สอนนักเรียน ชั้น ม.๒ เขียนเรื่องสั้น


            แม้ว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของชั้น ม.๒  จะระบุไว้เพียงว่าให้นักเรียนรู้จักเรื่องสั้น  หรือองค์ประกอบของเรื่องสั้น  แต่ถ้านักเรียนมีความสามารถ  เราก็ควรจะพัฒนาเขาให้เรียนรู้เต็มศักยภาพ แต่ห้ามต่ำกว่ามาตรฐานการเรียนรู้ที่ส่วนกลางกำหนด สำหรับนักเรียนห้องที่ครูภาทิพสอนเป็นนักเรียนห้อง ม.๒/๔  /๕ และ/๖  ซึ่งเป็นเด็กเรียนระดับปานกลางถึงค่อนข้างเก่ง   มีความรับผิดชอบในระดับดี-ดีมาก   จากนักเรียนทั้งหมด  ๑๓ ห้อง   ทำไมครูภาทิพต้องมาให้เด็กทำอะไรๆ ที่เกินความจำเป็นด้วยนะ

 

            เหตุผลก็คือพฤติกรรมของพวกเขาและเธอ พฤติกรรมของพวกเขาและเธอชอบนั่งอ่านการ์ตูน และนวนิยาย  ก่อนที่ครูภาทิพจะสอนครูภาทิพต้องเดินเก็บหนังสือก่อน  ไม่อย่างนั้น  เธอจะอ่านหนังสือไป  พร้อมกับเหลือบสายตาขึ้นมองครูเป็นระยะ   การติดหนังสือนวนิยาย  ครูภาทิพเคยเป็นมาก่อน  จึงเข้าใจและรู้เท่าทัน  เมื่อเด็กอ่านมาก  การอธิบายเรื่องงานเขียนก็ไม่ยาก     และผลงานชิ้นก่อนหน้านี้เกินความคาดหวังของครู  ประกอบกับสีหน้าสายตาขณะที่ให้ความรู้เรื่อง   เรื่องสั้น  ไม่ได้แสดงว่าเบื่อหน่าย  ครูภาทิพ จึงลองดู  และไม่ได้คาดหวังว่า ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์  ทั้งๆที่ถ้าเพียงแต่เด็กอธิบายองค์ประกอบของเรื่องสั้นได้ บอกการประเมินเรื่องสั้นได้  เด็กก็ผ่าน ครูภาทิพก็ไม่เหนื่อย   ทำไมฉันต้องมาเหนื่อยกับการนั่งอ่านผลงานของเธอ?

 

            เริ่มจากงานชิ้นนี้    เขียนเรื่องจากโคลงสุภาษิต  ซึ่งครูภาทิพได้อธิบายวิธีการทำไว้ดังนี้

 

         งานเขียนจากการอ่านคิดวิเคราะห์โคลงสุภาษิตทศนฤทุมนาการ  กิจ ๑๐ ประการที่ผู้กระทำไม่เคยเสียใจ

กิจกรรมโดยสังเขป

   ๑. นักเรียนอ่านโคลงทั้ง ๑๐ บท

   ๒. ฟังครูอธิบายเนื้อหา

   ๓. นักเรียนจับคู่กับเพื่อน  เขียนเรื่องสั้นๆ ให้มีตัวละคร มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับโคลงที่ได้รับมอบหมาย  พร้อมกับจบด้วยโคลงบทนั้น ๆ

   ๔. นำผลงานมาลงบันทึกนี้   หาภาพน่ารักๆ  มาปิดท้ายหรือตอนต้นของบันทึก  เพื่อทำให้บันทึกน่าอ่าน

   ๕. ตรวจสอบคำผิดก่อนโพสท์  หากพบว่ามีคำผิดให้โพสท์ใหม่

    ๖.อย่าลืมลงชื่อ  เลขที่  ห้อง  ของผู้เขียนหรือเจ้าของผลงานด้วยนะคะ

 

       ปรากฏว่านักเรียนสามารถเขียนเรื่องได้ในระดับดี-ดีมาก  และส่งงานในห้องเรียนครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ส่งผ่านเว็บไม่ครบ ซึ่งนักเรียนส่งตามความพร้อมของการใช้อินเตอร์เน็ต 

 

       จากจุดนี้เมื่อถึงการเรียนรู้เรื่อง เรื่องสั้น   ครูภาทิพดำเนินการสอนโดยสังเขปดังนี้

 

๑.กิจกรรมนอกห้องเรียน  ครูภาทิพมอบหมายให้นักเรียนอ่านเรื่องสั้น เรื่องลูกผู้ชายตัวเกือบจริง  องค์ประกอบของเรื่องสั้น  การประเมินเรื่องสั้นมาล่วงหน้า

 

๒. ในห้องเรียนชั่วโมงที่ ๑  ครูภาทิพอธิบายเรื่อง เรื่องสั้น โดยใช้ Mind  Mapบนกระดาน  พร้อมยกตัวอย่างองค์ประกอบแต่ละด้านจากละครโทรทัศน์  และสมมุติเรื่องโดยให้เขาและเธอเป็นตัวละคร   ซึ่งวิธีการนี้  จะทำให้เด็กเชื่อมโยงความรู้ง่ายขึ้น  

 

๓. ให้นักเรียนใช้ดินสอเขียน Mind Map  สร้างองค์ประกอบของเรื่องสั้นของเขาและเธอ  โดยเริ่มจากแนวคิดว่า   เขาจะนำเสนอแนวคิดอะไร   แนวคิดนี้ครูต้องยกตัวอย่างไว้บนกระดานให้มากที่สุดเพื่อเป็นทางเลือกของนักเรียน  เช่น

       ความรักความผูกผัน   ความยากจน    การแบ่งปัน   การให้อภัย   ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์   การไขว่คว้า   ความโลภ   ความขยันหมั่นเพียร  ความซื่อสัตย์ ฯลฯ

 

        จากแนวคิด   mind  mapก้านต่อไปก็คือ ปมของเรื่อง  จากแนวคิดที่นักเรียนกำหนด  นักเรียนจะสร้างปมของเรื่องด้วยเงื่อนไขอะไร   ครูก็อธิบายและยกตัวอย่างให้มีความหลากหลายอีกเช่นกันเช่น  การพลัดพราก   ความเข้าใจผิด    ความแตกต่างทางฐานะ    ภัยธรรมชาติ     ความอิจฉาริษยาฯลฯ  นักเรียนก็เลือกปมไปเขียนไว้

 

          ขั้นต่อไป  ฉาก  ฉากให้มีเพียงฉากเดียว  นักเรียนเลือกฉากที่ไหน  โรงเรียน  หอประชุม  ห้องสมุด   ที่เรียนพิเศษ บนรถ   ฯลฯ

 

         ตัวละคร  ให้นักเรียนกำหนดไว้  ๑-๓ ตัว  ระบุชื่อ  อายุ  เพศ  วัย รูปร่างลักษณะ  นิสัย  ไว้ให้ชัดเจน

 

        การจบ นักเรียนจะให้เรื่องจบอย่างไร    ให้นักเรียนเขียนไว้อย่างย่อๆ

 

        เค้าโครงเรื่อง   ให้นักเรียนเขียนเค้าโครงโดยย่อ   เช่น  เป็นเรื่องของเพื่อน๒ คนที่สนิทและผูกพันกันมาก  แต่ต้องมาพรากจากกันเพราะครอบครัวของ....ย้ายไปอยู่ที่อื่น เค้าโครงนี้ครูก็ต้องยกตัวอย่างให้เห็นหลายเค้าโครง  เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและเกิดจินตนาการที่จะสร้างเรื่องของตนเองได้

 

         อ่านมาถึงตอนนี้อาจจะงงว่า  ทำไมครูภาทิพ  ไม่สอนให้นักเรียนตั้งชื่อเรื่อง  ครูภาทิพ  ให้นักเรียนเขียนชื่อเรื่องหลังสุด  ไม่ใช่ว่าชื่อเรื่องไม่สำคัญ แต่ครูภาทิพเชื่อว่าระหว่างการเขียนนักเรียนยังเปลี่ยนชื่อเรื่องของตัวเองอีกหลายรอบ  และชื่อเรื่องมีความสำคัญต่อการตัดสินใจอ่านเหมือนกัน  ถ้าเรื่องเท่ๆ   คนก็จะหยิบมาอ่าน เอ๊ะ! มันเป็นอย่างไรนะ  ฉะนั้น ใน Mind  Mapของนักเรียน   ชื่อเรื่องจะปรากฏหลังสุด  แต่จะอยู่ตรงกลางดังนี้

 

 

 

๔.  ประเมินผล  นักเรียนนำผลงานการเขียนแผนภาพความคิด ในการวางแผนเขียนเรื่องสั้น ส่งครู  เก็บคะแนน  ๕ คะแนน  ด้วยกระบวนนี้นักเรียนส่วนใหญ่จะได้คะแนนเต็ม ๕  ต่ำสุดเพียง ๔คะแนน

 

๕. ชั่วโมงต่อมานักเรียนนำแผนภาพความคิดของเรื่องสั้นที่วางแผนไว้  มาเขียนเนื้อเรื่องในห้องเรียน   ๔๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ของเนื้อเรื่อง    นักเรียนใช้ดินสอลงมือเขียนในห้องเรียน  ที่เหลือจึงจะไปเขียนนอกเวลาได้     

 

๖.  การส่งงาน  นักเรียนต้องส่งแผนภาพความคิดชิ้นแรก  พร้อมกับเรื่องสั้นที่เขียนสมบูรณ์เพื่อรับคะแนนประเมินผลอีก ๕คะแนน

 

       ในมุมมองของผู้สอน  ครูภาทิพ มองว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ได้ดำเนินการทั้งหมดเป็นนวัตกรรมทางการสอนอย่างหนึ่ง   เพราะ จากที่ครูภาทิพสอน ม.๒ ทั้งหมด ๑๔๙ คน  นักเรียนไม่ส่งผลงานมีเพียงคนเดียว  ซึ่งคนนี้เป็นดุริยางค์โรงเรียนซึ่งต้องออกไปบริการหน่วยงานต่างๆเกือบทุกวัน  และมีพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบมาตั้งแต่ ม.๑  แต่เป็นเด็กที่มีความสามารถด้านภาษาไทย     ซึ่งครูภาทิพก็ต้องตามงานกันต่อไป

 

        อุปสรรคปัญหาในการสอนเรื่องนี้ก็คือ เรื่องของการคัดลอกผลงานของผู้อื่น  เพราะปัจจุบัน   เรื่องสั้นบนอินเตอร์เน็ตมีเผยแพร่มากมาย  ยากต่อการควบคุมไม่ให้นักเรียนคัดลอก   แต่ครูภาทิพก็ได้พยายามแล้ว  โดยการให้นักเรียนเขียนแผนภาพความคิดกำหนดทิศทางในการเขียนไว้ก่อน   และเป็นการเขียนต่อหน้าครู   แต่ก็ไม่อาจควบคุมได้ทั้งหมด  เพราะส่วนหนึ่งนักเรียนจำเค้าโครงเรื่องจากที่เขาอ่านมาได้   แต่สิ่งที่ได้ตรงประเด็นที่สุดคือ   นักเรียนรู้จักเรื่องสั้น   แค่นี้ก็พอใจแล้วล่ะ

        ตัวอย่างผลงานเรื่องสั้นของนักเรียน  ห้อง ม.๒/๔     ม.๒/๕   ม.๒/๖

    

     

หมายเลขบันทึก: 324767เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

มาเรียนรู้การเขียนเรื่องสั้นค่ะ

ขอบคุณค่ะ

คุณครู

  • นับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมาก
  • ลูกศิษย์โชคดีที่มีครูเก่งๆ เช่นนี้
  • ทีมหาจุฬาฯ มีปัญหาเรื่องการเขียนบทความมาก
  • ตอนนี้กำลังเปิดหลักสูตรนี้อยู่
  • มากทม.เมื่อไรอย่าลืมแวะมาเล่าสิ่งดีๆ ให้นักเขียนที มจร. ได้ฟังบ้าง
  • อนุโมทนา

สวัสดีค่ะเด็กหลอดแก้ว   เรื่องสั้นที่น่าศึกษาลองอ่านเรื่อง  ครีบหักของประภัสสร  และเรื่องสายน้ำของวัฒน์  วัลยางกูร  ดูนะคะ  ครูภาทิพชอบมาก

 

นมัสการพระคุณเจ้า  

       การเขียนบทความ  ก็น่าจะเริ่มจากการเขียนแผนผังความคิดก่อนนะคะ

ของทางศาสนา  น่าจะเริ่มจาก

  • ปัญหาของสังคมขณะที่เขียน  เหตุการณ์  ภาวะที่กระทบต่อสังคม ขณะที่เขียน
  •  แนวคิด นำมาจาก  คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บทที่สอดคล้องกับปัญหาในเบื้องต้น
  • ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ส่งผลเสียหายต่อองค์กรหรือสังคม  ซึ่งจะเป็นสาธกโวหารที่นำมาประกอบนั่นเอง
  • สรุป  จุดมุ่งหมายของการเขียนที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่ออะไร

        ครูภาทิพไม่ใช่นักเขียน   แต่นี่เป็นมุมมองที่อาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำไปพัฒนาการเขียนที่ มจร.ได้ค่ะ

        เรื่องการพูด กับการร้องเพลง  เป็นจุดบอดของครูภาทิพ  ให้วิ่งหรือไปต่อยมวยยังจะดีกว่าค่ะ

        นมัสการมาด้วยความเคารพ

เด็กฉลาด ชาติเจริญ ขอบคุณคุณครูมากครับ

ขอโทษค่ะ เด็กหลอดแก้ว แนะนำเรื่องผิด   ทางน้ำ ของวัฒน์วัลยางกูร

 

สวัสดีค่ะ บีเวอร์  ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาอ่าน  บีเวอร์มีบันทึกมากมายนะคะ

สวัสดีค่ะ หนูชื่อน้ำเปล่า หนูเพิ่งเข้ามาศึกษาวิธีการสอนของครูเป็นครั้งเเรก ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ เด็กๆโชคดีมากเลยนะคะที่มีครูที่เก่งและมากด้วยความสามารถ หนูกำลังเรียนครูภาษาไทยปี 4 กำลังทดลองสอนค่ะ เทอมนี้ได้สอนกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ครูช่วยแนะนำหนูบ้างนะคะหนูอยากเก่งเหมือนครูค่ะ

สวัสดีค่ะ หนูน้ำเปล่า  ครูภาทิพไม่ใช่คนเก่ง ครูที่เก่งเขาไม่ต้องเตรียมอะไรเลย

เขาสามารถเข้าห้องสอนแล้วบรรยายได้โดยไม่ต้องเตรียม

 

สำหรับครูภาทิพ  เป็นครูที่กังวล  กลัวความล้มเหลว กลัวผิดพลาด

ก็เลยต้องทำโน่นทำนี่  เมื่อใกล้ถึงเวลาสอน ไม่สามารถทำงานอื่นได้

คอยดูแต่นาฬิกา  กลัวเข้าห้องสอนช้า  กลัวลืมสอน  กลัวสอนไม่ถูก

สำหรับกาพย์ห่อโคลงก็ดูที่บันทึกในบล็อกนี้   

คลิกสารบัญบันทึกจากห้องเรียน  คลิกตัวอย่างชิ้นงานนักเรียน

 

สวัสดีค่ะ  คุณครูภาทิพ 

               ครูตาก็ชอบที่จะให้เด็กเขียนเรื่องสั้นค่ะ ส่งประกวดในโครงการหนังสือเล่มเล็กของสพท.ด้วย   อ่านกระบวนการสอนของครูแล้วน่าสนใจมาก ๆ   จะลองนำไปใช้ดูค่ะ   ขอบคุณมากนะคะที่ให้ข้อมูลดี ๆ 

 

 

สวัสดีค่ะ ครูตา  ชื่นชมครูตาเช่นกันค่ะ

  • ขอบคุณครูปภินวิชที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ
  • ที่ล้มเหลวก็มีมากค่ะแต่ไม่ได้นำมาบอกกล่าว
  • กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังเห็นสีหน้าแววตาเด็กเบื่อหน่ายในบางชั่วโมงค่ะ

 

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท