93.มองการศึกษาไทย ในวันครู


งานวิจัยของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จาก TDRI
เรื่อง การกระจายผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาครัฐด้านการศึกษา
เสนอผ่านสื่อในช่วงวันครู เป็นที่น่าสนใจ
(จากหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ ฉบับวันที่ 16 มค.53)
 
ผลงานวิจัยสรุปสาระคร่าวๆ ได้ดังนี้
1) การศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดรายได้ของคนในสังคมไทย
2) กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลประโยชน์จากการศึกษา
    มากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า
3) รัฐให้งบประมาณสนับสนุนการศึกษาที่คนรวยเข้าถึง (คือ ระดับอุดมศึกษา)
    มากกว่าการศึกษาที่กลุ่มคนรายได้น้อยเข้าถึง (อาทิ ปวช. ปวส.)
4) ในแต่ละปีรัฐใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษามากกว่างบด้านสาธารณสุขถึง 2 เท่า
 
งานวิจัยนี้ได้สะท้อนบรรทัดฐานของสังคมไทยต่อการศึกษาได้เป็นอย่างดี
การศึกษายังคงเป็นเครื่องมือทางชนชั้นของคนในสังคมไทย
เพราะคนได้รับการศึกษามากขึ้น ก็จะส่งผลให้มีรายได้สูงขึ้น
ในขณะที่คนที่เข้าถึงการศึกษาได้น้อย ก็จะยากจนกว่า
ดังนั้น เราจึงยังคงเห็นการดิ้นรนของผู้คนเพื่อเข้าสู่เส้นทางการศึกษา
มิใช่เพราะต้องการความรู้ที่เสริมสร้างสติ และปัญญา
หากเป็นไปเพื่อการเพิ่มฐานะทางสังคม ฐานะทางการเงิน
และผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะตามมาหลังสำเร็จการศึกษา
 
ผู้ได้รับประโยชน์จากระบบการศึกษาที่อยู่ภายใต้การกำหนดของรัฐ
ก็มักจะเป็นกลุ่มคนข้างบนของสังคม (ที่มีรายได้สูงกว่าด้วย)
เพราะรัฐมองเห็นศักยภาพของคนกลุ่มนี้มากกว่าคนในกลุ่มอื่น
เป็นกลุ่มคนที่รัฐลงแรงแล้วได้ประโยชน์กลับคืนภายใต้ระบบคิดแบบทุนนิยม
และเช่นเดียวกัน ผู้มีอำนาจในรัฐก็มักจะเป็นคนจากลุ่มคนข้างบนของสังคม
จึงไม่แปลกเลยที่รัฐจะให้งบประมาณไปกับการศึกษาอุดมศึกษา
เช่นมหาวิทยาลัย ที่รองรับคนได้เพียง 25% ของคนที่ต้องการเรียน
 
ถ้าจิตสำนึกของการศึกษาไทย เป็นไปเพียงเพื่อการเป็นเครื่องมือแห่งชนชั้น
เป็นไปเพียงเพื่อการเลื่อนฐานะรายได้ และฐานะทางสังคม
และเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างแรงงานให้กับสังคมทุนนิยม
ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า...การศึกษาจะไม่สามารถสร้างความเสมอภาคในสังคมได้
เป็นที่น่าเสียดายว่า...ผู้จบการศึกษาก็จะเป็นเพียงเครื่องจักรผลิตเงิน
เป็นที่น่าเสียดายว่า...ผู้จบการศึกษาก็จะไร้ซึ่งจิตสำนึกแห่งสาธารณะ
 
เพราะ...
การศึกษาจะถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือของการแข่งขัน
เพื่อการช่วงชิงให้เข้าถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษา
ใช้การศึกษาเป็นบันไดแห่งการไต่เต้าไปสู่ความสำเร็จ
การยกย่อง เชิดชู และผลตอบแทนจากการทำงาน
 
วันนี้...วันครู (และกำลังจะผ่านไป)
ตั้งคำถามเล็กๆ กับคุณครู ว่า...
เราจะปล่อยให้การศึกษาเป็นไปเช่นนั้นหรือ ???
เราจะเป็นผู้สร้าง “คนที่คิดถึงคนอื่นๆ และทำเพื่อสังคม”
หรือ...เราจะทำหน้าที่เป็นเพียงคนสร้าง “เครื่องจักรผลิตเงิน” ให้กับสังคม.
 

มอบ บทกวีนี้ แด่ ครู

(เป็นภาพครูในอุดมการณ์ที่อยากเห็นและอยากเป็น)

 

ใครคือครู  ครูคือใคร ในวันนี้              

ใช่อยู่ที่  ปริญญา  มหาศาล

ใช่อยู่ที่  เรียกว่า  “ครู-อาจารย์”          

ใช่อยู่นาน  สอนนาน  ในโรงเรียน

 

“ครู” คือผู้  ชี้นำ  ทางความคิด            

ให้รู้ถูก  รู้ผิด  คิดอ่านเขียน

ให้รู้ทุกข์  รู้ยาก  รู้พากเพียร              

ให้รู้เปลี่ยน  แปลงสู้  รู้สร้างงาน

 

“ครู” คือผู้  ยกระดับ  วิญญาณมนุษย์    

ให้สูงสุด  กว่าสัตว์  เดรัจฉาน

ครูคือผู้  สั่งสม  อุดมการณ์                

มีดวงมาลย์  เพื่อมวลชน ใช่ตนเอง

 

“ครู” จึงเป็น  นักสร้าง  ผู้ใหญ่ยิ่ง         

สร้างคนจริง  สร้างคนกล้า  สร้างคนเก่ง

สร้างคนให้  ได้เป็นตัว  ของตัวเอง       

ขอมอบเพลง  นี้มา  บูชาครู

 

.............................

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ จาก เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว

หมายเลขบันทึก: 328626เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2010 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท