อาริยทรัพย์.. ทรัพย์แท้ที่นำติดตัวไปได้เมื่อตายไปแล้ว


                     

  วันนี้เป็นวันพระตามปฏิทินทางจันทรคติที่เวียนมาอีกครั้งทุกๆ ๖ วัน ๗ วัน หรือ ๘ วัน เป็นธรรมเนียมของชาวพุทธ เมื่อถึงวันพระก็จะเข้าวัดกันเพื่อประกอบกิจทางศาสนา มีการบูชาพระรัตนตรัย ให้ทาน บริจาคข้าวของต่างๆ สมาทานศีลด้วยความมีหิริโอตตัปปะ ความอายและเกรงกลัวบาป ฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อเสริมสติปัญญา ความรู้ ความฉลาด เป็นการสะสมอริยทรัพย์หรือทรัพย์ภายใน ด้วยการสละทรัพย์ภายนอก มีเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติต่างๆ บริจาคถวายทานให้กับพระสงฆ์องค์เจ้า เป็นการเอาทรัพย์ภายนอกแลกทรัพย์ภายใน ทรัพย์ภายในก็คือคุณธรรมความดีทั้งหลาย 

การไปวัดจึงเหมือนกับการไปธนาคารเพื่อไปทำธุรกรรมการเงิน ถ้าจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องแลกเงินเป็นสกุลต่างๆ ไปประเทศอังกฤษก็แลกเงินสกุลปอนด์ของอังกฤษ เพราะเงินไทยใช้ได้แต่ในประเทศไทยเท่านั้น เวลาไปต่างประเทศก็ต้องใช้เงินสกุลของประเทศนั้นๆ ฉันใด ภพชาตินี้ก็เป็นเหมือนประเทศหนึ่ง เมื่อตายไปก็ต้องไปอีกภพชาติหนึ่ง อีกประเทศหนึ่ง สิ่งที่จะเอาติดตัวไปได้ก็คือทรัพย์ภายในที่เรียกว่าอริยทรัพย์ เป็นเหมือนเงินสกุลของประเทศที่เราจะไป ส่วนทรัพย์ภายนอก เช่นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่สามารถเอาติดตัวไปได้แม้แต่บาทเดียว สตางค์แดงเดียวก็เอาไปไม่ได้ 

    คนฉลาดจึงเอาทรัพย์ภายนอกมาแลกเป็นทรัพย์ภายในไว้ เอาทรัพย์ภายนอกที่มีมาฝากไว้ในธนาคารบุญ แล้วแลกเป็นเงินสกุลต่างๆ เวลาเดินทางไปภพหน้าชาติหน้า ก็จะมีทรัพย์ติดตัวไป เป็นอริยทรัพย์หรือทรัพย์ภายใน เป็นทรัพย์ที่ไม่มีใครแย่งหรือขโมยไปได้ ไม่เหมือนทรัพย์ภายนอก โดนขโมยไป ถูกโกงไป หรือถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยึดไปก็ได้ แต่ทรัพย์ภายในหรืออริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่ไม่มีใครแย่งชิงไปได้ เป็นทรัพย์ของเราโดยแท้ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปกับเรา เมื่อเราตายไปแล้วเราต้องเดินทางต่อไป ถ้ามีทรัพย์ภายในเราก็จะไปสู่สุคติ ไปสู่ที่ที่มีแต่ความสุขความเจริญ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล เป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีอริยทรัพย์ ตายไปก็จะต้องไปสู่อบาย สู่ทุคติเท่านั้น เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เพราะขาดอริยทรัพย์ที่จะฉุดรั้งไว้ไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำ นักปราชญ์คนฉลาด ผู้รู้จักเหตุรู้จักผล เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมเกิดศรัทธา ย่อมน้อมเอาสิ่งต่างๆที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติกับตน ดังที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ เป็นการมาสะสมทรัพย์ภายในหรืออริยทรัพย์ 

  อริยทรัพย์ มี ๗ ประการด้วยกัน คือ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา ๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก ๖. จาคะ ๗. ปัญญา 

๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง รู้ในสิ่งต่างๆที่เราไม่รู้กัน เช่นรู้เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ รู้เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด รู้เรื่องบาป รู้เรื่องบุญ รู้เรื่องคุณ รู้เรื่องโทษ รู้เรื่องมรรค ผล นิพพาน คือสิ่งที่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญผู้เต็มไปด้วยอวิชชา ยังไม่สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยสติปัญญาความรู้ความฉลาด วิริยะความอุตสาหะพากเพียร ขันติความอดทน สะสมบุญบารมีมาเป็นกัปเป็นกัลป์ จนบรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในไตรภพ ในโลกทั้ง ๓ นี้ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โลกของการเวียนว่ายตายเกิด ผู้มีดวงตาเห็นธรรมสามารถมองเห็นสิ่งเหล่านี้ พวกเรายังมืดบอด ยังไม่รู้ไม่เห็น แต่มีแววแห่งความฉลาด ตรงที่ยอมรับว่าเรายังโง่อยู่ และยอมรับว่าพระพุทธเจ้าฉลาดกว่าเรา เมื่อพระพุทธองค์เป็นผู้มีความฉลาดกว่าเรา รู้มากกว่าเรา เราจึงเชื่อพระพุทธเจ้า คือเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมีอยู่ ๓ ข้อใหญ่ๆ คือ ๑. กรรม ๒. วิบาก ๓. สัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆตน 

๑. เชื่อว่ากรรม คือการกระทำทาง กาย วาจา ใจ เป็นเหตุที่นำมาซึ่งความสุขหรือความทุกข์ ความเจริญหรือความเสื่อม ภพชาติต่างๆเป็นผลที่เกิดมาจากกรรม เช่นเชื่อว่าเหตุที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เพราะในอดีตเคยทำความดีรักษาศีลไว้ จึงทำให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อย่างนี้เป็นต้น 

๒. เชื่อวิบากผลของกรรม เชื่อว่าเมื่อทำกรรมไปแล้วไม่ว่าดีหรือชั่ว จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เช่นการได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเดรัจฉาน เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นวิบาก เป็นผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต ได้ทำกรรมมาต่างกันจึงทำให้มาเกิดต่างกันไป มีความแตกต่างไม่เท่าเทียมกัน ทางด้านเพศ ทางด้านรูปร่างหน้าตา ทางด้านความรู้ความฉลาด ทางด้านฐานะการเงิน เหล่านี้เรียกว่าวิบาก คือผลที่เกิดจากการกระทำในอดีต เชื่อว่าเราเป็นอยู่อย่างนี้ก็เพราะทำมาแค่นี้ สะสมบุญบารมีมาแค่นี้ ทำมาแค่นี้ก็ได้แค่นี้ ถ้าอยากได้มากกว่านี้ก็ต้องสะสมบุญบารมีให้มากขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงที่สุดของ บุญบารมี ก็จะบรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เป็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก 

๓. เชื่อว่าสัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน เมื่อทำกรรมแล้ววิบากย่อมตามมาเหมือนเงาตามตัว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครช่วยใครให้พ้นวิบากกรรมของตนไปได้ หรือสร้างบุญกุศลให้แก่กันได้ เมื่อถึงเวลาที่ผลบุญจะเกิดขึ้นกับผู้หนึ่งผู้ใด ก็ไม่มีใครไปห้ามได้ เช่นเดียวกับผลของบาปกรรม เมื่อถึงเวลาที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครไปยับยั้งได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือช่วยเท่าที่จะช่วยได้ ถ้าเกิดขึ้นกับตัวเรา ก็ต้องทำใจให้นิ่งเฉยเป็นอุเบกขา ยอมรับความจริงว่า สัตว์โลกทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ไม่มีใครยับยั้งผลของกรรมได้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องรับผลของกรรมกันทุกๆคน 

๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา ใจ เมื่อมีศรัทธาแล้วเราก็จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน โดยเห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราก็จะทำแต่สิ่งที่ดีและหลีกเลี่ยงการทำบาป ด้วยการรักษาศีลตามกำลังศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา ตั้งแต่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ จนถึง ศีล ๒๒๗ ศีลคือความปกติทางกายและทางวาจา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ไม่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา 

๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป เมื่อเห็นว่าการทำบาปเป็นสิ่งไม่ดี จึงละเว้น ด้วยหิริ ความอายบาป และโอตตัปปะ ความกลัวบาป ทุกคนมีความอายกัน แต่สิ่งที่น่าอายกลับไม่อาย กลับไปอายในสิ่งที่ไม่น่าอาย เช่นไปอายในความยากจน ในรูปร่างหน้าตาที่ไม่สวยงาม ในความโง่เขลาเบาปัญญาของตน สิ่งที่น่าอายคืออะไร ก็คือการกระทำความชั่วทั้งหลาย เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปดมดเท็จ การเสพสุรายาเมา เพราะเมื่อทำบาปไปแล้วก็เหมือนกับเอาไฟมาเผาตัวเองและผู้อื่น สร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนและผู้อื่น เป็นสิ่งที่น่าอับอาย น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง 

เช่นเดียวกับความกลัว สิ่งที่น่ากลัวกลับไม่กลัว สิ่งที่ไม่น่ากลัวกลับไปกลัว เช่นกลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวเลย เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดกับทุกๆคน เป็นธรรมดา เป็นปกติของธาตุขันธ์ ของร่างกาย เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ผู้ที่กลัวคือผู้ที่มีความสำคัญมั่นหมาย ไปยึด ไปติด ว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของๆเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็คิดว่าเราแก่ เราเจ็บ เราตาย แทนที่จะคิดว่าร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย ก็กลับไปหลงคิดว่าร่างกายนี้แหละคือเรา เมื่อจิตติดอยู่กับร่างกาย ก็เลยคิดว่าจิตเป็นกาย กายเป็นอะไรจิตก็เป็นไปด้วย ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา นี่คือความหลง 

       ถ้าได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรมแล้วจะสามารถแยกแยะกายออกจากจิตได้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากายก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตก็เป็นอย่างหนึ่ง กายนี้เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แล้วกลายเป็นอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น นี่คือเรื่องของร่างกาย เป็นธาตุขันธ์ล้วนๆ มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เป็นเพราะขาดปัญญาเลยทำให้จิตถูกอวิชชาครอบงำ ไปยึด ไปติด ไปหลงว่าร่างกายนี้เป็นจิต จิตเป็นร่างกาย เมื่อร่างกายเป็นอะไรไป ก็เกิดกลัวขึ้นมา กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรมอย่างถ่องแท้แล้ว อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะไม่กลัว ความแก่ เจ็บ ตาย เลยแม้แต่น้อย ท่านตายได้ในทุกอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน ด้วยความเป็นปกติสุข ไม่มีความหวั่นไหว เพราะท่านมีปัญญา มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ท่านปล่อยวาง ไม่ไปยึดไม่ไปติดในธาตุขันธ์ ถ้ายังดีอยู่ก็เอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนเสื้อผ้าที่ยังดีอยู่ก็ใส่ไป ถ้าขาดก็ทิ้งไปฉันใด ร่างกายก็ฉันนั้นเมื่อถึงเวลาแตกดับก็ทิ้งไป 

     สิ่งที่น่ากลัวคืออะไร ก็คือบาปกรรม การกระทำความชั่วทั้งหลาย เพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ความหายนะ เริ่มตั้งแต่ในปัจจุบัน เมื่อทำความชั่วแล้วจิตจะมีความร้อน มีความกังวล มีความหวาดวิตก เกิดความกลัวขึ้นมา กลัวจะถูกจับได้ว่าทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เมื่อตายไปก็ต้องไปใช้กรรมในอบายต่อไป ไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เพราะขาดหิริ ความอาย และโอตตัปปะ ความกลัวบาป ขาดศรัทธา ไม่เชื่อในเรื่องบาปกรรม ก็เลยเกิดความประมาทขึ้นมา คิดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อหลอกให้ทำความดีโดยไม่มีผลดีอะไรตามมา ถ้าคิดเช่นนี้ จะเป็นคนที่สร้างความทุกข์อย่างแสนสาหัสให้กับตนเอง เพราะจะไม่มีหิริโอตตัปปะ แล้วจะทำบาปไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ ก็จะมีหิริโอตตัปปะ ความอายและความกลัวบาป จะสะสมบุญแบบไม่กลัวจน ไม่กลัวว่าจะเสียเงิน เสียทอง เสียเวลา เพราะบุญกุศลที่ได้นั้น มีคุณค่ามากยิ่งกว่าเงินทอง ยิ่งกว่าเวลาที่เสียไป เพราะได้อริยทรัพย์นั่นเอง 

๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก การได้ยินได้ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นผู้คงแก่เรียน เป็นผู้รู้มาก เป็นผู้ศึกษามาก การที่ได้ศึกษามากต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังจากผู้ที่มีความรู้ โดยเฉพาะรู้ทางธรรม เพราะธรรมเป็นแสงสว่างนำชีวิต ให้รู้จัก บาป บุญ คุณ โทษ กรรม และ วิบาก ถ้าได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ต่อไปจะเป็นผู้ที่มีความรู้มาก เป็นพหูสูต เป็นพาหุสัจจะ คือเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก เป็นอริยทรัพย์ 

๖. จาคะ การเสียสละ เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนให้แก่ผู้อื่น เป็นการลดละความเห็นแก่ตัว ความหลงในตัวตน โดยเห็นว่าสมบัติเงินทองที่มีอยู่เป็นสมบัติผลัดกันชม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องพลัดพรากจากกัน ไม่ใช่ของๆตน ทรัพย์สมบัติที่แท้จริงต้องเป็นอริยทรัพย์ ที่เกิดจากจาคะ การเสียสละ แจกจ่าย แบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้ามีทรัพย์ที่เหลือใช้แล้วไม่เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการบริจาคแบ่งปันให้กับผู้อื่น ก็จะไม่มีอริยทรัพย์ เหมือนกับการไม่ได้แลกเงินตราต่างประเทศไว้ใช้เวลาเดินทางไปต่างประเทศ จะมีแต่เงินที่ไม่สามารถเอาติดตัวไปใช้ได้ ไปเกิดภพหน้าชาติหน้า ก็จะมีแต่ความอดอยากขาดแคลน ในปัจจุบันก็จะถูกอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลงคุกคาม สร้างความร้อนรนให้แก่จิตใจ หาความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้ 

๗. ปัญญา ความรู้ความฉลาด คือรู้ความจริง รู้อะไรคือเหตุ รู้อะไรคือผล รู้อะไรคือบาป รู้อะไรคือบุญ รู้อะไรคือคุณ รู้อะไรคือโทษ รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ารู้แล้วย่อมทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม ละเว้นจากการประพฤติที่ไม่ดีไม่งาม นำความสุขมาสู่ตน บาปกรรมไม่ทำ ทำแต่บุญอย่างเดียว เหมือนกับคนที่ไปธนาคาร ไม่กู้หนี้ยืมสิน มีแต่ฝากอย่างเดียว หนี้สินมีเท่าไรก็ชดใช้หมด เมื่อหมดหนี้สินแล้วก็สบายใจ ผู้ที่มีหนี้สินรุงรังมีแต่ความทุกข์ใจ ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็คิดหนีหนี้ด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ฆ่าที่ตัวต้นเหตุของการมีหนี้สิน คือตัวฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ตัวโลภ ตัวอยากต่างหาก ที่ทำให้มีหนี้มีสิน ต้องฆ่าด้วยการประหยัด มักน้อย สันโดษ 

ถ้ามีการประหยัด มักน้อย สันโดษแล้ว ก็จะใช้จ่ายอยู่ในกรอบของรายได้ มีเงินมีทองเท่าไรก็จะมีพอใช้ เพราะได้ควบคุมตัณหา ความอยากความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ถ้าไม่แก้ตรงนี้ ไม่ว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกกี่ภพกี่ชาติ ก็จะต้องมีหนี้สินอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินไม่ได้ ก็ต้องฆ่าตัวตายไปเรื่อยๆเพราะติดเป็นนิสัย จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการเอาชนะความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ความอยาก ความโลภทั้งหลายด้วยการประหยัดมัธยัสถ์ และความมักน้อยสันโดษ 

เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขทั้งในปัจจุบันและในภพหน้าชาติหน้าจึงควรสะสม อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ คือ ๑. ศรัทธา ความเชื่อ ๒. ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจา ๓. หิริ ความอายบาป ๔. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้เรียนรู้มาก ๖. จาคะ ๗. ปัญญา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

-- 
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรมะเป็นทาน ย่อมชนะการให้ ทั้งปวง

                                                ..ธรรมธาร..

          

 

                                ภาพจาก 

หมายเลขบันทึก: 328940เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2010 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ ดิฉันได้อ่านบทความแล้วรู้สึกดีมากค่ะ และจะหมั่นทำบุญรักษาศิล เพราะครอบครัวเป็นคนชอบทำบุญ และได้ปลูกฝังเด็กๆ มาตั้งแต่เค้าจำความได้ค่ะ ตอนนี้เด็กก็เลยชอบไปทำบุญที่วัดเป็นประจำค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้า เตวิชโช

กระผมขอเริ่มที่ศรัทธาก่อน ถ้ามีครบทั้ง 7 เป็นคนที่สมบูรณ์แบบครับ สิ่งที่อยากได้มากขึ้นคือปัญญา

ซึ่งท่านได้นำมงคลชีวิตมามอบให้ เพื่อให้เกิดปัญญา ขอรับ

ธรรมสวัสดีโยม Love heart

การสั่งสมบุญนำความสุขมาให้

ธรรมรักษา

ธรรมสวัสดีโยม ณัฐรดา

อนุโมทนาบุญด้วย

ธรรมรักษา

ธรรมสวัสดีโยม อาจารย์พรชัย

ศรัทธาที่มีกำลังย่อมทำปัญญาให้สมบูรณ์

ขอให้มีความเจริญในธรรม

ธรรมรักษา

ท่านเตวิชโช

  • ขอบคุณสำหรับธรรมะดีๆ ที่อาจารย์กรุณานำมาฝากพวกเราครับ
  • ศาสนาพุทธฯ เริ่มด้วย "ศรัทธา" เมื่อใด ต้องจบด้วย "ปัญญา" เมื่อนั้น
  • ทั้งสองประเด็น ประดุจเหรียญสองด้านครับ
  •  "สังคมไทย"เน้นด้านใด พวกเราคงประจักษ์นะครับ ท่านอาจารย์
  • นับถือครับ

กราบนมัสการครับท่าน ธรรมหรรษา

ขอบพระคุณครับที่ท่านเมตตามาเยี่ยม

ธรรมรักษาครับ

นมัสการค่ะ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสสนทนากับพระรูปหนึ่งท่านก็เอ่ยถึง อริยทรัพย์ซึ่งตนเองก็ยังไม่กระจ่าง...ตอนนี้รู้เพิ่มขึ้นค่ะเหลือแต่จะหาทรัพย์แท้มาติดตัวไปได้มากน้อยแค่ไหน

นมัสการพระคุณเจ้า  ข้อ ๒ กับ ข้อ ๗ ปฏิบัติยากจริงๆ

เวลามีความสุข มักจะหลงลืมปฏิบัติ กราบขอบพระคุณ พระคุณเจ้า เจ้าค่ะ

ธรรมสวัสดีโยม noktalay

อนุโมทนา อานิสงน์ของการฟังธรรม

คือสิ่งที่เคยได้ฟังยังไม่กระจ่างแจ้ง

เมื่อได้ฟังซ้ำทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น

นับว่าได้ประโยชน์อย่างมาก

ธรรมรักษา

ธรรมสวัสดีโยม ภาทิพ

อนุโมทนาสาธุ

ความพยายามในการทำดี

นับว่าเป็นความไม่สูญเปล่า

ธรรมรักษา

จงสร้างทรัพย์สินทางใจให้สมกับทรัพย์ทางกายใช่หรือไม่

-----------------------------------

I want to be a book maker

อยากมีหนังสือเป็นของตัวเองใช่หรือเปล่า

รับสมัครคนชอบอ่าน คนชอบเขียน

มาร่วมงานกับสำนักพิมพ์

คลิกที่นี่ค่ะ http://www.iwanttobeabookmaker.tk/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท