SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

แม่อายสะอื้นอีกรอบ-กรมการปกครองสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรแล้ว 17 ราย(มาตรา 10 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551)-เพิ่มเติม 8 ม.ค.53


หลักการและแนวทางปฏิบัติของมาตรา 10 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551

แม่อายสะอื้นอีกรอบ-กรมการปกครองสั่ง

ระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรแล้ว 17 ราย

เตรียมออกคำสั่งอีก 774 ราย

 

องค์กรด้านกฎหมาย องค์กรพัฒนาเอกชน

เสนอให้กรมการปกครองชี้แจงการใช้อำนาจตามมาตรา 10 วรรคสี่

ขณะที่อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ

เรียกร้องให้ยกเลิก-เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

เผยแพร่วันที่ 15 ตุลาคม 2552

 

องค์กรด้านกฎหมาย และองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนงานด้านปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ขอให้กรมการปกครองชี้แจงหลักการ, แนวปฏิบัติของการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน (มาตรา 10 วรรคสี่ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551)

14 ตุลาคม 2552            สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกันออกจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง ต่อกรณีที่กรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย มีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎร ต่อชาวบ้าน 17 ราย ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่า อยู่ระหว่างการออกคำสั่งและส่งคำสั่งไปยังชาวบ้านอีกจำนวนร่วม 774 ราย

 

ทางองค์กรเครือข่ายฯ มีความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักทะเบียนอำเภออาจเป็นการออกคำสั่งทางปกครองทีไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากขัดต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาภายใต้หลักการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ การไต่สวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ที่อำเภอแม่อายสามารถออกคำสั่งเรียกให้ชาวบ้านมาได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน อันเป็นหลักทั่วไปแห่งวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ได้รับการรับรองคุ้มครองโดยมาตรา 59 ทั้งยังเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มิใช่ดำเนินการเพียงการตรวจสอบฝ่ายเดียวโดยลำพัง และออกคำสั่งฯ ดังกล่าว

 

ทางองค์กรเครือข่ายฯ ร่วมกันแถลงว่า “ทางองค์กรเครือข่ายฯ เล็งเห็นถึงและขอชื่นชมความตั้งใจที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ของอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่และกรมการปกครอง ในการดำเนินงานด้านการทะเบียนเพื่อให้เกิดระบบจัดการประชากร รวมถึงการแก้ไขและป้องกันปัญหาฯ ในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม โดยสอดคล้องกับหลักการกระทำทางปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติรัฐ อีกทั้งยังเป็นการประกันถึงสิทธิเสรีภาพของราษฎรจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ”

 

องค์กรและเครือข่ายฯที่เกี่ยวข้อง ขอเสนอแนะให้กรมการปกครองชี้แจงอย่างชัดเจนต่อสาธารณะถึง

(1) หลักการ/เจตนารมณ์ของมาตรา 10 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551

(2) แนวปฏิบัติ/หลักเกณฑ์ในการบังคับใช้มาตรา 10 วรรคสี่

(3) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ถูกออกคำสั่ง รวมถึงแนวทางการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และ

(4) ขอให้กรมการปกครองมีหนังสือสั่งการไปยังสำนักทะเบียน/เทศบาลทุกแห่งเพื่อชี้แจงหลักการและแนวทางปฏิบัติของมาตรา 10 วรรคสี่ ดังกล่าว

 

“ทางองค์กรและเครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือคำถามใดๆ ที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงอำเภอแม่อาย จะไม่กลายเป็นอุปสรรค ลดทอนกำลังใจในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ด้วยเพราะสังคมไทยจักสามารถเข้มแข็ง มั่นคงได้นั้น การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสาระสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่ง”

 

ด้านสภาทนายความ ขอให้ทบทวนและยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทางทะเบียนราษฎร

9 ตุลาคม 2552              ด้านสภาทนายความ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น  ได้ออกจดหมายถึงอธิบดีกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ขอให้ทบทวนและยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทางทะเบียนราษฎรชาวบ้าน โดยจดหมายระบุว่า  ราษฎรอำเภอแม่อายที่ถูกคำสั่งให้ระงับการเคลื่อนทางทะเบียนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่ได้ผ่านการพิสูจน์ตนต่อสำนักทะเบียนอำเภอแม่อายแล้วว่าเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยการพิสูจน์นั้นราษฎรได้นำพยานหลักฐานต่างๆ เข้านำสืบพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่อย่างสมบูรณ์ จนนำมาซึ่งคำสั่งให้เพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎรในฐานะ “บุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย”  ดังนั้น การที่สำนักทะเบียนอำเภอแม่อายออกคำสั่งดังกล่าว  ซึ่งมีผลกระทบต่อฐานะทางทะเบียนราษฎรและสิทธิเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพหรือดำเนินการต่างๆ  อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยคุ้มครองและรับรองไว้ ตามมาตรา 4, 26, 27, 28, 29  และมาตรา 30 การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็น คำสั่งทางปกครอง อันหมายถึงการกระทำทางกฎหมายฝ่ายเดียวที่มีผลเจาะจงเฉพาะรายนี้ อาจเป็นการการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังก่อให้เกิดและ/หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ได้รับคำสั่งฯ กล่าวคือ

 

การที่อำเภอแม่อายมีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนฯ ก่อนที่จะได้รับฟังคำชี้แจงหรือโต้แย้งดังกล่าว เป็นการกระทำทางปกครองที่ขัดต่อหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วน เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ควรเกิดขึ้นในกรณีที่มีเหตุหรือน่าเชื่อได้ว่าจะมีเหตุที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างร้ายแรง หากอำเภอแม่อายต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายการทางทะเบียนของบุคคล ย่อมสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาทางปกครองตามหลักทั่วไปได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนฯโดยเรียกให้คู่กรณีได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือการใช้หลักการไต่สวนในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วนที่สุด อันเป็นหลักการที่ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา 58 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แต่อำเภอแม่อายกลับดำเนินการเพียงการตรวจสอบฝ่ายเดียวโดยลำพัง และออกคำสั่งฯ ดังกล่าว

 

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ  สภาทนายความ  จึงขอให้ทางอำเภอแม่อายดำเนินการทบทวนและยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรชาวบ้านแม่อาย ซึ่งทางอำเภอแม่อายสามารถดำเนินการได้เองทั้งการทบทวนความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมของคำสั่งฯ ดังกล่าว  ทั้งนี้เป็นไปตามหลักความมั่นคงทางกฎหมาย หลักการต้องเคารพต่อความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง หลักการบริหารงานที่ดี และหลักความเชื่อโดยสุจริตของคู่กรณี เพื่อการใช้อำนาจทางปกครองเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติรัฐ

 

ดาวน์โหลดจม.ฉบับเต็ม

จม.องค์กรด้านกฎหมาย องค์กรพัฒนาเอกชน เสนอให้กรมการปกครองชี้แจงการใช้อำนาจตามมาตรา 10 วรรคสี่

http://gotoknow.org/file/statelesswatch-swit/2552-10-14-Letter-SWITandNet2DOPA-FINAL.pdf

 

จม.สภาทนายความ ขอให้ทบทวนและยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทางทะเบียนราษฎร

 http://gotoknow.org/file/statelesswatch-swit/2552-10-09-Letter-LCT2DOPA.pdf


 

กรมการปกครองชี้แจงการใช้อำนาจตามมาตรา 10 วรรค 4

หลังระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรชาวแม่อายแล้ว

เผยแพร่วันที่ 22  ตุลาคม 2552

 

องค์กรด้านกฎหมาย และองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนงานด้านปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ ส่งจดหมายขอบคุณหลังกรมการปกครองชี้แจงหลักการ, แนวปฏิบัติของการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน (มาตรา 10 วรรค 4  พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551)
  

22 ตุลาคม 2552            จากที่สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมกันออกจดหมายขอบคุณถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครอง ได้มีหนังสือที่พิเศษ 2/2552 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 เพื่อขอให้ทางกรมการปกครองดำเนินการชี้แจงต่อกรณีการบังคับใช้มาตรา 10 วรรค 4 หลังจากที่ที่กรมการปกครอง จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย มีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎร ต่อชาวบ้าน 17 ราย ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่า อยู่ระหว่างการออกคำสั่งและส่งคำสั่งไปยังชาวบ้านอีกจำนวนร่วม 774 รายนั้น

 

ปรากฏว่าทางกรมการปกครองได้ดำเนินการออกหนังสือเวียนที่ มท.0309.1/ว 61  ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 แล้ว

 

โดยหนังสือเวียน ระบุขั้นตอนปฏิบัติคือ

1. หลังจากนายทะเบียนได้รับแจ้งหรือได้รับการร้องเรียนหรือตรวจพบว่าการจัดทำหลักฐานทะเบียนราษฎรีดำเนินการโดยมิชอบ โดยอำพรางข้อเท็จจริง หรือข้อความผิดจากความเป็นจริง นายทะเบียนต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสอบสวนจากพยานบุคคลและพยานแวดล้อมต่างๆ และอาจจะสอบจะสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าของหลักฐานทางทะเบียนราษฎรด้วย

2. จากนั้นให้นายทะเบียนรวบรวมพยานหลักฐานจัดทำความเห็นเสนอต่อนายอำเภอเพื่อพิจารณา โดยเมื่อพิจารณาแล้วเชื่อได้ว่าหลักฐานทะเบียนราษฎรจัดทำโดยไม่ถูกต้องจริง  จึงจะสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการไว้ก่อน โดยต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบภายใน 3 วัน โดยต้องแจ้งเป็นหนังสือ ระบุสาระสำคัญ

   (1) ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามีการกระทำโดยมิชอบ

   (2) ข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

   (3) ข้อพิจารณาและเหตุผลในการใช้ดุลพินิจของนายทะเบียน

   (4) สิทธิของคู่กรณีในการแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงแทน

   (5) สิทธิของคู่กรณีในการขอดูเอกสารที่จำเป็นสำหรับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันสิทธิของตน

   (6) ระยะเวลาในการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง กำหนดไว้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

3. ถ้าคู่กรณีไม่โต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือการโต้แย้งและชี้แจงไม่ระบุเหตุผลหรือแสดงพยานหลักฐาน ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสั่งจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรหรือหรือเพิกถอนหลักฐานทางทะเบียนราษฎร

 

โดยผลของการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน จะเกี่ยวข้องเฉพาะในส่วนงานทะเบียนราษฎร โดยเฉพาะการแจ้งย้ายที่อยู่และมีผลผูกำพันต่อเจ้าของรายการทะเบียนราษฎรที่ถูกคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวเท่านั้น

 

ทางองค์กรเครือข่ายฯ จึงได้ออกจดหมายเพื่อขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณการดำเนินการของกรมการปกครองต่อกรณีดังกล่าว

 

 ดาวน์โหลดจม.ฉบับเต็ม

จม.กรมการปกครองชี้แจงมาตรา 10 วรรคสี่

http://gotoknow.org/file/statelesswatch-swit/2552-10-14-wor61-Dopa.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 325774เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท