ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย แหล่งทองเที่ยวที่น่าสนใจในประเทศไทยของเรา


ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย
ภูชี้ฟ้า

ภูชี้ฟ้า..... หลังคาแห่งสยาม

                     

หากกล่าวถึง “ ภูชี้ฟ้า ” สำหรับนักเดินทางแล้ว หลายคนคงมีโอกาสได้มาชื่นชมทัศนียภาพ ทะเลหมอก พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า อาบลมห่มหนาว นั่งดูดาวยามค่ำคืน ถ้าบางคนยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศดังกล่าวก็ควรให้รางวัลแก่ชีวิตได้

ภูชี้ฟ้า เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,628 เมตร (5,426 ฟุต) ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อแนวตะเข็บของเส้นแบ่งพรหมแดนของประเทศไทยและบ้านเชียงตองแขวงไชยบุรี สปป.ลาว บนเทือกเขาผาหม่น ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างให้ชื่อของภูชี้ฟ้า ตามก้อนหินขนาดมหึมา ทรงเหลี่ยม แหลม ปลายยอดชี้ขึ้นไปบนฟ้าว่า “หลังคาแห่งสยาม”
ภูชี้ฟ้า เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นสลายหมอกอีกแห่งหนึ่ง ช่วงที่สวยงามมากคือเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เวลา 6.30-7.30 น. อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง 25 กม. มีลักษณะเป็นยอดเขาที่แหลมชึ้นขึ้นไปบนฟ้า โดยมีหน้าผายื่นเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้าง แซมด้วยทุ่งโคลงเคลงมีมีดอกสีชมพูอมม่วง ซึ่งจะบานระหว่างเดือน กรกฏาคม-มกราคม

* ก่อนถึงภูชี้ฟ้า 50 เมตรด้านขวามือเป็นดอยหลังเต๋า
* เขตแดนแนวสันเขาของภูชี้ฟ้าเป็นเส้นแนวแบ่งเขตไทยลาว
* ระยะทางจากจุดลานจอดรถขึ้นภูชี้ฟ้า 700 เมตร เดินทางเท้า
* มีแม่คะนิ้ง ตลอดทางเดิน
* มีดอกไม้ป่าขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ดอกโคร่งเครา ดอกหญ้า ต้นแอบเปิ้ลป่า ผักกูดป่า(กินไม่ได้) ต้นไม้ที่ใช้ทำไม้กวาด(ต้นกก หรือต้นก๋ง) สตอร์ป่าออกตอนหน้าแล้ง องุ่นป่า

เส้นทางที่สามารถขึ้นไปยังจุดชมวิวมี 3 ทาง คือ
1. ทางบ้านร่มฟ้าไทย หมู่ที่ 24 ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง ทางเดินรถถนนลาดยางผ่านวนอุทยานภูชี้ฟ้า ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงลานจอดรถเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 700 กว่าเมตร
2. ทางบ้านร่มฟ้าไทย ทางเดินเท้าจากหมู่บ้านขึ้นไประยะทาง 1,800 เมตร สำหรับหนุ่ม – สาว และนักเดินทางทางธรรมชาติ
3. ทางบ้านร่มฟ้าทอง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น ถนนคอนกรีต ถึงหน่วยจัดการต้นน้ำ หงาว – งาว 2042 แล้วเดินต่อด้วยเท้าประมาณ 800 เมตร

การดินทางไปภูชี้ฟ้า (แผนที่)                                                                          
จากจังหวัดเชียงราย สามารถเดินทางไปยังภูชี้ฟ้า ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 113 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ตามเส้นทางหมายเลข1021 (เชียงราย – อำเภอเทิง) ถึงอำเภอเทิง ระยะทาง 64 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางจากอำเภอเทิงสามารถเดินทางขึ้นไปยังภูชี้ฟ้าได้ 3 เส้นทาง คือ
1. เส้นทางอำเภอเทิง – บ้านปางค่า โดยใช้เส้นทางหมายเลข 1021 และ 1155 ผ่านบ้านราษฎร์ภักดี ถนนสาย 1093 แยกไปทางขวาระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงบ้านร่มฟ้าไทย ถ้าแยกไปทางซ้ายระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงบ้านร่มฟ้าทอง ระยะทางประมาณ 49 กิโลเมตร
2. เส้นทางอำเภอเทิง – บ้านปางค่า โดยใช้เส้นทางหมายเลข 1021 และ 1155 ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง จากบ้านปางค่าเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมาเลข 1093 บ้านปางค่า – บ้านร่มโพธิ์ไทย (เล่าอู่) – บ้านร่มฟ้าไทย ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร สภาพเป็นดินลูกรัง ขึ้นเขาและมีสภาพชันเป็นบางช่วง เหมาะสำหรับขับเคลื่อน 4 ล้อ
3. เส้นทางอำเภอเทิง – บ้านสบบง (อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา) บ้านฮวก โดยเส้นทางหมายเลข 1021 และทาง รพช. หมายเลข 11022 ระยะทางประมาณ 49 กิโลเมตร และจากบ้านฮวก ถึงบ้านร่มฟ้าไทย (ภูชี้ฟ้า) ใช้เส้นทางหมายเลข 1093 ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางขึ้นเขาและเลียบริมเขาตลอดจนถึงบ้านร่มฟ้าไทย (ภูชี้ฟ้า) รวมระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร

                                  

ดินแดนมิคสัญญีสู่..."ภูชี้ฟ้า" ... หลังคาแห่งสยาม

ภูชี้ฟ้าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีมนต์เสน่ห์ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชื่นชมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูปลายฝน – ต้นหนาว ความโด่งดังของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ น้อยคนนักจะรู้ซึ่งความเป็นมาในอดีต โดยมีผลสืบเนื่องมาจากคำเล่าขานของกลุ่มผู้นำชาวเขา (เผ่าม้ง) ได้ให้ข้อมูลแก่ทีมงานผู้สำรวจว่าในอดีตสถานที่แห่งนี้เป็นสมรภูมิรบระว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพื่อเป็นการแย่งชิงมวลชนและพื้นที่ แต่เมื่อ พคท. ล่มสลาย กลุ่มชาวเขาที่เคยเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เดิมทีเคยอาศัยอยู่ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงก็เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2532 ได้มี นายนิพนธ์ ขันธปราบ นายอำเภอเทิง นายสมพร ใจเถิง กำนัลตำบลตับเต่า พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่นของตำบลตับเต่า พากันมาเดินทางสำรวจตามคำแนะนำของกลุ่มผู้นำชาวม้ง เมื่อคณะสำรวจได้มาสัมผัสด้วยสายตาของตนเองแล้วต่างลงความคิดเห็นว่า สถานที่แห่งนี้หากได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และมีศักยภาพสูงในอนาคตแน่นอน ต่อมาจึงมีการแผ้วถาง และปรับปรุงเส้นทางให้เป็นเส้นทางเดินเท้า ทางอำเภอเทิงได้ตั้งฐานปฏิบัติการ อส. ระวังเหตุไว้ที่บ้านร่มฟ้าไทย เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานแก่เจ้าหน้าที่ คณะทำงานและอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จากนั้นได้นำสื่อมวลชนทั้งของท้องถิ่นและส่วนกลางมาทำข่าว ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชื่นชมและสัมผัสธรรมชาติที่ภูชี้ฟ้า

นอกจากนั้น ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีดอกเสี้ยวหรือชงโคป่า จะออกดอกสีขาวอมชมพูบานสะพรั่งบริเวณเชิงภูชี้ฟ้า ทางอำเภอเทิงซึ่งนำโดยนายนิพนธ์ ขันธปราบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานของอำเภอเทิง กลุ่มผู้นำท้องถิ่นในตำบลตับเต่า และกลุ่มผู้นำและพี่น้องชาวไทยภูเขาจึงได้จัดงาน “ดอกเสี้ยวบาน ณ ภูชี้ฟ้า” ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 โดยขอความร่วมมือจากนายช่างจรวย สงวนแก้ว นายช่างโครงการอาสา ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างเส้นทางสาย บ้านฮวก – ผาตั้ง มาทำการปรับปรุงเส้นทางในบริเวณบ้านร่มฟ้าไทยและบริเวณงานเชิงภูชี้ฟ้า โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้นำชาวม้งได้จัดชุดการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น การละเล่น การแข่งขันกีฬาชาวเขา และการประกวดธิดาสายหมอก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้บรรจุเอา วันที่ 13 – 15 กุมภาพันธ์ของทุกปีลงในปฏิทินกรท่องเที่ยวว่าจะมีการจัดงาน “ดอกเสี้ยวบาน ณ ภูชี้ฟ้า”

เบื้องหลังความงดงามและมนต์เสน่ห์ของภูชี้ฟ้า มีอดีตประวัติการสู้รบ บทเรียนความเจ็บปวด ซ่อนเร้นอยู่ แม้ว่าหลายคนจะไม่อยากรื้อฟื้น หากว่าสิ่งที่ตามมามันจะเป็นความขมขื่น ทรมานใจและการสูญเสีย แต่สำหรับที่นี้เวลานี้สมควรที่จะต้องทบทวนเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง นักเดินทางและผู้แสวงหาได้มีโอกาสรับรู้เข้าใจ ข้อเท็จจริง สถานการณ์ในอดีตไว้เป็นกรณีศึกษา
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นต้นมาสถานการณ์ก่อการร้ายในจังหวัดเชียงรายเกิดขึ้นโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ส่งผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อแสวงหาแนวร่วมพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนในจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดน่าน

ในปี พ.ศ. 2500 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้ขยายพื้นที่ก่อการร้ายเข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน เพื่อส่งผู้ปฏิบัติงานเพื่อปลุกระดมและจัดตั้งมวลชนและทำหน้าที่เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์โดยเป็นพื้นที่ออกเป็น 4 เขตงาน คือ เขตงาน 7 ครอบคลุมพื้นที่ดอยผาจิ , ผาช้าง เขตงาน 8 ครอบคลุมพื้นที่ดอยยาว – ดอยผาหม่น เขตงาน 9 ครอบคลุมพื้นที่บ่อเกลือเชียงกลาง ทุ่งช้างและเขตงาน 52 ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเชียงแสน ในเนื้อที่ของการปลุกระดมได้โฆษณาชวนเชื่อในนโยบายเนื้อหาและแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ปลอดปล่อยประชาชน โดยให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันไม่มีการกดขี่ข่มเหงกันและมีเครื่องสาธารณูปโภคเหมือนกับคนในเมือง ไม่มีการแยกชนชั้น ทุกคนต้องได้รับความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษา พยาบาล และการรับราชการ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชนเผ่าและคนพื้นราบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นนโยบายขั้นที่ 1 (ขั้นพื้นฐาน) ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานจนประสบผลสำเร็จ เพราะทุกคนเห็นข้อแตกต่างระหว่างชนเผ่ากับคนในเมืองสามารถปฏิบัติงานขั้นที่ 2 ได้ โดยยึดถือว่า คนที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพเสมอกันต้องได้มาจากการต่อสู้ด้วยอาวุธโค่นล้มรัฐบาล ในขณะนั้นขับไล่อเมริกาออกจากประเทศไทยและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลของประชาชน

ในปี พ.ศ. 2507 สมาชิก พคท. สามารถขยายเขตงานได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง พคท. เปิดฉากการต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในภาคเหนือครั้งแรกที่บ้านน้ำปาม ตำบลไร่หลวง อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 ซึ่งถือว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” การต่อสู้รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
การต่อสู้ระหว่าง พคท. และเจ้าหน้าที่ของรัฐครั้งแรกในจังหวัดเชียงราย ที่บ้านห้วยชมภู ตำบลยางฮอม อำเภอเทิง (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2510 ซึ่งเกิดการปะทะกันในเขตพื้นที่ดอยยาว – ดอยผาหม่น โดยมีสาเหตุมาจากกลุ่มผู้นำท้องถิ่นที่มาเรียกเก็บภาษีที่ไร่ซ้ำซ้อนและกดขี่ข่มเหงชาวไทยภูเขา สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเขาเหล่านี้ ประจวบกับช่วงนั้น พคท. ได้มีการเคลื่อนไหวและปลุกระดมชาวบ้านทุกหมู่บ้านก็พร้อมจะต่อสู้ด้วยอาวุธและแข็งข้อโดยไม่ยอมจ่ายภาษีให้ จึงสร้างความไม่พอใจไว้ให้แก่ผู้นำท้องถิ่น ในขณะนั้นเป็นอันมากและขู่ว่า จะจับชาวบ้าน ฆ่าทั้งหมด จึงสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้าน จึงเกิดการสู้รบกันด้วยอาวุธ(พคท. สนับสนุน) ต่อมาเจ้าหน้าที่ของรัฐพร้อมด้วยกำลังทหาร เข้ายิงถล่ม ปะทะกันและเผาหมู่บ้านโดยใช้นโยบายปล้นเรียบ ฆ่าเรียบ เผาเรียบ ทำให้ชาวบ้านพากันอพยพหลบหนีบางส่วนได้เป็นตัวแทนไปเรียนการเมือง การทหาร โดยได้รับการสนับสนุนจากลาว จีน และเวียดนาม แล้วกลับมาปฏิบัติงาน เพื่อยึดฐานที่มั่นในพื้นที่ดอยผาหม่น ทำเกิดการปะทะกันและสูญเสียอยู่เรื่อย ๆๆ

วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2517 ได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจกองพลที่ 4 ให้มีภารกิจป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ในจังหวัดเชียงราย พะเยา โดยยึดถือการเมืองนำการทหาร

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2522 ได้จัดตั้งกองอำนวยการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท. 2324) ขึ้นแทน หน่วยงานเฉพาะกิจ กองพลที่ 4 เพื่อรับผิดชอบป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยรวมพลังเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าปฏิบัติการร่วมกันอย่างมีเอกภาพ

วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ได้แปรสภาพเป็น พตท. 31 โดยปฏิบัติตาม นโยบาย ตามคำสั่ง นายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ลงวันที่ 23 เดือนเมษายน พ.ศ. 2523 และนโยบาย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 65/24 และดำเนินการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ พัน ร. 473 ภายใต้การนำของ พันโทวิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพัน ซึ่งจัดกำลังจากกองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 7 ได้ส่งกำลังเข้าปราบปราม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ในพื้นที่ดอยยาว – ดอยผาหม่นหลายยุทธการด้วยกัน จนกระทั่งยุทธการที่สำคัญ คือ ยุทธการเกรียงไกร (วีกรรมเนิน 1188) บนพญาพิภักดิ์ จนกระทั่งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นจำนวนมาก จากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่โปรยใบปลิวชี้แจงข้อเท็จจริง โดยใช้เครื่องบินติดตั้งเครื่องขยายเสียง ประกาศทำความความเข้าใจกับชาวเขา และอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยร่วมขบวนการและปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้ขอเชิญชวนมอบตัวเพราะว่าในขณะนั้นรัฐบาลได้มีการเปลี่ยนแปลง ไปในทางที่ดีกว่าอดีต จึงทำให้สงครามการต่อสู้ด้วยอาวุธได้ยุติลง และเปลี่ยนแปลงการพัฒนาขึ้นแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา

ในช่วงของการต่อสู้กับ ผกค. ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก่อสร้างทางสายมรณะ (เส้นทางสายยุทธศาสตร์) สายป่าบง – ปางค่า (เส้นทางสาย 1155) ได้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกับ ผกค. รุนแรงมากทำให้มีการสูญเสียชีวิต เครื่องจักรกล และทรัพย์สินเป็นจำนวนมากส่งผลให้ ร้อยโททายาท คล่องตรวจโรค และร้อยโทปิยวิพากษ์ เปี่ยมญาติ ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก จากกองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 7 ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ และเสียสละอย่างสูงสุด ต้องสูญเสียชีวิตพร้อมกันทั้ง 2 ท่าน บริเวณฐานห้วยเมี่ยง

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 พตท.31 ได้ลดกำลังและแปรสภาพเป็นชุดควบคุมที่ 31 (ชค.31) ได้ปฏิบัติการพัฒนาเพื่อความมั่นคง และเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2531 จึงยกเลิกการจัดตั้งหน่วยลง

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 โครงการยุทธศาสตร์พัฒนา ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงาน ภายหลังการยกเลิก ชค. 31 ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ เป็นพื้นที่ ที่มีความสำคัญเนื่องจากเขตงานก่อการร้ายเดิม และมีการเคลื่อนไหวของกำลังทหาร สปป.ลาว (ทปล.) บริเวณชายแดน และบางครั้งก่อล่วงล้ำเข้ามาเขตแดนไทย โครงการยุทธศาสตร์พัฒนาได้ปฏิบัติงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 – 2532 มีพื้นที่รับผิดชอบ อ. เทิง อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล จ.เชียงราย และ อ.เชียงคำ อ.ปง จ.พะเยา

โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ดำเนินการจัดตั้งหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย สปป. ลาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จำนวน 10 หมู่บ้านและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ในหมู่บ้านที่มีปัญหาด้านความมั่นคง ในชุมชนเดิมของจังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา จำนวน 16 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2533 – 2535 แทนโครงการยุทธศาสตร์พัฒนา ดำเนินงานของโครงการมีปัญหาและอุปสรรคอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ การไม่เข้าใจของการดำเนินงานของส่วนราชการบางหน่วย เป็นผลให้เกิดการจัดสรรงบประมาณล่าช้า จึงทำให้บางแผนงานไม่สำเร็จตามที่กำหนด กองทัพภาคที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายวนภาคที่ 3 จึงได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 – 2537 และเข้าสู่ระบบการพัฒนาปกติโดยไม่มีการขยายเวลาอีก และได้โอนมอบพื้นที่ให้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2537

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2537 ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการพัฒนาความมั่นคงพื้นที่ ดอยยาว – ดอยผาจิ (ศอป. โครงการ พมพ. ดอยยาว ฯ) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นต่อจากโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง พื้นที่ดอยยาว ดอยผาหม่น ดอยผาจิ โดยมีภารกิจในการอำนวยการประสานงานกับส่วนราชการในพื้นที่ หลังจากที่ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นสมรภูมิรบ ระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อีกเสี้ยวหนึ่งใครจะรู้ว่า ยังมีดินแดนที่มีรูปร่างสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง จนมีผู้ขนานนามว่า “ภูชี้ฟ้า” เนื่องจาก มีลักษณะเป็นยอดเขาแหลมและมีแผ่นผาขนาดใหญ่มหึมาชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งบนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งกว้างประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร มีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว หลายคนมีโอกาสได้ดื่มด่ำธรรมชาติความงดงามของทะเลหมอกยามเช้าบนยอดภูชี้ฟ้า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างดั้นด้น เดินทางเพื่อพิชิตให้ถึงยอดภูชี้ฟ้าเพียงเพื่อชื่นชมและสัมผัสกับความงดงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา จะมีสักกี่คนที่มองเห็นสถูปและแวะเวียนไปสักการะสถานที่แห่งนั้น ซึ่งเป็นที่สถิตของวีรบุรุษผู้กล้า ผู้เสียสละ ผู้สร้างประโยชน์ และรับใช้แผ่นดินอย่างจริงจังและจริงใจ ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ความกล้าหาญของ พอ. วิโรจน์ ทองมิตร เป็นที่ลือเลื่องไปทั้งกองทัพบกเพราะว่า พอ. วิโรจน์ ทองมิตร สามารถจับคนร้ายได้ด้วยมือเปล่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2523 เมื่อ พอ.วิโรจน์ ทองมิตร นำผู้ใต้บังคับบัญชาอีก 6 คน ออกลาดตระเวน และทราบข่าวว่าจะมี ผกค. ประมาณ 75 คน มารับเสบียงที่หมู่บ้านเย้ายางฮอม และได้เผชิญหน้ากับ พอ.วิโรจน์ ทองมิตร ยิง ผกค. เสียชีวิตจึงมีการยิงปะทะกันในระยะประชิด ผกค. ถูกยิงแต่คณะของ พอ. วิโรจน์ ทองมิตร ไม่มีใครเสียชีวิต ทั้งที่มีกำลังน้อยกว่าและสามารถนำเชลยศึกกลับมาได้ จึงได้รับคำยกย่องชมเชยอยู่มาก

เมื่อสันติภาพและความสงบสุขได้กลับมาสู่พื้นที่ดอยยาว ดอยผาจิ ดอยผาหม่น นับเป็นเกียรติประวัติของพื้นที่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระราชาธินัดดามาตุ ทรงเสด็จไปเยี่ยมบ้านพญาพิภักดิ์ ณ สันดอยยาว ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 พอ.วิโรจน์ ทองมิตร ได้นำอดีตผู้นำ ผกค. เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อแสดงความจงรักภักดี

ในวันนั้น พอ.วิโรจน์ ทองมิตร กราบบังคมทูลขอพระราชทาน “รอยพระบาท” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประทับลงบนแบบพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ เพื่อขอจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แห่งชัยชนะเหนือดอยยาว และดอยผาหม่นซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานตามที่ขอและเป็นรอยพระบาทแห่งเดียวในสนามรบของประเทศไทย ที่นักรบขอพระราชทานให้เป็นมิ่งขวัญ
เมื่อเวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 วีรบุรุษผู้กล้าได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับและไม่มีคำร่ำลา เมื่อรถยนต์ของ พอ.วิโรจน์ ทองมิตร เกิดประสบอุบัติเหตุชนต้นไม้ ในขณะที่เดินทางจากค่ายขุนเจืองธรรมมิกราช จังหวัดพะเยาไปยังจังหวัดเชียงใหม่บนถนนสายเชียงใหม่ – ดอยสะเก็ด บริเวณหมู่บ้านคุรุสภา ตำบลสันนาเม็ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเหตุให้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุการณ์จากไปของท่านยังความเศร้าโศกเสียใจแก่ครอบครัว ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย
แม้ตัวจากไปแต่เกียรติยศชื่อเสียงคุณงามความดีของ พอ. วิโรจน์ ทองมิตร ยังคงจารึกและเป็นเกียรติต่อผืนแผ่นดินไทยบนยอดดอยภูชี้ฟ้า ร่องรอยประวัติศาสตร์ กลิ่นคาวเลือดที่มาจากสมรภูมิรบในอดีตที่ควรจดจำบัดนี้กลับกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย หากท่านผู้ใดได้มีโอกาสมาสัมผัสความงดงาม ทัศนียภาพของภูชี้ฟ้า เมื่อหันมองไปทางทิศตะวันตกจะมองเห็นสถูปเล็ก ๆ ของวีรบุรุษผู้กล้า “พอ.วิโรจน์ ทองมิตร” ผู้ที่พลิกประวัติศาสตร์พื้นดินแห่งนี้จากกลิ่นคาวเลือดและการสู้รบฆ่าฟันกัน ให้กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่าและควรค่าแก่การรักษา

ปัจจุบันภูชี้ฟ้าอยู่ในการควบคุมดูแลของวนอุทยานภูชี้ฟ้า แต่การปกป้องรักษาแหล่งท่องเที่ยวนี้จะปล่อยให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่จำนวนน้อยคงไม่ได้ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นสมบัติและทรัพยากรของชาติที่ทุกคนควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ดูแลรักษาและมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรเอกชน องค์กรปกป้องท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน ราษฎรในพื้นที่ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงนักท่องเที่ยวทุกคนต้องมีจิตสำนึกรัก และหวงแหน ร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดระบบการจัดสรรทรัพยากรน้ำ พื้นที่ ป่าไม้ ชุมชนข้างเคียงและแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ สมควรให้เหมาะสมกลมกลืนกับธรรมชาติ เสริมสร้างความมั่นคงต่อชุมชน พื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แล้วจะทำให้เจตนารมณ์และเป้าหมาย ของผู้ที่ร่วมกันคิดเสริมสร้างความมั่นคงที่ผ่านมาในอดีต มีความรู้สึกภาคภูมิใจสมกับเจตนาอันแรงกล้าที่อยากให้ทุกคนประทับใจกับการมาเยือนภูชี้ฟ้าอีกครั้ง แล้วในอนาคต“ภูชี้ฟ้า” ก็คือหลังคาแห่งสยามต่อไป

 

        
ที่มา : http://www.chiangraifocus.com

หมายเลขบันทึก: 325778เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 03:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กลัวความสูงเป็นนิสัย

ขอสละสิทธิ์ ชมแต่ภาพก็พอ

เก่งจังเลย ตัวแค่เนี๊ยะมีความสามารถสูง

ชื่นชมนะคะ

แวะมาทักค่ะ พี่จุ๋ม

ภาพสวยมากกกค่ะ ห้องเราน่าจะจัดไปเที่ยวกันนะ หัวหน้า(พี่จุ๋ม)

ขอบใจมากๆ นะจ๊ะที่แวะมาทักทาย เชิญมาเยี่ยมบ่อยๆนะจ๊ะ

แวะมาเที่ยวภูฟ้า

ถ้ามีโอกาสอยากไปเที่ยวสักครั้งคงจะมีความสุขมากค่ะพี่จุ๋ม

สวยมากๆเลยพี่จุ๋มนำน้องๆเที่ยวหน่อยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท