้งในระดับห้องเรียน โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด ตลอดจนระดับชาติ และนานาชาติได้อย่างมั่นใจ นำไปใช้ประโยชน์ตน-ส่วนรวมได้ ตามศักยภาพพื้นฐานของแต่ละคน"

การบริหารการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่การที่ผู้บริหารโรงเรียน หรือผ ู้อำนวยการโรงเรียน หรือ ที่เรียกกันดั้งเดิมว่า ครูใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่จัดการให้ครูได้มีเงินเดือน มีที่ทำงาน ทำหน้าที่หัวหน้าของครู และจัดการให้ครูสอนให้ดี ดีในอดีตก็เห็นจะได้แก่ อ่านออกเขียนได้ ทำเลขเป็น ทำข้อสอบได้ มีระเบียบวินัย ถ้าในปัจจุบัน สอนดีก็คือสอนแล้ว นักเรียนมีคุณลักษณะตามเป้าหมายที่ผมกล่าวไว้แล้ว (ตามความคิดเห็นของผมนะครับ) โดยใช้ ทรัพยากร ซึ่งได้แก่ตัวครู อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้ง ICT และกระบวนการต่างๆ ที่เกิดจากความรู้ฝังลึก (tacit knowledge)ที่มีอยู่ในตัวเอง และตัวครู และความรู้จากเอกสาร ตำรา ผลงานวิจัย (explicit knowledge) มาใช้เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามที่ผมกล่าวไว้

การจัดการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่การจัดการ (หรือจะเรียกว่าการบริหารก็น่าจะไม่ผิด)ให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร คือรู้จริง รู้ลึก รู้กว้างฯ ดังที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่คนที่เป็นครู ต้องผ่านการเรียนที่จะเป็นครูมาแล้ว ฝึกสอนมาแล้ว และมีประสบการณ์การสอนมาแล้วไม่มาก็น้อย ครูจึงถูกจำแนกเป็นครู คศ.1-2- 3- 4 เพื่อบ่งบอกถึงความสามารถในการสอนได้บ้าง แต่เดิมใช้คำว่าสอน ปัจจุบันจะใช้คำว่าจัดการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึงทำหลายๆอย่าง หลายลักษณะ รวมทั้งสอน บอก อธิบาย อยู่ด้วย เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้จริง เรียนรู้แล้วไม่ลืม การไม่ใช้คำว่าสอนก็เกรงว่าจะทำให้เข้าใจว่าเป็นการบอกความรู้ เพื่อทำให้จำได้เท่านั้น

ที่ผมพูดมาในเรื่องการบริหารการเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้ข้างต้น ก็มีการทำอยู่แล้วแต่ ก็บรรลุเป้าหมายที่ผมกล่าวถึงจะมีอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ (ซึ่งสอดรับกับคะแนนผลการสอบระดับชาติที่ทุกวิชากทุกลุ่มสาระจะไม่ถึง 50 %) เท่าที่ผมพบก็คือโรงเรียนในฝันที่ผมไปช่วยเตรียมความพร้อมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อรับการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝันประมาณ 30 โรงเรียน ทุกโรงเรียนที่ผ่านมาไม่ว่าประถม หรือมัธยม สะท้อนออกมาให้ผมเห็นว่า “มีคุณลักษณะตามเป้าหมายที่ผมกล่าวถึงมีน้อยจริงๆ” พอผ่านการประเมินแล้วมีให้เห็นบ้าง

หากถามว่าแล้วจะยั่งยืนไหม ความยั่งยืนที่ว่านั้นดูได้จากตรงไหน แววของความยั่งยืนอยู่ที่ท่านผู้บริหาร และคุณครูครับ ใครจะยั่งยืนมากกว่า ก็น่าจะเป็นคุณครูครับ เพราะในช่วงที่มีการซ้อมรับการประเมินนั้น เป็นโอกาสการนิเทศเชิงลึกของศึกษานิเทศก์ หรือผู้ไปให้การสนับสนุนอื่นส่วนหนึ่ง ที่ได้นำเอาสภาพจริงมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความมเข้าใจปัญหาร่วมกัน เห็นกับตาด้วยกันว่า ผลการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านมา ที่นักเรียนนำมาเสนอนั้นนักเรียนรู้จริงหรือไม่ สร้างองค์ความรู้ ที่แทรกอยู่ในผลงานที่นำเสนอได้จริงหรือไม่ เมื่อเห็นแล้วก็ช่วยกันคิดแก้ปัญหา แต่การคิดแก้ปัญหาช่วงเตรียมการรับการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบ ก็ไม่ได้เน้นวิธีการสอนมากนัก แต่สถานการณ์การที่เกิดขึ้นในช่วงนี้น่าจะทำให้คุณครูเรียนรู้อะไรบางอย่างที่จะไปสู่ความยั่งยืนได้บ้าง ถ้าผู้บริหารได้ติดตามดูวิธีการนิเทศตรงนี้ ก็จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้บ้าง ส่วนนักเรียนที่นำเสนอนั้นคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่จะจำไปนานโดยเฉพาะนักเรียนมัคคุเทศก์ที่นำทางคณะผู้มาช่วยเหลือ และคณะกรรมการผู้ประเมินไปยังจุดรับการประเมิน ความยั่งยืนจึงน่าจะฝังลึกในนักเรียนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน เว้นเสียแต่ว่าโรงเรียนให้นักเรียนหยุดการเรียน เพราะเกรงว่าถ้ากรรมการออกนอกเส้นทางแล้วสุ่มถามนักเรียน นักเรียนก็จะตอบไม่ได้ ถ้ามีแนวคิดอย่างนี้อยู่ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง ย้ำอีกครั้งว่าไม่ถูกต้อง ผมคงไม่ต้องอธิบายเหตุผลนะครับ

ในปี 2553 นี้ เป็นการเริ่มต้นของโรงเรียนในฝันรุ่นที่ 3 จึงอยากเห็นรุ่นนี้ดำเนินการที่ไม่เน้นการซ้อมเพื่อรับการประเมิน แต่ให้เน้นการสอนให้บรรลุเป้าหมายด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้จริงๆ ของคณะครู ภายใต้ฝีมือการบริหารการเรียนรู้จริงๆ ของผู้บริหารแล้วนำผลงานที่นักเรียนรู้จริงฯ มานำเสนอเพื่อรับการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝัน ถ้าทำกันอย่างนี้ได้ ก็จะทำให้มั่นใจในความยั่งยืนเพิ่มขึ้น

ตอนนี้ที่โรงเรียนกำลังจะเข้ารับการประเมินโรงเรียนรุ่นที่ 3 ค่ะรบกวนช่วยบอกลำดับขั้นตอนพิธีการตั้งแต่ตอนเช้าและตอนบ่ายก่อนจะประเมินผลอย่างละเอียดได้ไหมคะว่าต้องมีใครบ้างที่กล่าวต้อนรับและกล่าวความรู้สึกก่อนรับฟังผลการประเมินในตอนเช้าและบ่าย

ต้องขออภัยครูนุ่น ที่ไม่ได้เข้ามาตอบ ทิ้งไปเสีย นาน

ทุกท่านครับ หากมีข้อคำถามเร่งด่วน ขอความกรุณา อีเมล์ไปนะครับ

ขอบคุณครับ

อยากสอบถามความคิดเห็นท่านศน.ชัด บัญญา ว่าในการประเมินความยั่งยืนโรงเรียนในฝัน น่าจะออกมาแนวไหนคะ หรือจัดเหมือนตอนประเมินเพื่อรับรองเลย

ความยั่งยืนตามสภาพดี ๆ ที่เห็นในวันประเมินอยู่่ที่คุณครูมีความเข้าใจ ยอมรับว่่าการสอนให้เด็กรู้จริงอย่างมีกระบวนการ จนมีผลงานมาแสดงในวันประเมิน เป็นสิ่งที่แล้วนำไปใช้ต่อ ๆ ไป โดยผู้ อำนวยการโรงเรียนคอยสนับสนุนให้ปฏิบัติด้วยสารพัดวิธี หรือ จะมีการประเมินภายในโรงเรียนเองโดยใช้วิธีที่กรรมการมาประเมินรับรองฯ ได้ก็จะยิ่งดี

.ในกรณีประเมินจากภายนอก ก็ควรใช้วิธีเดียวกัน แต่ไม่ควรจัดงานไม้ประดับเพื่อโชว์ให้ชาวบ้าน ผู้ปกครองชื่นชม เหมือนอย่างในวันประเมินรับรอง เอาแต่เนื้อ ๆ เพื่อให้คุณครูผู้บริหารเห็นผลงานของตัวเองเชิงประจักษ์ และนำไปปรับปรุงเป็นสำคัญ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท