สัปปุริสธรรม


"สัตบุรุษ" หรือ "คนดีแท้" หรือ "มนุษย์โดยสมบูรณ์" การกระทำหรือพฤติกรรมของเขาย่อมเหมาะสมถูกต้องปราศจากความผิดพลาด นำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยส่วนรวมคนดีแท้อยู่ในสังคมใดย่อมเอื้ออำนวยประโยชน์สันติสุขแก่สังคมนั้นผู้ประสงค์จะให้การดพเนินชีวิตประจำวันไปโดยราบรื่นเรียบร้อย เป็นสุขช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้

สัปปุริสธรรม

ในความหมายของพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นผู้ประกอบด้วยหลักธรรม ๗ ประการ ดังนี้

   ๑.ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าการทำความดีเป็นเหตุแห่งความสุข ความขยันเป็นเหตุแห่งความสำเร็จ ความเกียจคร้านเป็นเหตุแห่งความล้มเหลว การทำความชั่วเป็นความทุกข์ เป็นต้นและรู้ว่าเมื่อเกิดมีผลขึ้นมาแล้วมันจะต้องมีเหตุ ไม่ใช่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีเหตุเลย เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดผลดี อะไรเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว แล้วพยายามหลีกเลี่ยง หรือละเหตุที่จะให้เกิดผลชั่ว แล้วหันมาทำแต่เหตุที่จะให้เกิดผลดี

   ๒.อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่าความสุข เป็นผลแห่งการทำความดี ทุกข์เป็นผลแห่งการทำความชั่ว สอบไล่ได้เป็นผลแห่งความขยันความตั้งใจเรียน สอบไล่ตกก็ทราบว่านั่นเป็นผลแห่งความเกียจคร้น ความไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น แล้วพยายามแสวงหาแต่ผลดีโดยการทำเหตุที่ดี

   ๓.อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เรามีชาติ มีเพศ มีตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ความสามารถ กำลัง ความถนัด และคุณธรรม แค่ไหน เพียงไร แล้วต้องประพฤติตนให้สมกับภาวะนั้นๆ และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

   ๔.มัตตญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีเช่นในการแสวงหาเครื่องยังชีพก็ต้องแสวงหาในทางที่ชอบธรรม ไม่โลภมากเกินไปเมื่อหามาได้แล้วก็ต้องรู้จักประมาณในการใช้จ่ายด้วย ด้องไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไปนัก และต้องไม่ฝืดเคืองจนเกินไปด้วย

   ๕.กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสมและระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจกระทำหน้าที่การงานต่างๆ 
เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะแก่เวลา เป็นต้น ถ้าผิดพลาดในเรื่องกาลเวลาดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้รับผลสำเร็จแล้ว ยังอาจจะได้รับผลเดือดร้อนในภายหลังอีกด้วย เช่น การไปสอบไม่ทันเวลา เป็นต้น

   ๖.ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบริษัท ประชุมชน และสังคม ว่าสังคมใดควรที่จะเข้าไปร่วมด้วย สังคมใดควรหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล รวมทั้งรู้กิริยาที่ประพฤติต่อชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ ว่า เมื่อเข้าสังคมนี้จะต้องประพฤติตัววางตัวอย่างใด จะต้องพูดอย่างไร ต้องรู้มารยาทในสังคมนั้นๆ จะได้ไม่เคอะเขินเวลาสู่ที่ประชุมชน คือ ต้องทำตัวเข้ากับสังคมได้โดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

   ๗.ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล ว่า บุคคลนี้เป็นคนดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น เพราะในสังคมทั่วๆไปย่อมมีทั้งคนดีคนชั่วด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องรู้จักเลือกคบคน เพราะการคบคนดีย่อมเป็นศรีแก่ตน คบคนชั่วจะพาตัวให้บรรลัย รวมทั้งรู้ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลที่จะสนทนากับบุคคลด้วยดีว่าจะใช้ถ้อยคำ จะตำหนิ ยกย่อง หรือแนะนำพร่ำสอนอย่างไรจึงจะได้ผลดี เป็นต้น

ในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าใครมีคุณธรรมของมนุษย์ที่แท้ ๗ ประการ และสามารถประพฤติได้อย่างถูกต้องตามหลักการเหล่านี้โดยสมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น "สัตบุรุษ" หรือ "คนดีแท้" หรือ "มนุษย์โดยสมบูรณ์" การกระทำหรือพฤติกรรมของเขาย่อมเหมาะสมถูกต้องปราศจากความผิดพลาด นำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยส่วนรวมคนดีแท้อยู่ในสังคมใดย่อมเอื้ออำนวยประโยชน์สันติสุขแก่สังคมนั้นผู้ประสงค์จะให้การดพเนินชีวิตประจำวันไปโดยราบรื่นเรียบร้อย เป็นสุขช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้ จะต้องมีคุณธรรมของมนุษย์โดยสมบูร์ดังกล่าว.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32811เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท