ตลาดริมทาง มิติการบริการสาธารณะของท้องถิ่นญี่ปุ่น


ตลาดริมทาง ญี่ปุ่น

ตลาดริมทาง มิติการบริการสาธารณะของท้องถิ่นญี่ปุ่น  

บาว นาคร*

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือเทศกาลที่สำคัญในระยะเวลาหลายๆปีที่ผ่านมานั้น ได้เห็นการสัญจรกลับคืนภูมิลำเนาของประชาชนเกือบทุกพื้นที่ทำให้การจราจรเกิดความหนาแน่นและติดขัดเป็นระยะทางยาว ส่วนใหญ่การเดินทางกลับไปต่างจังหวัดของประชาชนที่มาทำงานในเมืองหลวงนั้น จะเป็นการเดินทางโดยสารรถประจำทางหรือรถยนต์ส่วนตัว และที่สำคัญอุบัติเหตุที่เกิดจากการสัญจรโดยทางถนนมีปรากฎให้เห็นกันทุกปี การเดินทางในระยะทางที่ไกลนั้นได้มีจุดพักระหว่างทาง บางแห่งเป็นสถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าหรือร้านอาหารเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ย้อนนึกถึงการไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่ผ่านมาทำให้ทราบถึงมิติของการบริหารจัดการในเรื่องตลาดริมทางของท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีตลาดริมทางทั้งหมด 917 แห่ง เป็นสถานที่อำนวยความสะดวกที่ตั้งอยู่ริมทางหลวง ซึ่งประกอบกิจการให้บริการโดยได้รับอนุญาตจากระทรวงคมนาคมและที่ดิน ตลาดริมทางมีลักษณะ 3 ด้านคือ 1)เป็นสถานที่ใช้เพื่อพักผ่อน สำหรับผู้ใช้ถนน ผู้โดยสารรถยนต์ 2) เป็นสถานที่ใช้เพื่อจัดสรรและให้บริการข้อมูลของพื้นที่ สำหรับผู้ใช้ถนนและประชาชนในพื้นที่ 3) เป็นศูนย์ความร่วมมือในพื้นที่ ระหว่างชุมชนในท้องถิ่น ตลาดริมทางทุกแห่งมีการให้บริการที่มีเอกลักษณ์โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ การท่องเที่ยวและสินค้าพื้นเมืองของแต่ละพื้นที่

ที่ตั้งตลาดริมทาง นั้นจะต้องก่อสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความสะดวกในการใช้เป็นสถานที่เพื่อพักผ่อนและมีระยะทางห่างจากตลาดอื่น การบริการให้แก่ผู้ใช้บริการนั้น ต้องมีที่จอดรถ ห้องน้ำและโทรศัพท์ซึ่งสามารถใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และมีพนักงานให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ใช้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องมี ได้แก่ ที่จอดรถฟรีที่สามารถให้รถยนต์ของผู้ที่มาพักผ่อนจอดได้ในจำนวนพอสมควร ห้องน้ำที่สะอาด อุปกรณ์และสถานที่มีการจัดสรรข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนนและพื้นที่บริเวณตลาด รวมทั้งสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ และมีทางเดินสำคัญที่ไม่มีขั้นบันได

ผู้ที่สามารถจัดตั้งตลาดริมทาง ได้แก่ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบลหรือ องค์กรทางราชการซึ่งสามารถทดแทนเทศบาลได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละตลาด และได้มีกรณีที่เทศบาลและสหกรณ์การเกษตรหรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยที่เทศบาลและธุรกิจภาคเอกชนลงทุนร่วมกัน

ส่วนประเด็นที่ต้องคำนึงถึงได้แก่ ความสะดวกในการใช้ของเด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมทั้งไม่ทำลายทิวทัศน์ที่สวยงามของพื้นที่ในการก่อสร้างตลาดริมทาง นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว โดยปกติมีตลาดขายตรงพืชผลทางการเกษตรจากเกษตรกร ร้านขายของพื้นเมือง ร้านอาหาร เป็นต้น

ขั้นตอนการจัดตั้งตลาดริมทางของญี่ปุ่นนั้น ได้มีการวางแผนและการสร้างวิสัยทัศน์ระหว่างท้องถิ่นหรือเทศบาลกับผู้บริหารถนนหรือบริษัทเอกชน ในการก่อสร้างตลาดริมทางเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและใช้เป็นที่พักผ่อน ปรับปรุงแผนและวิสัยทัศน์ด้านสถานที่และทำข้อตกลงในการก่อสร้างตลาดริมทาง จัดสถานที่อำนวยความสะดวกด้านการพัฒนาการท้องถิ่นซึ่งเป็นภารกิจของเทศบาล เช่น สถานที่ จัดสรรข้อมูลพื้นที่ และจัดการสถานที่อำนวยความสะดวกด้านการพักผ่อนซึ่งเป็นภารกิจของผู้บริหารถนน เช่น ป้ายบอกริมทาง จัดการสถานที่อำนวยความสะดวกซึ่งเทศบาลและผู้บริหารถนนจัดการร่วมกัน จดทะเบียนและเปิดให้บริการตลาดริมทาง

กรณีของตลาดริมทาง Denen Plaza Kawaba ประเทศญี่ปุ่น มีสถานที่อำนวยความสะดวก ได้แก่  ที่จอดรถ ประกอบด้วย รถยนต์ขนาดใหญ่ 5 คัน รถยนต์ขนาดเล็ก 205 คัน รถยนต์สำหรับคนพิการ 2 คัน, ห้องน้ำชาย จำนวน 17 ห้อง ห้องน้ำหญิงจำนวน 12 ห้อง ห้องน้ำสำหรับคนพิการจำนวน 2 ห้อง, สำนักงานของสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเทศบาล Kawaba เป็นสถานที่บริการจัดสรรข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนน ตลาดริมทางอื่นที่อยู่ใกล้ และการท่องเที่ยว ,ร้านอาหารบะหมี่ญี่ปุ่น “Koku-zo” ,หอบลูเบอร์รี่ เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าที่แปรรูปจากบลูเบอร์รี่ ,ร้านอาหาร “Hotaka” ,โรงผลิตเบียร์พื้นเมือง,โรงผลิตขนมปัง ,Farmers Market เป็นร้านขายตรงทางด้านพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร

ลักษณะเด่นของ Denen Plaza Kawaba นั้น คือได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งในการประกวด “ตลาดริมทางที่ชอบ” ของภูมิภาค Kanto ในปี 2004,2005,2006,2007 ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างของตลาดริมทางอื่นๆของญี่ปุ่นในการบริหารจัดการตลาดริมทาง

เมื่อได้ทราบการบริหารจัดการตลาดริมทางของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ทำให้เห็นมิติของการบริหารจัดการร่วมระหว่างท้องถิ่นกับภาคเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่น ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐของประเทศญี่ปุ่นได้แก่กระทรวงคมนาคมและที่ดิน เป็นผู้รับผิดชอบและอนุญาตให้มีการประกอบกิจการตลาดริมทาง ส่วนการบริหารจัดการนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับภาคเอกชน บริษัทที่เข้ามาประกอบกิจการ

ส่วนประเทศไทยนั้นก็ได้มีตลาดริมทางหรือสถานที่พักผ่อนริมทางเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นปั๊มน้ำมันหรือ ร้านค้า ร้านอาหารมากกว่า และไม่มีมิติของการจัดการร่วมระหว่างท้องถิ่นกับหน่วยงานอื่น

ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐของไทยที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นในพื้นที่กับหน่วยงานอื่นๆให้เข้ามาจัดบริการและสถานที่ในการพักผ่อนหย่อนใจริมทางแก่ประชาชนได้แก่ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบำรุงรักษาและจัดการ อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการใช้ถนนโดยตรง

ดังนั้น มิติของการบริหารจัดการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและท้องถิ่น ในเรื่องเกี่ยวกับสถานที่พักริมทางหรือตลาดริมทางของไทยให้แก่ประชาชนที่มาใช้บริการนั้น สามารถดำเนินการได้โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยน่าจะมีการจัดการในเรื่องตลาดริมทางหรือสถานที่พักผ่อนริมทางหลวงให้เป็นระบบและสะดวกแก่การใช้บริการของประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและบริการสาธารณะแก่ประชาชนผู้ใช้ถนนและเป็นการส่งเสริมรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นไปอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

 





 

 

* บุญยิ่ง ประทุม [email protected]

หมายเลขบันทึก: 325993เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

น่าสนใจ อยากไปเห็นตลาดริมทางของญี่ปุ่นว่าเป็นไงบ้างค่ะ น่าจะมีรูปด้วยนะคะ

เห็นด้วยว่าทางรัฐบาลน่าจะส่งเสริม สนันสนุนจัดตั้งให้มีตลาด หรือที่พักริมทางของแต่ละท้องที่ขึ้นมานะคะ จะได้เป็นศูนย์กลางทำจ่ายสินค้าของชาวบ้านด้วย ถ้าทำให้ดี มีห้องน้ำที่สะอาด ของกิน ขนมขาย สินค้า Otop ขายด้วยยิ่งดีเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท