โรงเรียนทางเลือกกับการประเมินคุณภาพภายนอก(๔)


เมื่อเสร็จจากการพูดคุยเรื่องของหลักการสำคัญกันแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เป็นเวลาของการพูดถึงปรัชญาการศึกษาที่โรงเรียนละแห่งเลือกใช้ว่ามีความเฉพาะอย่างไรกันบ้าง

 

  • โรงเรียนดรุณสิกขาลัย  ใช้แนวการศึกษาแบบ Constructionism การทำโครงงานที่พาให้เด็กสร้างความรู้ โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เด็กยังคงได้ทำโครงงาน แต่ได้ความรู้ที่ลึกขึ้น หมายถึงมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี และมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับประเทศที่ดีด้วย ครูต้องทำตัวเป็นผู้เรียน ลงมือเรียนรู้ แล้วส่งต่อการเรียนรู้ให้เด็ก

 

  • โรงเรียนปัญโญทัย  ใช้แนวการศึกษาแบบ Waldorf เชื่อในพัฒนาการตามวัย เพื่อสร้างให้เด็กเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บรรยากาศในโรงเรียนจะอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ไม่รับสื่อจากภายนอก ป.๑ เด็กยังไม่อ่าน แต่จะเขียนคำจากนิทานที่ครูเล่า ครูประจำชั้นคนเดิมจะตามนักเรียนไป ๘ ปี  เน้นการเรียนรู้จากการลงมือทำ และการเติบโตของโลกภายใน

 

  • โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ ใช้แนวการศึกษาแบบ Waldorf รับเด็กเข้ามาด้วยความเคารพ ให้การศึกษาด้วยรัก ในความคิดมีความรู้สึก ในความรู้สึกมีความคิด ทุกคนมีความแตกต่างกัน จัดการเรียนการสอนโดยเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ทั้ง ๓ ด้าน คือ ความคิด ความรู้สึก การกระทำ (Thinking, Feeling, Willing) จนเกิดเป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และประทับอยู่ในความทรงจำของเด็กไปจนโต

 

  • โรงเรียนอนุบาลช้างเผือก บูรณาการการเรียนการสอนให้เด็กได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข มีอิสรภาพทางความคิด ให้โอกาสตัวเองในการก้าวสู่ความหวังใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

  • โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ใช้ศิลปะและดนตรีในการพัฒนาเด็ก เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ คือ  การเอาตัวเองเข้าไปสำรวจ ทำความรู้จักผ่านประสาทสัมผัส  เพื่อให้เกิดการรับรู้  และรู้สึก เกิดการตีความให้ความหมาย มองเห็นคุณค่า  เชื่อมโยงสัมพันธ์  ระหว่างสิ่งนั้นกับตัวเอง  และสิ่งอื่นๆ จนเกิดการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง   

 

  • โรงเรียนเพลินพัฒนา การเรียนรู้ของเด็กก็มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการบอก การสอน หรือการได้มีโอกาสลงมือกระทำเท่านั้น แต่เด็กจะค่อยๆ ซึมซับรับรู้ในคุณงามความดีและความรู้ผ่านสิ่งที่ได้สัมผัสในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ กระบวนการเรียนรู้ของเพลินพัฒนาจึงมีเด็กเป็นหัวใจของการเรียนรู้ มีผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีงามทั้งทางความคิดและการกระทำ เพื่อพัฒนาเด็ก พัฒนาชุมชน และสร้างสรรค์สังคม ก่อเกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม

 

  • โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สอนเด็กเก่งที่มุ่งมั่นจะเอาดีทางวิทยาศาสตร์ นำมาฝึกจิตวิญญาณให้เป็นนักวิจัย ปลายทางคือการสร้างผู้นำทางวิชาการ ด้วยเหตุนี้จึงต้องคัดเด็กที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสม ทั้งวิทย์ และคณิต ไม่ต่ำกว่า ๓.๐๐ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มี IQ ๑๑๐ ขึ้นไป ปัจจุบันพบว่ามีนักเรียนที่มี IQ ๑๒๐ อยู่ประมาณ ๘๕% ของนักเรียนทั้งหมด ทำให้โรงเรียนสามารถลดเวลาเรียนวิชาหลัก แล้วนำเอาเวลาที่มีอยู่ไปเปิดชุมนุมต่างๆ ที่ผู้สอนมีความสนใจ และผู้เรียนอยากรู้ หรือเชิญวิทยากรจากภายนอกเข้ามาให้ความรู้ เป็นต้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 325889เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนที่ได้รับฟังเรื่องเล่า กับตอนเขียนบันทึกนี้ก็สุขใจค่ะ พี่ใหญ่เก่งจังค่ะ ทำรูปและคำแบบสวยๆ ได้ตั้งหลายแบบเลย :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท