ชีวิตที่พอเพียง : 34. เรียนลูกเดียว


• ตลอดเวลาประมาณ ๔ ปี ระหว่างเรียนชั้น ม. ๖ – จุฬาฯ ปี ๑ ผมเรียนลูกเดียว    ตั้งหน้าตั้งตามุมานะเรื่องเรียนวิชาความรู้จากครู จากโรงเรียน และจากมหาวิทยาลัย   เรียกว่าชีวิต ๔ ปีนี้ผมมีวิชาเป็นสรณะ 
• ตอนอยู่ ม. ๗  หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ชั้นเตรียมอุดมศึกษาชั้นปีที่ ๑ ผมก็แอบไปดูหนังสือและสมุดเรียนของพี่วิรัช ซึ่งเรียนอยู่ก่อนผมหนึ่งปี   ผมไปหาซื้อหนังสือกวดวิชา เฉลยข้อสอบ ตำราเรียนเสริม ฯลฯ ทุกเล่มเท่าที่มี เอามาอ่านหมด   เพื่อนๆ แนะว่าน่าจะไปกวดวิชาเรียนควบ และสมัครสอบเทียบ ม. ๘ แล้วสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปเลย   มีการพูดถึงคนที่ทำแบบนี้แล้วสอบเข้าแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรกได้   ถูกพูดกรอกหูเข้าบ่อยๆ และหลายๆ ตัวอย่าง ผมก็ไปเรียนกวดวิชา   ที่โรงเรียนกวดวิชาสหบัณฑิต   อยู่ที่วัดมหรรณพาราม    ซึ่งเขาบอกว่าเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่ดีที่สุด อำนวยการสอนโดย อาจารย์ (พันเอก) คณิต มีสมมนต์ จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า    อาจารย์สอนส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนนายร้อยฯ    จากโรงเรียนเตรียมฯ ผมนั่งรถเมล์บุญผ่องสาย ๑๗ ไปลงที่สี่แยกคอกวัว   แล้วจึงเดินไปที่วัดมหรรณ์   เข้าใจว่าเรียนระหว่าง ๕ โมงเย็นถึงสองทุ่ม   ชั้นเรียนห้องผู้ชายแน่นมากและไม่เป็นระเบียบ   มีเพื่อนมาชวนบอกว่าห้องผู้หญิงคนน้อยและเป็นระเบียบกว่า    เราไปนั่งเรียนข้างหลังก็ดีกว่าจริงๆ แต่ก็ตกเป็นเป้าสายตาสาวๆ    เด็กนักเรียนที่เครื่องแบบติดตราพระเกี้ยวนี่เป็นเป้าสายตาคนที่รู้ความยากในการสอบเข้า    ยิ่งเขาไปลือกันว่าผมเป็นเด็กห้องคิงก็ยิ่งเป็นที่น่าสนใจ
• ในห้องเรียนผู้หญิงมีนักเรียนโรงเรียนอัมพรไพศาลกลุ่มใหญ่ เจี๊ยวจ๊าวพอสมควร   ตอนหลังก็มีคนหนึ่งมาบอกว่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งชมว่าไม่น่าเชื่อว่าคนรูปหล่ออย่างผมจะเรียนเก่งด้วย    ผมก็เคลิ้มไปเหมือนกัน   ตอนหลังภรรยาผมบอกลูกๆ ว่าตอนหนุ่มๆ พ่อเขารูปหล่อมากนะ    ลูกๆ ไม่เชื่อ เอารูปให้ดู ลูกก็ว่านี่หรือพ่อ   แม่ผมบอกว่าเป็นธรรมชาติ คนหนุ่มคนสาวจะสวยและหล่อทุกคน   พอแก่ก็เปลี่ยนไป   อนิจจังไม่เที่ยง
• เรียนกวดวิชาไปพักหนึ่ง ผมก็หมดแรง ตัดสินใจไม่ไปสอบเทียบ   แต่ผมก็ยังไปเรียนกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยกับเขาในตอนปิดเทอมหลังสอบ ม. ๗   เป็นการเรียนเพราะอยากเรียน อยากรู้ว่าเขาเรียนอะไรกัน เรียนอย่างไร   ผมไม่ใช่แค่เรียนวิชา   แต่เรียนวิธีสอน เรียนตัวครู เรียนตัวเพื่อนและพฤติกรรมของเพื่อนที่เข้ามาเรียน    คล้ายๆ กับว่าผมต้องการหาตัวแบบของคนเก่ง คนดี   สำหรับเอาไว้ฝึกหัดตัวเอง    จะเห็นว่าผมเป็นเด็กไม่ฉลาด ที่คิดว่าความเก่งความดีมีรูปแบบตายตัว    พยายามเสาะหาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจากตัวอย่างของจริง    ความไม่ฉลาดแบบนี้น่าจะทำให้ผมได้ดูดซับเรียนรู้คน ความประพฤติ ความรู้สึกนึกคิดของคน   และใช้ประโยชน์ต่อมาได้ตลอดชีวิต   คือในใจผมมุ่งเรียนวิชา แต่ผมมีจิตใต้สำนึกที่ชอบสังเกตคน พฤติกรรมของคน และผลสำเร็จของเขา   ผมมารู้เอาตอนแก่ ว่านี่แหละคือการเรียนรู้ที่ดี   คือเรียนรู้จาการตั้งเข็มมุ่งปณิธานความมุ่งมั่น   แล้วหมั่นเสาะหาความสำเร็จของคนอื่นมาซึมซับเรียนรู้
• สรุปว่าตลอดเวลาประมาณสี่ปี ผมมีชีวิตอยู่กับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการเรียนวิชา   แต่ผมมาทบทวนตอนแก่ ว่าตอนนั้น (และตลอดชีวิต) ผมเรียนแนวทางดำรงชีวิต   แนวทางเรียนรู้ จากตัวอย่างดีๆ ควบคู่ไปด้วย   เป็นการเรียนแบบที่ตัวเองก็ไม่รู้สึกตัว    ผมเพิ่งมาตระหนักเมื่อไม่กี่วันมานี้เองว่า วิธีที่ผมใช้เรียนจากตัวอย่างดีๆ นี้ เรียกว่า AI – Appreciative Inquiry

วิจารณ์ พานิช
๒๗ พค. ๔๙
วันครบรอบร้อยปีชาตกาล พุทธทาส ภิกขุ

หมายเลขบันทึก: 32840เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้าใจ   เข้าถึง  ในวิถีชีวิต...

เพื่อสร้างสรรค์และสิ่งดีงาม จิตสำนึกต้องทำให้จำต้องทำอะไรๆสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมที่ทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืน...

อ่านที่อาจารย์สอนสั่งแล้วคิดถึงตัวเองในวัยเด็ก...ความสุขที่ได้หรือคิดว่าต้องเป็นของเราและทำเพื่อให้ได้มาให้ได้...ในขณะที่ใครๆก็ต้องจำยอมให้ด้วยเห็นเป็นเด็ก  เป็นลูกคนเล็ก  เป็นคนพิเศษที่น่าจะได้พิเศษมากว่าคนอื่นๆ...

       มาถึงตอนนี้เข้าใจแล้วว่า...  บางครั้งเป็นการเอาเปรียบพี่ๆ...หรือคนที่อยู่ข้างๆในตอนนั้น  ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ  ซึ่งมักเป็นปัญหาสร้างความลำบากใจให้กับแม่ ผู้ที่รักลูกทั้ง 7 อย่าง(พยายาม)ให้เท่าเทียมกัน(แม่...ต้องลำเอียงอยู่แล้วโดยธรรมชาติที่เห็นลูกคนเล็กเป็นเด็ก  อ่อนแอ และ ขี้แย  ที่สุด เพราะตัวป่วนสามารถจะกระทืบเท้า นอนดิ้นกลิ้งกับพื้นต่อหน้าชุมชนได้ตลอดเวลาเมื่อไม่สบอารมณ์  หรือคงตัดรำคาญยอมให้เจ้าจอมป่วนที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง) 

      ทำให้แม่ต้องหน้าแตกบ่อยๆ ตอนนั้นแอบเห็นพ่อดุแม่(ด้วยดวงตายิ้มๆ) หรือบางครั้ง เห็นพ่อโกรธจริงๆนะ แอบเห็นแม่น้ำตาซึมเพราะทำใจไม่ได้ที่จะต้องขัดใจเจ้าตัวเล็ก)...

        เวลาและประสบการณ์  เป็นตัวช่วยให้ยั้งคิด  ทุกคนมีสิทธิในความเป็นคน มีศักดิ์ศรีและไม่ได้เป็นผู้ผิดทั้งนั้นการทำร้ายคนอื่นทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ  โดยในเวลาข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ความรู้สึก ความหมายและคุณค่าที่คิดว่าเป็นอยู่ในขณะนี้  ตอนนั้นอาจจะต้องมานั่งขำกับตัวเองและร้องออกมาว่า  ไม่น่าเลย คิดได้ไง?ในตอนนั้น...

       การให้โอกาสเพื่อเป็นทางเลือกที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองและชุมชน สังคมรอบข้าง...(เจ็บคนเดียว  เวลาคงรักษาได้ มีอะไรๆที่จะต้องทำอีกมากมายแก่ตัวเราและสังคม...คงลบเลือนได้)  เข้าใจแล้วซีนะ  เด็กโง่,

        หน้าที่ ภารกิจ  ความรับผิดชอบอย่าท้อถอย  ทุกคนมีฝัน กำลังใจเป็นพลังที่ช่วยให้เราก้าวหน้า  ฝันให้ไกล  ไปให้ถึง  เวลาคงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด  อย่าทำร้ายตัวเองตั้งแต่จุดเริ่มต้น ยังมีอีกหลายๆคนที่ฝากความหวังไว้ที่ตัวเรามีคุณค่าในตนเอง โดยอย่าได้คิดไปทำร้ายคนอื่นเลย  แล้วเราจะได้รู้ตัวตนของเราเองเมื่อโอกาสและเวลามาถึง ...       

 

ขอโทษ

 

วิวาทะสุดยอดครับคุณ wHO  พฤติกรรมและการดำรงอยู่ในสังคม เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพื้นฐานของการดำรงอยู่แต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป....คิดต่อว่า...จะทำอย่างไรที่จะหาจุดเชื่อมเพื่อสังคมทั้งสองด้านได้ลงตัว แต่ก็อย่างว่าละครับทุก ๆ สังคมย่อมมีทางออกของเขาเอง...เพียงแต่ลงมาใช้ชีวิตหรือมาสัมผัสถึงวิถีชีวิตแล้วจะรู้เองว่า.....อ้อ...ประเทศไทยยังยากจนอีกเยอะเลยล่ะครับ    ต้องขอโทษด้วยครับกระผมมีความคิดที่เป็นอิสระครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท