SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

จับเด็กสามขวบ ลูกแรงงานพม่าขึ้นทะเบียน—เกิดไทย (มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 )


บุคคลภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551

จับเด็กสามขวบ ลูกแรงงานพม่าขึ้นทะเบียนเกิดไทย

ข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เตรียมส่งกลับ

วานนี้ วันที่ 27 กรกฎาคม 2552 สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT) และโครงการบางกอกคลินิก ได้รับแจ้งจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมเด็กชายพล(ชื่อที่ระบุในเอกสารการเกิด)/เด็กชายอับดุลลาห์(ชื่อที่ระบุในเอกสาร ตม.) อายุ 3 ขวบ ซึ่งเป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่และทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ในวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ขณะนี้ถูกกักตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู โดยคาดว่าทาง ตม. จะมีการดำเนินการเพื่อส่งเด็กชายพล(อับดุลลาห์)ออกไปนอกราชอาณาจักรต่อไป

SWIT และโครงการบางกอกคลินิก จึงได้ประสานงานไปยัง คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ต่อกรณีดังกล่าวและคณะอนุกรรมการฯ ได้ส่งจดหมายถึงผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม  ขอให้ระงับการส่งกลับเด็กชายพล ออกนอกราชอาณาจักรไทยและปล่อยตัวเด็กกลับคืนสู่ครอบครัวโดยทันที

โดยจดหมายระบุว่า โดยข้อเท็จจริง เด็กชายพล(อับดุลลาห์) เป็นบุตรของนางโมโม่ แรงงานต่างด้าว ที่ได้ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2552  (มีเลขประจำตัวประชาชน คือ 00-1101-106903-2) ดังนั้นจึงถือว่าเป็นบุคคลในครอบครัว หรือเป็นผู้ติดตามของแรงงานฯ ที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยและสิทธิทำงานชั่วคราวในประเทศไทย

อีกทั้งเด็กชายพล(อับดุลลาห์) เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย กล่าวคือ เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ณ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ได้รับการออกสูติบัตรประเภทบุตรของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ประเภท ท.ร.03 ซึ่งเป็นบุคคลภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 กล่าวคือ อยู่ในระหว่างการกำหนดสถานะบุคคลและฐานะการอยู่ที่จะต้องคำนึงถึงหลักความมั่นคงและหลักสิทธิมนุษยชน โดยกระทรวงมหาดไทยจะประกาศเป็นกฎกระทรวง การพรากเด็กอายุ 3 ขวบไปจากแม่ และครอบครัวของเด็กย่อมเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

และการส่งเด็กชายพล(อับดุลลาห์) ออกนอกราชอาณาจักร ด้วยเหตุที่ว่ามีความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย  จึงกระทำไม่ได้

นอกจากนี้ ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ต้องอธิบาย ให้เหตุผลให้ได้ก็คือ เด็กชายพล(อับดุลลาห์) อายุ 3 ขวบ ออกนอกราชอาณาจักรนั้น ทาง ตม. จะถูกส่งไปยังด่านใด ส่งไป ณ ประเทศใด และมั่นใจได้อย่างไรว่าเด็กจะไม่เผชิญกับภัยต่อชีวิต ร่างกาย

ยิ่งไปกว่านั้น การส่งเด็กชายพล(อับดุลลาห์)ออกนอกราชอาณาจักร  โดยอ้างว่านางโมโม่ ผู้เป็นแม่ยินยอมที่จะออกนอกราชอาณาจักรพร้อมเด็กชายพล(อับดุลลาห์)นั้น อาจถูกตั้งเป็นข้อสังเกตได้ เนื่องจากนางโมโม่ เพิ่งไปต่อใบอนุญาตทำงานเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

และภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966  ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ผูกพันให้ประเทศไทยต้องเคารพต่อสิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น จากสังคมและรัฐ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน หรือกำเนิด (ข้อ 24) และจะต้องเคารพต่อสิทธิในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวตาม (ข้อ 23)

ต่อมาเวลาประมาณ 22.10 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่จาก SWIT และโครงการบางกอกคลินิกได้เดินทางไปยังสำนักงาน ตม.(สวนพลู) เนื่องจากเกรงว่าเด็กชายพล(อับดุลลาห์) จะถูกส่งกลับในคืนดังกล่าว โดยจากการสังเกตการณ์และสอบถามข้อมูลของกลุ่มที่ถูกส่งกลับพบว่ามีกรณีของเด็กที่ถูกส่งกลับด้วย แต่ก็ได้รับการยืนยันจากร้อยเวรว่าเด็กชายพล(อับดุลลาห์)ยังไม่ถูกส่งกลับ

และวันนี้ 28 กรกฎาคม เวลา 10.00 น.ได้มีทนายความจากสภาทนายความเดินทางไปประสานงานให้ความช่วยเหลือเด็กชายพล(อับดุลลาห์) และมารดา ที่ตม.สวนพลู



ติดตามอ่านบันทึกข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ
-http://gotoknow.org/blog/legal-aid-bkk-clinic-swit/280849
-http://gotoknow.org/blog/legal-aid-bkk-clinic-swit/280851

ดาวน์โหลดจม. สภาทนายความ วันที่ 27 กรกฎาคม  ขอให้ระงับการส่งกลับเด็กชายพล ออกนอกราชอาณาจักรไทยและปล่อยตัวเด็กกลับคืนสู่ครอบครัวโดยทันที

 http://gotoknow.org/file/statelesswatch-swit/2552-07-27-Letter2Immigration-FINAL.pdf

หมายเลขบันทึก: 325768เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท