• วันที่ ๓๐ พค. ๔๙ ผมนั่งฟังเวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่ ที่โรงแรมกานต์มณีพาเลซ ด้วยความสุข เวทีนี้ปรับมาจากการประชุมวิชาการจัดการความรู้ ที่ สคส. จัดมาแล้ว ๒๐ ครั้ง ถ้านับครั้งนี้เข้าไปด้วย ก็จะเป็นครั้งที่ ๒๑ เวทีนี้ อ้อ เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
บรรยากาศในห้องประชุม
บรรยากาศในห้องประชุมจากอีกมุมหนึ่ง
• ที่ผมมีความสุขก็เพราะผมเห็นภาพ “KM ในพื้นที่”
ที่เราใฝ่ฝันให้เกิดมากว่า ๓ ปีแล้ว แต่ สคส.
ไม่มีปัญญาทำ บัดนี้ KM ในพื้นที่ ของสังคมไทย
ได้เกิดขึ้นแล้ว
ในลักษณะที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ “ชิ้นส่วน”
ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ทำให้ผมยิ่งศรัทธา ทฤษฎี
“Self-Organize” ยิ่งขึ้น
• “ชิ้นส่วน” ที่มา self-organize กันเอง
มีอยู่แล้วในพื้นที่
โดยมีที่มาในประวัติศาสตร์ของมันเอง ในชื่อของการพัฒนารูปแบบต่างๆ
กัน ไม่ได้อยู่โดยมีตรา KM เพราะ
KM เป็นเรื่องที่มาทีหลัง
• ผมถอนหายใจด้วยความโล่งอก ว่า KM ในพื้นที่ (Area-Based KM)
เป็นเรื่องที่เกิดแล้วในสังคมไทย เกิดขึ้นเองโดย
สคส. ไม่ได้เข้าไปทำ ไม่ได้เป็นเจ้าของ
แต่มีหน่วยงาน/โครงการอื่นเป็นเจ้าของ
หรือพูดให้ชัด พื้นที่เป็นเจ้าของ
• ในเวทีนี้อ้อเลือกเชิญมา ๔ พื้นที่ ที่มีกิจกรรมใน
“โครงการนำร่องการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน”
กับ “โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่”
ได้แก่จังหวัดอุทัยธานี กาฬสินธุ์
ปราจีนบุรี และตาก
• ผมเห็นร่องรอยของการ ลปรร. ข้ามกลุ่มในแต่ละพื้นที่
คือกลุ่มชาวบ้าน/ภาคประชาสังคม
กลุ่มภาคราชการ
และกลุ่มภาควิชาการ
โดยมีเป้าหมายการพัฒนาหรือการแก้ปัญหาของพื้นที่ เป็นการ
ลปรร. บนฐานของข้อมูลที่เก็บจากพื้นที่
• ผมเห็นยุทธศาสตร์เครือข่ายภายในจังหวัด
และเวทีที่จัดในวันนี้เราหวังจะได้เห็นเครือข่ายข้ามจังหวัด
• ผมได้เห็นร่องรอยว่าจริงๆ
แล้วแต่ละพื้นที่ได้มีประสบการณ์การประยุกต์ใช้ KM
อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ คุณวิไลวรรณ จันทร์พ่วง
ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานประชาสังคมเมืองอุทัย (๐ ๕๖๕๗ ๑๔๘๕)
บอกว่าต้องการใช้ KM
ช่วยให้คนในพื้นที่เปิดใจระหว่างกัน ลปรร.
และร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่
และชาวบ้านที่ผ่านกระบวนการแล้วบอกว่าเขามีความภูมิใจที่ได้รับความยอมรับจากคนอื่น
จากทางราชการ
รู้จักฟังคนอื่นมากขึ้น
รู้จักเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง จ. อุทัย มีกลุ่ม
“คุณอำนวย”
ที่มีประสบการณ์พอสมควรและจะขับเคลื่อนต่อไป
ผมดีใจจนเนื้อเต้น ที่เริ่มเห็นนักพัฒนาในท้องถิ่นหันมาเป็น
“คุณอำนวย” การเรียนรู้แก่ชาวบ้าน
มีการให้คุณค่าและเคารพความรู้ในชาวบ้านเอง
เปลี่ยนจากการทำงานในอดีตที่เน้นการฝึกอบรมหรือถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวบ้าน
ผมเริ่มเห็น
การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของการพัฒนาในพื้นที่
จากกระบวนทัศน์ Training ไปเป็นกระบวนทัศน์
Learning
คุณวิไลวรรณ จันทร์พ่วง ผู้ประสานงาน
ศูนย์ประสานงานประชาคมเมืองอุทัย
• คุณวิไลวรรณ
จันทร์พ่วง คือ “ผู้รู้จริง” ของ KM ในพื้นที่
ใครอยากรู้ว่า KM ในพื้นที่ทำอย่างไร ให้ไปถามคุณวิไลวรรณ
เธอยังมีเรื่องเล่าของป้าสี ผู้ทำผ้าทอ ที่สามารถใช้ เรื่องเล่า
เพิ่มคุณค่าของสินค้าผ้าทอ
เป็นเรื่องราวของการใช้เทคนิค KM ที่น่าทึ่ง
วิจารณ์ พานิช
๓๐ พค. ๔๙
ไม่มีความเห็น