เจาะลึกกับมาตรฐานบริการหมวด 9


เพราะเป็นมาตรฐาน เราจึงไม่ได้ย่อหรือสรุป เพราะกลัวจะผิดเพี้ยนไป และเจ้าตัวสีส้มน่ะ เป็นประสบการณ์และความเห็นส่วนตัวนะ...ขอบอก

รออ่านเรื่องใหม่ๆ จากพวกเราอยู่ ก็ยังไม่มี... สงสัยว่าหายเงียบไปไหนกันหนอ? เอาเรื่อง HA HA (ฮา ฮา จริงๆ นะ) มาลงบ้างก็ได้ แต่วันนี้ขอต่อเรื่องมาตรฐานบริการสาธารณสุข หมวดที่ 9 เลยแล้วกันจะได้ไม่ขาดช่วงนานเกินไป

หมวด 9 สิ่งของและสถานที่ ที่จัดไว้ให้ผู้รับบริการใช้ หรือใช้กับผู้รับบริการ

สิ่งของ ที่จัดไว้ให้ผู็้รับบริการใช้ หรือใช้กับผู้รับบริการ หมายถึง : สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ทางด้านการแพทย์ และสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไป ดังนี้

ก. สิ่งของที่ให้ผู้ป่วยใช้ เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม เตียง เก้าอี้ หม้อนอน แก้วน้ำ ขันน้ำ จานข้าว ช้อน เป็นต้น

ข. สิ่งที่ใช้เพื่อตรวจร่างกายผู้ป่วย รวมทั้งเพื่อการเฝ้าระวัง เช่น ปรอทวัดไข้ ไม้กดลิ้น เครื่องวัดความดัน หูฟัง เครื่องส่องหู เครื่องตรวจด้วยรังสี EKG. เป็นต้น

ค. สิ่งที่ใช้เพื่อทำหัตถการ เช่น อุปกรณ์เครื่องมือ ที่ใช้ทำแผล ทำฟัน ผ่าตัด เครื่องช่วยหายใจ ชุดอุปกรณ์ให้ออกซิเจน Defibrillator Warmer เป็นต้น

ง. สิ่งที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย เช่น รถเข็นนั่ง เปลนอน เป็นต้น 

สถานที่ ที่จัดไว้ให้ผู้รับบริการใช้ หมายถึง : ห้องและบริเวณที่ให้ผู้รับบริการใช้เพื่อการรับบริการ เช่น ห้องตรวจโรค ห้องให้คำปรึกษา ห้องคลอด ห้องพัก ห้องผ่าตัด ห้องแยกโรค ห้องสุขา ห้องน้ำ โรงอาหาร รวมทั้งเส้นทางสัญจร ที่นั่งรอรับบริการ ที่จอดรถ สถานที่ที่ให้ผู้รับบริการหรือญาติใช้ประโยชน์ เป็นต้น

สิ่งของและสถานที่ ที่จัดให้ผู้รับบริการใช้ ให้หมายถึง : เครื่องป้องกันอันตรายและรวมทั้งสัญญาณเตือนต่างๆ อีกด้วย

มาตรฐานกล่าวไว้ดังนี้

- สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ทุกชิ้น ทั้งการแพทย์และทั่วไป ที่ใช้โดยการสัมผัสร่างกายของผู้รับบริการจะต้องสะอาด มีสภาพดี ไม่ชำรุด มีความปลอดภัยขณะใช้งาน และต้องไม่ให้ผู้รับบริการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งหรือคราบสารของเหลวที่ใช้กับผู้รับบริการรายอื่น (คิดง่ายๆ ถ้าเรากล้าใช้กับตัวเราละก็ OK เลย) 

- สิ่งที่ให้ผู้รับบริการใช้ จะต้องเหมาะสมกับสภาพของผู้รับบริการ มีเผื่อไว้ให้ใช้อย่างพอเพียง และมีเปลี่ยนเมื่อพบว่าชำรุด (อย่างเสื้อผ้า บางร.พ.น่าสงสารเนื้อผ้าบ๊างบาง แถมยังขาดวิ่น คิดดูมันวาบพิลึก...ยิ่งคนไข้ไม่ได้ใส่ Underwear ด้วยละก็ บรื้อว...จริงๆ นะ)

- สิ่งที่ใช้เพื่อทำหัตถการบนร่างกายผู้รับบริการ ซึ่งสัมผัสกับเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งของผู้รับบริการได้ จะต้องทำให้ปราศจากเชื้อก่อนใช้งาน และต้องใช้แต่ของที่ยังไม่หมดสภาพความปลอดเชื้อ (อย่าไปว่า IC. เขาจู้จี้เลย เห็นใจเขาเถอะ ถ้าเราตระหนักสักนิด IC. เขาก็ไม่ต้องเหนื่อย)

- สิ่งที่ใช้เพื่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมทั้งยานพาหนะ รถพยาบาลและอุปกรณ์จำเป็น จะต้องมีไว้ให้ใช้อย่างพอเพียงและพร้อมต่อการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง (โอ...ยากชะมัด...มันไม่พออยู่เรื่อย ที่ทางก็ไม่มีจะให้วาง...เฮ้อ!)

- การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปพร้อมกับเตียง เปล รถเข็น เพื่อไปยังพื้นที่ต่างระดับของอาคาร จะต้องเคลื่อนย้ายโดยใช้ลิฟท์ หรือทางลาดที่มีความปลอดภัยเท่านั้น(นี่คือเรื่องจริง เมื่อครั้งเฮียไปผ่าตัดไส้ติ่งที่ร.พ.แห่งหนึ่งที่ต่างจังหวัด ก็เฮียแกถูกเข็นด้วยรถนอน เป็นระยะทางแบบโลกพระจันทร์ราวๆ 200 เมตร เห็นจะได้ แกบอกว่ารู้สึกสะเทือนและปวดเหมือนไส้จะแตก จะร้องโวยเสียให้ได้ ดีว่าพนักงานพูดจาดีสุภาพ ว่าทนหน่อยนะครับทางมันไม่ค่อยดี ผมจะค่อยๆเข็น)

- สถานที่สำหรับการให้บริการ หรือให้ผู้รับบริการและ/หรือญาตินั่งรอ รวมทั้งห้องพัก จะต้องปลอดภัย สะอาด สะดวก ระบายอากาศได้ดี และต้องกว้างขวางพอเพียงต่อจำนวนผู้ใช้บริการโดยไม่แออัด (ไปมาหลายร.พ. ส่วนใหญ่ มีแต่แออัด โดยเฉพาะช่วงเช้า มันคงแก้ยากเพราะติดที่โครงสร้างและก็...กะตังค์ นี่ก็ได้ข่าวว่ารัฐเขาจะเทงบไทยเข้มแข็งให้คมนาคมก้อนเบ้อเร่อ!)

- ตำแหน่งและที่ตั้งของหน่วยหรือจุดให้บริการจะต้องหาง่ายโดยสะดวก (อันนี้คิดว่าถ้าเจ้าหน้าที่ใส่ใจสักหน่อย เห็นใครเดินเงอะงะ มีเครื่องหมาย ? ที่สีหน้า&แววตาก็เข้าไปเสนอหน้าแบบยิ้มแย้ม ถามสักหน่อยว่าเขาจะไปไหน แล้วช่วยแนะนำให้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่อยู่ด้านหลัง จะอาศัยป้ายบอกอย่างเดียวคงไม่ได้ค่ะ)

- ห้องตรวจโรค ห้องให้คำปรึกษา ห้องหรือเตียงที่ใช้ทำหัตถการ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า สุขา ห้องน้ำ ต้องมีความเป็นสัดส่วนมิดชิด ปลอดภัยทั้งร่างกายจิตใจ

(อันนี้มันมีผลถึงการวินิจฉัยและรักษาที่แม่นยำต้องเลยทีเดียว...เคยเจอนะ ที่หน้าห้องตรวจ Screen ไว้ว่า ปวดศีรษะ พอเข้าห้องตรวจก็กระซิบกระซาบว่าคันตรง...น่ะ ไม่ได้ปวดหัวซักหน่อย แบบว่าข้างนอกคนมันเยอะ ป้าแกก็อายซิ

- พื้นที่สำหรับบริการอุบัติเหตุฉุกเฉิน ต้องกว้างขวางพอเพียงต่อการให้บริการแก่มวลชน สามารถเข้าถึงโดยสะดวก (พูดจริงนะ ถ้าถูกหวยรางวัลที่ 1 จะทุ่มทุนสร้าง ER เองเลย... คงจะได้หรอก ไม่ได้ซื้อซักงวด ฮิๆ )

- พื้น บันได ทางลาด เส้นทางสัญจร จะต้องสะอาดปลอดภัย (อย่างที่เราปรับทางเชื่อมจากตึกหน้าไปตึกเก่าไง ดีไหม?หล่ะ)

- ห้องสุขาและที่ล้างมือ ต้องสะอาด มีจำนวนมากพอเพียงต่อจำนวนผู้ที่จำเป็นต้องใช้ในบริเวณนั้น พื้นต้องไม่ลื่น ไม่มีกลิ่น และต้องมีห้องสุขาสำหรับผู้พิการ(ของเรายังไม่ OK เรื่องกลิ่นเนอะ และบางครั้งก็เปียกลื่นอีกตะหาก!!)

- ต้องมีพื้นที่จำเพาะในการให้บริการ ทั้งเพื่อการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อและเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย ทั้งกรณีมีโรคระบาดและโรคติดต่อร้ายแรง (ก็ไอ้ SARS ไข้หวัดนก ไข้หวัด2009 นี่มันก็เคยป่วนเราจริงๆ เลย ถ้ามันมีจริงจังขึ้นมาจะทำไงกัน ช่วยกันคิดๆๆๆๆ หน่อยนะ)

*** เป็นไง! บอกแล้วว่าเจาะลึก ละเอียดไหม?หล่ะ! เพราะเป็นมาตรฐาน เราจึงไม่ได้ย่อ หรือสรุปเพราะกลัวจะผิดเพี้ยนไป และ เจ้าตัวสีส้มน่ะ เป็นประสบการณ์และความเห็นส่วนตัวนะ...ขอบอก***

***อ้อ! พวกเราน่ะ เข้ามาอ่านแล้ว ช่วยแสดงความรู้สึกบ้าง เห็นด้วย เห็นต่าง ชอบ ไม่ชอบอย่างไร หรือจะลงชื่อเฉยๆ ก็ยังดีค่ะ เผื่อว่าปีหน้าจะได้ผ้าห่มสวยๆ ไปห่มบ้างไง***/By Jan

หมายเลขบันทึก: 327658เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 22:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณพี่จรร ทีนำข้อความรู้มาให้อ่านทบทวนแบบ HA HA ไม่น่าเบื่อ ได้เสมอ / BUA

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท