วิเคราะห์หนังสือที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับครู


"วันครู" ปีนี้ของให้คุณครูทุกท่านมีความสุข

                        วิเคราะห์หนังสือที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับครู

 

ชื่อหนังสือ            ตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า

ชื่อผู้แต่ง     พันพูมิ   ( นามปากกา ) 

 

เรื่องย่อ   

            กล่าวถึงชีวิตของครูเทียน  ครูหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จการศึกษามาจากโรงเรียนฝึกหัดครูอันมีชื่อเสียง   ด้วยความหยิ่งทรนงว่าตนมีการศึกษาสูง  มีความรู้เหนือใคร  ครูเทียนได้เข้าทำงานเป็นเสมียนที่บริษัทแห่งหนึ่งที่จ้างด้วยเงินเดือนสูงกว่าการเป็นครู  แต่ครูเทียนก็ทำงานได้ไม่นานบริษัทก็ล้มเลิกกิจการ   ครูเทียนจึงตกงานต้องไปสมัครสอบบรรจุเป็นครู  ด้วยความรู้ความสามารถที่ครูเทียนมีจึงสอบได้ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง   นั้นก็คือโรงเรียนบ้านดงดำ  ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านดงดำที่แสนจะกันดาน  มิหนำซ้ำยังเต็มไปด้วยความโหดร้ายน่ากลัวแฝงอยู่  เมื่อครูเทียนไปถึงครูเทียนได้พบกับผู้ใหญ่ขาวซึ่งแกเป็นคนพูดน้อยแต่เชื่อถือได้   ครูเทียนซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งครูใหญ่และครูน้อยแห่งโรงเรียนบ้านดงดำ  และชาวบ้านกับเด็กที่ดูจะดีใจเป็นพิเศษที่เห็นครูน้อยคนใหม่มาเยือนอีกครั้งในรอบ  10  ปี  เมื่อครูเทียนได้เห็นสภาพของโรงเรียนก็ต้องแปลกใจที่เห็นเป็นเพียงเพิงไม้เก่า ๆ ไม่มีฝาผนังกั้น  มีเพียงหลังคาที่มุงหญ้าคา  คอยคุ้มแดดคุ้มฝนเท่านั้น  เด็ก ๆทุกคนในหมู่บ้านจึงต้องเรียนรวมกัน  นอกจากนั้นครูเทียนยังได้เจอกับผู้มีอิทธิพลของบ้านดงดำนั้นก็คือ  นายดำผู้อวดตัวว่าเป็นคนสมัยใหม่  มีเงินทองมากกว่าใคร  และเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ อีกมากมาย  อาทิ  เหตุการณ์ที่โรงเรียนถูกลมพายุพัดพัง  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ครูเทียนได้คิดว่าถึงตนเองมีความรู้มาก  แต่ถ้าขาดประสบการณ์ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้   เหตุการณ์ที่ดูจะเลวร้ายกับครูเทียนมากที่สุดก็คือ  เหตุการณ์ที่ครูเทียนต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นครูสอนเด็ก ๆ ในหมู่บ้านดงดำ  ท่ามกลางความหวาดระแวงว่าใครจะมายิงเหมือนครูน้อยคนก่อน ๆ  แต่ด้วยความศรัทธาในวิชาชีพครูของครูเทียนจึงอดทนก้มหน้าทำการสอนที่โรงเรียนบ้านดงดำแห่งนี้ต่อไป  โดยไม่คิดย้ายไปไหน  ถึงแม้จะไม่รู้ว่าชีวิตของตนเองจะเป็นเหยื่อให้กับลูกกระสุนปืนของผู้มีอิทธิพลเมื่อใด    

 

ตอนที่ประทับใจ                 

เป็นตอนที่จดหมายครูบ้านป่าได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ 

เรียน  บรรณาธิการ

                เราคือครูบ้านป่า  บ้านดง  ภูมิปัญญาน้อย  อยู่บ้านนอก  บ้านนามีปากก็เหมือนมีอย่างอื่น  พูดไม่ออก พูดไม่ดัง  จึงขอยืมหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ของท่านเป็นสื่อ  ช่วยเรียนท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในทำเนียบให้รับทราบด้วย

                ตามที่ได้เปลี่ยนแปลงแบบเรียนชั้น ป.1 เป็นแบบเบสิคนั้น  พวกเราฟังเสียงครูและผู้ปกครองเด็กแล้ว  ต่างไม่เห็นด้วยกันทั้งนั้น  ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

                ประการแรก ราคาแพงมาก  ผู้ปกครองเด็กส่วนมากยากจน  ไม่มีเงินซื้อ  เป็นที่เดือดร้อนทั่วไป  เมื่อผู้ปกครองไม่ยอมซื้อ  ภาระก็ตกหนักอยู่ที่ครู   ประการที่สอง ไม่สะดวกในการสอน และการอ่านเป็นคำ ๆ นั้นเหมาะกับเมืองฝรั่ง  ไม่เหมาะกับเมืองไทย  ภาษาไทยอยู่คนละตระกูลกับภาษาฝรั่ง  เป็นภาษาคำโดด   เราสอนแบบผสมอักษรตามแบบเรียนเล่มเก่าก็ไม่เห็นเสียหายอะไร  สอนให้คนอ่านออกเขียนได้เป็นผู้ใหญ่  ผู้โตมานักแล้ว   ไม่เห็นจำเป็นต้องเปลี่ยนให้แพงเงิน  ประการที่สาม การพัฒนาบ้านเมืองไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอก  จะอ่านกันอีท่าไหนไม่สำคัญขอให้มันอ่านออกก็แล้วกัน  หรือว่าการสั่งพิมพ์หนังสือจากญี่ปุ่นกำไรงาม...”

( ตัดตอนมาจากเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ตอนที่ 9 )

ประทับใจตอนนี้เพราะว่าเป็นตอนที่บรรดาครูบ้านป่าทั่วประเทศไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแบบเรียนจาก ก-อา-กา  มาเป็นแบบเบสิก  เกือบถึงขั้นเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล  แต่ครูบ้านป่าก็เลือกการส่งจดหมายถึงรัฐบาลเพื่อเป็นการร้องเรียนก่อน  เนื้อเรื่องในตอนนี้แสดงให้เห็นว่าครูมีบทบาทในกำหนดทิศทางการศึกษา  ถ้าเห็นว่าดีด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลกำหนดครูก็รับมาปฏิบัติ  แต่ถ้าเมื่อใดครูเห็นว่าไม่สมควร  หรือไม่เห็นด้วยก็จะเกิดการคัดค้านขึ้น  เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงยุคที่มีการปกครองที่ไร้รัฐธรรมนูญ  จึงมีจดหมายหลั่งไหลเข้าธรรมเนียบจากทุกมุมของประเทศไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษา  

 

เหตุผลที่เลือกอ่านหนังสือ              

                 เพราะว่าเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า  เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับครูเป็นอย่างมาก  ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้เขียนได้แต่งขึ้นมาก็ตาม  แต่มีลักษณะเนื้อหาเสมือนจริง  อิงกับความจริง  เนื้อเรื่องเกิดปมปัญหาอยู่ตลอดเวลาทำให้รู้สึกตื่นเต้นและอยากที่จะอ่านจนจบเพื่อจะได้รู้ว่าสรุปว่าเรื่องมันจะดำเนินต่อไปอย่างไร  เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ให้ความเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียวเสียเมื่อไหร  ยังมีเกร็ดความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับครู   นอกจากนี้ยังมีการแฝงแง่คิดดี ๆ ให้เราได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและในอนาคตที่เราต้องสำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครู  เราอาจได้พบเจอเหตุการณ์เหมือนกับในเรื่องก็ได้  ที่สำคัญทำให้อารมณ์รักและศรัทธาในวิชาชีพครูมากขึ้นอีกด้วยครับ

 

1. รูปแบบ  เรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าเป็นหนังสือบันเทิงคดี   ประเภทนวนิยาย

1.1 แบ่งตามลักษณะแนวคิด  เรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าจัดเป็นนวนิยายแนวสัจนิยม

- นวนิยายแนวสัจนิยม  คือ  ผู้เขียนสะท้อนพฤติกรรมและนิสัยใจคอของมนุษย์ตลอดจนความเป็นไปในสังคมอย่างสมจริง  สะท้อนชีวิตสะท้อนสังคม   

1.2 แบ่งตามลักษณะเนื้อหา  เรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าจัดเป็นนวนิยายอุดมคติและนวนิยายเป็นตอนต่อเนื่องกัน

- นวนิยายอุดมคติคือ ผู้เขียนจะแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อสภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมและการเอารักเอาเปรียบที่คนส่วนน้อยกระทำต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม 

- นวนิยายเป็นตอนต่อเนื่องกัน คือ เนื้อหาของนวนิยายกล่าวถึงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน  ใช้ตัวละครชุดเดียวกันและมีแกนกลางของเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน

 

2. แนวคิด  

2.1 แนวคิดหลัก (แก่นเรื่อง) เป็นสาระสำคัญที่ผู้เขียนตั้งใจเสนอให้ทราบ   เรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า  แสดงถึงการดำเนินชีวิตของครู  ผู้ที่มีอุดมการณ์ที่เดินทางไปเป็นครูในชนบท  ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคม

2.2 แนวคิดรอง  เป็นความคิดที่ผู้เขียนแทรกเอาไว้ในแต่ละตอน  ทำให้เข้าใจเรื่องของชีวิตรวมไปถึงประสบการณ์ในเรื่องต่าง ๆ คือ

ตอนที่ 1 คุณค่าของความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่การศึกษาอันสูงส่ง

ตอนที่ 2 ผู้ที่หยิ่งทรนงหรือยึดมั่นกับ ลาภ ยศ เงิน ทอง ย่อมไม่พบกับความสุขที่แท้จริง

ตอนที่ 3 การที่มีความรู้สูงก็มิใช่ว่าจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จไปซะทุกเรื่อง

ตอนที่ 4 การแย้งชิงอำนาจ ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสีย

ตอนที่ 5 การให้การศึกษาแก่เด็ก  คือ  การเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์

ตอนที่ 6 สังคมที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจะไม่ได้รับการพัฒนา  ย่อมเป็นสังคมที่ป่าเถื่อน

ตอนที่ 7 ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายควรดูแลโดยด่วน

ตอนที่ 8 การเปลี่ยนแปลงทางระบบการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ตอนที่ 9 การคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาของไทยที่มีปรากฏมาเนินนาน

ตอนที่ 10 ความแห้งแล้งเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคม  ซึ่งผลกระทบทำให้เกิดความยากจนตามมา  ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไข  อาจก่อให้เกิดการลักขโมยซึ่งเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลายต่อไปในอนาคต

 

3. โครงเรื่อง   เรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าเป็นโครงเรื่องแบบเก่าเพราะว่ามีการเน้นความสำคัญของเหตุการณ์และลำดับเหตุการณ์โดยมีตัวละครเอกเป็นผู้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์และปมปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้ง

3.1 โครงเรื่องใหญ่  เป็นการดำเนินเรื่องที่เกี่ยวพันกับปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นจุดสำคัญของเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า  กล่าวถึงครูเทียนผู้ที่ตั้งใจจะใช้ความรู้ที่ตนเองมีอยู่ไปพัฒนาชนบทแต่ต้องพบกับอุปสรรคต่าง ๆ

3.2 โครงเรื่องย่อย  เป็นความขัดแย้งหรือเรื่องราวของตัวละครที่แทรกอยู่ในตอนต่าง ๆ ของเรื่องและมีผลกระทบต่อตัวละครและเนื้อเรื่องสำคัญให้ดำเนินต่อเนื่องไปตามโครงเรื่องใหญ่ที่ผู้เขียนได้ว่างไว้   

ตอนที่ 1 ครูเทียนสำเร็จการศึกษา  เข้าทำงานเป็นเสมียนได้ไม่นานบริษัทล้มเลิกกิจการ  ครูเทียนจึงตกงาน

ตอนที่ 2 ครูเทียนสมัครสอบบรรจุครูและสอบบรรจุได้ที่โรงเรียนบ้านดงดำ 

ตอนที่ 3 โรงเรียนบ้านดงดำถูกลมพายุพัดพัง  ครูเทียนจึงต้องช่วยชาวบ้านสร้างโรงเรียนหลังใหม่

ตอนที่ 4 ครูเทียนสนทนากับครูใหญ่เรื่องปืนในหมู่บ้าน  และเรื่องสาเหตุการตายของครูน้อยคนก่อน 

ตอนที่ 5 ครูเทียนทำป้ายติดข่าวสารเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้เด็กนักเรียน  แต่ถูกพวกลูกสมุนนายดำใช้ข้อความขู่ให้ออกไปจากโรงเรียนบ้านดงดำ

ตอนที่ 6 ครูเทียนถูกขู่จากนายดำ  ด้วยการใช้ลูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ป้ายโรงเรียนอันใหม่

ตอนที่ 7 นักเรียนขาดอุปกรณ์การเรียน  มิหนำซ้ำกระทรวงศึกษาธิการยังเปลี่ยนแบบเรียนเป็นแบบมาตรฐาน  ครูเทียนกับครูใหญ่จึงต้องช่วยกันหาทางแก้ไข

ตอนที่ 8 ครูใหญ่ชี้แจงเรื่องที่ได้ไปอบรมมาให้กับครูเทียนฟัง  ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการศึกษา

ตอนที่ 9 แบบเรียนใหม่เข้ามาในระบบการศึกษา  ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีเงินซื้อ  เดือดร้อนจนไปถึงครูใหญ่ที่ต้องออกเงินซื้อให้เด็ก ๆ ได้ยืมเรียนก่อน

ตอนที่ 10 ครูเทียนและครูใหญ่ตกที่นั่งลำบากจากการถูกคุมคามจากผู้มีอิทธิพลอย่างนายดำ  ที่หมายจะเอาชีวิตครูเทียนให้ได้

 

4. ตัวละคร   ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า  ตัวละครเป็นประเภทตัวละครตัวกลม  มีการนำเสนอตัวละครโดยตรง   ด้วยการบรรยายให้รายละเอียดและข้อมูลของตัวละครในลักษณะการบรรยายภาพตัวละคร  ไม่ได้มีการจำกัดตัวละคร  โดยตัวละครทุกตัวมีบทบาทสอดคล้องสัมพันธ์กันกับเนื้อเรื่อง    ตัวละครมีลักษณะนิสัย  อารมณ์  ความรู้สึกหลากหลาย  และมีความสมจริงตามลักษณะของตัวละคร  ทำให้เรื่องดำเนินไปได้ด้วยดี  ในเรื่องประกอบด้วยตัวละครดังนี้

4.1 ตัวละครเอก  เป็นศูนย์กลางของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด  คือ

- ครูเทียน  เป็นครูน้อยคนใหม่ของโรงเรียนบ้านดงดำ  ผู้เคยหยิ่งยโสว่าตนเป็นครู  มาจากสถาบันครู   มีมืออันบอบบางที่เคยจับแต่ปากกา  เครื่องพิมพ์ดีดและถือแฟ้มเสนอลายเซ็นเข้าไปคำนับโต๊ะเจ้านายในบริษัทเมื่อคราวเป็นเสมียน

4.2 ตัวละครประกอบ  เป็นตัวละครที่ช่วยในการดำเนินเรื่อง  ได้แก่

- ครูทอง  เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนบ้านดงดำ  อายุ 45  ความรู้แค่ ม.3  เป็นครูตั้งแต่อายุ 18 ไม่มีประกาศนียบัตรครูจากสถาบันใด  มีแต่ประกาศนียบัตรจากประสบการณ์ซึ่งเรียนรู้จากของจริง  แกสอนเด็กได้เยี่ยม  ใครทาบไม่ติด  มีศรัทธาในงานครูอยู่ล้นหลาม  ไม่เคยทำงานแบบผักชีโรยหน้า  มีอุดมคติเป็นนายบังคับ  เป็นที่เคารพเชื่อถือของชาวบ้านรองจากผู้ใหญ่บ้าน   เข้าถึงจิตใจของชาวบ้านได้ดี

- ผู้ใหญ่ขาว  เป็นผู้ใหญ่บ้านตลอดกาลตั้งแต่อายุ  35  จนเกือบจะ 60 แล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าใครจะเหมาะสมเท่าแกได้  ผู้ใหญ่ขาวเป็นคนโอบอ้อมอารี  ใจหนักแน่น  พูดน้อยแต่เชื่อถือได้

ใครผิดว่าผิด  ใครถูกว่าถูก มิได้ลำเอียงให้เกิดอคติ  ไม่เคยตั้งศาลเตี้ยขึ้นในบ้านดงดำ  ลูกบ้านจึงให้ความเคารพยำเกรงเหมือนพ่อ

- นายดำ  เจ้าของบ้านมุงสังกะสีหลังเดียวในหมู่บ้านนี้  เป็นชายวัย  50  ดูฐานะสมสภาพบ้าน  ที่อวดตัวเป็นคนสมัยใหม่  ร่ำรวยมีเงินทองมากกว่าใคร   มีลักษณะเป็นนายทุนมากกว่าชาวนา  ชาวไร่  ชอบซื้อถูกขายแพง  นิสัยชอบคุยโวอวดรู้  ใครคุยเรื่องอะไร  นายดำรู้ทั้งนั้น  แล้วก็รู้ดีกว่าคนอื่นด้วย  เป็นผู้มีอิทธิพลในดงเซใต้

4.3 ตัวละครอื่น ๆ ที่มีเหตุการณ์ปรากฏอยู่ในเรื่อง  ได้แก่  ชาวบ้านบ้านดงดำ  เด็กชายสมสะอาด  เด็กชายเมฆ  เด็กหญิงดอกไม้  ครูน้อยคนเก่า  ลูกสมุนของนายดำ

 

5. บทสนทนา       ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าผู้เขียนสื่อแนวความคิดหรือทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ผ่านทางบทสนทนของตัวละคร  เป็นการแสดงความรอบรู้ของผู้เขียน  และเป็นบทสนทนาที่คมคาย  แฝงแง่คิด  ทำให้เรื่องมีความน่าสนใจสนุกสนาน  และมีชีวิตชีวาดูสมจริงมากยิ่งขึ้นของเรื่อง  โดยผู้เขียนใช้บทสนทนาประกอบในการเรื่องทุก ๆ ตอน

ตัวอย่างเช่น                           

 "เมื่อไรคูจะฉายหนังคับ"

"อื้อ !  วันนี้ครูตั้งใจจะฉายหนังเรื่องประชาธิปไตย  แต่ครูรู้สึกไม่สบายของดวันหนึ่ง"

"คูเป็นอะไรคับ"

"ปวดท้อง" ผมโกหก

"กินยาซีคะ"

"ยาอะไรล่ะ"

"ผิวมะกรูดกะน้ำปูนใสค่ะ"

"สู้รากตะไคร้กะน้ำปูนไม่ได้  ทีเดียวหาย"

"เอ้อ เดี๋ยวครูกลับไปกิน"

"หนูไปเอาให้ค่ะ"

"ผมไปเอาให้คับ"

( ตัดตอนมาจากเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ตอนที่ 5 )

ซึ่งบทสนทนาจากตอนที่  ครูเทียน  เด็กชายสมสะอาด  เด็กชายเมฆ  เด็กหญิงดอกไม้  พูดคุยกัน  ทำให้เห็นถึงภาษาที่เด็กใช้พูด   นั้นสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครที่เป็นเด็กนักเรียนทั้ง 3 คนต่างก็เป็นห่วงคุณครู  และต่างก็แสดงภูมิรู้ของตนเองในการแนะนำคุณครู 

 

6. ฉากและบรรยายกาศ      ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าผู้เขียนบรรยายภาพของสถานที่ต่าง ๆ อย่างละเอียด  ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับสถานที่นั้น ๆ อย่างละเอียดชัดเจน  และนอกจากนี้บรรยายกาศในเรื่องจะเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของตัวละคร  บรรยายกาศดูหดหู่เมื่อตัวละครใกล้เสียชีวิต  บรรยายกาศอึกทึกจอแจด้วยเสียงสนทนาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง ๆ ของชาวบ้านในสังคมชนบท

ตัวอย่างเช่น 

เดือนแปดจวนจะเข้าพรรษาแล้ว   บ้านดงดำยังคงแห้งแล้ง  ฝนฟ้าไม่มีวี่แววว่าจะตก  เปลวแดดเต้นระยิบตลอดทุ่ง  หญ้าคามุงโรงเรียนแห้งกรอบ  งอหงิกแทบลุกเป็นไฟ  ลมร้อนหมุนฝุ่นละออง  เศษฟางแห้ง พวยพุ่งขึ้นเป็นหย่อม ๆ

( ตัดตอนมาจากเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ตอนที่ 10 )

ซึ่งเป็นฉากที่แสดงให้เห็นว่าเวลานี้หมู่บ้านดงดำเกิดความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก

 

7. กลวิธีในการเขียน 

                7.1 กลวิธีการเล่าเรื่อง  ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าผู้เขียนเล่าเรื่องแบบมุมมองของผู้เล่าเรื่องปรากฏตัวในฐานะตัวละครในเรื่อง   โดยที่ผู้เล่าเรื่องมีบทบาทและมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่อง  ผู้เล่าเรื่องแทนตัวเองด้ยการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ  “ ผม ”  เป็นตัวละครเอกของเรื่อง  ซึ่งก็คือครูเทียนนั้นเอง  ทำหน้าที่เล่าเหตุการณ์ที่ได้ประสบ  มาให้ผู้อ่านได้ทราบ

7.2 กลวิธีการตั้งชื่อเรื่อง  “ ตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ” เป็นชื่อเรื่องมีความน่าสนใจ  ทำให้ผู้อ่านอยากที่จะรู้เนื้อหาภายในเรื่องและติดตามอ่าน  เป็นการตั้งชื่อเรื่องโดยตั้งตามลักษณะแนวคิดสำคัญของเรื่องที่เป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมชนบทที่มีความโหดร้ายแฝงอยู่

7.3 กลวิธีการดำเนินเรื่อง

- การเปิดเรื่อง  ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าผู้เขียนใช้กลวิธีในการเปิดเรื่องด้วยการบรรยายเป็นส่วนใหญ่

ตัวอย่างเช่น  

         กระดานชนวนแผ่นละ ๓ บาท  ดินสอหิน ๓ แท่ง ราคาสลึงเดียว  ไม่แพงเลย  มีค่าเพียงบุหรี่เลว ๆ ซองเดียว  หรือเป็นเศษเงินของใครก็ได้ที่จะโยนทิปให้บ๋อยโรงแรมที่บริการดี  ไม่แพงเลย  ถ้าจะเทียบกับครีมล้างหน้าสักขวดหรือไม่ก็น้ำแข็งเปล่าในบาร์สักแก้ว

 ( ตัดตอนมาจากเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ตอนที่ 7  )

ซึ่งเป็นการบรรยายเปรียบเทียบระหว่างอุปกรณ์การเรียนกับสิ่งที่ไม่จำเป็นและใช้กันฟุ่มเฟือย

- การสร้างความขัดแย้ง   ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าผู้เขียนใช้กลวิธีการสร้างความขัดแย้งที่เป็นปัญหาสำคัญของเรื่องซึ่งตัวละครต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง  เป็นปมความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  โดยการสร้างตัวละครที่มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กันทางความคิดและการกระทำ  ครูเทียนเป็นตัวแทนของคนที่มุ่งกระทำความดีเสียสละเพื่องสังคม   นายดำเป็นตัวแทนของคนที่มีความเป็นนายทุนหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง

- การดำเนินเรื่อง   ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าผู้เขียนใช้กลวิธีในการดำเนินเรื่องโดยเรียงตามลำดับเวลาปฏิทิน

- การปิดเรื่อง  ในเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่าผู้เขียนใช้กลวิธีในการปิดเรื่อง  ด้วยการจบเรื่องแบบคาราคาซัง  ทิ้งไว้ให้ผู้อ่านคิดซึ่งเป็นการจบแบบชีวิตจริง  โดยการใช้คำพูดของนายดำเพียงคนเดียว   และทิ้งไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อไปว่าครูเทียนจะจะพูดอะไร  แล้วครูเทียนจะทำอไรต่อไป  จะรอดไหม

ตัวอย่างเช่น   

            โล่งใจไปอีกวันหนึ่ง  แต่วันนั้นพอไปถึงโรงเรียน  ผมรู้สึกง่วงเพลีย  เวียนศรีษะเหมือนโรงเรียนหลังน้อยแห่งนี้กำลังเซไปทั้งหลัง   ไม่เว้นแม้กระทั่งศาลาวัดและต้นไม้ทั้งหลายที่มันเอนโอนส่ายไหว เงาครึ้มก็วูบไหวไปมาคล้ายกับเกิดสุริยุปราคา “กบกินตะวัน” แล้วเสียงที่ผมไม่อยากได้ยินมันก็ดังก้องขึ้นอีก

“  เอ็งรึ ! ครูน้อยคนใหม่แห่งโรงเรียนบ้านดงดำ...ฮึ !...ฮึ!..ฮึ !... ”

( ตัดตอนมาจากเรื่องตำนานเถื่อน : โรงเรียนป่า ตอนที่ 10  )

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 327663เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณที่แนะนำ  จะไปหามาอ่านให้ได้ค่ะ
  • ขอร่วมรำลึกถึงพระคุณของครู และพระคุณของผู้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับครูด้วยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท